ปิดปั๊ม 3 จังหวัดใต้ ชาวบ้านอ่วม น้ำมันเถื่อนเฮ
ประชาชนที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ไม่ได้เผชิญกับสถานการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เท่านั้น แต่ขณะนี้ยังต้องประสบกับความลำบาก เนื่องจากปั๊มน้ำมันในพื้นที่เกือบทุกแห่งปิดให้บริการ
การปิดปั๊ม ไม่ขายน้ำมัน เป็นไปตามมติของชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เพื่อประท้วงที่องค์การบริหารส่วนจังหวัด หรือ อบจ.สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ออกข้อบัญญัติขอจัดเก็บภาษีน้ำมันจากผู้ประกอบการในพื้นที่อีกลิตรละ 4.54 สตางค์ โดยบวกจากราคาหน้าปั๊ม แล้วจัดส่งเป็นเงินภาษีให้ อบจ.ทุกเดือน
ข้อบัญญัติที่ว่านี้เรียกว่า ข้อบัญญัติองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) เกี่ยวกับการค้าน้ำมันและก๊าซปิโตรเลียมที่ใช้เป็นเชื้อเพลิงสำหรับรถยนต์ ซึ่งประกาศมาตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2557
เหตุผลของชมรมผู้ค้าน้ำมันที่คัดค้านข้อบัญญัตินี้ก็คือ เป็นการเพิ่มภาระให้กับผู้ค้า และผลักภาระให้กับประชาชนท่ามกลางสถานการณ์ความไม่สงบซึ่งเศรษฐกิจในภาพรวมของพื้นที่ก็แย่อยู่แล้ว
ขณะเดียวกัน ชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนใต้ เห็นว่า ภาษีน้ำมันเชื้อเพลิงที่ อบจ.เรียกเก็บนั้นไม่เป็นธรรม เพราะเก็บจากเฉพาะผู้ใช้น้ำมันรายย่อย แต่ไม่เก็บกับผู้ใช้น้ำมันรายใหญ่ที่เป็นโรงงานอุตสาหกรรม บริษัทก่อสร้าง บริษัทขนส่ง หรือธุรกิจรายใหญ่อื่นๆ ที่ซื้อน้ำมันโดยตรงจากคลังน้ำมัน ซึ่งไม่ต้องจ่ายภาษี จึงเสนอแนะให้ อบจ.ไปเก็บภาษีที่คลังน้ำมัน เพื่อให้น้ำมันทุกลิตรที่ออกมาจากคลังต้องเสียภาษีอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมกัน
นอกจากนั้น ทางชมรมผู้ค้าน้ำมันได้เจรจาต่อรองขอให้ อบจ.ผ่อนปรนด้วยการชะลอการจัดเก็บภาษีน้ำมันเพิ่มเอาไว้ก่อน 1 ปี และเรียกร้องให้ อบจ.นราธิวาส ถอนแจ้งความเอาผิดกับผู้ประกอบการน้ำมันรายย่อย 3 แห่งในพื้นที่อำเภอรือเสาะ จังหวัดนราธิวาส ในข้อหาไม่จดทะเบียนการค้า และไม่ยื่นแบบรายการภาษีเงินได้
ทว่าการเจรจาไม่เป็นผล อบจ.ทั้ง 3 จังหวัดไม่ยอมไปแก้ไขวิธีการจัดเก็บภาษี และเดินหน้าบังคับใช้ข้อบัญญัติทันที โดยอ้างมติสมาพันธ์ อบจ. 14 จังหวัดภาคใต้ ทำให้ชมรมผู้ค้าน้ำมันพร้อมใจกันปิดปั๊มน้ำมันที่เป็นสมาชิกชมรมฯทุกแห่ง รวม 137 ปั๊ม แยกเป็นจังหวัดยะลา 54 ปั๊ม นราธิวาส 32 ปั๊ม และปัตตานี 46 ปั๊ม
บรรยากาศในช่วงเช้าวันจันทร์ที่ 13 กรกฎาคม 2558 ปรากฏว่าปั๊มน้ำมันในพื้นที่ส่วนใหญ่ปิดให้บริการจริง มีเพียงบางแห่งเท่านั้นที่เปิดให้บริการตามปกติ เช่น ในพื้นที่อำเภอเมืองยะลา มีปั๊มคาลเท็กซ์ บนถนนสุขยางค์ ในเขตเทศบาลนครยะลาเปิดขายน้ำมันเพียงแห่งเดียว ทำให้มีรถยนต์และรถจักรยานยนต์ไปเข้าคิวรอเติมน้ำมันกันเป็นจำนวนมากจนล้นออกมานอกปั๊ม
ที่จังหวัดนราธิวาส นายณัฐพงศ์ ศิริชนะ ผู้ว่าราชการจังหวัด ได้แก้ปัญหาด้วยการเจรจากับ นายกูเซ็ง ยาวอฮะซัน นายก อบจ.นราธิวาส ให้ถอนแจ้งความผู้ประกอบการปั๊มน้ำมันในอำเภอรือเสาะที่มีปัญหากับ อบจ. ปรากฏว่าทาง อบจ.ยอมถอนแจ้งความ ทำให้ปั๊มน้ำมันบางแห่งในจังหวัดนราธิวาสทยอยเปิดให้บริการ ส่วนใหญ่เป็นปั๊มน้ำมันในเขตเมืองนราธิวาส
ที่จังหวัดปัตตานี นายซากูรา แวดอเลาะ เจ้าของปั๊มน้ำมันซัสโก้ สามแยกตะลุโบะ อำเภอเมืองปัตตานี กล่าวว่า ปิดปั๊มตั้งแต่ 6 โมงเช้าตามมติของชมรมผู้ค้าน้ำมัน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ กระทั่ง 11 โมง ผู้ว่าราชการจังหวัดนราธิวาสขอร้องให้เปิดขายน้ำมันก่อน เพราะจะมีการเจรจากับ อบจ.ทั้งสามจังหวัด เบื้องต้นจึงทำตามที่ผู้ใหญ่ขอร้อง ส่วนจะปิดปั๊มในวันอื่นๆ หรือไม่ ต้องรอดูท่าทีของชมรมผู้ค้าน้ำมันอีกที
"ทราบดีว่าการปิดปั๊มทำให้ชาวบ้านเดือดร้อน ลูกค้าประจำที่ต้องใช้น้ำมันทุกวันเดือดร้อนที่สุด แต่เราต้องทำตามมติของชมรมฯ เพื่อให้ทาง อบจ.ได้มีข้อตกลงร่วมกันที่เป็นธรรมต่อทุกฝ่าย" นายซากูรา ระบุ
นายยูซุฟ บินเส็น ผู้ใช้น้ำมันรายหนึ่ง บอกว่า เพียงแค่วันแรกที่ปั๊มปิดก็ทำให้ผู้ใช้น้ำมันเดือดร้อนแล้ว หากปิดโดยไม่มีกำหนดจริง ความเสียหายและความเดือดร้อนต้องมากกว่านี้เป็นทวีคูณ
สำหรับสถานการณ์หลังปั๊มน้ำมันปิดเกือบทั้งสามจังหวัด ปรากฏว่าเป็นโอกาสของผู้ค้าน้ำมันหนีภาษี หรือน้ำมันเถื่อนที่พากันนำน้ำมันออกมาตั้งแผงขายริมถนน โดยมีลูกค้าใช้บริการเติมน้ำมันเป็นจำนวนมาก ผู้ค้าหลายรายได้สั่งน้ำมันเถื่อนจากฝั่งประเทศเพื่อนบ้าน ด้วยการอำพรางขนส่งมากับสินค้าชนิดอื่น แล้วขนถ่ายทางเรือข้ามฟากเข้ามาขาย สร้างกำไรอย่างเป็นกอบเป็นกำ
เพราะน้ำมันจากฝั่งมาเลเซียราคาถูกกว่าฝั่งไทยกว่า 10 บาทต่อลิตร!