อดีต BRN ลั่น "กระดูกขาว ดีกว่าตาขาว" แย้มตัวจริงอยู่ในพื้นที่ ไม่ต้องคุย ตปท.
เป็นที่ชัดเจนแล้วว่าการพูดคุยสันติสุขดับไฟใต้ในระดับชาติที่มีตัวแทนรัฐบาลไทย กับตัวแทนกลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ เปิดวงถกกัน โดยมีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวกนั้น เบื้องต้นไม่มี "บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต" เข้าร่วมด้วย
ทั้งๆ ที่ข้อมูลการข่าวของฝ่ายความมั่นคงไทยเชื่อมาตลอดว่า บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต คือกลุ่มที่มีอิทธิพลสูงสุดต่อ "นักรบ" ที่เคลื่อนไหวก่อเหตุรุนแรงรูปแบบต่างๆ อยู่ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
แม้แต่แกนนำ "มารา ปาตานี" (MARA Patani) องค์กรที่ 6 กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐร่วมกันตั้งขึ้นเพื่อเป็นตัวแทนพูดคุยกับรัฐบาลไทย ก็ยอมรับว่าไม่มี บีอาร์เอ็น โคออร์ดิเนต หรือบีอาร์เอ็นฝ่ายทหาร เข้าร่วมด้วยแต่อย่างใด
น่าสนใจว่าบีอาร์เอ็นต้องการอะไร เพราะหากนับปฐมบทความรุนแรงรอบใหม่จากเหตุการณ์ปล้นปืนเมื่อวันที่ 4 มกราคม 2547 จนถึงวันนี้ก็กว่า 11 ปีแล้ว แต่การต่อสู้ยังไม่มีวี่แววว่าจะจบสิ้น การแบ่งแยกดินแดนยังอยู่ห่างไกลจากความเป็นจริง
พวกเขามีแนวคิดอย่างไร มองรากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้เป็นอย่างไร ทางออกอยู่ตรงไหน และเหตุใดไม่เจรจากับรัฐบาลไทย
เหล่านี้หาคำตอบได้จากอดีตสมาชิกบีอาร์เอ็นจากจังหวัดปัตตานี ซึ่งปัจจุบันแม้หันหลังให้กับวงการแล้ว แต่ก็ยังเกาะติดสถานการณ์และรู้ข้อมูลวงในขบวนการไม่น้อยเลยทีเดียว
O สิ่งที่บีอาร์เอ็นต้องการคืออะไร?
เราต้องการให้รัฐให้ความเป็นธรรม โดยเฉพาะการปฏิบัติของเจ้าหน้าที่รัฐ ตลอดจนการพัฒนาต่างๆ เราต้องการให้ชาวมลายูมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น รัฐต้องให้ความสนใจด้านการศึกษา เน้นเรื่องอาชีพ ตำแหน่งงานในพื้นที่ต้องให้สัดส่วนคนพื้นที่ได้ดำรงตำแหน่ง
O เรื่องคดีความมั่นคงถือว่าไม่เป็นธรรมด้วยหรือไม่?
ก็มีทั้งที่เป็นธรรมและไม่เป็นธรรม ที่เป็นธรรมก็คือกรณีที่ฝ่ายขบวนการทำจริงๆ อันนั้นไม่มีปัญหา ส่วนคดีที่ไม่เป็นธรรม ก็คือคดีที่จับแพะ จับคนที่ไม่ได้ทำ แต่รัฐไปจับแบบมั่วๆ
O เหตุการณ์กรือเซะ ตากใบ เป็นสัญลักษณ์ของความไม่เป็นธรรมหรือไม่?
ไม่เป็นธรรมอย่างมาก คิดดูว่าชาวบ้านกี่คนกับเจ้าหน้าที่รัฐเป็นร้อยเป็นพัน อาวุธที่เจ้าหน้าที่ใช้อีก เป็นไปได้ไหมที่เรียกแบบนั้นว่าการต่อสู้
O เหตุรุนแรงรายวันในลักษณะแก้แค้นกันไปมาระหว่างคนต่างศาสนา เช่น เกิดกรณีเจ้าหน้าที่วิสามัญฯ 4 ศพที่ทุ่งยางแดง จังหวัดปัตตานี (เมื่อวันที่ 25 พฤษภาคม) อีกไม่กี่วันก็ไปเกิดเหตุฆ่าหมู่ชาวไทยพุทธ 4 ศพที่อำเภอสุคิริน จังหวัดนราธิวาส (เมื่อวันที่ 12 เมษายน) บีอาร์เอ็นมองปรากฏการณ์เช่นนี้อย่างไร
เหตุการณ์ที่เกิดในพื้นที่มีหลายด้าน อย่ามองเหมารวมว่าเป็นเรื่องขบวนการอย่างเดียว คนอื่นหรือกลุ่มอื่นทำก็มี ไม่อยากให้สื่อมองปัญหาในพื้นที่ว่ามีแต่เจ้าหน้าที่กับขบวนการ เพราะยังมีฝ่ายอื่นอีก เช่น ยาเสพติด อิทธิพล ผลประโยชน์ การเมือง โดยเฉพาะยาเสพติด บางทีก็มีแบ็คเป็นเจ้าหน้าที่ อย่างที่กรงปินัง (อำเภอกรงปินัง จังหวัดยะลา) พ่อค้ายาเสพติดในพื้นที่ก็เป็นสายให้เจ้าหน้าที่ ใครเข้าใครออกก็รายงาน จากนั้นเจ้าหน้าที่ก็เข้าไปตรวจค้นจับกุม ซึ่งล้วนแล้วแต่เป็นศัตรูหรือฝ่ายตรงข้ามพ่อค้ายาเสพติด
อยากบอกว่าเหตุการณ์รุนแรงในพื้นที่นั้น มีเพียง 15% ที่มาจากขบวนการ ที่เหลือเป็นเรื่องอื่น เป็นปัญหาแทรกซ้อน ถ้ารัฐแก้ปัญหาแทรกซ้อนไม่ได้ สถานการณ์ก็จะเป็นอยู่อย่างนี้ และชาวบ้านก็จะไม่เชื่อถือรัฐ เพราะบางเหตุการณ์ชาวบ้านรู้ว่าเป็นเรื่องยาเสพติด แต่รัฐกลับบอกว่าเป็นเรื่องการแบ่งแยก เป็นเรื่องขบวนการ ชาวบ้านก็ยิ่งไม่เชื่อมั่น
O สิ่งที่คนพื้นที่ต้องการจริงๆ คืออะไร?
คนที่นี่ต้องการตามข้อเรียกร้อง 7 ข้อที่ฮัจยีสุหรง โต๊ะมีนา เคยเรียกร้องกับรัฐบาลไทยเอาไว้ ทั้งเรื่องขนบธรรมเนียม ประเพณี ศาสนา วัฒนธรรม เรื่องอาชีพ เรื่องภาษีที่เก็บจากในพื้นที่ต้องแบ่งสอง เป็นข้อเรียกร้องเดิมซึ่งยังไม่เคยได้
O รัฐบอกว่าวันนี้ให้มากกว่า 7 ข้อนั้นนานแล้ว...
ความจริงคือยังไม่ได้ อาจจะมีนโยบายแต่การปฏิบัติจริงมีน้อย
O สรุปได้หรือไม่ว่ารากเหง้าของปัญหาชายแดนใต้คือความไม่เป็นธรรมในมิติต่างๆ?
ถูกต้อง จริงๆ ตอนแรกพี่น้องมลายูไม่ได้ต้องการแบ่งแยก แต่พอเราขอข้อ 1 ไม่ให้ ข้อ 2 ไม่ให้ ข้อ 3 ไม่ให้ แล้วคนขอก็หายตัวบ้าง เสียชีวิตบ้าง ก็เกิดความรู้สึกว่าต้องต่อสู้ เราคิดว่ากระดูกขาว ดีกว่าตาขาว
O หมายความว่าอย่างไร กระดูกขาวดีกว่าตาขาว?
ถ้าตาขาว หมายถึงกลัว ก็จะถูกทรมาน ถูกกระทำ ถ้าอย่างนั้นก็สู้ตายดีกว่า สู้จนเหลือแต่กระดูก ยอมตายเพื่อความเป็นธรรม ฉะนั้นหากรัฐต้องการแก้ปัญหา รัฐต้องให้ความเป็นธรรมในทุกมิติ
ในอดีตคนมลายูทุกข์ทรมาน ฮัจยีสุหรงถูกฆ่าตาย เขาเป็นโต๊ะครูของคนมลายู ลูกของเขาก็อยู่ประเทศไทยไม่ได้ ต้องหนีออกนอกประเทศ สภาพการณ์เหล่านี้ทำให้เกิดบีอาร์เอ็นขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2502 และต่อสู้เรื่อยมา
O บีอาร์เอ็นเข้าร่วมการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้กับรัฐบาลไทยหรือไม่?
เราไม่ร่วม เพราะเราไม่เชื่อว่ารัฐไทยจะทำในสิ่งที่พูด สิ่งที่รัฐบอกจะให้ก็ไม่ได้ให้จริง สิ่งที่พูดว่าจะดูแลคนมลายู แต่ยิ่งนานวันคนมลายูก็ยิ่งตายเยอะขึ้นๆ
O การเจรจาที่กำลังมีขึ้นในระดับชาติกับกลุ่มเคลื่อนไหว 6 กลุ่มซึ่งส่วนใหญ่อยู่นอกประเทศ มีแนวโน้มสำเร็จหรือไม่?
จะไปคุยทำไมกับคนนอกประเทศ เพราะตัวจริงที่สั่งการอยู่ในประเทศ อยู่ในสามจังหวัด เป็นคนธรรมดา ไม่มีหมายจับอะไรเลยด้วยซ้ำ ถ้ารัฐอยากแก้ปัญหาก็ต้องคุยกับคนในพื้นที่
---------------------------------------------------------------------------------------------------------------------
บรรยายภาพ : อดีตสมาชิกบีอาร์เอ็น
หมายเหตุ : ใช้เทคนิคพรางใบหน้าเพื่อเคารพสิทธิของผู้ให้สัมภาษณ์