จับตายุทธการ เชือด "ไก่"ให้ "ลิง"ดู! หลังรบ.บิ๊กตู่ ถูกท้าทายฝีมือแก้ "ภัยแล้ง"
"..ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม สิ่งสำคัญที่ "รัฐบาล" ต้องตระหนักให้ดี คือ การแก้ไขปัญหาประเทศ ไม่ใช่ของง่าย เพียงแค่ประกาศนโยบาย สั่งการ อนุมัติงบประมาณลงไปแล้วก็จบกัน "การติดตามงาน" ที่สั่งการหรือออกนโยบายไป ว่ามีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ผู้บริหารมืออาชีพควรพึ่งกระทำ.."
ดูเหมือนว่า "ปัญหาภัยแล้ง" กำลังเป็นประเด็นใหม่ ที่ถูก "สื่อ" หลายสำนัก "ชู" ขึ้นมาเป็นประเด็นท้าทายความสามารถในการบริหารของ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทรโอชา นายกรัฐมนตรี และ หัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในห้วงเวลานี้
และดูเหมือนว่า "พล.อ.ประยุทธ์" ก็รู้ตัวดี ว่ากำลังจะเผชิญหน้ากับปัญหาอะไรที่จะตามมา และต้องรีบดำเนินการอะไรบ้าง หากปล่อยให้ปัญหานี้ ลุกลาม บานปลายใหญ่โต
โดยเฉพาะความรู้สึกนึกคิดของเกษตรกรระดับรากหญ้า ที่กำลังประสบปัญหาขาดแคลนน้ำสำหรับเพาะปลูกพืชผลทางการเกษตรอย่างมาก
เห็นได้ชัดเจนจาก ผลการประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ หรือ ครม.เศรษฐกิจ เพื่อหาแนวทางแก้ปัญหาภัยแล้งและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกรที่ได้รับความเดือดร้อน เมื่อวันที่ 24 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ซึ่งมีการอนุมัติวงเงิน 84 ล้านบาท ให้กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติฯ ขุดบ่อบาดาลใหม่ 500 บ่อ และจัดซื้อเครื่องปั๊มน้ำ 80 เครื่องเพื่อช่วยเหลือภาคการเกษตรที่ประสบปัญหาภัยแล้ง
ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ออกมายืนยันเสียงแข็งว่า "วันนี้ปัญหาเรื่องน้ำมีทั้งโลก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ประเมินแล้วว่า ภัยแล้งจะมีไปถึงหน้าแล้งปีหน้า เพราะน้ำต้นทุนเรามีน้อย ที่ผ่านมาน้ำท่วมก็ปล่อยน้ำออกไปมาก ปีที่แล้วก็ต้องปล่อยน้ำมาเลี้ยงนาข้าว ฝนไม่ตก ฉะนั้นการจ่ายน้ำในวันนี้จึงมีปัญหา"
และย้ำว่า "ได้สั่งการว่าหากตรงไหนมีการปลูกข้าวจะต้องจ่ายน้ำให้ชาวนาเลี้ยงข้าวได้ รัฐจะได้ไม่ต้องจ่ายเงิน โดยจะต้องไปขุดบ่อ ทั้งบาดาล และประปา รวมถึงบ่อน้ำตื้นให้ด้วย สั่งให้ขุดไปกว่า 1,000 บ่อ เวลานี้ขุดไปแล้วกว่า 200 บ่อ ที่เหลือต้องเร่งด่วนขุดให้ทัน โดยเฉพาะพื้นที่ที่ปลูกข้าวไปแล้ว เพื่อให้ข้าวไม่ตาย รวมถึงน้ำอุปโภคบริโภค ที่ไม่มีกินมีใช้ ไม่ต้องพูดเรื่องน้ำปลูกข้าว แค่น้ำจะกินยังไม่มีเลย เดือดร้อนทั้งประเทศ ที่มาจากการทำลายป่า ไม่ใช่เฉพาะไทย แต่เป็นทั้งโลก แล้วจะมาเรียกร้องอะไร แต่รัฐบาลจะดูช่วยเรื่องน้ำเร่งด่วนระยะแรก ส่วนระยะที่สองจะต้องดูความเสียหายต่อชาวนาที่ไม่ได้ปลูกข้าวรอบสอง แต่ประชาชนต้องเรียนรู้ ตนเห็นใจไม่ทิ้งอยู่แล้ว"
ส่วนท่าทีของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็น กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม ก็ออกมาเคลื่อนไหว ลุยงานเพื่อแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าที่กันอย่างเต็มที่
เพื่อยืนยันให้สาธารณชนเห็นว่า "รัฐบาลชุดนี้ ไม่นิ่งนอนใจกับความเดือนร้อนของประชาชน"
อย่างไรก็ตาม สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org ตรวจสอบพบข้อมูลที่น่าสนใจว่า รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ เคยมีการหารือเรื่องแผนงานรับมือแก้ไขปัญหาภัยแล้ง มาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2557 แล้ว
โดยในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2557 ได้มีการมอบหมายให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงคมนาคม กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งจัดทำแผนรับมือภัยแล้งที่คาดว่าจะเกิดขึ้น
โดยเฉพาะกระทรวงเกษตรฯ ถูกสั่งการให้พิจารณาเตรียมการในส่วนที่เกี่ยวข้องให้ครบถ้วน เช่น การจัดทำฝนเทียม การขุดลอก คูคลอง หนองบึง แหล่งน้ำธรรมชาติ คลองระบายนัำ การจัดทำพื้นที่แก้มลิงเพื่อกักเก็บน้ำไว้ใช้ การบริหารจัดการน้ำสำหรับอุปโภคบริโภค การโซนนิ่งพื้นที่เกษตรกรรม
พร้อมกำชับให้กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงมหาดไทย และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเร่งดำเนินการประชาสัมพันธ์เกี่ยวกับการดำเนินงานเพื่อแก้ไขปัญหาอุทุกภัย และภัยแล้ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งความจำเป็นในการกักเก็บ การใช้น้ำ การส่งเสริมการเพาะปลูก และการปรับเปลี่ยนพันธุ์พืชให้เหมาะสมกับพื้นที่ด้วย
แต่ปัจจุบันก็ยังมีเกษตรกรปลุกข้าว และขาดน้ำอยู่จำนวนมาก ?
ขณะที่ในช่วงกลางเดือนมีนาคม 2558 คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ที่มี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน ได้เสนอแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง (ระยะ 5 ปี) ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาเห็นชอบอย่างเป็นทางการ
โดยแผนแม่บทฉบับนี้ ประกอบด้วย 4 ยุทธศาสตร์ 19 มาตรการ 49 กิจกรรม ได้แก่ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การเตรียมการป้องกันและลดผลกระทบ ยุทธศาสตร์ที่ 2 การเตรียมพร้อมรับภัย ยุทธศาสตร์ที่ 3 การจัดการในภาวะฉุกเฉิน และยุทธศาสตร์ที่ 4 การจัดการหลังการเกิดภัย เพื่อใช้เป็นกรอบแนวทางในการป้องกันแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการภัยแล้ง
ในการนำเสนอแผนฯ ดังกล่าว มีการระบุข้อมูล ย้ำเตือนว่า สถานการณ์ภัยแล้งและภาวะฝนทิ้งชวงในหลายพื้นที่ของประเทศไทย ปัจจุบัน มีแนวโน้มที่จะเกิดขึ้นเร็ว ยาวนาน และมีความรุนแรงมากกว่าปีที่ผ่านมา จากข้อมูลของกรมอุตุนิยมวิทยาที่รายงานว่าปริมาณน้ำฝนสะสมปี 2557 ต่ำกว่าค่าปกติอย่างมาก เมื่อเทียบกับปี 2556 ประกอบกับกรมชลประทานได้สรุปสถานการณ์น้ำในอ้างเก็บน้ำขนาดใหญ่ และขนาดกลางปี 2557 น้อยกว่าปี 2556 ถึง 5,310 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งเหตุการณ์ดังกล่าวจะส่งผลกระทบต่อประชาชาชนเป็นอย่างมาก
(ดูรายละเอียดแผนแม่บทป้องกันและบรรเทาภัยแล้ง (ระยะ 5 ปี) ได้ ที่นี่ )
ชี้ให้เห็นว่า รัฐบาล เตรียมแผน และสั่งงานแก้ไขปัญหาภัยแล้ง กันมานานแล้ว ไม่ใช่เพิ่งมาทำงานอะไรกันตอนนี้ ทุกหน่วยงาน รู้บทบาทหน้าที่ของตนเองกันดีอยู่แล้วว่า จะต้องทำอะไรบ้าง?
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ เมื่อรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ มีการเตรียมพร้อมวางแผนการดำเนินงานเพื่อรับมือภัยแล้ง ไว้ครบถ้วน ทุกรูปแบบแล้ว
ทำไมปัญหาภัยแล้ง ยังกลายเป็นปัญหาใหญ่ขึ้นมาได้อีก?
ขณะที่ ภาพรวมการแก้ไขปัญหาภัยแล้ง ของหน่วยงานต่างๆ ในปัจจุบัน ก็ดูเหมือนจะไร้ทิศทาง ไม่มีแผนงานอะไรที่ชัดเจน งานสำคัญหลายส่วนเพิ่งมาเริ่มทำ หรือทำไปแล้วไม่เกิดผล ต้องสั่งรื้อสั่งเพิ่มกันใหม่อีก
และที่ต้องจับตามองก็คือ การบริหารงานของบาง "กระทรวง" ที่ปรากฎชื่อ "นักการเมืองกลุ่มอำนาจเก่า" เข้ามาช่วยผสมโรง กับข้าราชการในกระทรวง ช่วยขยายข่าวสร้างประเด็นเรื่องนี้มีความรุนแรงมากขึ้น โดยเฉพาะปัญหาความผิดพลาดในการบริหารงานของรัฐบาลมากขึ้น
คล้ายกับเป็นการวางแผนไว้ล่วงหน้า ที่อยู่แล้ว รู้ว่าจะต้องเดินเกมอย่างไร "สื่อ" ฉบับไหนบ้าง ที่จะรับลูกข้อมูลไปขยายผลต่อ
ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นสิ่งสำคัญที่ไม่ควรมองข้ามเด็ดขาด เพราะต้องไม่ลืมว่า มีรัฐบาลหลายชุดในอดีต ที่ถูกโจมตีการบริหารงานเรื่องความผิดพลาดบกพร่องในการแก้ไขปัญหาภัยธรรมชาติ จนเกือบไปไม่รอด
แต่ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้นก็ตาม สิ่งสำคัญที่ "รัฐบาล" ต้องตระหนักให้ดี คือ การแก้ไขปัญหาประเทศ ไม่ใช่ของง่าย เพียงแค่ประกาศนโยบาย สั่งการ อนุมัติงบประมาณลงไปแล้วก็จบกัน
"การติดตามงาน" ที่สั่งการหรือออกนโยบายไป ว่ามีความคืบหน้ามากน้อยแค่ไหน เป็นสิ่งสำคัญมาก ที่ผู้บริหารมืออาชีพควรพึ่งกระทำ
โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของ "รัฐมนตรี" เจ้ากระทรวงทั้งหลาย ที่ควรต้องเข้าไปคอยตามไล่บี้งานของข้าราชการ ที่ "ใส่เกียร์ว่าง" ทำงานเช้าชามเย็นชามกันมานาน
และจนถึงขณะนี้ ก็ยังไม่รู้ว่า งบประมาณที่ให้ไปใช้แก้ไขปัญหามีปัญหารั่วไหลเกิดขึ้นบ้างหรือเปล่า?
ด้วย "เหตุ" และ "ผล" แบบนี้ จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่ขณะนี้เริ่มมีกระแสข่าวหลุดรอดออกมาว่า ให้จับตาดูให้ดี ในเร็วๆ นี้ สังคมไทยอาจจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงโยกย้ายงานของข้าราชการครั้งใหญ่กันอีกครั้ง เพื่อสาธิตการเชือด "ไก่" ให้ "ลิง" ดู อีกครั้ง
แต่คงจะจำกัดวงอยู่แค่กลุ่ม "ข้าราชการ" ผู้ปฏิบัติงาน ไม่มีวันไปถึงตัว "รัฐมนตรี" เพื่อไม่ให้กระทบกระเทือนกับภาพลักษณ์รัฐบาลชุดนี้ อย่างแน่นอน !
แม้ว่า "รัฐมนตรี" บางคน ที่ผ่านมา จะแสดงออกซึ่ง "ฝีมือ" และ "ผลงาน" ให้เห็นจนเป็นที่ประจักษ์ ว่าที่ไม่ค่อยจะเหมาะสมกับตำแหน่ง และเงินภาษีประชาชนที่จ่ายตอบแทนให้ไปในแต่ละเดือนก็ตาม?