ชัด ๆ เหตุผล สตช.ทำไมต้องขอนับเวลาราชการทวีคูณช่วงกฎอัยการศึก?
“…สำหรับกรณีข้าราชการตำรวจ ในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ย่อมต้องปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายกว่าสถานการณ์ปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการตอบแทนการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ที่กล่าวมา และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่…”
นอกเหนือไปจากข้าราชการทหารที่ได้รับการนับเวลาราชการทวีคูณ (สองเท่า) ในการปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ช่วงประกาศกฎอัยการศึก เมื่อปี 2549-2550 และปี 2557-2558 แล้ว
ข้าราชการตำรวจก็ขอด้วยเช่นกัน !
โดย พล.ต.อ.สมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง ผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ (ผบ.ตร.) ได้เสนอเรื่องไปยัง พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายความมั่นคง เพื่อขอให้ข้าราชการตำรวจได้รับการนับเวลาราชการทวีคูณ
ต่อมา “บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวิตร ได้รับลูกจาก พล.ต.อ.สมยศ ชงเรื่องเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อช่วงปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา
ก่อนที่ล่าสุด คณะรัฐมนตรีมีติให้ความเห็นชอบการนับเวลาราชการทวีคูณของข้าราชการตำรวจ แต่เฉพาะในปี 2557-2558 เท่านั้น
ส่วนในปี 2549-2550 คณะรัฐมนตรีเห็นว่า เวลาผ่านมาเนิ่นนานแล้ว การจัดการอะไรหลาย ๆ อย่าง อาจติดขัดได้ !
(อ่านประกอบ : ครม.เบรก! สตช.ขอนับเวลาทวีคูณกฎอัยการศึกปี'49-50 ชี้ผ่านมานานแล้ว)
ที่น่าสนใจคือ ทำไมสำนักงานตำรวจแห่งชาติ (สตช.) จำเป็นต้องขอนับเวลาราชการทวีคูณด้วย
และทำไมต้องขอนับย้อนไปจนถึงปี 2549-2550 หรือในช่วงที่ “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญรัตนกลิน อดีต ผบ.ทบ. เป็นหัวขบวนในการรัฐประหารรัฐบาล “ทักษิณ ชินวัตร” ซึ่งผ่านมานับ 8-9 ปีแล้ว
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำเหตุผลของ สตช. ที่เสนอต่อคณะรัฐมนตรีในกรณีดังกล่าวมาเปิดเผยให้เห็นกัน ดังนี้
เบื้องต้น สตช. อ้างอิงกฎหมาย พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 24 วรรคสอง กำหนดว่า ในกรณีที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ใด ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการซึ่งประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ได้รับการนับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นเป็นทวีคูณได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้พิจารณาความจำเป็นของสถานการณ์โดยคำนึงถึงความยากลำบากและการเสี่ยงอันตรายอย่างแท้จริงของข้าราชการ
ทั้งนี้ สตช. ระบุว่า ในห้วงปี 2549-2558 มีเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองและนำไปสู่การก่อเหตุไม่สงบในบ้านเมืองขึ้นหลายครั้ง ในการนี้ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ตาม พ.ร.บ.กฎอัยการศึก พ.ศ.2457 เพื่อควบคุมสถานการณ์จำนวนหลายครั้ง ได้แก่
1.ประกาศคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข (คปค.) ฉบับลงวันที่ 19 ก.ย. 2549 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549
2.ประกาศลงวันที่ 26 ม.ค. 2550 ให้เลิกใช้กฎอัยการศึก (ตามข้อ 1) และให้คงไว้เฉพาะบางพื้นที่ตามที่กำหนด ตั้งแต่วันที่ 26 ม.ค. 2550
3.ประกาศกองทัพบก ฉบับที่ 1/2557 ลงวันที่ 20 พ.ค. 2557 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557
4.ประกาศคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ฉบับที่ 2/2557 ลงวันที่ 22 พ.ค. 2557 ประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2557
5.ประกาศฉบับลงวันที่ 1 เม.ย. 2558 เลิกใช้กฎอัยการศึ (ตามข้อ 3-4) ตั้งแต่วันที่ 1 เม.ย. 2558
สรุปได้เป็น 2 ห้วงเวลา คือ
1.ห้วงแรก ตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย.2549-26 ม.ค. 2550
2.ห้วงสอง ตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557-1 เม.ย. 2558
ทั้งนี้ กรณีการนับเวลาราชการเป็นทวีคูณในห้วงประกาศใช้กฎอัยการศึกในห้วงแรก (19 ก.ย. 2549-26 ม.ค. 2550) คณะรัฐมนตรีในคราวประชุมเมื่อวันที่ 24 ก.ค. 2550 มีมติอนุมัติให้หลักการให้ข้าราชการสังกัดกระทรวงกลาโหม มีสิทธินับเวลาราชการเป็นทวีคูณตามมาตรา 24 วรรคสอง แห่ง พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม
ส่วนห้วงสอง (20 พ.ค. 2557-1 เม.ย. 2558) คณะรัฐมนตรีในการประชุมเมื่อวันที่ 12 พ.ค. 2558 ได้มีมติอนุมัติในหลักการให้ข้าราชการทหารในสังกัดกระทรวงกลาโหมและทหารกองประจำการที่ปฏิบัติหน้าที่ได้รับสิทธินับเวลาราชการเป็นทวีคูณตามกฎหมายดังกล่าวเช่นกัน
เหตุผลและความจำเป็นที่ต้องเสนอคณะรัฐมนตรี
สตช. พิจารณาแล้วเห็นว่า ตาม พ.ร.บ.บำเหน็จบำนาญข้าราชการ พ.ศ.2494 และที่แก้ไขเพิ่มเติม มาตรา 24 วรรคสอง บัญญัติไว้สรุปได้ว่า ในกรณีมีการประกาศใช้กฎอัยการศึกในเขตพื้นที่ใด ให้คณะรัฐมนตรีมีอำนาจพิจารณาให้ข้าราชการซึ่งประจำปฏิบัติหน้าที่อยู่ในเขตที่ได้มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกนั้น ได้รับการนับเวลาราชการที่ปฏิบัติหน้าที่ในระหว่างนั้นเป็นทวีคูณได้ตามหลักเกณฑ์ที่คณะรัฐมนตรีกำหนด
หลักเกณฑ์ดังกล่าวให้พิจารณาความจำเป็นของสถานการณ์ โดยคำนึงถึงความยากลำบากและการเสี่ยงอันตรายอย่างแท้จริงของข้าราชการนั้น และโดยข้อเท็จจริงกรณีข้าราชการทหาร คณะรัฐมนตรีได้อนุมัติสิทธิการนับเวลาเป็นทวีคูณในห้วงเวลาที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกตั้งแต่วันที่ 19 ก.ย. 2549-26 ม.ค. 2550 และตั้งแต่วันที่ 20 พ.ค. 2557-1 เม.ย. 2558 แล้ว
สำหรับกรณีข้าราชการตำรวจ ในการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึก ซึ่งเป็นสถานการณ์ที่ไม่ปกติ ย่อมต้องปฏิบัติงานด้วยความยากลำบากและเสี่ยงอันตรายกว่าสถานการณ์ปกติทั่วไป ด้วยเหตุนี้เพื่อเป็นการตอบแทนการปฏิบัติงานภายใต้สถานการณ์ที่กล่าวมา และเป็นขวัญกำลังใจในการปฏิบัติหน้าที่
จึงสมควรนำเสนอคณะรัฐมนตรี พิจารณาอนุมัติในหลักการทำนองเดียวกับข้าราชการทหาร คือ ให้ข้าราชการตำรวจที่ปฏิบัติงานในเขตพื้นที่ที่มีการประกาศใช้กฎอัยการศึกทั่วราชอาณาจักร ในห้วงวันที่ 19 ก.ย. 2549-26 ม.ค. 2550 และวันที่ 20 พ.ค. 2557-1 เม.ย. 2558 มีสิทธิได้รับการนับเวลาราชการทวีคูณ เพื่อประโยชน์ในการคำนวณบำเหน็จบำนาญต่อไป
คำถามที่น่าสนใจคือ ไฉน สตช. ต้องขอนับเวลาราชการทวีคูณย้อนไปจนถึงช่วงรัฐประหารปี 2549 ด้วย
เพราะหากนับเวลาในช่วงนั้น ห่างจากการรัฐประหารครั้งล่าสุดถึงกว่า 8-9 ปี เข้าไปแล้ว !
ดังนั้น หากมีการนับเวลาราชการทวีคูณในช่วงดังกล่าวอีก จะกระทบต่อบำเหน็จบำนาญของข้าราชการตำรวจที่เกษียณไปแล้ว ต้องมีการปรับแผนใหม่ทั้งหมด เพื่อรองรับการเพิ่มเงินดังกล่าว
นอกเหนือไปจากอาจสร้างความวุ่นวายดังกล่าวให้กับระบบบำเหน็จบำนาญแล้ว สิ่งที่ต้องตั้งคำถามต่อไปคือ ในการปฏิบัติหน้าที่ในช่วงกฎอัยการศึก “ตำรวจ” ได้รับความเสี่ยงอย่างไรบ้าง ?
เพราะในการรัฐประหารครั้งล่าสุด แทบไม่มีการปะทะหรือต่อต้านใด ๆ ทั้งสิ้น เนื่องจากฝ่ายรัฐบาลถูกจับไปกักตัวในค่ายทหารตั้งแต่แรกแล้ว !
หรืออาจเป็นไปได้ว่า “ทหาร” ได้ “ตำรวจ” ก็ต้องได้ด้วยอย่างนั้นหรือ ?
แต่ไม่ว่าข้อเท็จจริงกรณีดังกล่าวจะเป็นเช่นไร
คณะรัฐมนตรีก็ได้ “ไฟเขียว” ตามที่ สตช. เรียกร้องมาแล้ว
แม้ว่าจะไม่ “เต็มเม็ดเต็มหน่วย” อย่างที่หวังไว้ก็ตาม !