“ชลบุรี” ขานรับ มติ ครม.สัญจร เดินหน้าจัดการศึกษาสู่ “การมีงานทำ”
ชลบุรีเดินหน้าปฏิรูปการศึกษา"เปิดชลบุรีโมเดล"ขานรับมติครม.สัญจร หวังตอบโจทย์พัฒนาภาคอุตสาหกรรม ดึงภาคธุรกิจเข้าร่วมพัฒนาหลักสูตร
2 กรกฏาคม 2558 ณ ห้องประชุมสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาชลบุรี เขต 1 จังหวัดชลบุรี คณะกรรมการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดชลบุรี และสำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน (สสค.) เปิด“เวทีการประชุมคณะกรรมการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้จังหวัดชลบุรี”
นายชำนาญวิทย์ เตรัตน์ รองผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี กล่าวว่า แนวคิดในการจัดการศึกษาเชิงพื้นที่ เป็นหนึ่งในนโยบายที่ตอบสนองความต้องการของรัฐบาลในการเพิ่มศักยภาพผู้เรียนให้สอดคล้องกับความต้องการของบริบทในพื้นที่ โดยเปิดโอกาสให้คนในพื้นที่ร่วมคิดและกำหนดทิศทางความต้องการในการจัดการศึกษาแก่เด็กและเยาวชนได้เอง ประกอบกับจังหวัดชลบุรีมีรายได้หลักจากภาคธุรกิจและภาคอุตสาหกรรม แต่กลับขาดแคลนแรงงานสูงถึง 248,862 คนต่อปี โดยกว่าร้อยละ 80 ต้องการแรงงานช่างฝีมือในระดับ ปวช.และ ปวส. แต่ปริญญาตรีมีความต้องการเพียงร้อยละ 11 เท่านั้น
“จังหวัดชลบุรีตระหนักถึงปัญหาการจัดการศึกษาที่ไม่สอดรับกับบริบทความต้องการในพื้นที่ จึงมีแนวคิดที่จะปฏิรูปการเรียนรู้ทั้งจังหวัด ภายใต้แนวคิด “ชลบุรีโมเดล” ที่ครอบคลุมกลุ่มเป้าหมายที่ได้รับประโยชน์ตั้งแต่ระดับปฐมวัย จนถึงอุดมศึกษา รวมทั้งสถาบันการศึกษา สถานประกอบการ ผู้บริหาร ครู บุคลากร และประชาชนผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษา โดยมุ่งเน้นการปลูกฝังและเสริมสร้างคุณลักษณะนิสัยอุตสาหกรรมให้เกิดกับผู้เรียนในทุกระดับ เตรียมพร้อมผู้เรียนเข้าสู่การทำงานอาชีพในภาคอุตสาหกรรมในอนาคตได้อย่างมีคุณภาพ”
ด้านดร.อมรวิชช์ นาครทรรพ โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา และการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และผู้ช่วยเลขานุการรัฐมนตรีกว่าการกระทรวงศึกษาธิการ กล่าวว่า สำหรับร่างพ.ร.บ.การศึกษาที่มีการปรับปรุงแก้ไขกันในขณะนี้ กระทรวงศึกษาธิการได้มีการมอบหมายให้ทางสำนักงานเลขาธิการสภาการศึกษาและสำนักงานปลัดศธ.ได้ช่วยกันพิจารณาประเด็นสำคัญที่จะมีการแก้ไขในพรบ.การศึกษาดังกล่าวแล้ว โดยเบื้องต้นร่างดังกล่าวได้ผ่านความเห็นชอบของทั้งคณะกรรมาธิการการศึกษาและการกีฬา (สนช.) และคณะกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษาฯ (สปช.) ซึ่งกำลังอยู่ในขั้นตอนเตรียมการหารือร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ
ดร.อมรวิชช์ กล่าวด้วยว่า การดำเนินการดังกล่าวถือเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญต่อการศึกษาของไทย โดยเฉพาะในมาตราที่ 48 ที่มีความเกี่ยวข้องเชื่อมโยงกับการกระจายอำนาจทางการศึกษา เช่นโครงการจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ที่ทางสสค.ได้ทำงานกับกว่า 10 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อให้ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนากำลังคนของประเทศมาบูรณาการการทำงานร่วมกัน
“ถ้าพ.ร.บ.ฉบับนี้ได้รับความเห็นชอบร่วมกันทั้ง 3 ฝ่าย จากนี้การศึกษาจะไม่ใช่เรื่องที่จะมีการแบ่งกระทรวงหรือหน่วยงานในการทำงานอีกต่อไป แต่ทุกหน่วยงานต้องเข้ามาร่วมกันดูแลรับผิดชอบในการพัฒนากำลังคนของประเทศ"
โฆษกกรรมาธิการปฏิรูปการศึกษา กล่าวอีกว่า สำนักงานคณะกรรมการนโยบายการศึกษาและพัฒนามนุษย์แห่งชาติ ที่จะถูกจัดตั้งหลังจาก พ.ร.บ.ฉบับนี้มีผลบังคับใช้ จะมีทุกภาคส่วนทั้งกระทรวงต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง และภาคเอกชน ซึ่งหนึ่งในนั้นก็คือสภาหรือสมัชชาการศึกษา ที่หลายๆ จังหวัดได้จัดตั้งขึ้นมาและดำเนินงานไปก่อนหน้านี้แล้ว ได้เข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการการศึกษา และพรบ.ฉบับนี้จะถูกประกาศใช้โดยไม่รอรัฐธรรมนูญ ซึ่งจะทำให้ทิศทางของการศึกษาที่ทุกจังหวัดพยายามขับเคลื่อนอยู่ในขณะนี้เกิดมรรคผลเป็นรูปธรรมมากยิ่งขึ้น เกิดการศึกษาที่หลากหลายและตอบโจทย์ชีวิตและการมีงานทำให้ทุกพื้นที่ ซึ่งจะทำให้ท้องถิ่นเกิดความมั่นคงและยั่งยืน”