กางแนวทางแก้ภัยแล้งฉบับ“ประยุทธ์” หลังพบข้าวเสียหาย 1.5 หมื่นล้าน!
“…สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น กรณีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีจำนวน 4.61 ล้านไร่ หากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปลูกข้าวนาปีได้อย่างสิ้นเชิง จะทำให้ผลผลิตข้าวหายไปประมาณ 2.1 ล้านตัน…”
นอกจากภาวะทางเศรษฐกิจที่เป็น “ไฟสุมอก” รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา แล้ว
ปัญหา “ภัยแล้ง” คือหนึ่งในชนวนสำคัญเช่นกัน ที่ “สั่นคลอน” การบริหารแผ่นดินของ “รัฐบาลท็อปบู้ต”
เห็นได้จากผลโพลล์หลายสำนักที่ช่วงหลังรัฐประหารใหม่ ๆ คะแนนความนิยมในตัว “บิ๊กตู่” พุ่งพรวด
ก่อนที่จะ “ดิ่งลง” อย่างต่อเนื่อง จนล่าสุดเหลืออยู่ในระดับ 50 เปอร์เซ็นต์แล้ว ที่ประชาชนยังไว้ใจรัฐบาลชุดนี้
ท่ามกลาง “เกษตรกร” ที่ออกมาเรียกร้อง ขณะที่บางรายถึงกับ “ฆ่าตัวตาย” เซ่นให้กับ “ภัยแล้ง”
รายงานสถานการณ์ล่าสุดที่ชงเข้าคณะรัฐมนตรี “บิ๊กตู่” พบว่า ภัยแล้งในปัจจุบันอาจทำให้นาข้าวมูลค่ากว่า 1.5 หมื่นล้านบาท ได้รับความเสียหาย !
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกแฟ้มรายงานสถานการณ์น้ำรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จากการตรวจสอบของเกษตรและสหกรณ์ มาเปิดเผยต่อสาธารณชน ดังนี้
สถานการณ์ในลุ่มน้ำเจ้าพระยา
หนึ่ง ปริมาณน้ำต้นทุนในลุ่มน้ำเจ้าพระยา เมื่อต้นฤดูแล้งปี 2557/2558 มีปริมาณน้ำน้อย กรมชลประทานได้ประกาศงดส่งน้ำเพื่อการปลูกข้าวนาปรัง โดยวางแผนการใช้น้ำให้เหลือเพียงพอสำหรับสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีตั้งแต่ต้นฤดู (น้ำต้นทุนจาก 4 เขื่อน เมื่อต้นฤดูฝนจะมีประมาณ 4-5 พันล้าน ลบ.ม. ซึ่งเกษตรกรส่วนใหญ่ให้ความร่วมมือ
แต่ยังมีเกษตรบางส่วนทำการปลูกข้าวนาปรังไปประมาณ 6.26 ล้านไร่ ทำให้ต้องใช้น้ำเกินแผนไปประมาณ 1.2 ล้าน ลบ.ม. (วางแผนไว้ 2.9 ล้าน ลบ.ม. ใช้จริง 4.1 พันล้าน ลบ.ม. คงเหลือน้ำ ณ วันที่ 2558 จำนวน 3.8 พันล้าน ลบ.ม.) มากกว่าปี 2557 จำนวน 600 ล้าน ลบ.ม.
สอง จากการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2558 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ฤดูฝนจะมาช้าประมาณสัปดาห์ที่ 3 ของเดือน พ.ค. และคาดการณ์ว่าปริมาณฝนปีนี้จะน้อยกว่าค่าเฉลี่ยเล็กน้อย
ซึ่งหากเป็นเช่นนี้ปริมาณน้ำที่มีอยู่จำนวน 3.8 ล้าน ลบ.ม. จะเพียงพอสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีในทุ่งเจ้าพระยาได้เต็มพื้นที่โดยไม่มีปัญหา (จากสถิติที่ผ่านมา หากฝนตกตามปกติ การส่งน้ำเพื่อกิจกรรมต่าง ๆ และสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีได้เต็มพื้นที่ต้องมีต้นทุนน้ำประมาณ 3.5 พันล้าน ลบ.ม.) กรมชลประทานจึงกำหนดแผนส่งน้ำเพื่อสนับสนุนการปลูกข้าวนาปีตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค. 2558
สาม กรมอุตุนิยมวิทยาประกาศเริ่มเข้าฤดูฝนตั้งแต่วันที่ 22 พ.ค. 2558 แต่หลังจากนั้นปริมาณฝนที่ตกมีน้อยมาก โดยเมื่อเปรียบเทียบในช่วงฤดูฝนในเดือน พ.ค. ปรากฏว่า ในพื้นที่ภาคเหนือฝนปี 2558 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 55% และในภาคกลางมีปริมาณฝนปี 2558 น้อยกว่าค่าเฉลี่ยถึง 69%
ส่วนผลการประชุมของคณะอนุกรรมการวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 คาดการณ์ว่า ในช่วงเวลานี้ฝนจะมีน้อย และจะเริ่มตกชุกตามฤดูกาลในช่วงกลางถึงปลายเดือน ก.ค. 2558
สี่ จากสาเหตุที่มีปริมาณฝนน้อย ทำให้มีปริมาณน้ำไหลลงอ่างเก็บน้ำน้อยกว่าปกติมาก โดยในปี 2558 ปริมาณน้ำไหลลงอ่างฯ ในช่วงฤดูฝน (1 พ.ค.-10 มิ.ย. 2558) 219 ล้าน ลบ.ม. น้อยกว่าค่าเฉลี่ย 76%
นอกจากนี้ในพื้นที่เพาะปลูกเมื่อไม่มีฝนจะต้องใช้น้ำจากระบบชลประทาน ซึ่งกรมชลประทานได้วิเคราะห์แล้ว จำเป็นต้องวางแผนการใช้น้ำจากอ่างเก็บน้ำให้ได้จนถึงช่วงฝนตกชุกตามฤดูกาล จึงควรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่ยังไม่ได้เพาะปลูกอีกประมาณ 4.61 ล้านไร่ ออกไปก่อนจนกว่าจะถึงช่วงฝนตกชุกตามฤดูกาล (วางแผนเพาะปลูกข้าวนาปีทั้งหมด 7.45 ล้านไร่ เพาะปลูกแล้ว 2.84 ล้านไร่)
อย่างไรก็ดี ปริมาณน้ำที่มีอยู่จะจัดสรรให้กับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศน์โดยไม่ขาดแคลน รวมถึงการเพาะปลูกข้าวนาปีที่ปลูกไปแล้ว 2.85 ล้านไร่ ให้สามารถเก็บเกี่ยวโดยไม่เสียหาย โดยจะลดการระบายน้ำจากเดิมวันละประมาณ 62 ล้าน ลบ.ม. คงเหลือ 30-35 ล้าน ลบ.ม.
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ โดยกรมชลประทาน ได้มีประกาศเรื่องขอให้เกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยา และผู้ใช้น้ำทุกภาคส่วนใช้น้ำอย่างประหยัด เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. 2558 เพื่อแจ้งให้แก่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบแล้ว
คาดการณ์ผลกระทบต่อมูลค่าทางเศรษฐกิจ
สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้คาดการณ์ผลกระทบทางเศรษฐกิจที่จะเกิดขึ้นในเบื้องต้น กรณีเกษตรกรผู้ปลูกข้าวในลุ่มน้ำเจ้าพระยาในเขตพื้นที่ชลประทาน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ยังไม่ได้เพาะปลูกข้าวนาปีจำนวน 4.61 ล้านไร่ หากพื้นที่ดังกล่าวไม่สามารถปลูกข้าวนาปีได้อย่างสิ้นเชิง จะทำให้ผลผลิตข้าวหายไปประมาณ 2.1 ล้านตัน โดยคิดเฉลี่ยจากผลผลิตต่อไร่ข้าวนาปีลุ่มน้ำเจ้าพระยา 500 กิโลกรัมต่อไร่ และคิดเป็นมูลค่าข้าวที่หายไปประมาณ 15,750 ล้านบาท โดยคำนวณจากราคาข้าวขาวในตลาด ตันละ 7,500 บาท
แนวทางการช่วยเหลือเกษตรกร
มอบหมายให้กรมฝนหลวงและการบินเกษตร ดำเนินการขึ้นปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อเติมน้ำเหนืออ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ได้อย่างต่อเนื่อง
ขณะที่แนวทางแก้ไขปัญหาเพื่อช่วยเหลือเกษตรผู้เพาะปลูกข้าวนาปี แบ่งเป็น 2 พื้นที่ คือ
หนึ่ง พื้นที่เพาะปลูกข้าวนาปีทีได้เพาะปลูกแล้วประมาณ 2.84 ล้านไร่ ได้กำหนดแนวทางการส่งเสริมให้เกษตรกรปลูกข้าวระบบจัดการน้ำแบบเปียกสลับแห้งในนาข้าวเพื่อลดการใช้น้ำ และมอบหมายให้กรมชลประทาน กรมการข้าว และกรมส่งเสริมการเกษตร หารือร่วมกันเพื่อกำหนดแนวทางการบูรณาการดำเนินงาน ซึ่งจะต้องดำเนินการควบคู่ไปกับการสร้างความรู้ความเข้าใจโดยการถ่ายทอดเทคโนโลยีผ่านแปลงสาธิตของกรมการข้าวในพื้นที่เพื่อสร้างการยอมรับให้แก่เกษตรกร
สอง พื้นที่ที่ยังไม่เพาะปลูกข้าวประมาณ 4.61 ล้านไร่ ให้ดำเนินการประชาสัมพันธ์และสร้างความเข้าใจกับเกษตรกรในพื้นที่เกี่ยวกับสถานการณ์น้ำ และการชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปีที่เริ่มจะปลูกได้ประมาณปลายเดือน ก.ค. หรือเมื่อมีปริมาณฝนตกชุดแล้ว เพื่อลดความเสียหายที่เกิดขึ้น รวมทั้งติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าวอย่างต่อเนื่อง
และในระหว่างเกษตรกรชะลอการเพาะปลูกข้าวนาปี 40-45 วัน มอบหมายให้กรมส่งเสริมการเกษตรเป็นหน่วยงานหลักร่วมกับกรมการข้าว กรมวิชาการเกษตร และกรมพัฒนาที่ดิน พิจารณาแนวทางเลือกเพื่อกำหนดเป็นมาตรการบรรเทาความเดือดร้อนของเกษตรกร เช่น การปรับเปลี่ยนไปปลูกพืชชนิดอื่น (พืชอายุสั้น พืชปุ๋ยสด หรือข้าวอายุสั้น) ซึ่งต้องคำนึงถึงคุณภาพและปริมาณของผลผลิตหลังการเก็บเกี่ยวเป็นสำคัญ และหากจำเป็นต้องจ่ายเงินชดเชยเพื่อช่วยเหลือรายได้แก่เกษตรกร จะพิจารณาผลภายหลังการเก็บเกี่ยวแล้ว รวมทั้งกำหนดมาตรการกรณีที่เกษตรไม่สามารถทำการเพาะปลูกข้าวนาปีได้
ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ จะติดตามและประเมินสถานการณ์ดังกล่าว เพื่อปรับเปลี่ยนมาตรการให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริงที่จะเกิดขึ้นต่อไปอีกด้วย
ล่าสุด ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้รับทราบรายงานสถานการณ์น้ำและแนวทางการให้ความช่วยเหลือตามทีก่ระทรวงเกษตรฯเสนอมาเรียบร้อยแล้ว
ดังนั้นต้องจับตาดูกันต่อไปว่า “บิ๊กตู่” จะแก้ไขสถานการณ์น้ำอย่างไร
เพราะนับเป็น “ปัญหาหลัก” ที่ “สั่นคลอน” รัฐบาลเข้าไปทุกทีแล้ว !
อ่านประกอบ : จับตายุทธการ เชือด "ไก่"ให้ "ลิง"ดู! หลังรบ.บิ๊กตู่ ถูกท้าทายฝีมือแก้ "ภัยแล้ง"