เปิดอัตราค่าเช่านาใหม่ ยุค "คสช." เมื่อ"นายทุน" รับคำสั่งลดราคาไร่ละ 200 บ.?
"...แจ้งให้ผู้เช่านาและผู้ให้เช่านาทราบอัตราค่าเช่าขั้นสูงที่ คชก. ตำบล กำหนด ในฤดูการผลิตปี 2558/59 และแจ้งบทกำหนดโทษ หากมีการเรียกหรือรับค่าเช่านาเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่ คชก. ตำบล กำหนด จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ..."
ในช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2558 ที่ผ่าน มีนโบายสำคัญอย่างหนึ่ง ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่สั่งตรงลงมาให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหาทางแก้ไขปัญหาโดยเร็ว
นโยบายที่ว่า คือ การสั่งลดค่าเช่าที่ดินไร่ละประมาณ 200 บาท สำหรับการปลูกข้าว ให้กับชาวนาผู้ยากไร้
น่าสนใจว่า นโยบายนี้ มีผลในทางปฏิบัติเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่
ล่าสุด สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบว่า เมื่อเร็วๆ นี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้รับทราบผลสรุปการดำเนินการลดค่าเช่านา ปีการผลิต 2557/2558 และแนวทางการดำเนินการควบคุมค่าเช่านา ปีการผลิต 2558/59 ของกระทรวงมหาดไทย ตามนโยบายที่ได้รับมอบหมายลดค่าเช่าน่าลงไม่ต่ำกว่าไร่ละ 200 บาท ดังกล่าว
กระทรวงมหาดไทย สรุปการดำเนินการ ดังนี้
1. ผู้เช่านา มีจำนวน 380,965 ราย
2. ผู้ให้เช่านา มีจำนวน 411,517 ราย
3. อัตราค่าเช่านาก่อนการดำเนินการลดค่าเช่าเช่าตามนโยบายคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) มีดังนี้
ภาคกลาง อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000-2,000 บาท
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000-1,200 บาท
ภาคเหนือ อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000-1,800 บาท
ภาคใต้ อัตราค่าเช่านาไร่ละ 1,000 บาท
4. คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบล (คชก.ตำบล) ประกาศลดค่าเช่านา สรุปผลรายภาค ดังนี้
ภาคกลาง ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ 1,000-1,500 บาท
ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ800-1,200 บาท
ภาคเหนือ ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ 800-1,200 บาท
ภาคใต้ ลดอัตราค่าเช่านาเหลือไร่ละ 800 บาท
กระทรวงมหาดไทย ยังระบุด้วยว่าผลจากการดำเนิน มีประเด็นสำคัญดังนี้
1. สามารถเจรจาลดเพื่อลดค่าเช่านาลงได้ทุกราย จำนวน 380,965 ราย
2. สามารถลดค่าเช่านาลงได้ เฉลี่ยไร่ละ 200-816 บาท
3.เกษตรได้รับการลดค่าเช่านาลงเฉลี่ยรายละ 631-22,238 บาท
4.จำนวนเงินที่สามารถเจรจาลดค่าเช่านาได้ 342,139,308 บาท
หลังจากที่ก่อนหน้านี้ คสช. ได้รับการร้องเรียนว่า ชาวนาถูกเอาเปรียบจากนายทุนเป็นอย่างมาก ที่ผ่านมา ค่าเช่านาปรับขึ้นแบบก้าวกระโดดจาก 500 - 1,000 บาท ต่อไร่ต่อปีมาเป็น 1,000 – 2,000 บาทต่อไร่ต่อการทำนา 1 รอบ ซึ่งในเบื้องต้นชาวนาพอใจค่าเช่าไม่เกิน 1,000 บาท ต่อไร่ต่อ 1 รอบ ซึ่งเดิมที่ค่าเช่าพื้นที่คิดเป็นปี แต่ปรับขึ้นในช่วงโครงการรับจำนำข้าว 15,000 บาทต่อตัน ทำให้เจ้าของที่ดินฉวยโอกาสเพิ่มค่าเช่าด้วย ซึ่งตอนนี้อยู่ที่ราวๆ 1,000-2,000 บาท ต่อไร่ต่อการทำนา 1 รอบ
เบื้องต้น กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดแนวทางการควบคุมและลดค่าเช่านาในปีการผลิต 2558/59 ต่อเนื่องจากปีการผลิต 2557/58 ไว้ดังนี้
1.แจ้งจังหวัดให้จัดประชุมนายอำเภอและเกษตรอำเภอเพื่อทบทวนผลการดำเนินการควบคุมค่าเช่านา ในฤดูการผลิตที่ผ่านมา หากพบว่าในพื้นที่ยังมีการเรียกเก็บค่าเช่านาไม่เป็นไปตามอัตรา คชก. ตำบลที่คณะกรรมการการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรมประจำตำบลกำหนด ให้จังหวัดกำหนดมาตรการควบคุมค่าเช่านาให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติการเช่าที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ. 2524
2. ทบทวนบัญชีรายชื่อผู้เช่านาและผู้ให้เช่านาให้เป็นปัจจุบัน
3. ตรวจสอบการจ่ายค่าเช่านาในรอบปีที่ผ่านมา (ฤดูการผลิต 2557/58) หากพบว่ามีการเรียกเก็บค่าเช่านาเกินกว่าที่ คชก. ตำบล กำหนด ให้ คชก. ตำบลแจ้งความดำเนินคดีกับผู้ให้เช่าทุกราย
4. แจ้งให้ผู้เช่านาและผู้ให้เช่านาทราบอัตราค่าเช่าขั้นสูงที่ คชก. ตำบล กำหนด ในฤดูการผลิตปี 2558/59 และแจ้งบทกำหนดโทษ หากมีการเรียกหรือรับค่าเช่านาเกินกว่าอัตราขั้นสูงที่ คชก. ตำบล กำหนด จะต้องระวางโทษจำคุกไม่เกินหนึ่งปี หรือปรับไม่เกินหนึ่งหมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
5. กำหนดช่องทางการร้องเรียน ร้องทุกข์และประชาสัมพันธ์ให้แก่ผู้เช่านาและผู้ให้เช่านาทราบทุกราย
6. ดำเนินการควบคุมค่าเช่านาทุกรายในพื้นที่ให้มีการเช่านาในอัตราที่เหมาะสม และไม่เกินอัตราค่าเช่าขั้นสูงที่ คชก. ตำบล กำหนด
7. มอบหมายให้ คชก. ตำบล ชุดปฏิบัติการประจำตำบล กำนัน ผู้ใหญ่บ้าน และคณะกรรมการหมู่บ้าน ติดตามตรวจสอบและควบคุมการเช่านาในพื้นที่ให้เกิดความเป็นธรรมทั้งสองฝ่าย พร้อมจัดทำป้ายแสดงอัตราค่าเช่านาประจำตำบลให้ประชาชนทราบอย่างน้อย จำนวน 1 ป้าย
ทั้งหมดนี้ คือ ความคืบหน้าล่าสุดเกี่ยวกับมาตรการคุมเข้มปัญหาค่าเช่านา ภายใต้การบริหารของรัฐบาลประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
ซึ่งต้องบอกว่า ได้ผลดีในระดับที่น่าพอใจ ส่วนหลังจากนี้ จะมีผู้ให้เช่ารายใด "ลักไก่" ฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตาม และถูกลงโทษทางกฎหมายเป็นรายแรกหรือ ไม่
ต้องจับตาดูกันต่อไปแบบยาวๆ ?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google