กาง กม.ใหม่ ป.ป.ช.หนีคำพิพากษาศาลให้หยุดอายุความไฉน“ทักษิณ” รอด?
“…เมื่อพิจารณาจากกรณีข้างต้น จะเห็นได้ว่า นักการเมืองที่เข้าข่ายถูก พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ บังคับใช้ย้อนหลัง มีเพียงแค่รายของ “ประชา มาลีนนท์” เท่านั้น เนื่องจากเป็นการหนีคำพิพากษาของศาล หลังปี 2554 ส่วนกรณีของ “พ.ต.ท.ทักษิณ-วัฒนา” รอด! เพราะหนีคำพิพากษาของศาล ก่อนปี 2554 นั่นเอง…”
“ถ้าหมายจับเก่าก็จะไม่นับย้อนหลังในส่วนนี้ ซึ่งในหมายจะเขียนไว้เลยว่า ให้กลับมาภายในอายุความเท่าไหร่ แต่ถ้าในหมายใหม่ก็จะเขียนประมาณว่า ให้อายุความสะดุดหยุดลง ดังนั้นต้องดูในหมายจับว่าเขียนอย่างไร”
เป็นคำยืนยันของ “วรวิทย์ สุขบุญ” รองเลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) กรณีหากจำเลยหลบหนีคำพิพากษาคดีของศาล และถูกออกหมายจับ ให้อายุความสะดุดหยุดลงไว้ก่อน
(อ่านประกอบ : กม.ใหม่ป.ป.ช.หลบหนีคำพิพากษาศาลให้หยุดอายุความไม่มีผลย้อนหลัง'ทักษิณ')
คำถามที่น่าสนใจคือ กฎหมายฉบับนี้ มีผลบังคับใช้ย้อนหลังไปยังนักการเมืองหลายรายที่หลบหนีคำพิพากษาไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ?
ไม่ว่าจะเป็น “พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ที่หลบหนีคำพิพากษาคดีที่ดินรัชดาภิเษก “ประชา มาลีนนท์” อดีต รมช.มหาดไทย หลบหนีคำพิพากษาคดีจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิง หรือ “วัฒนา อัศวเหม” อดีต รมช.มหาดไทย หลบหนีคำพิพากษาคดีคลองด่าน เป็นต้น
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org กางกฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. ให้เห็นกันชัด ๆ ดังนี้
ใน พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 มาตรา 74/1 ระบุว่า ในการดำเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีไปในระหว่างถูกดำเนินคดี มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ
กล่าวคือ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาในชั้นการไต่สวนคดีของ ป.ป.ช. หลบหนีระหว่างการไต่สวน อายุความในคดีดังกล่าว จะหยุดลง แต่ก็นับเฉพาะเพียงในชั้นไต่สวนของ ป.ป.ช. เท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการพิจารณาคดีในชั้นศาลแต่อย่างใด
ต่อมา ได้มีการแก้ไขใน พ.ร.บ.ป.ป.ช. (ฉบับที่ 3) พ.ศ.2558 ระบุว่า ให้ยกเลิกความในมาตรา 74/1 แห่ง พ.ร.บ.ป.ป.ช. (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2554 และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“มาตรา 74/1 ในการดําเนินคดีอาญาตามหมวดนี้ ถ้าผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีไปในระหว่างถูกดําเนินคดีหรือระหว่างการพิจารณาของศาล มิให้นับระยะเวลาที่ผู้ถูกกล่าวหาหรือจําเลยหลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ และเมื่อได้มีคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจําเลย ถ้าจําเลยหลบหนีไปในระหว่างต้องคําพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษ มิให้นําบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาใช้บังคับ”
เท่ากับว่า ต่อไปนี้ หากผู้ถูกกล่าวหา หรือจำเลย หลบหนีการพิจารณาคดีของศาล ไม่ให้นับเวลาที่หลบหนีรวมเป็นส่วนหนึ่งของอายุความ นั่นคือให้อายุความหยุดลงไว้ก่อน
แต่ถ้าศาลมีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษจำเลย ถ้าจำเลยหลบหนีไประหว่างต้องคำพิพากษา ไม่ต้องนำบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 มาใช้บังคับ
สำหรับประมวลกฎหมายอาญามาตรา 98 ระบุว่า เมื่อได้มีคำพิพากษาถึงที่สุดให้ลงโทษผู้ใด ผู้นั้นยังมิได้รับโทษก็ดี ได้รับโทษแต่ยังไม่ครบถ้วนโดยหลบหนีก็ดี ถ้ายังมิได้ตัวผู้นั้นมาเพื่อรับโทษนับแต่วันที่มีคำพิพากษาถึงที่สุด หรือนับแต่วันที่ผู้กระทำความผิดหลบหนี แล้วแต่กรณี เกินกำหนดเวลาดังต่อไปนี้ เป็นอันล่วงเลยการลงโทษ จะลงโทษผู้นั้นมิได้
(1) ยี่สิบปี สำหรับโทษประหารชีวิต จำคุกตลอดชีวิตหรือจำคุกยี่สิบปี
(2) สิบห้าปี สำหรับโทษจำคุกกว่าเจ็ดปีแต่ยังไม่ถึงยี่สิบปี
(3) สิบปี สำหรับโทษคุกกว่าหนึ่งปีถึงเจ็ดปี
(4) ห้าปี สำหรับโทษจำคุกตั้งแต่หนึ่งปีลงมาหรือโทษอย่างอื่น
กล่าวให้ง่ายขึ้นคือ ต่อไปนี้ ถ้าจำเลยหลบหนีคำพิพากษาของศาล ก็ไม่จำเป็นต้องมี “อายุความ” อีกต่อไป จนกว่าจำเลยจะถูกนำตัวกลับมาลงโทษ
คำถามคือ กฎหมายนี้ มีผลบังคับใช้ไปยังนักการเมืองบางรายที่เคยหลบหนีคำพิพากษาของศาลไปก่อนหน้านี้หรือไม่ ?
“วรวิทย์” ระบุว่า กฎหมายใหม่ของ ป.ป.ช. มาตรา 74/1 จะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นไป ดังนั้นในส่วนกรณีของ “พ.ต.ท.ทักษิณ-ประชา-วัฒนา” นั้น จะต้องดูให้ชัดเจนว่า พฤติการณ์นี้เกิดขึ้นก่อนปี 2554 หรือไม่ เพราะถ้าเกิดขึ้นก่อนปี 2554
จะไม่มีผลบังคับใช้ย้อนหลัง !
ส่วนทำไมต้องปี 2554 เนื่องจากมาตราดังกล่าว เพิ่งถูกเพิ่มเติมเข้ามาภายหลังการแก้ไข พ.ร.บ.ป.ป.ช. ในปี 2554 นั่นเอง
สำหรับ พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับเมื่อวันที่ 11 ส.ค. 2551 กรณีไม่ไปรายงานตัวต่อศาล ในคดีทุจริตการซื้อที่ดินรัชดาภิเษก ซึ่ง พ.ต.ท.ทักษิณ ถูกศาลพิพากษาจำคุก 2 ปี เท่ากับว่าคดี พ.ต.ท.ทักษิณ มีอายุความ 15 ปี โดยอายุความจะหมดลงในวันที่ 12 ส.ค. 2566
นายประชา ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับเมื่อวันที่ 6 ส.ค. 2556 กรณีไม่ไปรายงานตัวต่อศาล ในคดีทุจริตการจัดซื้อรถ-เรือดับเพลิงของ กทม. ซึ่งนายประชา ถูกศาลพิพากษาจำคุก 12 ปี เท่ากับว่า คดีนายประชามีอายุความ 15 ปี โดยอายุความจะหมดลงในวันที่ 5 ส.ค. 2571
นายวัฒนา ถูกศาลฎีกาแผนกคดีอาญาของผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองออกหมายจับเมื่อวันที่ 18 ส.ค. 2551 กรณีไม่ไปรายงานตัวต่อศาล ในคดีทุจริตการก่อสร้างบ่อบำบัดน้ำเสียคลองด่าน ซึ่งนายวัฒนา ถูกศาลพิพากษาจำคุก 3 ปี เท่ากับว่า คดีนายวัฒนามีอายุความ 10 ปี โดยอายุความจะหมดลงในวันที่ 17 ส.ค. 2561
เมื่อพิจารณาจากกรณีข้างต้น จะเห็นได้ว่า นักการเมืองที่เข้าข่ายถูก พ.ร.บ.ป.ป.ช. ฉบับใหม่ บังคับใช้ย้อนหลัง มีเพียงแค่รายของ “ประชา มาลีนนท์” เท่านั้น เนื่องจากเป็นการหนีคำพิพากษาของศาล หลังปี 2554
ส่วนกรณีของ “พ.ต.ท.ทักษิณ-วัฒนา” รอด! เพราะหนีคำพิพากษาของศาล ก่อนปี 2554 นั่นเอง
ทั้งหมดคือข้อกฎหมายแบบชัด ๆ ถึงสาเหตุที่ว่าทำไม “ทักษิณ” จึงไม่ถูกผลของกฎหมาย ป.ป.ช.ฉบับใหม่ บังคับใช้
ส่วนจะมีนักการเมืองรายใดอีกบ้างที่จะโดนผลของกฎหมายนี้ ต้องติดตามต่อไปด้วยใจระทึก !
อ่านประกอบ : กม.ป.ป.ช.ฉบับใหม่ "หลบหนี"คำพิพากษาจำคุก ไม่มีอายุความ