วิกฤตอุทกภัย “น้ำซ้ำโรคซัด”
วิกฤตอุทกภัย ทำให้รัฐนาวาต้องกุมขมับตั้งโต๊ะระดมกุนซือวางยุทธศาสตร์ผันน้ำออกสู่ทะเล ขณะที่มีเสียงสะท้อนว่ามาตรการเยียวยาเฉพาะหน้า ปรากฎเพียงถุงยังชีพ-เวชภัณฑ์ยาชนิดขอไปที และอีกด้านหนี่งก็ “ไม่ใช่ว่าน้ำลดแล้วทุกข์ภัยจะหมดลง” ชาวบ้านชาวเมืองยังมีบรรดาโรคที่มากับน้ำท่วมจ่อซ้ำเติม
นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ผู้อำนวยการสำนักโรคติดต่อทั่วไป กรมควบคุมโรค อธิบายว่า โรคที่มักจะเกิดขึ้นในช่วงน้ำท่วมแบ่งออก 3 ช่วงอุบัติการณ์ ได้แก่ ช่วงที่น้ำไหลบ่าใหม่ๆ ซึ่งจะมีความรุนแรงและรวดเร็วจนประชาชนไม่ท ันตั้งตัว เป็นเหตุให้เกิดอุบัติเหตุและได้รับบาดเจ็บเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะในขณะสัญจรและการเคลื่อนย้ายสิ่งของหนีน้ำที่ส่วนใหญ่จะถูกไฟฟ้า ชอร์ตหรือเสี่ยงต่อสัตว์มีพิษกัด
จากนั้นอีก 1-2 สัปดาห์ จะเข้าสู่ช่วงน้ำท่วมขังระยะแรก ระยะนี้จะมีโรคฟักตัวจำนวนมาก เช่น โรคฉี่หนู ตาแดง ไข้หวัด อุจจาระร่วง น้ำกัดเท้า รวมทั้งบาดแผลติดเชื้อ แต่หากน้ำยังท่วมขังต่อไปจนถึงช่วงน้ำท่วมขังระยะที่ 2 จะเริ่มมีโรคที่เกิดจากสัตว์เป็นพาหะ อาทิ โรคไข้เลือดออก และถ้าประชาชนอพยพหนีน้ำมาอยู่รวมกันยิ่งต้องระวังโรคระบาดที่ติดต่อจากคนสู่คน คือโรคหัดเยอรมัน
"แต่ละพื้นที่มีน้ำท่วมไม่พร้อมกัน จึงต้องเฝ้าระวังต่างกันตามช่วงเวลาและความเสี่ยงของโรคที่จะเกิด แต่ที่ต้องจับตาอย่างใกล้ชิดคือโรคฉี่หนูและอุจจาระร่วง" ผู้อำนวยการสำนัก โรคติดต่อทั่วไป ระบุ
สำหรับมาตรการเฝ้าระวังโรคในแต่ละพื้นที่ จะมีทีมสำรวจผู้ป่วย เพื่อนำข้อมูลมาประเมินเป็นรายวัน หากพบสัญญาณผิดปกติก็จะส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปสอบสวนและคุมโรคทั้งนี้แบ่งออก เป็น 2 แนวทางควบคู่กัน ได้แก่การป้องกันล่วงหน้าด้วยการประเมินความเสี่ยงของโรคพร้อมวางแผนป้องกัน และการควบคุมเมื่อเกิดโรคโดยให้ทีมเคลื่อนที่เข้าไปในพื้นที่ซึ่งตัดขาดการสัญจร เพื่อเก็บรวบรวมข้อมูลผู้ป่วย
"หลักการประเมินว่าเป็นโรคระบาดหรือโรคธรรมดาจะใช้สถิติย้อนหลัง 5 ปี เทียบเคียงกับข้อมูลปัจจุบัน หากมีจำนวนสูงขึ้นจากเกณฑ์เฉลี่ยจะถือว่าเกิดการระบาด" นพ.โอภาส ระบุ
โรคติดต่อช่วงน้ำท่วม-หลังน้ำท่วม 1.โรคน้ำกัด เท้าจากเชื้อราและแผลพุพองเป็นหนองเกิดจากการย่ำน้ำหรือแช่น้ำที่มีเชื้อโรค หรืออับชื้นจากเสื้อผ้าและเครื่องแต่งกายที่ไม่สะอาดเป็นเวลานาน โดยจะมีอาการเท้าเปื่อย เป็นหนอง และเริ่มคันตามซอกนิ้วเท้า ผิวหนังลอกเป็นขุย จากนั้นผิวหนังจะพุพอง นิ้วเท้าหนาและแตก มีโอกาสเกิดโรคแทรกซ้อน คือผิวหนังอักเสบป้องกันได้ด้วยการเช็ดเท้าให้แห้ง
2.โรคไข้หวัดและไข้หวัดใหญ่ ที่เกิดจากเชื้อไวรัส แพร่กระจายในลมหายใจ เสมหะน้ำลาย อาการมีไข้ ปวดศีรษะ ปวดเมื่อย ไอจาม อ่อนเพลีย ป้องกันได้ด้วยใช้ผ้าปิดปากเวลาไอจาม ดื่มน้ำอุ่นมากๆ มีไข้สูงเกิน 7 วันควรพบแพทย์
3.โรคปอดบวม เกิดจากเชื้อแบคทีเรียไวรัส หรือสำลักสิ่งแปลกปลอมเข้าไปในปอดเช่น น้ำสกปรกจนทำให้เกิดการอักเสบอาการไข้สูง ไอมาก หอบ หายใจเร็ว เห็นชายโครงบุ๋ม ริมฝีปากซีดหรือเขียวคล้ำ กระสับกระส่ายหรือซึม หากมีอาการควรรีบพบแพทย์ทันที
4.โรคตาแดงติดต่อ ได้ง่ายในเด็กเล็ก แต่เป็นโรคที่ไม่มีอันตรายรุนแรง ส่วนใหญ่เกิดจากเชื้อไวรัส แต่หากไม่ได้รับการรักษาอาจมีเชื้อแบคทีเรียแทรกซ้อนได้ หมั่นล้างมือบ่อยๆไม่ควรขยี้ตา
5.โรคติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร เกิดจากเชื้อโรคที่เข้าสู่ร่างกายจากการรับประทานอาหาร หรือดื่มน้ำ ที่ปนเปื้อนเชื้อโรค เช่น อาหารปรุงสุกๆ ดิบๆ อาหารที่มีแมลงวันตอม อาหารค้างคืนหรือเน่าบูดแบ่งออกเป็นหลายโรค ได้แก่ โรคอุจจาระร่วงอาการถ่ายอุจจาระเหลวหรือเป็นน้ำ อาจมีมูกเลือดและมีการอาเจียนร่วมด้วย อหิวาตกโรคจะถ่ายเป็นน้ำคล้ายน้ำซาวข้าวทีละมากๆ อาการรุนแรง อาหารเป็นพิษ มักมีอาการปวดท้องร่วมกับการถ่ายอุจจาระเหลว คลื่นไส้ อาเจียน มีอาการปวดศีรษะและเมื่อยเนื้อตัวร่วมด้วย
6.โรคฉี่หนูหรือโรคเล็ปโตสไปโรซิส เป็นโรคติดต่อจากสัตว์สู่คน มีหนูเป็นตัวแพร่เชื้อโรคที่สำคัญ เชื้อออกมากับปัสสาวะสัตว์แล้วปนเปื้อนในน้ำท่วมขัง โดยโรคนี้จะติดต่อทางบาดแผล รอยขีดข่วน หรือไชเข้าตามเยื่อบุตาจมูก ปาก หรือผิวหนังที่แช่น้ำนานๆ อาการหลังจากได้รับเชื้อประมาณ 4-10 วัน จะมีไข้สูงทันที ปวดกล้ามเนื้อ ปวดหลัง และศีรษะมาก บางรายมีอาการตาแดง เจ็บคอ เบื่ออาหาร ท้องเดินร่วมด้วย จำเป็นต้องรีบพบแพทย์ มิเช่นนั้นอาจถึงขั้นเยื่อหุ้มสมองอักเสบกล้ามเนื้อหัวใจอักเสบ และเสียชีวิตได้
7.โรคไข้เลือดออก มียุงลายเป็นพาหะพบได้ทุกวัยในทุกพื้นที่ มีอาการไข้สูงตลอดทั้งวัน หน้าแดง เกิดจุดแดงๆ เล็กๆ ตามลำตัวต่อมาไข้จะลดลง
8.โรคหัด เกิดจากเชื้อไวรัส พบในฤดูฝนหากมีการแทรก ซ้อนอาจเสียชีวิตได้ ติดต่อผ่านทางการไอจาม เชื้อกระจายอยู่ในละอองเสมหะ น้ำมูก น้ำลาย อาการหลังจากได้รับเชื้อ 8-12 วัน มีไข้ ตาแดง พบจุดขาวๆ เล็กๆในกระพุ้งแก้ม
9.โรคไข้มาลาเรีย ติดต่อโดยยุงก้นปล่องเป็นพาหะนำเชื้อโรค มักพบในพื้นที่ป่าเขามีแหล่งน้ำจืดธรรมชาติ อาการหลังรับเชื้อ 7-10 วัน จะปวดศีรษะคล้ายไข้หวัด จากนั้นจะหนาวสั่นและไข้สูงตลอดเวลา อันตรายถึงขั้นเสียชีวิต
ด้าน นพ.ชาตรี เจริญชีวะกุล เลขาธิการสถาบันการแพทย์ฉุกเฉินแห่งชาติ (สพฉ.) ระบุถึงสถิติการเสียชีวิตจ ากสถานการณ์อุทกภัย ตั้งแต่วันที่ 25 ก.ค.ที่ผ่านมา จนถึงปัจจุบัน ในพื้นที่ประสบภัย 25 จังหวัด พบว่า 94.6% หรือ 245 ราย เสียชีวิตจากการจมน้ำ สาเหตุหลักคือลงเล่นน้ำในขณะที่น้ำไหลเชี่ยว และประชาชนที่ประกอบอาชีพทางน้ำ อาทิ หาปลา
“ยิ่งปริมาณน้ำเพิ่มขึ้นและท่วมขังยาวนาน ยิ่งทำให้อัตราการเสียชีวิตสูงขึ้นเรื่อยๆ” นพ.ชาตรี กล่าว (ดูกราฟประกอบ)
สพฉ.แนะนำวิธีช่วยเหลือผู้จมน้ำเบื้องต้นว่า ต้องใช้หลัก “ยื่น – โยน – ลาก” กล่าวคือ ต้องเริ่มจาก “ยื่น” อุปกรณ์ให้ผู้ประสบเหตุจับ เช่น เสื้อผ้า เข็มขัด ท่อนไม้ ห่วงหรือไม้ตะขอ จากนั้นให้ “โยน” อุปกรณ์ที่ลอยน้ำให้เกาะ เช่น ถังพลาสติก ห่วงชูชีพ ยางในรถยนต์ จากนั้นผู้ช่วยเหลืออาจเอาเชือกผูกอุปกรณ์เหล่านั้นเพื่อ “ลาก” คนตกน้ำเข้าฝั่ง
“วิธีนี้ผู้ช่วยเหลือจะมีความปลอดภัยเกือบ 100% เพราะผู้ช่วยอยู่บนฝั่ง ส่วนวิธีการกระโดดลงน้ำไปช่วยนั้นเป็นวิธีการที่ต้องพึงระวัง และผู้ช่วยเหลือจะต้องมีประสบการณ์อย่างมาก เพราะมีผู้เสียชีวิตจำนวนมากจากการช่วยเหลือคนตกน้ำและจมน้ำ” นพ.ชาตรี ระบุ
ส่วนการช่วยเหลือและปฐมพยาบาลคนจมน้ำก่อนส่งโรงพยาบาล นพ.ชาตรี แนะนำว่า 1.สังเกตว่าถ้าผู้ป่วยหยุดหายใจ ให้เป่าปากช่วยหายใจทันที อย่าเสียเวลาพยายามเอาน้ำออกจากปอดหรือผายปอดด้วยวิธีอื่นเพราะ จะไม่ทันการณ์และไม่ได้ผล และถ้าเป็นไปได้ควรลงมือเป่าปากตั้งแต่ก่อนขึ้นฝั่ง เช่น พาขึ้นบนเรือ หรือพาเข้าที่ตื้นๆ ทั้งนี้เมื่อเริ่มเป่าปากสักพัก หากรู้สึกว่าลมเข้าปอดได้ไม่เต็มที่เนื่องจากมีน้ำอยู่เต็มท้อง ให้จับผู้ป่วยนอนคว่ำ ใช้มือ 2 ข้างวางใต้ท้องผู้ป่วย ยกท้องผู้ป่วยขึ้น จะช่วยไล่น้ำออกจากท้องให้ไหลออกทางปากได้ แล้วจับผู้ป่วยพลิกหงายเป่าปากต่อไป
2.หากคลำชีพจรไม่ได้ หรือหัวใจหยุดเต้น ให้นวดหัวใจทันที 3.ถ้าผู้ป่วยยังหายใจได้เอง หรือช่วยเหลือจนหายใจได้แล้ว ควรจับผู้ป่วยนอนตะแคงข้าง ศีรษะหงายไปข้างหลังเพื่อให้น้ำไหลออกทางปาก ใช้ผ้าห่มคลุมผู้ป่วยเพื่อให้เกิดความอบอุ่น อย่าให้กินอาหารและดื่มน้ำทางปาก
“จากนั้นควรส่งผู้ป่วยที่จมน้ำไม่ว่าจะมีอาการหนักเบาเพียงใดไปพักรักษาตัวที่โรงพยาบาล ทุกราย ในรายที่หมดสติและหยุดหายใจ ผายปอดด้วยวิธีเป่าปากไปตลอดทาง อย่ารู้สึกหมดหวังแล้วหยุดให้การช่วยเหลือ”เลขาธิการสพฉ.กล่าวสำทับ .