ชัดๆ ข้อกล่าวหา "นายกอบจ.ภูเก็ต" ก่อนถูก"บิ๊กตู่"ใช้ ม.44 สั่งระงับปฏิบัติหน้าที่
"..ในส่วนของ นายก อบจ. ภูเก็ต จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีรายชื่อปรากฎอยู่ทั้งในกระบวนการตรวจสอบของ สตง. และป.ป.ช. ซึ่งข้อมูลตรงกัน จึงทำให้มีชื่อปรากฎอยู่ในคำสั่ง คสช.ครั้งนี้ด้วย แต่บุคคลที่ปรากฎรายชื่อ ก็มีสิทธิที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตนเองได้ ตามขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบ.."
ปรากฎรายชื่อเป็น 1 ใน 7 นายกองค์การบริหารส่วนจังหวัด ที่ถูกคำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 19 /2558 ให้ระงับการปฏิบัติราชการในองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นที่ดำรงตำแหน่งอยู่เป็นการชั่วคราวโดยไม่ได้รับค่าตอบแทน
สำหรับ "ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์" นายกองค์การบริหารส่วน จ.ภูเก็ต
แต่หลายคนอาจจะยังไม่ทราบว่า อะไรคือเหตุผลชัดๆ ที่ทำให้ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ ต้องถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ครั้งนี้
ล่าสุดสำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ได้รับการยืนยันจาก แหล่งข่าวใน คสช. ว่า เหตุผลที่ทำให้ นายกองค์การบริหารส่วน จ.ภูเก็ต ถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่มาจากการข้อมูลความไม่ชอบมาพากลในการดำเนินงานโครงการจัดซื้อจัดจ้าง ที่เกี่ยวข้องการลงทุนของ อบจ.ภูเก็ตหลายเรื่อง
อาทิ การซื้อโรงพยาบาลเอกชน เก่ามาพัฒนาปรับปรุงใหม่ แล้วประสบปัญหาการขาดทุน , การลงทุนระบบขนส่งสาธารณะ หรือ รถสองแถวสีชมพูที่วิ่งในตัวเมืองภูเก็ต จำนวน 30 กว่าคัน ซึ่งก็มีปัญหาการขาดทุนเช่นกัน
อย่างไรก็ตาม โครงการที่พบว่ามีปัญหาถูกจับตามากที่สุด คือ โครงการปรับปรุงห้องโรงพยาบาลขนาดไม่น้อยกว่า 40 เตียง และปรับปรุงอาคารสถานที่ (เพิ่มเติม) โดยวิธีพิเศษ ซึ่งมีลักษณะเอื้อประโยชน์ให้ผู้รับจ้างได้เข้าทำสัญญาและดำเนินการก่อนทำสัญญาจ้าง
แหล่งข่าวรายนี้ยังระบุด้วยว่า ในขั้นตอนการประกาศรายชื่อข้าราชการ และผู้บริหารองค์กรส่วนปกครองท้องถิ่นในคำสั่ง คสช. มีระบบการพิจารณากลั่นกรองข้อมูล โดยใช้วิธีการนำรายชื่อของบุคคลที่อยู่ระหว่างการตรวจสอบของหน่วยตรวจสอบหลายแห่งมาพิจารณา ทั้งในส่วนของ ป.ป.ท. , ป.ป.ช. และ สตง. หากพบว่ามีข้อมูลหลักฐานประกอบชัดเจน และมีข้อมูลการตรวจสอบตรงกันมากกว่า 2 หน่วยงานขึ้นไป ถึงจะมีการนำเสนอเรื่องให้มีการระงับการปฏิบัติหน้าที่
"ในส่วนของ นายกอบจ. ภูเก็ต จากการตรวจสอบข้อมูลพบว่า มีรายชื่อปรากฎอยู่ทั้งในกระบวนการตรวจสอบของ สตง. และป.ป.ช. ซึ่งข้อมูลตรงกัน จึงทำให้มีชื่อปรากฎอยู่ในคำสั่ง คสช.ครั้งนี้ด้วย แต่บุคคลที่ปรากฎรายชื่อ ก็มีสิทธิที่จะชี้แจงข้อเท็จจริง เพื่อยืนยันความบริสุทธิ์ของตอนเองได้ ตามขั้นตอนกระบวนการตรวจสอบของหน่วยงานตรวจสอบ"
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ในช่วงเดือนกุมภาพันธ์ 2558 ที่ผ่านมา นายไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ เคยให้สัมภาษณ์พิเศษ เนชั่นสุดสัปดาห์ ถึงข้อมูลการดำเนินงานโครงการลงทุนโรงพยาบาล และระบบขนส่ง ในจ.ภูเก็ต ไว้โดยสรุปดังนี้
1. เรื่องซื้อโรงพยาบาล
นายไพบูลย์ ระบุว่า การซื้อโรงพยาบาลของ อบจ.ภูเก็ต เป็นการพัฒนาโครงการต่อ จากนางอัญชลี วานิช เทพบุตร นายก อบจ. คนเก่า และใช้เงินอบจ.ทั้งหมด
"ก่อนอื่นต้องขอบคุณ คุณอัญชลี วานิช เทพบุตร ท่านเป็นนายก อบจ. ผมมาเป็นต่อจากท่าน และท่านซื้อโรงพยาบาลนี้ไว้ เป็นโรงพยาบาลพญาไทซึ่งปิดตัวไป อบจ.ซื้อมา ผมเป็นนายกฯ ก็เอามาพัฒนาต่อ ทำให้เป็นโรงพยาบาลที่รองรับ สปสช.ได้ เมื่อก่อนมีเฉพาะเตียงเดี่ยว เตียงคู่เพราะเป็นโรงพยาบาลเอกชน ไม่ได้รองรับผู้ป่วยตามสิทธิ สปสช. และคนยากจน สปสช.ให้คำแนะนำว่าถ้าจะให้เป็นโรงพยาบาลท้องถิ่น ต้องทำเตียงรวม รองรับพี่น้อง"
2.ความเห็นต่อการตรวจสอบของ สตง.
"นายกฯ ไม่มีอำนาจทุบกำแพง หากไม่ทุบทำห้องรวมไม่ได้ เพื่อให้ทันกำหนดการของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งขึ้นทะเบียนปีละครั้ง ต้องทำให้ทัน นั่นเป็นสาเหตุว่าต้องทำให้เร็วที่สุด พอเห็นว่าต้องทุบกำแพงห้อง ก็ทำ พอ สตง.มาสอบ ผลการสอบบอกว่าไม่มีความเสียหาย แต่ไม่มีอำนาจ แม้กระทั่งการซื้อเครื่องมือก็ไม่มีอำนาจ ต้องขออนุญาตจากกรมการแพทย์ให้ช่วยดูแล"
" เขาบอกรัฐไม่เสียหาย เพียงแต่ผมไม่มีอำนาจในการทุบ (หัวเราะ) อีกเรื่องเช่น สตง.บอกรถโดยสารสาธารณะ (รถสองแถวสีชมพูที่วิ่งในตัวเมืองภูเก็ต จำนวน 30 กว่าคัน) ดูแลพี่น้องประชาชนวันละ 6-7 พันคน นักเรียนนักศึกษานั่งฟรี ประชาชนทั่วไปคนละ 10 บาท ดำเนินการแล้วขาดทุนปีละประมาณ 10 กว่าล้าน สตง.บอกขอให้หยุดให้บริการ ส่งเรื่องมาจังหวัด จังหวัดก็บอกให้หยุด ผมชี้แจงว่าหยุดไม่ได้เพราะเป็นการบริการประชาชน กรุงเทพฯ ยังมีรถเมล์ฟรี ผมก็ไม่หยุด และว่าจะดำเนินการหาป้ายโฆษณามาติดข้างรถ และขึ้นราคาจาก 10 บาทเป็น 15 บาท เพื่อลดการขาดทุน ตอนนี้ผมก็ดำเนินการมาเรื่อยๆ นี่เป็นสองเรื่องที่ทักท้วงมา ก็พยายามทำ สร้างความโปร่งใส คิดว่าเดือนหน้าถ้าจำเป็นต้องขึ้นเป็น 15 บาท ก็ทำ เพื่อไม่ต้องหยุดให้บริการ เราปรับปรุงเพื่อให้อยู่ได้ตามกฎหมาย ขาดทุนน้อยหน่อย"
3. เรื่องการขาดทุนของโรงพยาบาล
"ปีนี้ตั้งเป้าว่างบรายได้ของที่นี่ 200 กว่าล้านบาท แต่ใช้งบ 300 กว่าล้านบาทในการบริหารจัดการ ฉะนั้น ขาดทุนปี 2557 เป็นเงินร้อยกว่าล้าน แต่นั่นไม่ใช่ปัญหาว่าเรารองรับไม่ได้ เนื่องจากเรามีงบฯ จากค่าธรรมเนียมโรงแรมปีละร้อยกว่าล้าน มีภาษีมูลค่าเพิ่ม ล้อเลื่อนบุหรี่ และรายรับจากเงินอุดหนุน (จากรัฐบาล) ปีละพันกว่าล้าน รวมแล้ว อบจ.มีรายได้ทั้งหมดปีละ 1,400 ล้านบาทสามารถเกลี่ยรายได้จากส่วนอื่นมาโปะครับ เรามีงบต้องใช้ด้านการศึกษา 300 กว่าล้าน นั่นคือที่มาว่าเราพร้อมจะขยายโรงพยาบาลแห่งนี้ไปอำเภอถลาง อาจมีหน่วยบริการทางการแพทย์ที่อำเภอถลาง"
"เราสามารถรองรับการขาดทุนได้ เนื่องจากเราเก็บค่าบริการถูก ค่าบริการแค่ 1 ใน 3 ของโรงพยาบาลเอกชน เราคิดอัตราเดียวกับโรงพยาบาลรัฐบาล เราให้บริการเหมือนโรงพยาบาลเอกชน ในราคาไม่แพง สถานที่สะดวกสบาย มีทีมงานแพทย์เฉพาะทางมีความพร้อม นี่คือสาเหตุว่าทำไมคนมาใช้บริการที่นี่เยอะ เรามีแพทย์เฉพาะทาง โรงพยาบาลอื่นก็มี แต่รอคิวผ่าตัดนาน ของเรามีแพทย์เฉพาะทางด้านนัยน์ตา กระดูก หัวใจ ที่จะมาดูแล ตอนนี้เรามีชื่อเสียงมาก มีคนมารับบริการเยอะ คนไข้ใช้สิทธิประกันสังคม สปสช.และสิทธิข้าราชการได้ นอกนั้นเป็นคนไข้วอล์คอิน ต้องจ่ายเงิน"
ในบทสัมภาษณ์ชิ้นนี้ ยังระบุถึงข้อมูลเกี่ยวกับ "โรงพยาบาลองค์การบริหารส่วนจังหวัดภูเก็ต" ว่าเน้นการบริการแบบเอกชน คิดค่าบริการเท่าภาครัฐ เจ้าของคือ องค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ภูเก็ต สังกัดกรมส่งเสริมการปกครองส่วนท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย
เป็นโรงพยาบาล อบจ.แห่งแรกและแห่งเดียวในประเทศไทย ใช้งบการดำเนินงานจาก อบจ. โดยจ้างแพทย์และบุคลากรจาก บริษัท โรงพยาบาลธนบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ รพ.ธนบุรี
โรงพยาบาลแห่งนี้มีขนาด 129 เตียง เปิดให้บริการผู้ป่วยนอก 31 พฤษภาคม 2554 มีคนไข้สิทธิหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในเขตรับผิดชอบ พื้นที่หมู่ 4 และหมู่ 7 ต.รัษฎา อ.เมือง จ.ภูเก็ต ณ กันยายน 2557 จำนวน 11,273 คน เข้าร่วมโครงการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2554 ถึงปัจจุบัน และผู้ที่ปลุกปั้นให้โรงพยาบาลดำเนินการมาได้ถึงทุกวันนี้คือ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ นายก อบจ.ภูเก็ต (สมัยที่สอง)
ไพบูลย์ จบการศึกษาจากคณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และปริญญาโทด้านบริหารธุรกิจ จากสหรัฐอเมริกา และทำธุรกิจของครอบครัวอุปัติศฤงค์ ซึ่งเป็นตระกูลเก่าแก่ของภูเก็ต ปี 2529 เข้าสู่วงการพัฒนาที่ดิน เป็นนักพัฒนาที่ดินที่โด่งที่สุดคนหนึ่งของจังหวัด รวมทั้งเป็นอดีตประธานหอการค้าจังหวัดภูเก็ต
เข้าสู่สนามการเมืองโดยลงสมัครเป็น ส.ว.ภูเก็ต ปี 2543 รับเลือกตั้งสองสมัย เข้าสู่การเมืองท้องถิ่นเข้ารับเลือกตั้งในตำแหน่ง นายก อบจ. แข่งกับ อัญชลี วานิช เทพบุตร และอาคารโรงพยาบาลหลังนี้ อัญชลีได้ซื้อไว้ และบอกประชาชนว่าจะสร้างโรงพยาบาล
เมื่อชนะการเลือกตั้งในปี 2551 ไพบูลย์จึงก่อตั้งโรงพยาบาลแห่งนี้ขึ้นมา และนั่นเป็นเหตุให้เขาถูกตรวจสอบจากหน่วยงานภาครัฐ เพราะ 'ทุบกำแพงห้อง' เพื่อปรับจากห้องเดี่ยว เป็นห้องผู้ป่วยรวม
(อ่านคำสัมภาษณ์ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ ฉบับเต็มได้ ที่นี่ )
ทั้งหมดนี่ คือ ข้อมูลเบื้องหน้าเบื้องหลังที่ทำให้ ชื่อ ของ ไพบูลย์ อุปัติศฤงค์ ปรากฎอยู่ในคำสั่งคสช.ฉบับล่าสุด และเป็นผลทำให้ต้องถูกสั่งระงับการปฏิบัติหน้าที่ชั่วคราวอยู่ในขณะนี้
จนกว่านายกรัฐมนตรีหรือคณะรัฐมนตรีแล้วแต่กรณี อาจมีคำสั่งหรือมติเปลี่ยนแปลงคำสั่งเป็นอย่างอื่น