ใต้ป่วนโค้งสุดท้ายรอมฎอน....วัดฝีมือรัฐ - ชี้ขาดอนาคตเจรจา
สถานการณ์ในจังหวัดชายแดนภาคใต้ร้อนแรงขึ้นทันทีเมื่อก้าวเข้าสู่ช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน หรือเดือนแห่งการถือศีลอดของพี่น้องมุสลิมในปีนี้
โดยนับตั้งแต่วันที่ 8 กรกฎาคม มีเหตุระเบิดเกิดขึ้นทุกวัน ทั้งๆ ที่ช่วง 20 วันก่อนหน้ามีเหตุรุนแรงค่อนข้างเบาบาง
ขณะที่เหตุป่วนเทศบาลเมืองสุไหงโก-ลก จังหวัดนราธิวาส ทั้งระเบิดทั้งลอบวางเพลิง รวมทั้งเหตุมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ตำบลปาดังเบซาร์ อำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ตั้งแต่ช่วงค่ำวันศุกร์ที่ 10 กรกฎาคม ต่อเนื่องถึงวันที่ 11 กรกฎาคม และยังมีระเบิดเสาไฟฟ้าที่อำเภอธารโต จังหวัดยะลา ตามมาเป็นลูกแถมในช่วงเช้า ทำให้สรุปได้ว่าสถานการณ์ ณ ดินแดนปลายสุดด้ามขวานยังแทบไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง แม้ไฟใต้จะคุโชนมาตั้งแต่ปี 2547 จนถึงปัจจุบัน รวมเวลาถึง 11 ปี มีรัฐบาลมาแล้ว 8 ชุด
สาเหตุที่ทำให้สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ร้อนระอุขึ้นในช่วงนี้ ปัจจัยสำคัญที่สุดและหน่วยงานความมั่นคงทุกหน่วยวิเคราะห์ตรงกัน ก็คือ เป็นการกระทำของกลุ่มขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดน ซึ่งมีการปลุกระดมกลุ่มนักรบและแนวร่วมว่า หากก่อเหตุร้ายในช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน จะได้บุญมาก
กลุ่มนี้เชื่อว่าเป็นกลุ่มนักรบ หรือฝ่ายทหาร ที่ไม่ได้เห็นด้วยกับการพูดคุยเจรจาเพื่อสันติสุขในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีการดำเนินการทั้งในระดับชาติและระดับพื้นที่อยู่ในขณะนี้ สังเกตได้ว่าเมื่อวันที่ 8 กรกฎาคม ก็มีการติดป้ายผ้าคัดค้านการเจรจาที่อำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี
ขณะที่ข่าวจากหน่วยเก็บกู้ทำลายวัตถุระเบิด หรือ อีโอดี ให้ข้อมูลในเชิงลึกมากขึ้นว่า การประกอบระเบิดและรูปแบบการก่อเหตุเป็นของขบวนการที่อ้างอุดมการณ์แบ่งแยกดินแดนแน่นอน แต่อาจมีกลุ่มอิทธิพลหรือกลุ่มธุรกิจผิดกฎหมายมาเกี่ยวข้องด้วย เพราะพื้นที่ก่อเหตุทั้งสองพื้นที่ คือ อำเภอสุไหงโก-ลก กับ ตำบลปาดังเบซาร์ เป็นเมืองการค้าชายแดนซึ่งมีธุรกิจทั้งใต้ดินและบนดินเฟื่องฟู
เป็นที่น่าสังเกตว่า ตำบลปาดังเบซาร์ ตั้งอยู่ในอำเภอสะเดา จังหวัดสงขลา ไม่ได้เป็นพื้นที่ประกาศกฎหมายพิเศษ ทั้งพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548 หรือ พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ และพระราชบัญญัติการรักษาความมั่นคงภายในราชอาณาจักร พ.ศ.2551 หรือ พ.ร.บ.ความมั่นคง แต่ระยะ 1-2 ปีหลังกลับเกิดเหตุรุนแรงในลักษณะการก่อวินาศกรรมบ่อยครั้ง โดยที่อำเภอสะเดาในฐานะเมืองด่านชายแดน มีปริมาณการขนส่งสินค้าสูงที่สุดในประเทศไทย และในแถลงการณ์ของคณะพูดคุยสันติภาพที่นำโดย นายฮัสซัน ตอยิบ แกนนำบีอาร์เอ็น ซึ่งจัดการพูดคุยขึ้นในรัฐบาลนางสาวยิ่งลักษณ์ ชินวัตร เมื่อปี 2556 นั้น ได้เคยผนวกเอาอำเภอสะเดาเข้าเป็นอำเภอหนึ่งในพื้นที่ที่มีปัญหาความมั่นคงด้วย ทั้งๆ ที่พื้นที่ประกาศกฎหมายพิเศษเดิม มีเฉพาะ สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ คือ จังหวัดปัตตานี ยะลา และนราธิวาสทุกอำเภอ กับสี่อำเภอของจังหวัดสงขลาเดิม ซึ่งประกอบด้วย อำเภอจะนะ เทพา สะบ้าย้อย และนาทวี
ข้อมูลจากการตรวจพิสูจน์ระเบิดค่อนข้างชัดเจนว่า เหตุระเบิดทั้งที่สุไหงโก-ลก กับปาดังเบซาร์ มีความเชื่อมโยงกัน มีคนสั่งการคนเดียวกัน แต่จะเป็นกลุ่มอุดมการณ์ล้วนๆ หรือแฝงธุรกิจเถื่อน ยังต้องรอตรวจสอบในทางลึก อย่างไรก็ดี หน่วยงานความมั่นคงหลายหน่วยให้น้ำหนักไปที่กลุ่มอุดมการณ์มากกว่า เพราะจุดเกิดเหตุส่วนใหญ่เป็นร้านคาราโอเกะที่ขายสุรา และบางร้านแฝงบริการด้านอื่น ซึ่งขัดกับหลักอิสลาม
ขณะที่บางฝ่ายยังเชื่อว่า กรณีที่รัฐบาลไทยส่งมุสลิมอุยกูร์หลบหนีเข้าเมืองไปประเทศจีน เป็นหนึ่งปัจจัยเร่งสถานการณ์ให้ร้อนแรงยิ่งขึ้นในช่วงนี้ด้วย
น่าเชื่อว่าเหตุรุนแรงในช่วงโค้งสุดท้ายของเดือนรอมฎอนจะยังไม่จบเพียงแค่นี้ เพราะมีประเด็นท้าทายที่สำคัญ คือ การเดินหน้ากระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ ซึ่งมีกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐเปิดตัวเข้าร่วมพูดคุยกับรัฐบาลไทยแล้วอย่างน้อย 6 กลุ่ม แต่ไม่มีกลุ่มบีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต และฝ่ายทหารของกลุ่มเคลื่อนไหวอีกบางกลุ่มเข้าร่วมด้วย
ขณะที่สถิติเหตุรุนแรงที่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จะเป็นหนึ่งในตัวชี้วัดว่ารัฐบาลไทยจะเดินหน้าพูดคุยเจรจากับกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐที่เปิดตัวร่วมวงพูดคุยแล้วหรือไม่ ซึ่งหากย้อนไปดูสถิติเหตุรุนแรงทุกประเภทที่เก็บรวบรวมโดยกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) และศูนย์ปฏิบัติการตำรวจจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศชต.) จะพบว่า ช่วงเดือนรอมฎอนปี 2557 (วันที่ 28 มิถุนายน ถึง 27 กรกฎาคม 2557) มีเหตุรุนแรงเกิดขึ้นทั้งสิ้น 57 เหตุการณ์ เป็นเหตุยิง 40 เหตุการณ์ ระเบิด 17 เหตุการณ์ และก่อกวน 3 เหตุการณ์ ลดลงกว่าปี 2556 เล็กน้อย
ส่วนในปีนี้ กอ.รมน.ภาค 4 ส่วนหน้า เพิ่งแถลงตัวเลขสถิติเหตุรุนแรงช่วง 21 วันแรกของเดือนรอมฎอน คือระหว่างวันที่ 18 มิถุนายน ถึงวันที่ 8 กรกฎาคม) ยังไม่รวม 10 วันสุดท้าย พบว่ามีเหตุรุนแรงเกิดขึ้น 28 เหตุการณ์ แยกเป็นคดีความมั่งคง 4 เหตุการณ์ ก่ออาชญากรรม 7 เหตุการณ์ อยู่ระหว่างตรวจสอบ 17 เหตุการณ์ มีผู้เสียชีวิต 14 ราย และได้รับบาดเจ็บ 19 ราย
ฉะนั้น สถานการณ์ในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วง 10 วันสุดท้ายของเดือนรอมฎอน ซึ่งจะสิ้นสุดในวันที่ 16 หรือ 17 กรกฎาคมนี้ นอกจากจะเป็นดัชนีชี้วัดว่าปัญหาความไม่สงบในพื้นที่ดีขึ้นจริงตามที่รัฐบาลประกาศหรือไม่แล้ว ยังจะเป็นตัวชี้ขาดอนาคตของวงพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ด้วย ว่าจะเดินหน้า หยุดชะงัก หรือปรับขบวนการใหม่อีกรอบ!
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : เจ้าหน้าที่เข้าตรวจสอบจุดเกิดเหตุมอเตอร์ไซค์บอมบ์ที่ปาดังเบซาร์