ครบปีคลื่นถล่มบ้านดาโต๊ะ...บทเรียนความล่าช้าเยียวยา-ฟื้นฟู ระวังน้ำท่วมปี 54 ซ้ำรอย!
พิบัติภัยจากมวลน้ำมหาศาลที่ทะลักท่วมหลายจังหวัดในภาคกลางแม้จะยังไม่คลี่คลาย แต่ก็มีหลายเสียงที่วิพากษ์วิจารณ์ถึงประสิทธิภาพการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ ภายใต้การนำของรัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่เข้าข่ายเป็น “มือใหม่หัดขับ” จนวิกฤติบานปลายกว่าที่ควรจะเป็น
ขณะที่อีกหลายเสียงเริ่มวิตกถึงขั้นตอนการฟื้นฟูเยียวยาภายหลังน้ำลด ซึ่งจะมีปัญหาติดตามมาอีกมากมาย...
ปีที่แล้วในห้วงเวลาใกล้เคียงกันนี้ (ปลายเดือน ต.ค.ต่อเนื่องต้นเดือน พ.ย.) หากยังจำกันได้ เกิดพิบัติภัยจากพายุฝนถล่มและคลื่นซัดที่อำเภอริมทะเลของ จ.ปัตตานี โดยเฉพาะที่บ้านดาโต๊ะ บ้านแหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง หลายตำบลของ อ.สายบุรี ข้ามไปยังแหลมนก อ.เมือง และบ้านตันหยงเปาว์ อ.หนองจิก
ความรุนแรงของพายุและทะเลพิโรธ ทำให้บ้านเรือนหลายสิบหลังถูกพัดหายไปจนเหลือแต่ตอ ที่พังบางส่วนก็มีอีกหลายร้อยหลัง ขณะที่เรือยนต์และอวนสำหรับประกอบอาชีพประมงก็พินาศยับเยิน
บทเรียนจากพิบัติภัยที่ปัตตานีเมื่อปีที่แล้ว คือความช่วยเหลือเฉพาะหน้าที่ไม่ทั่วถึง ชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในชุมชนลึกๆ หรือไม่ได้เป็นข่าวจะไม่ได้รับสิ่งของบรรเทาทุกข์ ส่วนบางจุดที่เป็นข่าวโด่งดังก็ได้เยอะจนของบริจาคถูกทิ้งขว้าง ที่สำคัญการเยียวยาในระยะถัดมาค่อนข้างล่าช้า โดยเฉพาะการบูรณะซ่อมแซมบ้าน และการจัดหาเรื่องเครื่องมือเครื่องไม้ประกอบอาชีพ
วันนี้ใกล้จะครบขวบปีอยู่รอมร่อ ปรากฏว่าชาวบ้านหลายคนยังรอความช่วยเหลือ และนี่คือเสียงจากชุมชนชายฝั่งทะเลปัตตานี ซึ่งภาครัฐน่าจะได้รับรู้ เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาซ้ำรอยอีก
ชุมชนราวฉาน-ทะเลาะกันเรื่องของแจก
นางเจ๊ะแย มูซอ วัย 46 ปี ชาวบ้านดาโต๊ะที่บ้านถูกพัดหายไปทั้งหลัง เล่าว่า เพิ่งย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านหลังใหม่ซึ่งรัฐสร้างให้ไม่กี่เดือนมานี้เอง ก่อนหน้านั้นต้องไปอาศัยเพื่อนบ้านอยู่ และแม้จะได้บ้านหลังใหม่แล้ว แต่ปัญหาก็ยังไม่หมดไป เพราะความขัดแย้งในชุมชนยังมีอยู่จากช่วงหลังเกิดเหตุที่รัฐให้ความช่วยเหลือไม่ทั่วถึง โดยเฉพาะพวกสิ่งของบรรเทาทุกข์และถุงยังชีพ บางคนได้รับ บางคนไม่ได้รับ ทำให้ทะเลาะกัน
“บ้านไหนที่ใกล้ชิดกับเจ้าหน้าที่รัฐก็จะได้ของเยอะตลอด ส่วนคนที่ไม่รู้จักใคร ก็ต้องนั่งเศร้าใจเพราะไม่ได้รับของแจก บางคนไม่ยอมเพราะเห็นว่าไม่เท่าเทียมก็ไปโวยวายด่าทอ สำหรับปีนี้เห็นว่าจะมีพายุเข้าอีก ก็เลยรู้สึกกลัวมาก แต่ก็ไม่รู้จะทำอย่างไร ทำได้แค่ระวัง เพราะบ้านเราอยู่ตรงนี้ ก็ต้องรอรับชะตากรรม เมื่อพายุมาเราก็ต้องหนี ทำได้แค่นี้จริงๆ”
นางเจ๊ะแยะ บอกด้วยว่า ช่วงที่เกิดเหตุ ผู้ว่าราชการจังหวัด (นายนิพนธ์ นราพิทักษ์กุล) เคยเข้ามาเยี่ยม และสัญญาว่าเมื่อบ้านสร้างเสร็จจะซื้อเครื่องครัวและที่นอนหมอนมุ้งให้ แต่ปัจจุบันผู้ว่าฯเกษียณอายุราชการไปแล้ว และเงียบหายไปเลย จึงทำใจแล้วว่าคงไม่ได้ ของที่ใช้อยู่ทุกวันนี้เป็นของที่ชาวบ้านบริจาคมา
ขณะที่ นายยะผา อาแว อายุ 70 ปี ชาวบ้านดาโต๊ะที่ถูกคลื่นลมพัดบ้านหายไปทั้งหลังเช่นกัน เล่าว่า สิ่งของบรรเทาทุกข์ที่มาแจกจ่ายให้ที่หมู่บ้านตอนนั้นเยอะมาก กองสูงเท่าบ้าน ถ้าคิดง่ายๆ ต้องได้รับของแจกทุกคน แต่ไม่รู้ทำไมจึงเกิดปัญหามีคนไม่ได้รับของแจก
ไม่ได้เงินเยียวยา-ต้องกู้เงินต่อชีวิต
นางสารา ปอนา ชาว ต.แหลมโพธิ์ อ.ยะหริ่ง จ.ปัตตานี บอกว่า รู้สึกกลัวมากหากต้องเจอกับสภาพเหมือนเมื่อปีที่แล้วอีก เพราะภาพพายุและคลื่นที่ซัดเข้ามาอย่างรุนแรงยังติดตา ฉะนั้นถ้าปีนี้มีพายุมาอีกก็ต้องอพยพไปอยู่ที่มัสยิดใหญ่กลางหมู่บ้านเหมือนเดิม เพราะภาครัฐไม่มีแผนรับมืออะไรเพิ่มเติม ส่วนความช่วยเหลือที่ผ่านมาก็ไม่ได้เป็นไปตามที่ผู้ใหญ่รับปากไว้
“บ้านฉันอยู่ใกล้มัสยิดริมทะเล ถูกพายุพัดพังทั้งหลัง เขาให้งบหลวงมา ชาวบ้านในหมู่บ้านก็ช่วยกันสร้าง ได้หลังนิดเดียว อยู่กัน 5 คน ไม่มีห้องน้ำห้องครัว เป็นบ้านโล่งๆ ฉันต้องไปกู้เงินธนาคารอิสลามมาอีก 60,000 บาทเพื่อทำบ้านให้เสร็จและเป็นทุนทำข้าวเกรียบขายให้มีรายได้เลี้ยงครอบครัว เพราะเครื่องมือทำมาหากินทั้งเรือทั้งอวนเสียหายหมด ยังไม่มีเงินซ่อม และไม่ได้รับเงินเยียวยาอะไรเลย”
“ผ่านมา 1 ปีแล้ว เงินที่ผู้ว่าฯเคยบอกว่าจะให้สำหรับคนที่บ้านพังทั้งหลัง 30,000 บาทก็ยังไม่ได้ ค่าซ่อมเรือ 15,000 บาทที่เขาได้กัน ฉันก็ไม่ได้ ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไมไม่ได้ แต่ป่านนี้คงไม่ได้แล้ว ไม่ได้หวังแล้ว ทำใจทำมาหากินตามที่ทำได้ดีกว่าไปหวังเงินจากรัฐ”
ฝากถึงผู้ประสบภัยภาคกลาง “ทำใจรับสภาพ”
นางสารา บอกอีกว่า ยังดีที่ชาวบ้านที่บ้านพังทั้งหลังได้บ้านใหม่กันทุกคน แต่หลังเล็กใหญ่ไม่เท่ากัน ส่วนใหญ่จะเล็กกว่าเดิม แต่ก็ดีกว่าไม่มีที่อยู่ ส่วนพี่น้องประชาชนที่กำลังประสบภัยน้ำท่วมในภาคกลางตอนนี้ อยากบอกให้มีกำลังใจที่ดีแก่ตัวเองและรับสภาพที่เกิดขึ้นให้ได้
“ขอให้พี่น้องที่ถูกน้ำท่วมอยู่ทำใจรับสภาพ พยายามอยู่ให้ได้และคิดถึงเวลาหลังน้ำลดด้วยว่าจะอยู่อย่างไร เตรียมตัวเตรียมใจรับสภาพที่จะเกิดขึ้นและทำใจยอมรับความเป็นจริง เพื่อดำเนินชีวิตไปต่อ”
อบต.บอกงบน้อย-ยังไม่ได้ช่วยอีกมาก
ด้าน นายมูหะมะ ปูลา นายกองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ดาโต๊ะ กล่าวว่า อบต.มีงบประมาณน้อย จึงทำให้ไม่สามารถดูแลลูกบ้านที่ได้รับผลกระทบจากเหตุวาตภัยเมื่อปีที่แล้วได้ทั้งหมด
“ตอนนี้ที่ช่วยไปแล้วก็มี ที่ยังไม่ได้ช่วยอะไรเลยก็มีอีกเยอะ แต่ชาวบ้านก็อยู่แบบนั้นตามมีตามเกิด บางคนที่รอไม่ไหวหรือรอไม่ได้ก็ซ่อมบ้านกันเอง สร้างเอง สำหรับสถานการณ์ในปีนี้ก็มีการแจ้งเตือนให้ระวังทุกวัน ก็ได้แค่แจ้งเตือนตามหอกระจายเสียงเพื่อบอกข่าวชาวบ้าน และขุดลอกเปิดช่องทางน้ำ ถ้าไม่มีพายุเข้าก็คิดว่าจะรับมือได้ แต่ถ้าพายุเข้าอีกชาวบ้านก็ต้องรับบทหนักอีกตามเคย” นายก อบต.ดาโต๊ะ กล่าว
เป็นเสียงครวญจากปลายด้ามขวานหลังผ่านขวบปีแห่งพิบัติภัย...ได้แต่ภาวนาว่าอย่าเกิดขึ้นซ้ำรอยกับผู้ประสบภัยน้ำท่วมในปีนี้เลย...
--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ :
1 ความสูญเสียจากพิบัติภัยเมื่อปลายปีที่แล้วที่บ้านดาโต๊ะ
2 สิ่งของบริจาคกองเป็นภูเขา แต่ขาดระบบการจัดการที่ดี ทำให้แจกจ่ายไม่ทั่วถึง (ภาพทั้งหมดจากแฟ้มภาพอิศรา)
อ่านประกอบ :
- น้ำท่วมระลอกใหม่...กับบทเรียนช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยบ้านดาโต๊ะ
http://www.isranews.org/south-news/Academic-arena/item/1930-2011-01-07-20-20-06.html
- เสียงสะอื้นหลังคลื่นซัด...ที่บ้านดาโต๊ะ
http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/1728-2010-11-05-14-08-24.html
- นาทีชีวิตของชาวบ้านดาโต๊ะ ความเสียหายของประมงพื้นบ้านปัตตานี และคาราวานน้ำใจสู่ปลายขวาน
http://www.isranews.org/south-news/scoop/item/1729-2010-11-08-03-36-34.html