จนท.รัฐมีหนาว! ก.บ.ศ.ขยายนิยามศาลอาญา“คดีทุจริตฯ” จัดเต็มครบทุกมิติ
กางประกาศ ก.บ.ศ. เปลี่ยนนิยามศาลอาญา “คดีทุจริตประพฤติมิชอบฯ” พบขยายความผิดครอบคลุมทุกมิติ ทุจริตต่อหน้าที่-ทำผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ เรียกรับสินบน เอกชนร่วมเป็นตัวการ-สนับสนุน โดนหมด ! ผิด พ.ร.บ.ป.ป.ช.-พ.ร.บ.ป.ป.ท.-พ.ร.บ.ฮั้ว ก็ไม่รอด
นิยามความหมายของคำว่า “คดีทุจริตประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ” จะไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป !
ภายหลังเมื่อช่วงเดือน มิ.ย. 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศคณะกรรมการบริหารศาลยุติธรรม (ก.บ.ศ.) เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา
โดยศาลอาญาแผนคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐนั้น จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินคดีกับพวก “ฉ้อราษฎร์บังหลวง” โดยเฉพาะ !
ต่อมา เมื่อปลายเดือน มิ.ย. 2558 ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ประกาศ ก.บ.ศ. เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา (ฉบับที่ 2)
ซึ่งขยายคำนิยามของ “คดีทุจริตฯ” ให้ครอบคลุมมากยิ่งขึ้นไปอีก
อย่างไร ? สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org มีคำตอบ ดังนี้
ในประกาศ ก.บ.ศ. เรื่อง การจัดตั้งแผนกคดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐในศาลอาญา ฉบับแรก นิยามความหมายของ “คดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ” ว่า
“คดีความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ หรือความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในกระบวนการยุติธรรม และให้หมายความรวมถึงคดีร้องขอให้ทรัพย์สินตกเป็นของแผ่นดิน เพราะเหตุร่ำรวยผิดปกติหรือมีทรัพย์สินเพิ่มขึ้นผิดปกติ”
เพียงเท่านี้ !
ต่อมา ช่วงปลายเดือน มิ.ย. 2558 ก.บ.ศ. ออกประกาศเรื่องดังกล่าว ฉบับที่ 2 ให้ยกเลิกบทนิยามคำว่า “คดีทุจริตฯ” ในประกาศฉบับแรก และให้ใช้ความต่อไปนี้แทน
“คดีทุจริตและประพฤติมิชอบของเจ้าหน้าที่รัฐ” หมายความว่า
1.คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษเจ้าหน้าที่รัฐในความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่น
2.คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลที่ร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่ของรัฐ (ตามข้อ 1) ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน
3.คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ หรือให้ทรัพย์สิน หรือประโยชน์ หรือการใช้อิทธิพล เพื่อจูงใจหรือข่มขืนใจ ให้เจ้าหน้าที่ของรัฐกระทำ ไม่กระทำ หรือประวิงการกระทำใด
4.คดีอาญาที่เป็นความผิดตามบทบัญญัติในกฎหมายเกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการทุจริต หรือความผิดต่อกฎหมายว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อรัฐ
เมื่อพิจารณาจากประกาศ ก.บ.ศ. ในฉบับที่ 2 จะพบว่า
หนึ่ง แต่เดิม หากข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ถูกดำเนินคดีในนความผิดฐานทุจริตต่อหน้าที่ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ ความผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ในการยุติธรรม ไม่ว่าจะตามประมวลกฎหมายอาญา หรือกฎหมายอื่นนั้น จะต้องถูกส่งฟ้องต่อศาลอาญาปกติ ซึ่งมักเกิดปัญหาในการตีความคำว่า "ทุจริต" ?
แต่ต่อจากนี้ไป ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ ที่ทำผิดกรณีข้างต้น จะต้องถูกส่งฟ้อง และสู้คดีในศาลอาญา แผนกคดีทุจริตฯทันที
สอง แต่เดิม ไม่ว่าจะเป็นข้าราชการ-เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือเอกชน ก็ตาม หากร่วมกระทำความผิดกับเจ้าหน้าที่รัฐ (ตามข้อ 1) ไม่ว่าในฐานะตัวการ ผู้ใช้ หรือผู้สนับสนุน ก็จะขึ้นศาลอาญาตามปกติ ซึ่งมักมีปัญหาในการตีความนิยามคำว่า "ทุจริต" เช่นกัน
แต่ต่อไปหากพบกรณีเช่นเดียวกันนี้อีก จะสามารถส่งฟ้อง มาที่ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯได้เลย โดยไม่ต้องตีความอีก
สาม คดีอาญาที่ฟ้องให้ลงโทษบุคคลในความผิดเกี่ยวกับการเรียก รับ หรือให้ทรัพย์สินนั้น ยกตัวอย่าง สด ๆ ร้อน ๆ ที่คณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติฟ้องข้าราชการระดับสูงในสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษา (สพป.) อุดรธานี เขต 3 ฐานความผิดตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 143 กรณีเรียกรับเงินจากผู้ถูกกล่าวหาที่อยู่ระหว่างการไต่สวนข้อเท็จจริงของสำนักงาน ป.ป.ช. โดยอ้างว่าสามารถ “เคลียร์” คดีได้
ต่อไปหากพบกรณีเช่นเดียวกันนี้อีก จะสามารถส่งฟ้อง “ข้าราชการ” คนดังกล่าว มาที่ศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ ได้เช่นกัน
(อ่านประกอบ : ป.ป.ช.แจ้งความขรก.ระดับสูงสพป.อุดรฯเรียกรับเงินร่วมล้าน! อ้างเคลียร์คดีได้)
สี่ สำหรับคดีอาญาที่เป็นความผิดตามบัญญัติในกฎหมายของการป้องกันและปราบปรามการทุจริต-ความผิดว่าด้วยการเสนอราคาของรัฐนั้น
หมายถึง ผิดตาม พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542 ซึ่งเป็นกฎหมายของ ป.ป.ช. และอาจเข้าข่ายผิดตาม พ.ร.บ.มาตรการของฝ่ายบริหารในการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2551 ซึ่งเป็นกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) กระทรวงยุติธรรม
เท่ากับว่า ต่อไปนี้ “ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ” รายใด กระทำความผิดตาม พ.ร.บ.ป.ป.ช. และ พ.ร.บ.ป.ป.ท. จะต้องถูกส่งฟ้องต่อศาลอาญาแผนกคดีทุจริตฯ ทันที
นอกจากนี้ยังครอบคลุมถึง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อรัฐ พ.ศ.2542 หรือ พ.ร.บ.ฮั้ว ด้วย !
ดังนั้น การที่ ก.บ.ศ. ออกประกาศ เปลี่ยน “นิยาม” ของ “คดีทุจริตฯ” ข้างต้น
เท่ากับว่าเป็นการ “ขยายอำนาจ” ความผิดจากแค่ กรณีทุจริตต่อหน้าที่ หรือผิดต่อตำแหน่งหน้าที่ราชการ (ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157) กับกรณีร่ำรวยผิดปกติ ให้มากขึ้น และละเอียดขึ้นกว่าเดิม !
นอกจากนี้ ก.บ.ศ. ยังตัดกรณีร่ำรวยผิดปกติ ออกไปจากนิยามของ “คดีทุจริตฯ”
เพราะปกติคดีร่ำรวยผิดปกติ ถ้าเป็นในส่วนของ “ข้าราชการ-เจ้าหน้าที่รัฐ” จะถูกส่งฟ้องไปยัง “ศาลแพ่ง” อยู่แล้ว เช่น กรณีของ “สุพจน์ ทรัพย์ล้อม” อดีตปลัดกระทรวงคมนาคม ที่ถูกศาลแพ่งพิพากษายึดทรัพย์ และ “พล.อ.เสถียร เพิ่มทองอินทร์” อดีตปลัดกระทรวงกลาโหม ที่ถูก ป.ป.ช. ชี้มูลความผิด และดำเนินการส่งฟ้องศาลแพ่ง เช่นกัน
ทั้งหมดคือ ประเด็นสำคัญที่ทำให้ ก.บ.ศ. จำเป็นต้องออกประกาศเปลี่ยนคำนิยามคดีทุจริตฯเสียใหม่ ให้ครอบคลุมใน “ทุกมิติ” ของการทุจริตประพฤติมิชอบ
ล้างบาง "คอร์รัปชั่น" ในวงการราชการ หรือเอกชนที่มีส่วนเกี่ยวข้องทั้งหมด !
อ่านประกอบ : มีผลแล้ว! ตั้งแผนกคดีทุจริต จนท.รัฐ-ยาเสพติด-ค้ามนุษย์ในศาลอาญา