อพท.ชูโมเดล'น่านเมืองเก่าที่มีชีวิต'หวังดึงนักท่องเที่ยวเพิ่มรายได้ให้ชุมชน
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืนจัดโครงการ "น่าน...เมืองเก่าที่มีชีวิต" หนุนแคมเปญการท่องเที่ยว 12 เมือง ต้องห้ามพลาด หวังดึงนักท่องเที่ยวสัมผัสวิถีชุมชน ชี้เศรษฐกิจขยายตัวแล้วถึง 30%
3 กรกฎาคม 2558 องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวที่ยั่งยืน (อพท.) จัดแถลงข่าวโครงการ “น่าน...เมืองเก่าที่มีชีวิต” ณ เวทีกลาง ศูนย์ประชุมไบเทคบางนา
ดร.ชุมพล มุสิกานนท์ ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่าน (อพท.6) องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า สำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่าน่านได้เริ่มศึกษาและดำเนินการพัฒนาพื้นที่ชุมชนไปสู่การท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน เพื่อที่จะสร้างงาน รายได้และกระจายเม็ดเงินด้านการท่องเที่ยวไปยังชุมชน โดยมีการพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวเทศบาลเมืองน่านให้มีความสวยงามโดดเด่นและเป็นที่จดจำ เพื่อให้น่านยังคงไว้ซึ่งความเป็นจังหวัดที่มีคุณค่าทางศิลปะ วัฒนธรรมและสถาปัตยกรรมที่มีกลิ่นอายของล้านนาและวิถีชุมชนที่เรียบง่าย
ดร.ชุมพล กล่าวด้วยว่า การจัดการแหล่งท่องเที่ยวภายใต้แนวคิด น่าน เมืองเก่าที่มีชีวิต เพื่อมุ่งหวังจะให้นักท่องเที่ยวได้รับรู้ถึงความเป็นตัวตนของแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ทั้งนี้อพท.จะร่วมมือกับคนในชุมชนจัดกิจกรรมท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ในเขตเทศบาลเมืองน่าน โดยจะดึงนักท่องเที่ยวเข้ามาเพื่อให้ได้สัมผัสกับบรรยากาศที่เรียบง่ายไปกับวัฒนธรรม ศิลปะ ประเพณีของคนในท้องถิ่นและเต็มอิ่มไปกับสถาปัตยกรรมจากอารยะธรรมล้านนา และคาดว่าโครงการดังกล่าวจะดึงดูดความสนใจของนักท่องเที่ยวให้กลับมาเที่ยวซ้ำในจังหวัดน่านได้
“จากตัวเลขการท่องเที่ยวในจังหวัดน่านในช่วงปี 2556-2557 นั้น การท่องเที่ยวเติบโตอยู่ที่ 10 % แต่มาในวันนี้เมื่อเริ่มโครงการการท่องเที่ยวก็เติบโตขึ้นมาถึง 30% รวมทั้งค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวแต่ละคนก็เพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย แม้เราจะได้ตัวเลขที่เพิ่มมากขึ้น แต่อพท.ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจ และยังคงจะดำเนินกิจกรรมสนับสนุนชุมชนในเรื่องการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์เพิ่มมากขึ้น”
ผู้จัดการสำนักงานพื้นที่พิเศษเมืองเก่านาน กล่าวอีกว่า นอกจากนี้ยังได้ตั้งตัวชี้วัดชุมชนเพิ่มขึ้นมาเพื่อที่จะประเมินว่าแต่ละชุมชนมีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเท่าไหร่ และเป็นการสนับสนุนการเพิ่มรายได้ให้กับชุมชนได้เท่าใดบ้าง นอกจากนี้หน้าที่ของ อพท.จะพัฒนาจังหวัดน่านต่อไปคือ 1. ด้านสังคม โดยรักษาวิถีชีวิตดั้งเดิม พัฒนาชุมชนโบราณพร้อมกับการเป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยพยายามให้ชาวบ้านอนุรักษ์สถาปัตยกรรมและวัฒนธรรมต่างๆไว้
2. ด้านสิ่งแวดล้อม หลังจากมีกระแสการท่องเที่ยวแบบ low carbon ไม่สร้างมลภาวะ ลดการทิ้งขยะ และไม่สร้างสิ่งที่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม มีการอนุรักษ์ธรรมชาติ มีการรีไซเคิลขยะ ใช้พลังงานโซลาเซลล์ ใช้รถสามล้อถีบติดมอเตอร์ไฟฟ้าที่ไม่เป็นพิษต่อสิ่งแวดล้อม
3. ด้านเศรษฐกิจ น่านเป็นหนึ่งใน 12 เมืองต้องห้าม…พลาด ของการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ซึ่งเเคมเปญนี้ทำให้เศรษฐกิจขยายตัว เพราะการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นการท่องเที่ยวที่มีประสิทธิภาพในการพัฒนาเศรษฐกิจ เคยมีการประมาณการไว้ว่าน่านจะมีการขยายตัวทางเศรษฐกิจเพิ่มขึ้น 10% แต่ที่จริงแล้วเศรษฐกิจของจังหวัดน่านขยายตัวถึง 30% เลยทีเดียว