เมื่อกฤษฎีกา! เบรก กสทช. ห้ามใช้เหตุผลนอกกม. ลดหย่อนค่าธรรมเนียมทีวีดิจิทัล
"..เมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจ กสทช. ในอันที่จะลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กสทช.จึงมีอำนาจลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้เฉพาะ ที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้เท่านั้น ไม่อาจอาศัยความจำเป็น หรือความสมควรอื่นใดไปลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้.."
เมื่อวันที่ 1 ก.ค.2558 ที่ผ่านมา นายฐากร ตัณฑสิทธิ์ เลขาธิการคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ให้สัมภาษณ์ยืนยันกับสื่อมวลชนว่า เมื่อวันที่ 29 มิ.ย. 2558 ที่ผ่านมา ได้รับหนังสือตอบกลับจากเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ในประเด็นข้อหารือปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ในการลดหย่อน หรือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ มายังสำนักงาน กสทช.
ทั้งนี้ คณะกรรมการกฤษฎีกาเห็น ว่า กสทช. สามารถพิจารณาลดหย่อนค่าธรรมเนียม หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ 2 วิธี คือ
1. การลดหย่อนให้แก่ผู้ประกอบการในภาพรวม ในกรณีที่ กสทช. เห็นว่า ค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ หรือ ผู้ใช้บริการโดไม่สมเหตุผล ย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้ ตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 19 วรรคสาม
2. การลดหย่อนหรือยกเว้นให้แก่ผู้ประกอบการบางรายตาม พ.ร.บ.การประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ พ.ศ. 2551 มาตรา 19 วรรคสี่ และมาตรา 42 วรรคสาม ที่จะต้องเข้าเงื่อนไขใดเงื่อนไขหนึ่งในสองกรณี จึงจะทำได้ นั่นคือ กรณีที่ 1 กรณีที่เป็นรายการข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือเป็นกรณีที่ 2 กรณีที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับยกเว้น
เลขาธิการ กสทช. ยังระบุด้วยว่า การลดหย่อน หรือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการทีวีดิจิตอล เป็นหนึ่งในมาตรการที่จะช่วยเยียวยาผู้ประกอบการทีวีดิจิตอลในขณะนี้ โดย สำนักงาน กสทช. เตรียมนำความเห็นนี้เสนอที่ประชุม กสท.เพื่อพิจารณา ต่อไป
(อ้างอิงข้อมูลจาก ไทยรัฐ ออนไลน์ http://www.thairath.co.th/content/508743)
ไม่ว่าเลขาธิการ กสทช. จะตีความความเห็นทางกฎหมายของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องปัญหาข้อกฎหมายเกี่ยวกับอำนาจของ กสทช. ในการลดหย่อน หรือ ยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการโทรทัศน์ ที่ส่งคืนกลับมายังสำนักงาน กสทช. ไว้อย่างไร?
แต่สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบความเห็นทางกฎหมาย ของคณะกรรมการกฤษฎีกาในเรื่องนี้ พบว่า มีการระบุสาระสำคัญเรื่องการปฏิบัติตามข้อกฎหมายของ สำนักงาน กสทช.ไว้ดังนี้
"...คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่1) ได้พิจารณาข้อหารือของสำนักงานกสทช. โดยมีผู้แทนสำนักงาน กสทช. เป็นผู้ชี้แจงข้อเท็จจริงแล้ว เห็นว่า มาตรา 19 วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ ฯ และมาตรา 42 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติองค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ ได้กำหนดอำนาจลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมใบอนุญาตไว้เป็นการเฉพาะเพียง 2 กรณีเท่านั้น
คือ กรณีที่หนึ่ง ในกรณีที่การประกอบกิจการกระจายเสียงหรือกิจการโทรทัศน์ของผู้รับใบอนุญาต มีรายการข่าวสาระ หรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ เกินกว่าสัดส่วนของรายการที่เป็นข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะตามที่ กสทช.ประกาศกำหนด และ กรณีที่สอง ในกรณีลดหย่อนให้กับหน่วยงานที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ แต่มีหน้าที่ต้องเสียค่าธรรมเนียมใบอนุญาต
เมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจ กสทช. ในอันที่จะลดหย่อน หรือยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กสทช.จึงมีอำนาจลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้เฉพาะที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้เท่านั้น ไม่อาจอาศัยความจำเป็นหรือความสมควรอื่นใดไปลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้
อย่างไรก็ตาม โดยที่ กสทช. มีอำนาจกำหนดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตให้ใช้เคลื่อนความถี่ และค่าธรรมเนียมใบอนุญาตประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ โดยแยกเป็นค่าธรรมเนียม ซึ่งต้องชำระเมื่อได้รับใบอนุญาต และค่าธรรมเนียมซึ่งต้องชำระเป็นรายปี ซึ่งการกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมรายปีนั้นรวมทั้งสิ้นแล้ว ต้องไม่เกินร้อยละสองของรายได้ก่อนหักค่าใช้จ่ายของผู้รับใบอนุญาต
ทั้งนี้ มาตรา 19 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติการประกอบกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ฯ ได้กำหนดเงื่อนไขว่า การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมดังกล่าวนั้น กสทช. ต้องไม่กำหนดให้เป็นภาระแก่ผู้ประกอบการ หรือผู้ใช้บริการโดยไม่สมเหตุสมผล และต้องกำหนด โดยคำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ความคุ้มค่า ความขาดแคลน วิธีการจัดสรรทรัพยากร และรายจ่ายที่ใช้ในการกำกับดูแลการใช้คลื่อนความถี่และการกำกับดูแลการประกอบกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ
ดังนั้น ในเวลาใดที่ กสทช.เห็นว่าค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้แล้ว ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว เช่น ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บริการโดยไม่สมเหตุผล ก็ย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้
ลงชื่อ นายดิสทัต โหตระกิตย์)
เลขาธิการคณะกรรมการกฎฆษำีกา
(อ่านความเห็นกฤษฎีกาฉบับเต็ม ที่นี่ )
สรุปความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกา ให้เข้าใจง่ายขึ้น คือ ประเด็นที่หนึ่ง การลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียม มีกฎหมายกำหนดเรื่องอำนาจไว้ชัดเจนแล้ว กสทช. ไม่อาจอาศัยความจำเป็นหรือความสมควรอื่นใดไปลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้
ประเด็นที่สอง การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมนั้น หาก กสทช. เห็นว่าค่าธรรมเนียมที่กำหนดไว้แล้ว ไม่สอดคล้องกับเงื่อนไขของกฎหมายดังกล่าว เช่น ก่อให้เกิดภาระแก่ผู้ประกอบการหรือผู้ใช้บริหารโดยไม่สมเหตุผล ก็ย่อมมีอำนาจที่จะกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ให้เหมาะสมยิ่งขึ้นได้
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ สถานการณ์ในปัจจบัน ถึงช่วงเวลาที่จะต้องมีการกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่หรือยัง? ผู้ประกอบการรายใดจ่ายเงินแล้วหรือยังไม่จ่าย? ที่ยังไม่จ่ายเพราะอะไร? มีผู้ประกอบการกี่รายที่มีปัญหาเรื่องนี้? คิดเป็นจำนวนเกินครึ่งของผู้ประกอบที่ได้รับใบอนุญาตไปหรือไม่? ถ้าจะกำหนดค่าธรรมเนียมใหม่ให้เหมาะสม ควรเป็นอย่างไร? ซึ่งคำถามเหล่านี้เป็นเรื่องที่สมควรอย่างยิ่งที่ กสทช. จะต้องมีการศึกษาข้อมูลให้ครบถ้วนรอบด้าน ไม่เช่นนั้น ก็จะเกิดปัญหาซ้ำรอยขึ้นอีกในอนาคต
แต่ที่แน่ๆ การกำหนดอัตราค่าธรรมเนียมใหม่ที่จะเกิดขึ้น เป็นเรื่องของอนาคต
ปัจจุบัน ที่ กสทช. มีหน้าที่เพียงอย่างเดียว คือ ปฏิบัติตามกฎหมายที่กำหนดไว้อย่างเคร่งครัด เรียกเก็บเงินค่าธรรมเนียมจากเอกชนที่ได้รับใบอนุมญาตให้ครบถ้วน เมื่อมีคนจ่ายแล้ว คนอื่นก็ต้องจ่ายด้วย ไม่มี "โมเดล" อะไร ที่จะมาทำให้การปฏิบัติตามอำนาจทางกฎหมายเปลี่ยนแปลงไปได้
ถ้าจะมีการลดหย่อนหรือยกเว้นให้แก่ผู้ประกอบการบางราย ก็ทำได้ตามที่กฎหมายอำนาจไว้ใน 2 กรณี คือ 1.กรณีที่เป็นรายการข่าวสารหรือสาระที่เป็นประโยชน์ต่อสาธารณะ หรือ เป็นกรณีที่ 2. กรณีที่เป็นหน่วยงานที่ได้รับยกเว้น
ซึ่งคณะกรรมการกฤษฎีกา ย้ำประเด็นนี้ แบบชัดเจนว่า "เมื่อกฎหมายได้ให้อำนาจ กสทช. ในอันที่จะลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้เป็นการเฉพาะแล้ว กสทช.จึงมีอำนาจลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมไว้เฉพาะที่กฎหมายได้ให้อำนาจไว้เท่านั้น ไม่อาจอาศัยความจำเป็นหรือความสมควรอื่นใดไปลดหย่อนหรือยกเว้นค่าธรรมเนียมได้ "
ถ้าไปทำอะไรเกินเลยมากกว่านี้ มีหวังหน่วยงานที่จะมีปัญหาถูกตรวจสอบเอง คงไม่ใช่ใครอื่น นอกจาก "กสทช."!