จับตา "เวทีปฏิรูปภาคอีสาน" ที่อุบลฯคึกคัก โชว์ 7 โมเดล 7 จว. เตรียมยื่น คปร.
เวทีชุมชนปฏิรูปประเทศที่อุบลฯ โชว์โมเดล 10 เครือข่าย 7 จว. 7 ประเด็น เตรียมยื่น คปร. หมอนิรันดร์มองปฏิรูปต้องเริ่มที่ชุมชนสู่นโยบาย ชาวบ้านชี้ต้องทำให้คนจนมีที่ทำกินก่อนจึงแก้ปัญหาอื่นได้ วอนเลิกเหมืองโปแตซ-ศึกษาก่อนสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม-หนุนหมอพื้นบ้าน ยกต้นแบบเครือข่ายข้าวคุณธรรมใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อพัฒนา
เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ชุมชนเกตุแก้วบ้านมั่นคง อ.วารินชำราบ จ.อุบลราชธานี เครือข่ายชุมชนเพื่อการปฏิรูปสังคมและการเมืองจังหวัดอุบลราชธานี (คปสม.อบ.) จัดเวทีนำเสนอประสบการณ์ชุมชนโมเดลปฏิรูปประเทศไทย เพื่อนำเสนอประสบการณ์ความสำเร็จของการทำงานด้านต่างๆ ต่อคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) ที่จะลงพื้นที่เพื่อรับฟังข้อเสนอในวันที่ 26 ก.ย. 53 นี้
หมอนิรันดร์ชี้ “ปฏิรูปประเทศไทย” ต้องเริ่มต้นที่ชุมชน ชงสู่นโยบาย
นายแพทย์นิรันดร์ พิทักษ์วัชระ คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวว่า การปฏิรูปที่แท้จริงไม่ใช่การปรองดองของรัฐบาล การหันหน้าเข้าหากันของนักการเมืองเพื่อรักษาผลประโยชน์สองฝ่าย ต้องเกิดจากการต่อยอดการทำงานต่อสู้ของชาวบ้านมาเป็นระยะเวลานาน เพื่อเรียกร้องสิทธิที่ประชาชนพึงได้รับตามรัฐธรรมนูญ โดยอาศัยหลักการมีส่วนร่วมของประชาชน ที่มิใช่แค่การรับฟังปัญหา แต่เป็นการมีส่วนร่วมในการตัดสินใจ การแก้ไขปัญหา และการตรวจสอบว่ารัฐบาลได้นำเอาสิ่งที่ประชาชนนำเสนอไปปฏิบัติตามหรือไม่ ดังนั้นประชาชนจึงต้องรู้เท่าทันให้มากขึ้น โดยการรวมตัวกันคุยถึงปัญหา แล้วสรุปแนวทางแก้ไข ยกระดับการนำเสนอด้วยการผลักดันสู่นโยบาย
“สังคมไทยผ่านการต่อสู้มาเยอะ สูญเสียเยอะ แต่ยังอยู่ในวังวนของอำนาจ วันนี้ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี ที่ประชาชนได้ลุกขึ้นมาต่อสู้เพื่อสิทธิชุมชนและความถูกต้อง ถือเป็นการเมืองภาคพลเมือง อย่างแท้จริง” นพ.นิรันดร์ กล่าว
ด้านนายศักดิ์สิทธิ์ บุญญะบาล ตัวแทน คปสม.อบ. กล่าวว่าการจัดเวทีครั้งนี้เพื่อนำเสนอโมเดลปฏิรูปประเทศไทยจาก 7 ประเด็น 7 จังหวัด 10 เครือข่ายที่ทำงานสั่งสมประสบการณ์จนตกผลึกเป็นองค์ความรู้ ประกอบด้วยประเด็นความมั่นคงทางอาหาร ที่ดินที่อยู่อาศัย การศึกษาทางเลือก ทรัพยากร/นิเวศน์วัฒนธรรม ภูมิปัญญาหมอแผนไทย สื่อสิทธิชุมชน และศิลปวัฒนธรรม และจะนำเสนอต่อ คปร. ซึ่งมีนายอานันท์ ปันยารชุน เป็นประธาน ผ่านตัวแทนที่จะมาร่วมรับข้อเสนอในวันที่ 26 ก.ย.นี้
เครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน บอกต้องทำให้คนจนมีที่ทำกินก่อน จะแก้ปัญหาอื่นได้
นายไสว มาลัย ผู้ประสานงานเครือข่ายปฏิรูปที่ดินภาคอีสาน(คปท.) กล่าวว่าปัญหาของประเทศไทยปัจจุบันคือเรื่องการกระจุกตัวของที่ดิน 90 % อยู่ในมือคนแค่ 10 % คนจนไม่มีสิทธิ์เข้าถึงทรัพยากร แม้จะใช้วิธีการหรือกลไกต่างๆ เช่น กลไกการตลาด ก็ไม่สามารถกระจายการถือครองที่ดินได้ เพราะคนจนไม่มีเงินซื้อ หากจะปฏิรูปประเทศ อันดับแรกต้องปฏิรูปที่ดินซึ่งจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาทั้งหมด
ด้านนางธนวรรณ พวงผกา เครือข่ายชุมชนเมืองฯ กล่าวว่าการปฏิรูปประทศไทยต้องเริ่มต้นที่ชุมชนนำเสนอขึ้นไปสู่รัฐบาลจัดทำเป็นนโยบายสู่การปฏิบัติ โดยยกประสบการณ์ความสำเร็จจากเครือข่ายชุมชนเมืองอุบลฯที่รวมตัวกันต่อสู้เพื่อสิทธิมานานจนปัจจุบันมีสมาชิก 1,010 ครอบครัว 20 ชุมชน มีเงินออมกว่า 2,290,000 บาท สามารถแก้ไขปัญหาได้หลายประเด็น เช่น ที่ดินที่อยู่อาศัย(โฉนดชุมชน) สวัสดิการชุมชน สิทธิชุมชน การพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงขอเสนอให้รัฐบาลสนับสนุนให้เกิดการพัฒนาตามทุนเดิมของชุมชน หนุนการรวมตัวต่อสู้ การแลกเปลี่ยนเรียนรู้พัฒนาศักยภาพของชาวบ้าน และขยายผลให้ทั่วทุกพื้นที่ในประเทศ จึงจะนำไปสู่การพัฒนาประเทศที่ยั่งยืน นอกจากนี้ยังเสนอว่า การจัดระบบสวัสดิการขั้นพื้นฐานของภาครัฐต้องให้ประชาชนเข้าถึงอย่างเท่าเทียม เช่น ด้านการศึกษา บริการสุขภาพ การปรับปรุงกระบวนการยุติธรรมให้ข้อกฎหมายเอื้อต่อความเป็นธรรม ทั้งนี้ประชาชนทุกคนถือเป็นหุ้นส่วนประเทศต้องมีสิทธิ์ที่จะกำหนดแผนพัฒนา ภาครัฐต้องเชื่อมั่นในพลังของประชาชนที่มีศักยภาพหลากหลายแตกต่างกันว่าสามารถกำหนดอนาคตของประเทศได้
ยโสธรชู “ข้าวคุณธรรม” ทางรอดประเทศ ชาวนาอุบลฯหนุน“ข้าวพื้นบ้าน”
พระอาจารย์สุภัทโธ กล่าวถึงต้นแบบ เครือข่ายข้าวคุณธรรม วัดป่าสวนธรรม อ.ป่าติ้ว จ.ยโสธร ว่าเกิดจากการรวมตัวกันของสมาชิกโดยออมเงินวันละบาทและทำสวัสดิการกองบุญเกื้อหนุน เริ่มต้นจาก 130 คน ปัจจุบันมีสมาชิกกว่า 1,500 คน และใช้วิทยุชุมชนเป็นสื่อกลางนำเสนอข้อมูลจนเกิดกลุ่มเกษตรปลอดสารโดยเฉพาะ “ข้าวคุณธรรม” โดยชาวนาจะเป็นผู้ที่ถือศีล 5 ลดอบายมุข 3 ประการ คืองดสูบบุหรี่ เสพสุรา และเล่นการพนัน มีการปลูกข้าวที่หลากหลายสายพันธุ์ถึง 150 สายพันธุ์ การผลิตข้าวด้วยกระบวนการที่มาตรฐาน รวบรวมข้าวเข้าสู่โรงสีชุมชน ซึ่งชาวนาเป็นผู้ผลิตตลอดกระบวนการจนถึงมือผู้บริโภค ทำให้สามารถแก้ไขปัญหาราคาข้าวตกต่ำได้ ลดการอพยพเข้าไปทำงานใน กทม. ลูกหลานได้รับการถ่ายทอดจนเกิดความรู้สึกรักชุมชน นับเป็นต้นแบบในการดำเนินชีวิตตามหลักเศรษฐกิจพอเพียงอย่างแท้จริง
นายไพบูรณ์ ภาระวงศ์ เครือข่ายพันธุ์ข้าวพื้นเมือง บ้านหนองพรานคาน จ.อุบลราชธานี กล่าวถึงสถานการณ์ที่ชาวบ้านละทิ้งข้าวพันธุ์พื้นเมืองหันไปปลูกข้าวพันธุ์ส่งเสริมทั้งหมด ทำให้ต้นทุนการทำนาสูงขึ้น เกิดปัญหาด้านสุขภาพ เช่นโรคเบาหวาน ความดันมากขึ้น ข้าวพันธุ์พื้นเมืองสายพันธุ์ที่เคยปลูกมาตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายายเริ่มหายไปทั้งๆที่เป็นสายพันธุ์ที่ปลูกง่าย ต้านทานโรคได้ดี ทำให้ชาวบ้านบางกลุ่มเห็นความสำคัญรวมตัวกันหันกลับมาทำนาแบบย้อนยุค ใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ผลิตขึ้นเอง ลดต้นทุนทำนา ได้ผลผลิตมากขึ้น ปัจจุบันมีการปลูกข้าวพันธุ์พื้นเมืองประมาณ 100 ครัวเรือน หลากหลายสายพันธุ์มากขึ้น เช่น ข้าวหอมสามกอ ข้าวมะลิแดง ข้าวเหนียวอุบลฯ
ทั้งนี้ทั้งสองเครือข่ายชาวนามีข้อเสนอเชิงนโยบายต่อรัฐบาลผ่าน คปร. คือให้ส่งเสริมชุมชนปราศจากอบายมุข ออกกฎหมายจำกัดเวลาในการขายสุราวันละ 1 ชั่วโมง หนุนการทำเกษตรอินทรีย์แบบผสมผสานกับศีลธรรม สร้างเครือข่ายเมล็ดพันธุ์ชุมชนเพื่อรักษาสายพันธุ์ข้าวไม่ให้ตกอยู่ในมือนายทุน รับรองสิทธิชุมชนในการเป็นเจ้าของเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน และผลักดันให้อุบลฯเป็นจังหวัดนำร่องในการพัฒนาเมล็ดพันธุ์พื้นบ้าน .
ชาวอุดรวอนเลิกเหมืองโปแตซ-คนฮักน้ำของให้รัฐศึกษาก่อนสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม
นางมณี บุญรอด กลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมอุดรธานี กล่าวว่าวิถีความเป็นอยู่ของชาวบ้านในชุมชนเดิมประกอบด้วยประเพณีวัฒนธรรมชุมชน ส่วนใหญ่มีอาชีพทำนา และอยู่แบบเรียบง่ายพอเพียงเพราะมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ แต่ในปัจจุบันมีการทำเหมืองแร่โปแตซในพื้นที่ส่งผลให้ชาวบ้านต้องอยู่อย่างหวาดกลัวไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพยากรที่ดิน เนื่องจากที่ดินลึกจาก 100 เมตรลงไป ตามกฎหมายถือเป็นกรรมสิทธิ์ของภาครัฐที่จะดำเนินโครงการพัฒนาใดๆก็ได้ ขณะที่ชาวบ้านไม่รู้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้อง แต่ก็รวมตัวกันเพื่อต่อสู้เรียกร้องสิทธิชุมชนทุกรูปแบบมากว่า 10 ปีจนเหนื่อยและอ่อนล้า
ทั้งนี้ขอเสนอ คปร.ว่าการดำเนินโครงการพัฒนาใดๆควรจัดทำเป็นแผนยุทธศาสตร์ร่วมกับชุมชน ให้ชาวบ้านมีส่วนร่วมตัดสินใจเพราะเป็นเจ้าของทรัพยากรธรรมชาติในพื้นที่ และควรมีการประเมินผลกระทบด้านสังคม สิ่งแวดล้อม สุขภาพก่อนการดำเนินงานโครงการ หรือถ้าเป็นไปได้อยากให้ยกเลิกโครงการเหมืองแร่โปแตซในอุดรธานี
นายสำรอง มีวงศ์ กลุ่มคนฮักน้ำของ กล่าวว่า ที่ผ่านมาการดำเนินโครงการพัฒนาของภาครัฐขาดการรับรู้และมีส่วนร่วมของชาวบ้าน เช่น โครงการสร้างเขื่อนบ้านกุ่ม ทำให้หวาดกลัวว่าจะส่งผลกระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ การทำมาหากินของชาวบ้านที่มีวิถีชีวิตผูกติดกับทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม อยากเสนอให้รัฐบาลลงพื้นที่ศึกษาวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านก่อนกำหนดนโยบาย นอกจากนี้ยังมีปัญหาเรื่องการไร้สัญชาติของชาวบ้านริมโขงจำนวนมาก อยากให้รัฐบาลใส่ใจแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง
เสนอรัฐยกระดับหมอพื้นบ้าน-ออกใบประกอบโรคศิลป์โดยไม่สอบ
นายเฟือย ดีด้วยมี อาศรมสร่างโศก อ.สว่างวีระวงศ์ จ.อุบลราชธานี และ นายวุธชัย พระจันทร์ ศูนย์สมุนไพรตะบัลไพร จ.สุรินทร์ กล่าวว่าปัจจุบันว่ามีโรคภัยไข้เจ็บใหม่ๆเกิดขึ้นทุกวัน ระบบบริการสุขภาพของภาครัฐไม่ได้สอดคล้องกับความต้องการของชาวบ้าน หมอไม่มีเวลาคุยกับคนไข้ ชาวบ้านต้องกลับมากินยารักษาตัวเองที่บ้าน ส่วนศาสตร์การรักษาของหมอพื้นบ้านจะใกล้ชิดกับชาวบ้าน มีเวลาดูแล พูดคุยให้คำปรึกษากับชาวบ้าน ช่วยลดภาระการให้บริการทางสุขภาพของภาครัฐ
แต่ปัจจุบันกลับพบว่าหมอพื้นบ้านและแพทย์แผนไทยไม่ได้รับการยอมรับคุ้มครองหรือส่งเสริมจากภาครัฐเท่าที่ควร จึงขอเสนอให้มีการอนุญาตใบประกอบโรคศิลป์โดยไม่ต้องสอบ และยกระดับหมอพื้นบ้านให้ได้รับการยอมรับ หน่วยงานราชการ สถาบันการศึกษาควรเข้ามาให้การรับรอง ส่วนในเรื่องฐานทรัพยากรควรมีการปกป้องคุ้มครองพันธุกรรมพืชพรรณเพื่อสร้างความหลากหลายให้ชุมชน .