เอสซีจีปั้น 9 ต้นกล้าชุมชน ผลักดันคนรุ่นใหม่พัฒนาท้องถิ่น
ปัญหาการขาดแคลนคนรุ่นใหม่ที่จะช่วยกันพัฒนาชุมชนนั้นเป็นปัญหาใหญ่ในเกือบทุกพื้นที่ของประเทศไทย เนื่องจากกระแสทุนนิยมในปัจจุบันส่งผลให้เยาวชนในแต่ละพื้นที่ต้องดิ้นรนเข้ามาทำงานในกรุงเทพมหานครหรือเมืองใหญ่ ๆ เพื่อนำรายได้มาเลี้ยงตัวเอง และจุนเจือครอบครัว อีกทั้งในพื้นที่ชุมชนเองก็ไม่มีงานหรืออาชีพรองรับ
เมื่อเร็ว ๆ นี้ มูลนิธิเอสซีจีจัดกิจกรรมพาสื่อมวลชนไปเยี่ยมชมการทำงานของต้นกล้าชุมชนในพื้นที่ จ.น่าน เรียนรู้วิธีการเลี้ยงหมูอินทรีย์หรือหมูหลุม จากกลุ่มเกษตรกรสมาชิกกองทุนสัมมาชีพ และเยี่ยมชมศูนย์การเรียนรู้และบริหารวิชาการ เครือข่ายจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จ.น่าน
ภายในงานยังมีการแนะนำ “ต้นกล้าชุมชน” โครงการของมูลนิธิเอสซีจี
"สร้างอะไรก็ไม่ยิ่งใหญ่เท่าการสร้างคน" “สุวิมล จิวาลักษณ์” กรรมการและผู้จัดการมูลนิธิเอสซีจี บอกถึง แนวคิดและเป้าหมายการจัดทำโครงการต้นกล้าชุมชน เพื่อบ่มเพาะเยาวชนในพื้นที่ต่าง ๆ ให้งอกงามเป็นต้นกล้าที่พร้อมจะพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งอย่างยั่งยืน
โดยให้ต้นกล้าสืบทอดแนวคิดและวิธีปฏิบัติจากชาวบ้านในชุมชน แล้วนำมาประกอบกับความรู้ความสามารถของคนรุ่นใหม่มาปฏิบัติงาน เพื่อสร้างนักพัฒนารุ่นใหม่ที่เป็นมืออาชีพในอนาคต
“สุวิมล” อธิบายถึงขั้นตอนการคัดเลือกตัวแทนต้นกล้าที่มีอายุระหว่าง 25-35 ปี เน้นเคยมีประสบการณ์การทำงานอาสาพัฒนาชุมชนในพื้นที่ภูมิลำเนาของตนเองเป็นระยะเวลาอย่างน้อย 3 ปี จากนั้นมูลนิธิเอสซีจีจะเข้าไปประสานงานในท้องถิ่นและให้เยาวชนที่สนใจมานำเสนอโครงการของตนเองว่า มีความประสงค์จะทำโครงการใด ต่อจากนั้นจะมีการคัดเลือกอย่างเข้มข้นโดยกรรมการทั้งจากมูลนิธิเอสซีจีและบุคคลอื่นร่วมด้วย เพื่อให้ได้โครงการที่สามารถนำไปพัฒนาต่อยอดได้จริง กระทั่งได้ต้นกล้าชุมชนทั้งสิ้น 9 คน พร้อมกับจัดหาองค์กรไม่แสวงหาผลประโยชน์ (NGOs) มาเป็นพี่เลี้ยงคอยดูแลให้คำแนะนำปรึกษาและฝึกฝนต้นกล้าเป็นเวลา 3 ปีจนกว่าต้นกล้าจะดำเนินการได้ด้วยตนเอง
กิจกรรมต่อมา คือการเปิดตัวต้นกล้าจำนวน 8 ใน 9 คน คนแรกคือ นายชิตนุศักดิ์ ตาจุมปา หรือต้นกล้าอาร์ต กับโครงการเยาวชนสืบสานภูมิปัญญาล้านนา ในพื้นที่บ้านดงหลวง ต.วังผาง อ.เวียงหนองล่อง จ.ลำพูน ฟื้นฟูประเพณีวัฒนธรรมล้านนาซึ่งนับวันยิ่งจะเลือนหายไป
ต้นกล้าอาร์ต มองเห็นว่า เมื่องานประเพณีเริ่มหายไป ความสัมพันธ์ระหว่างคนในชุมชนบ้านดงหลวงก็เริ่มห่างเหินไปด้วย ในฐานะนักพัฒนารุ่นใหม่เขาจึงรวบรวมความรู้ประเพณีวัฒนธรรมดั้งเดิมอย่างเช่น กลองสะบัดชัย กลองมองเซิง ฟ้อน พื้นเมือง กล๋ายลาย รวมถึงเครื่องสักการะ เป็นต้น พร้อมทั้งจัดกิจกรรมค่ายเรียนรู้ถ่ายทอดความรู้แก่เด็กและเยาวชนในพื้นที่ ทั้งนี้กิจกรรมที่จัดขึ้นมาล้วนแล้วแต่เป็นไปตามความสมัครใจของเยาวชนในชุมชน ใครสนใจเรียนรู้ภูมิปัญญาด้านไหน ก็เลือกเรียนรู้ด้านนั้น
นายโชคชัย มัยราช หรือต้นกล้าเจมส์ กับโครงการอาสาปศุสัตว์(หมูหลุม)พัฒนาชุมชน ในพื้นที่ศูนย์เรียนรูโจ้โก้ จ.น่าน เป็นปศุสัตว์อาสาให้ความรู้แก่กลุ่มเกษตรกรผู้เลี้ยงหมูหลุม ทั้งในเรื่องของการพัฒนาพันธุ์หมู การรีดน้ำเชื้อ การผสมเทียม รวมทั้งพยายามทำให้เกษตรกรได้เห็นว่า การเลี้ยงหมูแบบหมูหลุมแตกต่างจากการเลี้ยงในคอกซีเมนต์ ซึ่งเป็นการจัดการฟาร์มที่ลดมลภาวะแก่ชุมชน ใช้พื้นที่น้อย เพียง 4x5 ตร.ม. เพราะมูลหมู ขี้เลื่อย แกลบและซังข้าวโพดที่ผสมกันในคอกหมูหลุมถูกหมักและย่อยสลายโดยจุลินทรีย์ ก็กลายเป็นปุ๋ยหมักอย่างดี แถมยังนำไปจำหน่ายได้ ช่วยลดต้นทุนการผลิตทั้งพืชและหมู ลดการปลูกข้าวโพดซึ่งเป็นพืชเชิงเดี่ยว ลด การบุกรุกแผ้วถางทำลายป่า
นางสาวชมเดือน คำยันต์ หรือต้นกล้าเดือน จัดทำโครงการอาสาเป็นครูพันธ์ใหม่ ในพื้นที่ศูนย์การเรียนรู้ชุมชนธรรมชาติบ้านห้วยพ่าน ต.เบือ อ.เชียงกลาง จ.น่าน นำองค์ความรู้ท้องถิ่นมาบูรณาการให้สอดคล้องกับหลักสูตรแกนกลาง ที่กระทรวงศึกษาธิการกำหนด เช่น เชื่อมโยงวิชาวิทยาศาสตร์เข้ากับการสำรวจฐานทรัพยากรห้วย พ่าน จัดการเรียนรู้แบบโครงงานให้เด็กๆ ได้ลงมือคิดและทำด้วยตนเอง เน้นให้เด็กๆ รู้จักค้นหา ความรู้จากแหล่งต่างๆ นอกห้องเรียน
นางสาวอิสรีย์ พรายงาม หรือต้นกล้าก้อย กับโครงการสืบทอดและฟื้นฟูภูมิปัญญาไทดำ บ้านไทรงามและบ้านทับชันสามัคคี ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้ภูมิปัญญาไทดำ อ.พนุพิน จ.สรุาษฎร์ธานี เพื่อพัฒนากลุ่มเยาวชนในท้องถิ่นที่มีความสนใจร่วมเรียนรู้ และสืบทอดภูมิปัญญาไทดำ ขยายผลไปสู่เยาวชนภายในชุมชนทั้งในและนอกระบบโรงเรียน
ต้นกล้าก้อยได้พยายามรวบรวมองค์ความรู้ อัตลักษณ์ชาติพันธุ์ไทดำ มาบรรจุไว้เพื่อที่จะพัฒนาเป็นหลักสูตรชุมชนต่อไปเพื่อสร้างแรงจูงใจในการเรียนรู้ให้แก่เด็กและเยาวชนในชุมชน ไม่ว่าจะเป็นด้านภาษา พิธีกรรมความเชื่อ ลายผ้า การละเล่น และความเป็นมาของชุมชนไทดำ
ปัจจุบันชาวไทดำในพื้นที่อ.พุนพิน มีมากกว่า 1,000 คน อย่างไรก็ดีต้นกล้าก้อยเองได้เชื่อมโยงกิจกรรมกับชาวไทดำในพื้นที่ภาคใต้ ทั้งในอ.เคียนซา อ.คีรีรัฐนิคม อ.นาสาร จ.สุราษฏร์ และบางพื้นที่ในจ.ชุมพรด้วย
นางสาวเมติมา ประวิทย์ หรือต้นกล้าเมย์ ผู้ทำโครงการพัฒนาห้องเรียนชุมชนคลองยัน ในพื้นที่ศูนย์เรียนรู้สภาเด็กและเยาวชนภูมินิเวศลุ่มน้ำคลองยัน อ.คีรีรัฐนิคม จ.สรุาษฎร์ธานี ร่างบทเรียนพัฒนาห้องเรียนชุมชนคลองยัน บนฐานความรู้ด้าน ทรัพยากรและภูมิปัญญาชุมชน เพื่อใช้ในโรงเรียนขนาดเล็กในชุมชน เพื่อให้เยาวชนได้เรียนรู้ถึง ทรัพยากรอันมีค่าในท้องถิ่นของตนเอง พยายามจัดการหลักสูตรชุมชน ผ่านฐานกิจกรรมต่างๆ เช่น การเรียนเลขจากการสำรวจข้อมูลทางกายภาพของลุ่มน้ำ การเรียนภาษาไทยจากการจดบันทึกและนำเสนอต่อชุมชน
พร้อมกันนี้ เธอยังได้รื้อฟื้น ลิเกป่า การแสดงพื้นบ้านของภาคใต้ให้กลับมามีชีวิตอีกครั้ง และใช้เป็นสื่อในการสื่อสารประเด็นทางสิ่งแวดล้อมและ ภูมิปัญญาท้องถิ่น
นายธนวรรษ อินทร์สุวรรณ์ หรือต้นกล้านะโม จัดทำโครงการรักษ์ถิ่นเรียนรู้บ้านเกิด ในพื้นที่ชุมชนตำบลประศุก ต.ประศุก อ.อินทร์บุรี จ.สิงห์บุรี สร้างแกนนำเยาวชน เพื่อการทำงานสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น ที่ใช้ชื่อว่ากลุ่มเยาวชน “เมล็ดพันธุ์ประศุก” โดยมุ่งเน้นการรวมกลุ่มกันทำกิจกรรมของเยาวชน เช่น การเก็บข้อมูลวัฒนธรรมภูมิปัญญาของชุมชน การทำแผนที่ชุมชน ซึ่งทั้งหมดนี้จะใช้กิจกรรมเป็นตัวกลางเชื่อมโยงความสัมพันธ์ของคนในชุมชนทุกช่วงอายุ
นายเฉลิมศักดิ์ สิทธิสมบัติ หรือต้นกล้าอาร์ท จัดทำโครงการพลังงานทดแทน พื้นที่ โรงเรียนโคกขาม(นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา นำความรู้เรื่องการใช้พลังงานทดแทนเข้าไปใช้ในหลักสูตรการเรียน โดยเน้นการทำเกษตรตามธรรมชาติ ให้กับเด็กนักเรียน ม. ต้น เพื่อให้เด็กๆ สามารถนำความรู้กลับไปใช้ที่บ้านของตนเองได้ เช่น การเผาถ่าน การใช้ประโยชน์จากน้ำส้มควันไม้ การทำปุ๋ยหมัก การทำน้ำหมักจากเศษอาหาร
นางสาววันวิสา แสงสี หรือต้นกล้าเจี๊ยบ จัดทำโครงการหัตถกรรมพอเพียงโลกเย็น ในพื้นที่โรงเรียนโคกขาม(นาคพัฒนา) ต.โบสถ์ อ.พิมาย จ.นครราชสีมา สร้างแผนงานการทำธุรกิจเพื่อสังคมให้กับชุมชน ผ่านกิจกรรมหัตถกรรม โลกเย็น โดยให้ชุมชนเป็นผู้ผลิตวัตถุดิบเพื่อมาผลิตสินค้าต่างๆ เช่น แชมพูมะกรูด สครับถั่วเขียว เป็นต้น โดยต้นกล้าเจี๊ยบจะหาช่องทางในการจัดจำหน่ายสินค้าดังกล่าว โดยรายได้จากการขายสินค้านั้นก็จะกลับคืนสู่ชุมชน
สุดท้ายนางสาวหยาดรุ้ง ภูมิดง หรือต้นกล้ารุ้ง จัดทำโครงการพัฒนาศักยภาพแกนนำเยาวชน เพี่อการสืบสานภูมิปัญญาท้องถิ่น พื้นที่ โรงเรียนชุมชนชาวนา ต.หนองแสง อ.วาปีปทุม จ.มหาสารคาม ค้นคว้าภูมิปัญญาการทอผ้าฝ้ายที่เลือนหายจากชุมชน โดยการศึกษาจากผู้สูงอายุที่มีองค์ความรู้ และพัฒนาเป็นอาชีพทอผ้าให้กับกลุ่มเยาวชนคนรุ่นใหม่ เนื่องจากที่ชุมชนนี้มีภูมิปัญญาเรื่องการมัดย้อมโดยใช้สีจากธรรมชาติ สร้างรายได้ ส่งเสริมอาชีพให้คนในชุมชน พึ่งตนเองได้
ด้วย "เชื่อมั่นในคุณค่าของคน" วันนี้ต้นกล้าชุมชน หรือจะเรียกว่า นักพัฒนารุ่นใหม่กำลังหยั่งรากเติบโตเป็นไม้ใหญ่หยัดยืนแข็งแรง กลับมาช่วยพัฒนาบ้านเกิดของตนเอง