“วิถีชุมชน-ชาวนา-หลักสูตรท้องถิ่น”เรื่องที่ไม่เคยหายไปจากร.ร.ขนาดเล็ก
ท่ามกลางกระแสการไหล่บ่าของทุนนิยม นโยบายยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็ก การเพิกเฉยไม่เอาใจใส่ของภาครัฐ อะไรคือคำตอบของความอยู่รอด ชุมชนมีบทบาทอย่างไรต่อการพัฒนาองค์ความรู้ของเด็ก ติดตามได้จากรายงาน..
ที่ผ่านมาระบบหลักสูตรการศึกษาไทยมีเป้าหมายมุ่งผลิตคนเข้าสู่ตลาดแรงงาน มุ่งเน้นสอนวิชาการเพื่อการสอบแข่งขัน มากกว่าจะพัฒนาตัวผู้เรียน ละเลยการพัฒนาความเป็นมนุษย์ที่มีศักยภาพตามธรรมชาติในบริบทของวิถีชีวิต สังคมและวัฒนธรรมอันหลากหลาย
โรงเรียนขนาดเล็กที่มีอยู่ในชุมชนเมืองและชุมชนชนบทที่ส่วนใหญ่เป็นผู้ที่มีฐานะยากจน เป็นคนชายขอบได้พึ่งพาส่งบุตรหลานไปเล่าเรียนหาความรู้จึงถูกมองว่าเป็นสถานศึกษาที่ล้าหลัง คุณภาพการศึกษาต่ำ ใช้ทรัพยากรสิ้นเปลือง ไม่ตอบสนองเป้าหมายดังกล่าว นโยบายการยุบรวมโรงเรียนขนาดเล็กจึงถูกนำมาใช้ ซึ่งจากข้อมูลสภาการศึกษาทางเลือก ระบุว่า โรงเรียนขนาดเล็กในปี 2536 มีจำนวน 10,741 แห่งคิดเป็น 33.48% ปี 2547 มีจำนวน 11,599 แห่งคิดเป็น 35.88% ปี 2554 มีจำนวน 14,056 แห่ง คิดเป็น 44.78% โดยทางกระทรวงศึกษาธิการมีนโยบายที่จะดำเนินการยุบและรวมโรงเรียนขนาดเล็กจำนวน 7,000 แห่งให้แล้วเสร็จภายในปี พ.ศ.2561 ทำให้เกิดกระแสการคัดค้านอย่างกว้างขวางถึงการแก้ไขปัญหาที่ไม่สอดคล้องกับความเป็นจริง
ท่ามกลางกระแสการพัฒนาที่มุ่งเน้นสร้างคนเป็นหุ่นยนต์ ศูนย์ข่าวเพื่อชุมชน สำนักข่าวอิศรา โดยสภาการศึกษาทางเลือก ลงพื้นที่ติดตามความเป็นไปในโรงเรียนขนาดเล็กทางภาคอีสาน พวกเขาอยู่กันอย่างไร อะไรคือกระบวนการเรียนรู้ อะไรคือฐานคิดและอะไรคือเป้าหมายที่แท้จริงที่พวกเขาต้องการ
ชุมชนต้านนโยบายยุบรวม-สร้างกลุ่มอาชีพในโรงเรียนบ้านปากบุ่ง ร้อยเอ็ด
โรงเรียนบ้านปากบุ่ง ต.สะอาด อ.โพธิ์ชัย จ.ร้อยเอ็ด ซึ่งเป็นหนึ่งในโรงเรียนขนาดเล็กที่จะมีการยุบรวม สำนักงานคณะกรรมการการศึกษาขั้นพื้นฐาน(สพฐ.) ให้ทำหนังสือขอยุบรวม แต่ชาวบ้านยืนยันไม่ยุบรวม พร้อมทำแผนพัฒนาการศึกษา 3 ปี ขอเงินสนับสนุนจากสพฐ.จำนวน 4 หมื่นบาท แต่ก็ไม่ได้รับการตอบรับ ชาวบ้านบอกว่าแม้กระทรวงหรือสพฐ.ไม่ให้เงินก็ไม่เป็นไร ชาวบ้านจึงตั้งศูนย์เกษตรศึกษาลุ่มน้ำชีเพื่อทำกลุ่มอาชีพในโรงเรียน รายได้ส่วนหนึ่งแบ่งปันให้สมาชิก ส่วนหนึ่งใช้เป็นกองทุนพัฒนาการศึกษาให้กับเด็ก พวกเขาให้เหตุผลว่าหากมีการยุบรวมกับโรงเรียนอื่นที่มีระยะทางไกลกว่า 8 กิโลเมตรจะทำให้เด็กเดินทางไปเรียนลำบาก อีกทั้งผู้ปกครองก็จะมีภาระค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้น และที่สำคัญเด็กๆจะถูกแยกห่างออกจากชุมชนของตนเอง
นายเสน่ห์ เสาวพันธ์ ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านปากบุ่ง กล่าวว่า โดยส่วนตัวไม่มั่นใจในนโยบายสพฐ. โรงเรียนระดับชั้นประถมศึกษาต้องปูพื้นฐานให้เด็ก เด็กควรอยู่กับชุมชนอยู่กับพ่อแม่ คุณภาพต่างๆเกิดจากการปฏิบัติ ทุกวันนี้นโยบายหลักสูตรไปเน้นที่ภายนอก เน้นเรื่องอินเตอร์เน็ต โดยไม่สนใจที่จะสร้างคุณภาพภายใน การออกแบบหลักสูตรก็ทำกันในห้องแอร์ ไม่ได้สอบถามคนในพื้นที่ว่าเด็กอยากเรียนอะไร ชุมชนในฐานะที่อยู่ใกล้ชิดกับเด็กต้องการอะไร เด็กเรียนจบแล้วจะนำความรู้มาใช้ให้สอดคล้องกับชีวิตความเป็นจริงอย่างไร
“ทุกวันนี้หลังจากเราช่วยกันตามมีตามเกิด ก็เริ่มมีเครือข่าย มีองค์กรต่างๆเข้ามาช่วยเหลือ มีการนำปราชญ์ชาวบ้านมาสอนในวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับภูมิปัญญา เช่น การทอผ้า นวดแผนไทย สมุนไพร การทอเสื่อ เรื่องอาหาร การสวดมนต์สรภัญญะ เพราะตรงนี้นอกจากเด็กจะได้ความรู้นำไปใช้ในชีวิตจริงชุมชนยังได้กลุ่มอาชีพเพิ่มมีรายได้ด้วย”
ผอ.ร.ร.บ้านปากบุ่ง กล่าวอีกด้วยว่า ต้องทำให้โรงเรียนเป็นมากกว่าคำว่าโรงเรียน การพัฒนาคือการเปลี่ยนแนวความคิด การทำงานความคิดยากกว่าการปฏิรูปวัตถุ ตรงนี้สพฐ.ไม่เข้าใจ รัฐบาลก็ไม่เข้าใจ ที่ผ่านมาจึงมองโรงเรียนขนาดเล็กเป็นตัวสร้างปัญหา เป็นตัวถ่วงความเจริญ เวลาให้เงินสนับสนุนก็จะให้โรงเรียนขนาดใหญ่ก่อน โรงเรียนบ้านปากบุ่งเหมือนโรงเรียนที่ตายไปแล้ว ตนเข้ามาพัฒนาโรงเรียนพร้อมๆกับพัฒนาชุมชน เพราะโรงเรียนจะอยู่ไม่ได้ถ้าชุมชนอยู่ไม่ได้ ทำยังไงเราถึงจะอยู่ได้ สพฐ.ไม่ให้เงินไม่เป็นไร เราทำอาชีพเราอยู่ได้ โรงเรียนขนาดเล็กก็เป็นคนเหมือนกัน มีศักดิ์ศรีเท่าเทียมกันไม่ใช่สิ่งของที่จะให้ใครมาทดลองเล่นๆ
“ร.ร.กุดเสถียร ยโสธร” สร้างหลักสูตรท้องถิ่น-สร้างชุมชนเข้มแข็ง
โรงเรียนบ้านกุดเสถียร ต.สร้างมิ่ง อ.เลิงนกทา จ.ยโสธร ถูกยุบรวมเมื่อปี 2543 เด็กต้องย้ายไปเรียนโรงเรียนใกล้เคียงระยะทาง 3 กม.แต่ก็เกิดปัญหาเพราะชุมชนที่โรงเรียนใหม่มองเด็กแบบแบ่งแยก ต่อมาปี 2545 ชาวบ้านจึงเดินขบวนเรียกร้องขอทวงโรงเรียนคืน จนได้โรงเรียนกลับมา แต่ทางสพฐ.กลับไม่ให้ครูมาสอน ชาวบ้านจึงมาจัดการเรียนการสอนกันเอง อาคารสิ่งก่อสร้างต่างๆ สร้างด้วยมือของชาวบ้านที่ดินก็เป็นของชุมชน ปี 2548 มีการบรรจุตำแหน่งผู้อำนวยการ แต่มาอยู่ได้7-8 เดือนก็ย้ายหนี เปลี่ยนผู้อำนวยการมา 4-5 คน จนชาวบ้านหมดความเชื่อถือ กระทั่งปี 2550 นายจำรัส ช่วงชิง ได้รับแต่งตั้งมาเป็นผู้อำนวยการโรงเรียน ความเปลี่ยนแปลงก็เริ่มขึ้น มีการนำจุดแข็งของชุมชนที่เป็นศูนย์เรียนรู้ทอผ้าในพระราชดำริ มาใช้เป็นเครื่องมือ ความเชื่อมั่นศรัทธาเริ่มกลับคืนมา
ท่ามกลางป่าไม้ที่ให้บรรยากาศร่มเย็น เงียบสงบ ดอกไม้ป่าบนลานดินชูดอกละลานตา รอบๆอาคารเรียนเต็มไปด้วยสวนสมุนไพร ขอนไม้ ตอไม้วัสดุดัดแปลงจากกี่ทอผ้า ถูกจัดวางลงตัวอย่างสวยงาม โต๊ะเก้าอี้ เป็นฝีมือชาวบ้าน ครู นักเรียนที่ร่วมกันสร้างขึ้นมา นายจำรัส ช่วงชิง ผอ.โรงเรียนกุดเสถียร บอกว่า เมื่อก่อนร.ร.กุดเสถียรเป็นโรงเรียนชายขอบประเมินแล้วไม่ผ่านเป็นโรงเรียนไอซียูเป็นคนไข้หนัก ตนเชื่อว่าโรงเรียนจะไปได้ต้องบริหารงานแบบมีส่วนร่วม คือ ร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมวางแผน ร่วมรับผิดชอบ ร่วมวัดผลประเมินผล
ชุมชนกุดเสถียรมีจุดแข็งเรื่องภูมิปัญญาท้องถิ่น จึงนำปราชญ์ชาวบ้านเข้ามาเป็นครูสอนเด็กๆ กระบวนการเรียนการสอน เป็นการสร้างให้ห้องเรียนที่ตายแล้ว เป็นห้องเรียนที่มีชีวิต จากห้องเรียนสี่เหลี่ยมนำเด็กออกไปสัมผัสกับป่า ผ่านฐานเรียนรู้เตรียมเดินป่าศึกษาธรรมชาติ ฐานตลาดนัดสวน ฐานตู้ยาสมุนไพร ฐานต้นไม้ ฐานเศรษฐกิจพอเพียง และฐานสวนป่าลาธรรม ให้เด็กเรียนรู้วิชาสามัญผ่านกิจกรรมโครงงาน เช่น โครงงานเรียนรู้สมุนไพรด้วยภาษาไทยแสนสนุก แทนที่จะท่องจำร้อยแก้วครูก็จะสอนให้เด็กเขียนกลอนสั้นๆเป็นสรรพคุณสมุนไพร เด็กก็สนุกจำง่าย โครงงานนี้ได้รางวัลเหรียญทองและโครงงานเรียนรู้ลายผ้าพื้นเมืองด้วยคณิตศาสตร์ก็ได้เรียนทองแดงระดับภาค จากนักเรียน 20 คน ปัจจุบันเพิ่มเป็น 140 คน
“จุดเด่นอีกด้านคือคือมีการอนุรักษ์การตักบาตร อนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมชุมชน เด็กมีจิตอาสา เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ เรามีโครงการออมทรัพย์ ซึ่งครู นักเรียนร่วมกันทำมาตั้งแต่ปี 2552 จากจำนวนเงินหนึ่งแสนบาทเพิ่มขึ้นในปัจจุบันกว่าหนึ่งล้านบาท ซึ่งเงินตรงนี้นอกจากจะให้สมาชิกกู้ยืมเพื่อบรรเทาความเดือดร้อน ยังเก็บไว้เป็นทุนการศึกษาของเด็ก ซึ่งเราจะเห็นว่ากระบวนการภูมิปัญญาสอนเด็กได้จริง ผลที่ได้มาคือเด็กกล้าแสดงออก เด็กได้รับประสบการณ์ เด็กมีความมั่นใจขึ้น สัมฤทธิ์เห็นผลสูงขึ้น ส่งผลไปถึงความพึงพอใจของชุมชนที่ขยายออกไปถึง 8 หมู่บ้านที่พอใจกับการจัดการศึกษาของโรงเรียนกุดเสถียรส่งลูกหลานมาเรียนที่นี่ ชาวบ้านภูมิใจที่มีส่วนร่วมเป็นตัวจักรสำคัญพัฒนาการศึกษา เป็นพลังของชุมชนอย่างแท้จริง ความสำเร็จที่ได้มาไม่ใช่ความสามารถของผู้บริหาร ชุมชนต่างหากคือมือที่ยื่นเข้ามาพัฒนาระบบการศึกษาของชุมชนอย่างแท้จริง” ผอ.โรงเรียนกุดเสถียร กล่าว
สืบสานวิถีบรรพบุรุษกับโรงเรียนชาวนา กาฬสินธุ์
“ข้าวทุกจาน อาหารทุกอย่าง อย่ากินทิ้งขว้างเป็นของมีค่า ผู้คนอดอยากมีมากหนักหนา สงสารชาวนาเด็กตาดำๆ ขอบคุณแม่ครัว ขอบคุณพ่อครัว ขอบคุณ ขอบคุณ” เสียงท่องสวดของเด็กๆที่นั่งล้อมวงข้าวดังขึ้นก่อนอาหารกลางวันจะเริ่มต้นถึงกับทำเอาเราขนลุกซู่ ด้วยแววตาสดใส เต็มเปี่ยมไปด้วยความกระตือรือร้น ร่าเริงตามประสา พวกเขาต่างพูดเป็นเสียงเดียวกัน นอกจากเรียนในห้องเรียน การได้เรียนในโรงเรียนชาวนาที่ก่อตั้งโดยพ่อแม่ผู้ปกครองของพวกเขาทำให้มีความสุข ได้เรียนรู้สิ่งใหม่ๆได้สืบทอดวิถีปู่ย่าตาทวด อันเป็นวิถีแห่งความดีงามและยั่งยืน
ทรงเดช ก้อนวิมล ผู้อำนายการโรงเรียนสืบสานอุดมการณ์ชาวนา เล่าว่า โรงเรียนสืบสานอุดมการณ์ชาวนา ตำบลหนองตอกแป้น อ.ยางตลาด จ.กาฬสินธุ์ หรือเรียกสั้นๆว่าโรงเรียนชาวนาคือสถานศึกษาที่ถือกำเนิดขึ้นภายใต้กระแสไหล่บ่ายุคทุนนิยม ก่อนหน้านี้มีการใช้สารเคมี ปุ๋ยเคมี ยาฆ่าแมลงกันมากมาย เพื่อเพิ่มผลผลิตให้ทันตามความต้องการของตลาด สิ่งที่ตามมาคือหลายคนเจ็บป่วยจากสารพิษที่สะสมในร่างกาย ข้าวปลาอาหารกลายเป็นของแสลง กินได้แต่ไม่ปลอดภัย
ปี พ.ศ.2549 แกนนำชุมชน 39 คนจาก 13 หมู่บ้านที่เป็นเกษตรกรเริ่มมองเห็นสภาพปัญหาดังกล่าว มองเห็นความเสื่อมสภาพของดินของที่นาและหนี้สินที่มากมาย รวมทั้งความรู้ความเป็นเกษตรกรที่บรรพบุรุษถ่ายทอดกันสืบต่อกันมากำลังจะสูญหายไปจากการพัฒนาของภาครัฐ ทำให้เกิดกระบวนการร่วมคิด ร่วมคุย จับกลุ่มกันจัดตั้งโรงเรียนชาวนาขึ้น สร้างกระบวนการเรียนรู้ การทำเกษตรกรรมอินทรีย์ เกษตรพอเพียงที่อยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเป็นมิตร อีกทั้งหลายคนกังวลลูกหลานจะอยู่อย่างไร วิถีเกษตรกรรมของพ่อแม่ ปู่ย่าตายายจะหายไปหากไม่มีการถ่ายทอดให้ลูกหลาน จึงนำมาซึ่งการทำงานสร้างกระบวนการเรียนรู้ให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ เกิดพื้นที่สร้างสรรค์สำหรับเด็กๆชาวนาตัวน้อยๆ โรงเรียนชาวนาจึงเป็นศูนย์กลางการเรียนรู้ของชาวบ้านทั้งตำบล ทุกหมู่บ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ที่เกาะเกี่ยวร้อยเรียงกัน โดยมีฐานการเรียนรู้ เช่น ฐานเรียนรู้เรื่องพืช การเพาะกล้าไม้ ฐานเรียนรู้เรื่องสมุนไพร ฐานการเรียนรู้เรื่องเกษตรกรรมยั่งยืน ฐานเรียนรู้สัตว์ สัตว์ปีก วัว ควาย และฐานเรียนรู้การปรับปรุงดิน ทำนาผสมผสาน เศรษฐกิจพอเพียง
“ชาวบ้านตระหนักในเรื่องจัดการดูแลลูกหลานของตนเอง เพื่อที่จะถ่ายทอดให้รู้จักทักษะการดำเนินชีวิต การอยู่ในสังคมอย่างรู้เท่าทัน โรงเรียนชาวนาถือว่าเป็นโรงเรียนที่ทำงานโดยฐานของชุมชน โดยผู้ปกครอง ความคาดหวังอยากให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องในภาครัฐได้เห็นคุณค่า ได้เห็นความสำคัญของกลุ่มคนเล็กๆที่มีอยู่ภายในชุมชน ให้มีการสนับสนุนหรือเห็นคุณค่า เห็นสิ่งที่ทางชุมชนได้ทำเพื่อร่วมกันพัฒนาชุมชนที่เป็นฐานรากของสังคมไทยอย่างยั่งยืนต่อไป” ทรงเดช กล่าว
สุธรรม มูลเสนา เกษตรกรที่เข้าร่วมโรงเรียนชาวนา กล่าวย้ำถึงทิศทางและอุดมการณ์ของพวกเขาว่า การศึกษาปัจจุบันไม่สามารถช่วยเหลือเด็กได้ในบางอย่าง เด็กที่ไปเรียนในระบบภาครัฐ ไม่สอดคล้องกับวิถีชีวิต เด็กๆหลายคนกลับมาไม่สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ ทำกับข้าวก็ไม่เป็น ไม่รู้จักวิถีชีวิตในชนบท ไปหลงกับวิถีที่มันแตกต่าง ชาวบ้านจึงคิดว่าน่าจะมาสอนในเรื่องที่เกี่ยวข้องกับชีวิตของพวกเขาให้เด็กนำไปปรับใช้ในชีวิตประจำวัน อีกทั้งการทำเกษตรอินทรีย์ก็ทำให้สุขภาพดีขึ้น จากที่เคยเป็นโรคต่างๆก็ไม่มี การทำเกษตรชีวภาพไม่ต้องดิ้นรนไปหาเงินมาซื้อปุ๋ยเคมีใส่ข้าวและไม่เป็นทุกข์ใจเรื่องหนี้สินด้วย
นั่นคือทิศทางการทำงานเพื่อความอยู่ของโรงเรียนขนาดเล็ก สถานศึกษาชายขอบที่ไม่ได้รับการเหลียวแลจากภาครัฐอย่างที่ควรจะเป็น การดำรงอยู่ภายใต้ความร่วมมือของคนในชุมชน วิถีภูมิปัญญา ขนบธรรมเนียมอันดีงาม ฮีต12 คอง14 ศรัทธาและความเชื่อจึงเป็นเครื่องมือทรงพลัง นำมาซึ่งการสร้างสรรค์ชุมชนเข้มแข็งยั่งยืน.