ชัด ๆ กฤษฎีกาตีความปมเรียกคืน 16 ล.นายกอบจ.ราชบุรีพีอาร์ในหนังสือเรียน
ชัด ๆ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองตีความข้อกฎหมาย ปม “สมศักดิ์” พีอาร์รูปผ่านหนังสือเรียน ก.คลัง ชง อบจ.ราชบุรี เรียกเงินคืน 16 ล้าน ยันทำได้ตามปกติ แม้ศาลปกครองกลางพิพากษาให้ยกเลิก เหตุอายุความหมดแล้ว ชี้อยู่ระหว่างอุทธรณ์ศาลปกครองสูงสุด ส่วนอายัดทรัพย์ให้รอคำพิพากษาศาลปกครองสูงสุดก่อน
เรียกได้ว่าเป็น “คดีตัวอย่าง” ไปแล้ว !
สำหรับกรณี “สมศักดิ์ รัตนมุง” นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดราชบุรี ที่ใส่ชื่อ-รูปลงในหนังสือการเรียนการสอน จนถูกสำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.) เขตที่ 12 จ.เพชรบุรี แจ้งผลการตรวจสอบ ในการจัดทำหนังสือการเรียนการสอน แล้วปรากฏชื่อและรูปภาพของ “สมศักดิ์” ในหนังสือ ซึ่งมีลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์ส่วนบุคคล
ต่อมา อบจ.ราชบุรี ได้ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง โดยให้ “สมศักดิ์” ชำระเงินทดแทนเป็นจำนวนกว่า 1.7 แสนบาท และทำหนังสือถึงไปกระทรวงการคลังให้ประเมินความเสียหายด้วย
หลังจากนั้น กระทรวงการคลังได้ทำหนังสือเรียกเงินคืนจาก “สมศักดิ์” กว่า 16 ล้านบาท แต่หนังสือของกระทรวงการคลัง ได้ส่งมาภายหลังอายุความคดีหมดลงไปแล้ว !
“สมศักดิ์” จึงฟ้องต่อศาลปกครองกลาง ซึ่งศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาว่า คำสั่งเรียกเงินคืนของกระทรวงการคลังนั้น ไม่สามารถทำได้ เพราะอายุความคดีหมดก่อน
ภายหลังศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาดังกล่าว “สมศักดิ์” ดำเนินการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินในส่วนต่าง ๆ ออกไปทันที เพื่อป้องกันการถูกอายัดทรัพย์ !
ร้อนถึง กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ต้องทำหนังสือขอหารือคณะกรรมการกฤษฎีกา ในกรณีดังกล่าวโดยด่วน
สรุปแล้วใครต้องรับผิดชอบ ?
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำบันทึกคณะกรรมการกฤษฎีกาฉบับเต็มกรณีดังกล่าวมาเปิดเผย ดังนี้
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นมีหนังสือ ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า จ.ราชบุรี ได้มีหนังสือถึงอธิบดีกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น หารือปัญหาข้อกฎหมาย กรณี อบจ.ราชบุรี มีคำสั่งที่ 0377/2555 เรื่อง ให้ผู้ต้องรับผิดทางละเมิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทนให้กับ อบจ.ราชบุรี ลงวันที่ 5 เม.ย. 2555 โดยให้นายสมศักดิ์ รัตนมุง เมื่อครั้งดำรงตำแหน่งนายก อบจ.ราชบุรี ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามความเห็นของกระทรวงการคลัง
ต่อมา อบจ.ราชบุรี ได้สืบหาหลักทรัพย์และทรัพย์สินของนายสมศักดิ์ และนางบุญเรือน รัตนมุง (คู่สมรส) ปรากฏข้อเท็จจริงว่า นายสมศักดิ์ ได้มีการจำหน่าย จ่าย โอน ทรัพย์สินของตนและคู่สมรส เพื่อหลีกเลี่ยงการใช้มาตรการบังคับทางการปกครอง เพื่อยึดอายัดทรัพย์ตามคำสั่งดังกล่าว ซึ่งกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นได้ตอบข้อหารือดังกล่าวแล้ว
ต่อมา จ.ราชบุรี ได้มีหนังสือหารือประเด็นปัญหาเกี่ยวกับการใช้มาตรการบังคับทางปกครองของ อบจ.ราชบุรีเพิ่มเติม เกี่ยวกับการโอนอาวุธปืน การถอนคืนสลากออมสินพิเศษ รวมทั้งการนำส่งเงินค่าหุ้น ภายหลังจากศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555
กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นพิจารณาแล้วจึงขอหารือคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองประเด็นที่ จ.ราชบุรี หารือ สรุปได้ว่า ภายหลังที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 ซึ่ง อบจ.ราชบุรี ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว และนายสมศักดิ์ ไม่โอนอาวุธปืนกลับมาเป็นของตน ไม่จัดส่งเงินที่ได้ถอนไปจากบัญชี รวมทั้งเงินที่ได้จากการถอนคืนสลากออมสินพิเศษให้กับ อบจ.ราชบุรี และไม่นำส่งเงินค่าหุ้นที่มีอยู่กับบริษัท สยาม ลีเจนด์ กรุ๊ป จำกัด ให้กับ อบจ.ราชบุรี จะต้องดำเนินการอย่างไรนั้น
กรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเห็นว่า การยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สิน ย่อมเป็นไปตามตามความเห็นของคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง โดยการยึดหรืออายัดทรัพย์สินและขายทอดตลาดเพื่อชำระเงินตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539
ส่วนกรณีที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 และ อบจ.ราชบุรี ได้อุทธรณ์คำพิพากษาศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดแล้ว ย่อมเป็นไปตามนัยมาตรา 70 แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีของศาลปกครอง ความเห็นของกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่นถูกต้องหรือไม่ ประการใด
คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง ได้พิจารณาข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น โดยมีผู้แทนกระทรวงมหาดไทย และผู้แทน อบจ.ราชบุรี เป็นผู้ชี้แจงรายละเอียดแล้ว ปรากฏข้อเท็จจริงเพิ่มเติมว่า
อบจ.ราชบุรี ได้แต่งตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงความรับผิดทางละเมิดกับนายสมศักดิ์ กรณี สตง.ภูมิภาคที่ 12 จ.เพชรบุรี แจ้งผลการตรวจสอบการใช้งบประมาณเพื่อจัดทำหนังสือสื่อการเรียนการสอน โดยมีชื่อและรูปภาพของนายสมศักดิ์ ปรากฏอยู่ในหนังสือ ซึ่งมีลักษณะเป็นการประชาสัมพันธ์ส่วนบุคคล
โดยผู้ว่าราชการจังหวัดราชบุรี เห็นชอบตามความเห็นของคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริงฯ ที่ให้นายสมศักดิ์ รับผิดชดใช้ค่าสินไหมทดแทน รวมเป็นเงินนทั้งสิ้น 176,130 บาท และ อบจ.ราชบุรี ได้แจ้งผลการพิจารณาให้กระทรวงการคลังเพื่อตรวจสอบตามข้อที่ 17 แห่งระเบียบสำนักนายกรัฐมนตรีว่าด้วยหลักเกณฑ์การปฏิบัติเกี่ยวกับความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539
อย่างไรก็ดี กระทรวงการคลังไม่แจ้งผลการตรวจสอบภายในระยะเวลาก่อนอายุความสองปีสิ้นสุดลง อบจ.ราชบุรี จึงได้ออกคำสั่งเรียกให้นายสมศักดิ์ ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนก่อนครบกำหนดอายุความเป็นเงินจำนวน 176,130 บาท และนายสมศักดิ์ ได้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามจำนวนเงินดังกล่าวเรียบร้อยแล้ว
ต่อมาเมื่ออายุความสองปีล่วงพ้นไปแล้ว กระทรวงการคลังโดยกรมบัญชีกลางได้แจ้งผลการตรวจสอบว่า นายสมศักดิ์ ต้องรับผิดในจำนวนความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นเงิน 16,510,840 บาท และ อบจ.ราชบุรี ได้ออกคำสั่งที่ 0377/2555 ให้นายสมศักดิ์ ชำระเงินดังกล่าว โดยให้หักค่าสินไหมทดแทนที่ชำระไว้แล้ว คงเหลือเงินที่ต้องชำระทั้งสิ้น 16,334,709 บาท
หลังจากนั้นนายสมศักดิ์ ได้ฟ้องต่อศาลปกครองกลางเพื่อขอเพิกถอนคำสั่งของ บอจ.ราชบุรีดังกล่าว ซึ่งศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 เนื่องจากเห็นว่า เป็นคำสั่งที่ออกเมื่อพ้นกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ อบจ.ราชบุรี รู้ถึงการละเมิด และรู้ตัวเจ้าหน้าที่จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน ตามมาตรา 10 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.ความรับผิดทางละเมิดของเจ้าหน้าที่ พ.ศ.2539 และคดีอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพิจารณาข้อหารือของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นประกอบข้อเท็จจริงดังกล่าวข้างต้นแล้ว เห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องพิจารณา 2 ประเด็น ดังนี้
ประเด็นที่หนึ่ง อบจ.ราชบุรี สามารถใช้มาตรการบังคับทางปกครองในระหว่างการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางต่อศาลปกครองสูงสุดได้หรือไม่ อย่างไร
เห็นว่า มาตรา 70 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 กำหนดว่า ในกรณีที่มีการอุทธรณ์ให้รอการบังคับคดีไว้จนกว่าคดีจะถึงที่สุด เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า การที่ศาลปกครองกลางได้มีคำพิพากษาให้เพิกถอนคำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 นั้น อบจ.ราชบุรี ได้อุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองกลางดังกล่าว และขณะนี้คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด
ดังนั้น อบจ.ราชบุรี จึงยังไม่ต้องปฏิบัติตามคำบังคับของศาลปกครองกลาง โดยถือว่าคำสั่ง อบจ.ราชบุรีที่ 0377/2555 ยังมีผลบังคับใช้อยู่
เมื่อนายสมศักดิ์ไม่ชดใช้ค่าสินไหมทดแทนตามคำสั่งของ อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 อบจ.ราชบุรี จึงอาจพิจารณาใช้มาตรการบังคับทางปกครองตามมาตรา 57 แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 เพื่อยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายสมศักดิ์ เพื่อนำมาชดใช้ค่าสินไหมทดแทนได้ ทั้งนี้ ตามแนวทางที่คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะพิเศษ) ได้ให้ความเห็นไว้
ประเด็นที่สอง กรณีที่ อบจ.ราชบุรี ตรวจสอบพบทรัพย์สินของนายสมศักดิ์ อบจ.ราชบุรี จะดำเนินการยึดหรืออายัดและขายทอดตลาดทรัพย์สินดังกล่าวได้หรือไม่ อย่างไรนั้น
เห็นว่า หาก อบจ.ราชบุรี ได้สืบหาทรัพย์สินของนายสมศักดิ์ และพบว่า นายสมศักดิ์ ไม่โอนอาวุธปืนกลับมาเป็นของตน ไม่จัดส่งเงินที่ได้ถอนไปจากบัญชี รวมทั้งเงินที่ได้จากการถอนคืนสลากออมสินพิเศษให้กับ อบจ.ราชบุรี และไม่นำส่งเงินค่าหุ้นที่มีอยู่กับบริษัท สยาม ลีเจนด์ กรุ๊ป จำกัด เพื่อชำระค่าสินไหมทดแทนให้แก่ อบจ.ราชบุรี นั้น
กรณีเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกับวิธีการยึดหรืออายัดทรัพย์สินของบุคคลผู้อยู่ในบังคับของคำสั่งเรียกให้ชดใช้ค่าสินไหมทดแทน ซึ่งมาตรา 57 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.วิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง พ.ศ.2539 กำหนดให้วิธีการยึด การอายัด และการขายทอดตลาดทรัพย์สิน จะต้องปฏิบัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งโดยอนุโลม
ดังนั้น ทรัพย์สินรายการใดของนายสมศักดิ์ ที่อาจยึดหรืออายัด และนำมาขายทอดตลาดได้ ต้องพิจารณาประกอบกับบทบัญญัติตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง โดยคณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองได้เคยสรุปขั้นตอนการยึดหรืออายัด และขยายทอดตลาดทรัพย์สินไว้แล้ว
ดังนั้น ความเห็นของกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเกี่ยวกับมาตรการบังคับทางปกครองภายหลังที่ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 แต่อยู่ระหว่างที่ อบจ.ราชบุรี อุทธรณ์คำพิพากษาต่อศาลปกครองสูงสุดตามหนังสือที่หารือมาข้างต้นนั้น เป็นความเห็นที่ถูกต้องแล้ว
อนึ่ง คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองมีข้อสังเกตเพิ่มเติมว่า การใช้มาตรการบังคับทางปกครองในระหว่างที่ยังมีการอุทธรณ์คำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้น หน่วยงานของรัฐสมควรจะต้องพิจารณาผลของคำวินิจฉัยที่ปรากฏอยู่ในคำพิพากษาของศาลปกครองชั้นต้นมาประกอบการใช้มาตรการบังคับทางปกครองด้วย
เมื่อข้อเท็จจริงกรณีนี้ปรากฏว่า ศาลปกครองกลางมีคำพิพากษาเพิกถอนคำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 ด้วยเหตุที่เป็นคำสั่งซึ่งออกเมื่อพ้นกำหนดอายุความสองปีนับแต่วันที่ อบจ.ราชบุรี รู้ถึงการละเมิดและรู้ตัวเจ้าหน้าที่ผู้จะพึงต้องใช้ค่าสินไหมทดแทน
ดังนั้น หาก อบจ.ราชบุรี จะยึดหรืออายัด และขายทอดตลาดทรัพย์สินของนายสมศักดิ์ ในขณะที่คดียังอยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองสูงสุด หากศาลปกครองสูงสุดพิพากษายืนตามคำพิพากษาศาลปกครองกลาง และมีการใช้มาตรการบังคับยึดทรัพย์และขายทอดตลาดทรัพย์นั้นไปแล้ว การที่จะดำเนินการเพื่อกลับสู่ฐานะเดิมจะเป็นไปได้ยาก และอาจก่อให้เกิดความเสียหายจนยากแก่การเยียวยาในภายหลัง อบจ.ราชบุรี จึงควรใช้ดุลยพินิจที่จะชะลอการใช้มาตรการบังคับทางปกครองกับนายสมศักดิ์ไว้ก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษาในเรื่องนี้
พูดให้ง่ายขึ้นก็คือ คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง เห็นว่า คำสั่งของ อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 ซึ่งดำเนินการตามความเห็นของกระทรวงการคลังให้นายสมศักดิ์ ชดใช้เงินมูลค่ากว่า 16 ล้านบาท ดำเนินการต่อไปได้ !
ส่วนการยึดหรืออายัดทรัพย์ของนายสมศักดิ์ ก็สามารถทำได้เช่นกัน เนื่องจากคดีอยู่ระหว่างอุทธรณ์ในศาลปกครองสูงสุด
อย่างไรก็ดี คณะกรรมการวิธีปฏิบัติราชการทางปกครอง มีความเห็นเพิ่มเติมว่า ควรชะลอการยึดหรืออายัดทรัพย์นายสมศักดิ์ไปก่อน จนกว่าศาลปกครองสูงสุดจะมีคำพิพากษา
เพราะหากศาลปกครองสูงสุดมีคำพิพากษายืนตามศาลปกครองกลาง ที่เห็นว่า คำสั่ง อบจ.ราชบุรี ที่ 0377/2555 ไม่ถูกต้อง การจะตามทรัพย์สินกลับมาคืนแก่นายสมศักดิ์ จะเป็นไปได้ยากนั่นเอง
ดังนั้น “สมศักดิ์” จึงยังมีลุ้น “เฮือก” สุดท้าย ในชั้นพิจารณาคดีของศาลปกครองสูงสุด !
อ่านประกอบ : คลังเรียกคืน 16 ล. นายกอบจ.ราชบุรีใส่รูปพีอาร์ในหนังสือเรียน-โอนสมบัติหนีแล้ว