“ปฏิรูปการศึกษา เน้นกระจายอำนาจ เปิดโอกาสคนไทย 65 ล้านคน เรียนรู้ตลอดชีวิต
น่าวิตกกังวลไม่น้อย สำหรับการจัดอันดับคุณภาพการศึกษาขั้นพื้นฐานของไทยในปี 2557 โดยเวิลด์ อีโคโนมิกฟอรั่ม (World Economic Forum หรือ WEF) ที่ให้ไทยอยู่อันดับ 7 ของอาเซียน ถดถอยจากปีที่ผ่านที่อยู่ในอันดับที่ 6 โดยมีสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ขยับไปแทนที่ ขณะที่อันดับโลกอยู่ในอันดับที่ 86
อะไรทำให้คุณภาพการศึกษาของไทยรั้งท้ายเช่นนี้ ?!?
หลังการประกาศใช้พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ทำให้การศึกษาของไทยในรอบทศวรรษที่ผ่านมา มีการเปลี่ยนแปลงอย่างมาก เพราะนำไปสู่การควบรวมหน่วยงานที่รับผิดชอบการจัดการศึกษาในสังกัดกระทรวงศึกษาธิการ การจัดตั้งหน่วยงานใหม่เป็นองค์การมหาชน รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณเป็นจำนวนมาก ซึ่งการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการศึกษาของไทยมีจำนวนมากนับเป็นอันดับสองของโลก โดยหวังพัฒนาคุณภาพการศึกษาของประเทศ
แต่ทว่าไม่บรรลุผลที่วางเอาไว้ เพราะการออกแบบให้รัฐเป็นผู้จัดการศึกษา รวมไปถึงความไม่จริงจังในการกระจายอำนาจไปยังสถานศึกษาอย่างแท้จริง อีกทั้งระบบการศึกษาดูแลเฉพาะประชากรในวัยเรียนที่อยู่ในระบบการศึกษา โดยขาดการเชื่อมโยงไปสู่ประชากรนอกระบบการศึกษาที่จำเป็นต้องเรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อสัมมาชีพและการพัฒนาคุณภาพชีวิต เป็นสาเหตุสำคัญทำให้มาตรฐานคุณภาพการศึกษาตกต่ำ ทั้งที่การศึกษาเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะนำไปสู่การลดความเหลื่อมล้ำ !!!
ด้วยเหตุนี้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จึงได้บรรจุแนวทางการปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์ ตามที่คณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาและการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ ได้เสนอมา โดยมีเป้าหมายเพื่อให้มีการกระจายอำนาจการจัดการศึกษาและความรับผิดชอบต่อผลลัพธ์ไปสู่สถานศึกษาให้มากขึ้น รวมถึงแยกบทบาทของหน่วยกำหนดนโยบายและหน่วยปฏิบัติให้ชัดเจน โดยหน่วยกำหนดนโยบายใหม่ที่จะถูกกำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับนี้ด้วย
นายแพทย์ชูชัย ศุภวงศ์ รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญที่รับผิดชอบหมวดปฏิรูป กล่าวว่า ความล้มเหลวในการจัดการศึกษาคือ ประสิทธิภาพของการจัดการศึกษา ซึ่งมีสาเหตุมาจากการบริหารแบบรวมศูนย์อำนาจไว้ที่ส่วนกลาง ทั้งด้านงบประมาณ บุคคล และหลักสูตรการเรียนการสอน จนสถานศึกษาไม่สามารถบริหารจัดการให้บรรลุถึงคุณภาพการเรียนรู้ของผู้เรียนได้ และยังเป็นเหตุที่มาของการทุจริตในระบบการศึกษาจนยากที่จะแก้ไข
นอกจากนี้แล้วระบบการศึกษาในปัจจุบันยังรองรับกลุ่มเป้าหมายที่จำกัดอยู่เพียงผู้เรียนในระบบประมาณ 9 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งไม่สอดคล้องต่อการพัฒนาความรู้ความสามารถ และสมรรถนะของพลเมืองอีกจำนวนมากที่อยู่นอกระบบการศึกษา
รองประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า ด้วยเหตุนี้รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปหมวดที่ว่าด้วยเรื่องการศึกษา จึงได้พิจารณารับรองสิทธิของบุคคล(ชนชาวไทย)ทางการศึกษาที่มีคุณภาพและหลากหลายอย่างทั่วถึง สอดคล้องกับวัฒนธรรมท้องถิ่น ความถนัดและศักยภาพของแต่ละบุคคล ตั้งแต่ระดับปฐมวัยจนถึงระดับมัธยมสายสามัญและสายอาชีพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย
ทั้งนี้ตามที่กฎหมายบัญญัติ และในส่วนของผู้พิการหรือทุพพลภาพ ผู้ยากไร้หรือผู้อยู่ในสภาวะยากลำบาก ต้องได้รับสิทธิดังกล่าวข้างต้น
ตลอดจนรัฐมีหน้าที่ต้องจัดการศึกษาอบรมและส่งเสริมการจัดการศึกษาขององค์กรวิชาชีพหรือเอกชนเพื่อให้ประชาชนเรียนรู้ตลอดชีวิต การศึกษาเรียนรู้ด้วยตนเอง การศึกษาทางเลือก และการศึกษาประเภทอื่นที่หลากหลาย
สำหรับสิทธิของบุคคลที่ไม่มีสัญชาติไทยและมีถิ่นที่อยู่ในประเทศไทยจะได้รับสิทธิทางการศึกษาเช่นกันตามที่รัฐจัดให้ตามความเหมาะสมซึ่งจะต้องไปออกกฎหมายรองรับต่อไป โดยสิทธิทางการศึกษาในรัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปนี้นั้น จะนำไปพิจารณาเชื่อมโยงกับแนวนโยบายพื้นฐานแห่งรัฐ ตลอดจนหมวดปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมต่อไปอีกด้วย
สำหรับแนวทางการปฏิรูปที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้ความเห็นชอบ มีสาระสำคัญคือ
(1 )จัดให้มีคณะกรรมการระดับชาติคือ คณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ เป็นองค์กรภายใต้กำกับนายกรัฐมนตรี เพื่อทำหน้าที่ปฏิรูปการศึกษาและพัฒนามนุษย์อย่างรอบด้าน ตลอดชีวิต และกำหนดนโยบาย แผนยุทธศาสตร์ กลั่นกรองการจัดสรรงบประมาณ ตลอดจนปรับปรุงบรรดากฎหมาย ที่จำเป็นเพื่อขจัดปัญหาต่างๆที่เป็นอุปสรรคต่อการปฏิรูปการศึกษา โดยเฉพาะการกระจายอำนาจการจัด การศึกษาให้เป็นจริง
(2) จัดให้มีกลไกเพื่อการนำเสนอเชิงนโยบายอย่างมีข้อมูลหลักฐานอ้างอิงที่จะช่วยให้ถูกทิศทางการพัฒนา ทั้งระดับท้องถิ่นและระดับประเทศ ได้แก่ สถาบันวิจัยระบบการศึกษา และสมัชชาเครือข่ายการศึกษา
(3) จัดให้มีสำนักงานบริหารการเงินเพื่อการศึกษาเป็นหน่วยงานอิสระ เพื่อทำหน้าที่วางแผนปรับระบบการใช้งบประมาณเพื่อการศึกษาของรัฐ ให้มีสัดส่วนตรงสู่ผู้เรียนหรือที่หน้างานปฏิบัติมากขึ้น รวมทั้งการกระตุ้น เปิดโอกาสให้มีการระดมทุนทางการศึกษาจากภาคส่วนต่างๆให้มากขึ้นเพื่อให้ผู้เรียนหรือผู้ปกครองมีอำนาจการตัดสินใจเลือกการศึกษาที่มีคุณภาพ และเพื่อเสริมให้สถานศึกษามีความเป็นนิติบุคคลที่สมบูรณ์และสามารถบริหารจัดการให้เกิดคุณภาพการศึกษาได้โดยตรง ตลอดจนการจัดให้มีกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมคุณภาพการเรียนรู้
ด้านนางประภาภัทร นิยม เลขานุการคณะกรรมาธิการปฏิรูปศึกษา กล่าวว่า การปฏิรูปการศึกษาครั้งนี้มุ่งสร้างกลไกเพื่อเปิดโอกาสให้คนไทยทุกคน ทั้ง 65 ล้านคนได้รับประโยชน์จากระบบการศึกษาและได้เรียนรู้ตลอดชีวิตเพื่อพัฒนาคุณภาพชีวิตและสัมมาชีพ ที่สำคัญไม่ให้เกิดการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งจะทำให้นโยบายการศึกษาเกิดความต่อเนื่อง และส่งผลต่อคุณภาพของคนไทยที่มีสมรรถนะ ปัญญาความรู้ความสามารถเพื่อการพัฒนาประเทศในที่สุด
แนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่ถูกบรรจุในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ สามารถตอบโจทย์ในการแก้ไขปัญหา และเป็นเครื่องมือสำคัญที่จะทำให้ระบบการศึกษาของไทยถูกยกระดับไปสู่เป้าหมายได้สำเร็จ อีกทั้งยังเป็นถนนสายสำคัญที่จะปูทางให้เยาวชนผู้เป็นอนาคตของชาติได้รับการพัฒนาอย่างเหมาะสม
เราคนไทยจะร่วมกันผลักดันให้เกิดสิ่งเหล่านี้ได้ ด้วยการสนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
ที่มาภาพ:http://www.weforum.org/