เมื่อเหตุไฟไหม้โรงเรียนวอด มิอาจทำลายขวัญครูบ้านจะรังบองอ
เหตุร้ายครั้งแรกที่เกิดกับสถาบันการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ช่วงเดือนรอมฏอนปีนี้ เกิดขึ้นเมื่อเวลาตี 2 สิบนาทีของวันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม 2558
เหตุการณ์ดังกล่าวคือเหตุเพลิงไหม้อาคารเรียนไม้ชั้นเดียววอดเกือบทั้งหลังของโรงเรียนบ้านจะรังบองอ ตั้งอยู่หมู่ 6 ตำบลตะลุโบะ อำเภอเมือง จังหวัดปัตตานี ทำให้บรรดาครูต่างพากันเสียใจ แต่ก็พร้อมเปิดการเรียนการสอนใหม่อีกครั้งในวันที่ 7 กรกฎาคม
"บอกไม่ได้เหมือนกันว่าสาเหตุของเพลิงไหม้มาจากอะไร ต้องรอการพิสูจน์หลักฐานของเจ้าหน้าที่ก่อน เรามีสัญญาณเตือนภัยแต่เมื่อเกิดเหตุกลับใช้งานไม่ได้ เราอยู่กันมาอย่างสงบ ไม่เคยมีเหตุร้ายอะไรกับโรงเรียน รวมทั้งครูและนักเรียนด้วย"
เป็นคำตอบจาก นายสากล จันทร์อ่อน ผู้อำนวยการโรงเรียนบ้านจะรังบองอ เมื่อถูกถามถึงสาเหตุของเพลิงไหม้ครั้งนี้
นายมะกอเซ็ง สอเหาะ ภารโรงของโรงเรียนที่มีบ้านพักอยู่หลังโรงเรียน บอกว่า บ้านข้างๆ โรงเรียนโทรศัพท์มาบอกเพราะเห็นควันจากห้องเก็บเอกสารซึ่งอยู่เป็นห้องมุมสุดของอาคารไม้หลังนี้
"ผมรีบมาช่วยดับไฟกับชาวบ้าน ช่วยกันขนของออกมาได้บางส่วน โทรศัพท์ไปบอกดับเพลิง รอจน 40 นาทีกว่ารถดับเพลิงจะมา ถ้าเขามาภายใน 10 นาทีแรกคงไหม้ไม่เยอะขนาดนี้" มะกอเซ็ง กล่าวอย่างหมดอาลัยตายอยาก
ด้านหน้าโรงเรียนมีชุดรักษาความปลอดภัยหมู่บ้าน หรือ ชรบ.รักษาการอยู่ แต่มีอาคารเอนกประสงค์ตั้งบัง จึงทำให้ ชรบ.มองไม่เห็นแสงเพลิง กว่าจะรู้ก็ต่อเมื่อชาวบ้านมาบอกเช่นกัน
โรงเรียนแห่งนี้แม้จะอยู่ในพื้นที่ห่างไกล แต่ก็ยังมีครูที่นับถือศาสนาพุทธ หรือเรียกง่ายๆ ว่า "ครูไทยพุทธ" มากถึง 4 คน และแต่ละคนไม่เคยคิดย้ายไปไหน โดยหนึ่งในนั้น คือ ครูนวลสวาท ภัทรานนท์ วัย 55 ปี
"เสียใจที่เกิดเหตุการณ์อย่างนี้ ครูอยู่ที่นี่มา 33 ปี อยู่กันมาอย่างสงบ ชาวบ้านที่นี่ดีกับครูมาก มีความสุขที่ได้สอนที่นี่ ไม่เคยคิดย้ายไปไหน เหตุที่เกิดมาจากอะไรไม่รู้ รู้แต่ว่าเสียใจกันทุกคน แต่ยังสู้ต่อไป"
ครูนวลสวาทเป็นชาวจังหวัดสงขลา สอบบรรจุครูครั้งแรกได้เมื่อปี 2525 มาสอนที่โรงเรียนนี้และไม่เคยคิดย้ายไปที่ไหน เธอผูกพันกับโรงเรียนแห่งนี้มาก จนลูกศิษย์ของเธอไปศึกษาต่อและจบกลับมาเป็นครู ชาวบ้านก็ดีกับเธอมาก ชีวิตส่วนตัวของเธอก็แต่งงานกับชาวอำเภอหนองจิก จังหวัดปัตตานี จนตั้งรกรากอยู่ที่ปัตตานี ไม่คิดย้ายไปโรงเรียนที่ใหญ่หรือสบายกว่า ในทางกลับกันเธอพยายามคิดพัฒนาโรงเรียนให้ก้าวหน้าไปพร้อมกับคณะครูในโรงเรียน
"ชอบที่นี่มาก ภูมิใจและรักที่นี่ ชาวบ้านใจดีและรักครูรักโรงเรียน มีอะไรเขาก็เอามาให้ ทุกคนรู้จักครูเพราะอยู่มานานจนเหมือนญาติคนหนึ่ง ครูชินกับการมาสอนเด็กที่นี่ทุกวัน มีความสุขที่บอกใครไม่ได้ เราลำบากมาด้วยกันกับชาวบ้าน จากที่มีครูเพียง 5 คน ตอนนี้มีเพิ่มเป็น 13 คน นักเรียน 210 คน อยากสร้างให้ตรงนี้สบาย"
"อาคารที่โดนไฟไหม้สร้างมาตั้งแต่ปี 2509 เราซ่อมแซมและดูแลอยู่อย่างดี เมื่อมาเกิดเหตุอย่างนี้ ครูทุกคนก็พร้อมพัฒนาใหม่" ครูนวลสวาท บอกและว่า "จริงๆ วันนี้ (วันจันทร์ที่ 6 กรกฎาคม) โรงเรียนก็ไม่ได้ปิดการเรียนการสอน แต่เด็กๆ ตกใจมาดูสภาพอาคารเรียนถูกเผาด้วยชุดอยู่บ้าน จึงให้กลับบ้านก่อน เปิดเรียนใหม่วันที่ 7 กรกฎาคม มีอาคารข้างหลังที่ย้ายไปสอนได้ บุคลากรทุกคนพร้อมทำงานและสู้ต่อไป"
ด้านหน่วยงานรัฐที่รับผิดชอบดูแลด้านการศึกษาในพื้นที่อย่าง หัวหน้าส่วนฝ่ายการศึกษาและบุคลากรครู กองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า (กอ.รมน.ภาค 4 สน.) พันเอกเพชรรงค์ สิทธิต่าง กล่าวว่า เหตุการณ์นี้ไม่น่าใช่เรื่องของการก่อความไม่สงบ แต่น่าจะเป็นเรื่องของไฟฟ้าลัดวงจร
"มองแล้วไม่น่าใช่เรื่องการก่อเหตุสร้งสถานการณ์ จึงตัดประเด็นการก่อเหตุออกไปก่อน ให้ฝ่ายพิสูจน์หลักฐานได้ดูหลักฐานก่อน"
เมื่อถามถึงภาพรวมของการศึกษาในพื้นที่ชายแดนใต้ พันเอกเพชรรงค์ กล่าวว่า จากผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาเห็นว่า การศึกษาในพื้นที่นี้ยังไม่พัฒนา จำเป็นต้องหาสาเหตุให้เจอว่าเหตุใดผลสัมฤทธิ์จึงตกต่ำ อย่าไปคิดเองว่าเป็นด้วยสาเหตุใด ต้องคำนึงถึงเหตุและปัจจัยของเหตุ จึงจะสามารถแก้ปัญหาได้
------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 อาคารเรียนเก่าแก่ที่ถกไฟเผา
2 บรรยากาศหน้าโรงเรียนบ้านจะรังบองอ
3 ครูนวลสวาท (เสื้อสีเหลืองขวาสุด) และเพื่อนครูยังสู้ต่อไป