#OWS และความฝัน
ภาพของคุณ ยิ่งลักษณ์ ชิณวัตร และคุณ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ก้มลงวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมบนแผนที่แผ่นเดียวกัน ทำความพอใจแก่ชาวเน็ตเป็นแสน ตัดกับอีกภาพหนึ่งในวันรุ่งขึ้น เมื่อคุณ จินตนา แก้วขาว ถูกศาลฎีกาพิพากษาให้จำคุก 4 เดือน ในข้อหาซึ่งตัวเธอเองก็ยังยืนยันจนถึงนาทีนี้ว่าเธอไม่ได้สั่งการหรือเข้าไปในที่เกิดเหตุ วันล้มโต๊ะจีนโรงไฟฟ้าถ่านหินซึ่งจัดงานเลี้ยงเพื่อหาเสียงสนับสนุนโครงการจากชาวบ้าน
ภาพที่ตัดกันสองภาพนี้ เตือนให้เรารู้ว่า ไม่มีหรือยังไม่มีทางเลือกอื่นในการเมืองไทย
จะว่าไป “ทางเลือกอื่น” (alternatives) คือเป้าหมายหลักของการเคลื่อนไหวที่ระบาดไปแพร่หลายตามเมืองต่าง ๆ ในสหรัฐกว่า 70 เมือง และข้ามมหาสมุทรแอตแลนติกกับแปซิฟิกไปสู่เมืองใหญ่ ๆอื่น ๆ อีกหลายสิบเมือง ความเคลื่อนไหวนี้รู้จักกันในนาม “ยึดวอลสตรีท” (Occupy Wall Street หรือ #ows ในภาษาเน็ต)
#ows เริ่มในการสื่อสารของผู้อ่านนิตยสารAdbusters ของแคนาดา ซึ่งเสนอให้ยึดตำบลการเงินการคลังใหญ่ของสหรัฐในนิวยอร์ก คือย่านถนนวอลล์สตรีท มีผู้เห็นพ้องและเข้ามาช่วยกันคิดออนไลน์มากขิ้น
และอีกสอง-สามเดือนก่อนหน้าที่การยึดจะเกิดขึ้นจริง ในวันที่ 17 กันยายน การคิดร่วมกันออนไลน์ก็ยังดำเนินต่อไป จึงทำให้การเคลื่อนไหวครั้งนี้คล้ายกับการเคลื่อนไหวของหนุ่มสาวชาวอียิปต์ ในการเคลื่อนไหวที่มักเรียกกันว่า “ฤดูใบไม้ผลิอาหรับ”
หมายความว่า ความเคลื่อนไหวนี้ คิดและกระทำกันอย่างเปิดเผย หาช่องเล็กช่องน้อยในกฎหมายที่พอจะเป็นไปได้ ในการเคลื่อนไหวเพื่อต่อต้านระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ครอบงำสังคมอยู่อย่างหนาแน่น
ช่องเล็กช่องน้อยนั้นอาจมีอยู่มากสักหน่อยในระบบกฎหมายของอเมริกัน เพราะทุนนิยมอเมริกันยังอ้างประชาธิปไตยเป็นฐานความชอบธรรมทางการเมืองจึงไม่มีกฎหมายประเภท “พ.ร.บ.การบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน”
#ows เข้าไปอยู่ในสวนสาธารณะกลางวอลสตรีท ชื่อสวน Zuccotti อันเป็นสวนสาธารณะเอกชน ตำรวจไม่มีอำนาจขับไล่ผู้ชุมนุมออกจากสวนนี้ได้ แม้มีอำนาจในการควบคุมการชุมนุมเพื่อรักษาความสงบและความเป็นระเบียบเรียบร้อยได้ และตำรวจนิวยอร์กก็พยายามจะใช้อำนาจนี้เพื่อทำให้การชุมนุมสลายลง
เช่นมีกฎหมายห้ามใช้เต็นท์ในสวนสาธารณะตำรวจก็ตีความว่า ผ้าใบอาบน้ำมันที่เอามาคลุมเป็นเพิงคือเต็นท์อย่างหนึ่ง แต่ผู้ชุมนุมก็ยืนหยัดที่จะหลับนอนต่อไปกลางแจ้งหรือในกล่องกระดาษเท่าที่จะหาได้
กฎหมายห้ามใช้เครื่องขยายเสียงโดยไม่ขออนุญาตตำรวจตีความว่าโทรโข่งที่ใช้ถ่านไฟฉายเป็นพลังนั้น คือเครื่องขยายเสียงชนิดหนึ่ง ผู้ชุมนุมซึ่งมักมีคนสำคัญมาร่วมสนับสนุนและกล่าวสุนทรพจน์เสมอ จึงหันไปใช้ “ไมค์ประชาชน” คือคนที่อยู่ใกล้ ๆ ผู้ปราศรัยพอได้ยินเสียง ก็จะพร้อมกันตะโกนคำปราศรัยไปทีละประโยคหรือทีละวลี เพื่อให้ได้ยินทั่ว ๆกัน
จะว่าพยายามทำเฉพาะที่กฎหมายทิ้งช่องโหว่ไว้อย่างเดียวก็ไม่เชิงทีเดียวนัก เมื่อมีคนมาเข้าร่วมชุมนุมกันจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ #ows พยายามเดินขบวนไปประกอบกิจกรรมในสถานที่สำคัญ ๆ ต่าง ๆ กฎหมาย
อนุญาตให้เดินขบวนได้โดยไม่กีดขวางทางจราจร คือบนทางเท้าเท่านั้น แต่ผู้เข้าร่วมมีจำนวนมากเกินกว่าจะใช้แต่ทางเท้าได้ จึงล้มลงมายังผิวจราจรบนพื้นถนนตำรวจจับตัวไปปรับทีหนึ่งเป็นร้อย ๆ
แต่ยิ่งเป็นสัญลักษณ์ของความจนตรอกของผู้ชุมนุมมากขึ้นไปอีก
เพราะผู้ชุมนุมซึ่งมักเรียกตัวเองว่า พวก 99% อ้างว่ากำลังต่อสู้กับพวก 1% ซึ่งคือธุรกิจขนาดยักษ์ โดย
เฉพาะธุรกิจการเงินใหญ่ ๆ ซึ่งตลอดเวลาที่เศรษฐกิจอเมริกันเผชิญวิกฤตในทศวรรษ 2000 เป็นต้นมา รัฐได้นำเงินของภาษีประชาชนมาอัดฉีดไม่รู้จะกี่ล้านล้านเหรียญ แถมไม่มีผู้บริหารของสถาบันการเงินเหล่านี้สักคนเดียวที่ต้องคดีอาญา ทั้ง ๆ ที่การพังทลายของเศรษฐกิจเกิดขึ้นจากความโลภของสถาบันเหล่านี้เอง
ผู้คนจำนวนมากถูกยึดบ้านต้องออกมานอนข้างถนน แต่ธนาคารที่ให้เงินกู้สร้างบ้าน (แล้วก็ออกตราสารไปจำนองไว้กับประเทศอื่นทั่วโลก) กลับรวยเอารวยเอา คนตกงานหรือไม่พอกินกับงานเดียวต้องทำงานสองงานสามงานจนไม่ได้พักผ่อน ประกันสังคมต่าง ๆ กำลังถูกลดหรือเลิก มีคนหิว, คนเจ็บ และเด็กไม่ได้ไปโรงเรียนมากมาย
ดังนั้น อำนาจที่ล้นเหลือเช่นนี้จึงเกิดขึ้นไม่ได้ถ้าไม่ได้รับความร่วมมือจากนักการเมือง การเรียกร้องของ #ows ระยะแรก ๆ จึงเป็นข้อเสนอให้ประธานาธิบดีตั้งคณะกรรมาธิการพิเศษเพื่อลดอิทธิพลของเงินเหนือผู้แทนของประชาชน (ใครที่เคยดูหนังสารคดีของไมค์ มัวร์ เรื่องเกี่ยวกับธุรกิจยาและการแพทย์ของอเมริกัน-Sicko คงจำประเด็นนี้ได้ดี)
กล่าวโดยสรุป #ows กำลังต่อสู้กับทุนนิยมสหรัฐและเพราะเป็นองค์กรแกนนอน จึงมีความคิดเห็นต่อทุนนิยมสหรัฐต่างกันไป ส่วนใหญ่คือ 46% ของผู้ร่วมชุมนุมเห็นว่า ทุนนิยมไม่ได้เลวในตัวของมันเอง แต่ต้องมีการกำกับควบคุม 37% เห็นว่าไม่มีทางรักษาทุนนิยมไว้ได้อีกต่อไป เพราะมัน “สามานย์” คือผิดศีลธรรมในตัวของมันเองเลยทีเดียว อีก 17% ไม่ตอบคำถาม
การชุมนุมเรียกร้องอะไร?
คำตอบคืออะไรหลาย ๆ อย่างที่ผู้เข้าร่วมชุมนุมเห็นว่าสำคัญ “สมัชชาใหญ่” ได้ขอให้ผู้เข้าร่วมชุมนุมเสนอข้อเรียกร้องที่ตนเห็นว่าสำคัญที่สุดหนึ่งข้อ อะไรก็ได้ ผลที่ออกมาคือลดอิทธิพลของเงินเหนือการเมือง, เก็บภาษีคนรวยเพิ่มขึ้น, เก็บภาษีบรรษัทเพิ่มขึ้น, สนับสนุนสหภาพกรรมกร, รักษาโครงการสุขภาพถ้วนหน้า และประกันสังคมเอาไว้ตามจุดประสงค์เดิม, รักษาสิ่งแวดล้อม...
จะเห็นได้ว่าก็อยู่ในแนวเดียวกัน เพราะคนที่ไม่เห็นอย่างนี้ก็คงไม่เข้าร่วมชุมนุมมาแต่ต้นแล้ว
จะเรียกว่าอะไรก็ตาม ผู้ชุมนุมเห็นว่า ระบบเศรษฐกิจ-การเมืองที่ดำรงอยู่ ไม่ยุติธรรม เอาชีวิตและความมั่นคงของคนเล็กคนน้อย 99% ไปสังเวยผลประโยชน์ของพวก 1% ที่รวยมั่งคั่งอยู่แล้ว
ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ ผู้เข้าร่วมชุมนุมเห็นว่าทุนนิยมสหรัฐนั้นมีทางเลือกอื่น ที่ไม่ต้องเป็นอย่างที่เป็นอยู่ได้บางคนในกลุ่มผู้ชุมนุมเรียกว่า สิทธิหรืออำนาจในการฝันถึงสิ่งอื่น
สิทธิในการฝันถึงทางเลือกอื่น ไม่ว่าใครจะเห็นว่าเป็นทางเลือกที่ผิดหรือถูกก็ตาม จะว่าไปคือพื้นฐานของสิทธิเสรีภาพทั้งหมด ประชาธิปไตยที่ทุนนิยมอเมริกันกำกับอยู่เบื้องหลังนั้น ส่งเสริมให้คนฝันและใฝ่ฝัน
แต่ต้องฝันและใฝ่ฝันตามท้องเรื่องที่ผลประโยชน์ของคน 1% กำหนดไว้ให้แล้ว
หากฝันนอกท้องเรื่องนี้ก็กลายเป็นการเพ้อฝัน, เพ้อเจ้อ, ไร้เหตุผล, ล่องลอย ฯลฯ เขาจะถูกลิดรอนอำนาจโดยไม่รับเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยดัง ๆ, ไม่ได้รับการส่งเสริมให้ได้ตัดสินใจ, จนถึงที่สุดไม่มีใครพิมพ์งานที่เขาเขียนขึ้นเลย (ก็มีตัวอย่างจริงมาแล้ว เช่นเกือบทั้งหมดของงานเขียนของโนม ชอมสกี้ ไม่ได้ตีพิมพ์ในสหรัฐ)
เมื่อธุรกิจขนาดใหญ่ต้องการความมั่นคงด้านพลังงาน ความฝันของทุนนิยมคือมีแหล่งผลิตพลังงานที่มั่นคง และราคาไม่แพง จินตนา แก้วขาว ชาวบ้านกรูดไม่ได้ฝันอย่างนั้น เพราะยังมีทางเลือกอื่นที่คนเล็กคนน้อยในบ้านกรูดสามารถเจริญงอกงาม และมีความสุขต่อไปได้กับการการประมง, การทำสวนมะพร้าว, การค้าขายของชำ, การท่องเที่ยว และการผลิตที่เกี่ยวโยงกับการท่องเที่ยว จึงพากันลุกขึ้นต่อต้านอำนาจทุนอันมหึมาที่พยายามจะใช้ที่ดินและสิ่งแวดล้อมอันเป็นทรัพย์ของคน 99% ไปสร้างพลังงานขายสมเหตุสมผลกับความต้องการพลังงานของโครงการพัฒนาอุตสาหกรรม
และเพื่อปราบปรามมิให้คนเล็กคนน้อยมีสิทธิฝันอย่างอิสระ จึงมีกลไกแห่งอำนาจอันสลับซับซ้อนอยู่เบื้องหลัง ที่จะทั้งปลอบและขู่ให้ชาวบ้านกรูดฝันให้ถูกเรื่อง ตรงกับความฝันของคน 1% ให้ได้ นับตั้งแต่โรงเรียนประจำตำบล ที่ลูกของจินตนาการถูกกระแหนะกระแหนโดยครูของเธอเอง
นักวิชาการมหาวิทยาลัยมีชื่อทำการศึกษาประเมินผลกระทบของสิ่งแวดล้อม เพื่อสนับสนุนผู้จ้างคือโรงไฟฟ้าให้ดำเนินโครงการได้
สื่อที่คอยเตือนประชาชนทั่วประเทศว่า ชาวบ้านกรูดกำลังทำให้ความฝันของเขาพังทลายลง ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วหาใช่ความฝันของเขาพังทลายลง ทั้ง ๆ ที่แท้จริงแล้วหาใช่คววามฝันของเขาเอง แต่เป็นความฝันที่คน 1% ฝากให้เขาฝัน
Slavoj Zizek นักปราชญ์ชาวเช็ก ซึ่งได้กล่าวสุนทรพจน์ในการชุมนุมของ #ows ชี้ให้เห็นว่า “ระบบปกครองปราบปราม” เขาพยายามย้ำเตือนผู้ร่วมชุมนุมว่าถึงที่สุดแล้ว ทุกคนก็จะกลับบ้านไปใช้ชีวิตตามปกติ แต่
“จงจำไว้ว่า สาระขั้นพื้นฐานของพวกเราก็คือ เราได้รับอนุญาตให้คิดถึงทางเลือกอื่น กฎเหล็กที่ห้ามฝันถึงทางเลือกอื่นได้ถูกทำลายลงแล้ว”
คำสนทนาสุดท้ายทางโทรศัพท์ที่ผมได้พูดกับคุณจินตนา แก้วขาว ก็คือ เธอพร้อมรับชะตากรรมนี้อยู่แล้ว และได้เตรียมการทุกอย่างเท่าที่จะทำได้ สำหรับส่วนตัวและส่วนรวมได้หมดแล้ว จินตนาและชาวบ้านกรูดจะบอกลูกหลานได้ตลอดไปว่า เขาได้กล้าฝันถึงทางเลือกอื่น เพื่อโลกที่จะมีความเป็นธรรมแก่ตนเล็กคนน้อย 99% ใช่แต่เท่านั้น เขาปลูกฝังความกล้าหาญนี้ให้แก่ลูกหลานของเขาสืบไป เรื่องราวของพวกเขาจะหล่อเลี้ยงความกล้าฝันอย่างอิสระของคนไทยอย่างไม่มีวันสิ้นสุดด้วย
ตราบใดที่คนไทยยังกล้าฝันนอกกำกับของคน 1% ได้ ประชาธิปไตยไทยก็จะอยู่รอดจากทุนนิยมตราบนั้นเพราะจะมีความฝันถึงทางเลือกอื่นสำหรับ 99% ให้เราไขว่คว้าได้เสมอ
ที่มาภาพ : http://www.khaosod.co.th