คปก.ชูโมเดลกำกับจริยธรรมสื่อ หนุนตั้งกม.รองรับ "สภาวิชาชีพ"
คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมายแนะ2กลไกกำกับจริยธรรมสื่อ ชงตั้ง"สภาวิชาชีพกลาง" ทำหน้าที่ตรวจสอบรายงานประสิทธิภาพการกำกับดูแลกันเองขององค์กรสื่อให้สาธารณะชนทราบ
เมื่อเร็วๆนี้ คณะกรรมการปฏิรูปกฎหมาย(คปก.) โดย ศ.ดร.คณิต ณ นคร ประธานกรรมการปฏิรูปกฎหมาย จัดทำบันทึกความเห็นและข้อเสนอแนะเรื่อง การส่งเสริมและการกำกับดูแลจริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อสารมวลชน เสนอต่อนายกรัฐมนตรี ประธานสภานิติบัญญัติแห่งชาติและประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ
โดยมีความเห็นว่า จริยธรรมแห่งวิชาชีพสื่อมวลชนเป็นเรื่องสำคัญที่ต้องมีการส่งเสริมและกำกับ ดูแล ซึ่งในปัจจุบันยังไม่มีองค์กรใดที่จัดทำแนวทางให้ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชน ได้รับการส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิเสรีภาพไปพร้อมๆ กับการสร้างกลไกกำกับดูแลด้านจริยธรรมเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคได้อย่างมี ประสิทธิภาพ
กลไกการกำกับดูแลชั้นที่ 1 ระดับองค์กรสื่อที่ผู้ประกอบวิชาชีพสื่อสังกัดอยู่นั้น มีหน้าที่ในการสร้างกลไกการกำกับดูแลกันเองภายในองค์กร (Ombudsman) รวมถึงจะต้องจัดทำมาตรฐานจริยธรรมเพื่อใช้เป็นหลักการและแนวปฏิบัติของ องค์กรและกระบวนการพิจารณาเรื่องร้องเรียนของผู้บริโภคสื่อ
กำกับ ดูแลชั้นที่ 2 ในระดับสภาวิชาชีพ คปก.เสนอให้มีกฎหมายเพื่อรับรองการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพสื่อมวลชน” ทำหน้าที่เป็นหน่วยงานกลางในการกำกับดูแลผู้ประกอบวิชาชีพสื่อมวลชนให้อยู่ภายใต้มรรยาทและมาตรฐานเดียวกัน และจะต้องกำหนดให้สภาวิชาชีพดังกล่าวไม่อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของฝ่ายปกครอง เพื่อป้องกันการแทรกแซงจากกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ซึ่งการกำกับดูแล “องค์กรสื่อ” ของสภาวิชาชีพจะต้องมีกระบวนการที่กำหนดให้องค์กรสื่อที่เป็นสมาชิกของสภาวิชาชีพสร้างกลไกและกระบวนการกำกับดูแลกันเองภายในองค์กร
ทั้งนี้ คปก.เห็นควรให้มีการจัดตั้ง “สภาวิชาชีพกลาง” ขึ้นเพื่อทำหน้าที่ดูแลสภาวิชาชีพที่ร่วมจดแจ้งทั้งหมดและองค์กรสื่อที่ไม่ประสงค์จะเข้าร่วมเป็นสมาชิกสภาวิชาชีพใดๆ และทำหน้าที่ในการทบทวนตรวจสอบและกำกับดูแลสื่อที่ไม่เป็นสมาชิกองค์กรสื่อใดๆ นอกจากนี้ สภาวิชาชีพกลางจะต้องทำหน้าที่ตรวจสอบการปฏิบัติหน้าที่และรายงาน ประสิทธิภาพขององค์กรกำกับดูแลกันเองทุกระดับให้สาธารณชนทราบ เช่น การกำหนดมาตรฐานวิชาชีพขั้นต่ำ การรายงานผลประกอบการขององค์กรสื่อต่อสาธารณะ การพัฒนาการรู้เท่าทันสื่อของภาคพลเมือง เป็นต้น
สำหรับกรณีที่องค์กรสื่อฝ่าฝืนข้อกำหนดด้านจริยธรรมหรือฝ่าฝืนไม่ปฏิบัติตามเงื่อนไข และกระบวนการในการกำกับดูแลกันเองของสภาวิชาชีพนั้น จะต้องมีมาตรการลงโทษที่ชัดเจน ซึ่งจะมีผลต่อ “องค์กรสื่อ” หากเป็นสื่อประเภทวิทยุโทรทัศน์ อาจนำกรณีการฝ่าฝืนมาเป็นประวัติในการพิจารณาให้หรือต่ออายุใบอนุญาต
"และในกรณีที่มีพฤติการณ์กระทำความผิดซ้ำหลายครั้งอาจนำไปสู่การเพิ่มโทษปรับทางปกครองให้สูงขึ้นตามไปด้วย รวมทั้งให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการกำกับดูแลสื่อมวลชนในรูปแบบ “องค์กรคุ้มครองผู้บริโภคสื่อ” เพื่อการมีส่วนร่วมในการตรวจสอบ"