ถึงคิว รีโนเวท 'ส้วม' สถานีรถไฟ เริ่ม 12 เมืองต้องห้าม...พลาด
ก.คมนาคม-สาธารณสุข-การท่องเที่ยวฯ ขับเคลื่อนโครงการ ‘ส้วมรถไฟสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว’ หวังสร้างภาพลักษณ์ประเทศ เดินหน้ายกเลิกเก็บค่าบริการ ด้านผู้โดยสารรับไม่ได้ รถไฟสกปรก เเต่ไม่หวังดีเท่าชินคันเซ็น
ปี 2558 รัฐบาลประกาศนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยววิถีไทย และเน้นย้ำให้พัฒนาห้องส้วมสาธารณะในสถานที่ท่องเที่ยวตามมาตรฐานสากล เพื่อสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของประเทศและสุขอนามัยแก่ผู้ใช้บริการ โดยเฉพาะสถานีรถไฟ ซึ่งนับเป็นหมุดหมายสำคัญของการท่องเที่ยว
ปัจจุบันไทยมีสถานีรถไฟ 443 สถานี ทั่วประเทศ แบ่งเป็นห้องส้วมชาย 827 ห้อง และห้องส้วมหญิง 670 ห้อง ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS (Health Accessibility, Safety) ของกรมอนามัย และ WC OK (Water Closet) ของกรมการท่องเที่ยว 251 สถานี คิดเป็น 57% ของสถานีทั้งหมด
โดยหนึ่งในนั้นตั้งอยู่ในโครงการ 12 เมืองต้องห้าม...พลาด ประกอบด้วย สถานีชุมพร, ตรัง, นครศรีธรรมราช, บุรีรัมย์, ราชบุรี, ลำปาง และสมุทรสงคราม 77 สถานี ผ่านเกณฑ์มาตรฐาน HAS และ WC OK 52 สถานี คิดเป็น 67.53% ของสถานีทั้งหมด
กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงคมนาคม และกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา จึงขานรับนโยบายขับเคลื่อนโครงการ ‘ส้วมรถไฟสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว’ โดยตั้งเป้าพัฒนาให้ได้มาตรฐาน 100% อีก 1 ปีข้างหน้า และจัดประกวดสุดยอดส้วมรถไฟต้นแบบในอนาคต
ศ.นพ.รัชตะ รัชตะนาวิน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (รมว.สธ.) ระบุว่า กระทรวงสาธารณสุขดำเนินนโยบายส้วมสาธารณะถูกสุขลักษณะตั้งแต่ปี 2548 ไม่ว่าจะเป็น สนามบิน สถานีบริการน้ำมัน ศูนย์การค้า วัด โรงเรียน และสถานีรถไฟ โดยใช้เกณฑ์มาตรฐาน HAS สะอาด เพียงพอ และปลอดภัย
Health (สะอาด) หมายถึง ส้วมต้องได้รับการดำเนินการถูกหลักสุขาภิบาล เช่น มีอ่างล้างมือ กระดาษชำระ สบู่ล้างมือ พื้นแห้ง เป็นต้น
Accessibility (เพียงพอ) หมายถึง ต้องมีส้วมเพียงพอแก่ความต้องการของผู้ใช้บริการทั่วไปและผู้ใช้บริการที่เป็นผู้พิการและด้อยโอกาส
Safety (ปลอดภัย) หมายถึง ผู้ใช้บริการต้องได้รับความปลอดภัย เช่น กลอนประตูแน่นหนา แยกสัดส่วนหญิงชาย มีแสงสว่างเพียงพอ เป็นต้น
รมว.สธ. บอกอีกว่า การเริ่มต้นโครงการกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (ร.ฟ.ท.) ทำให้ส้วมสถานีรถไฟสะอาด ได้มาตรฐานนั้น จะช่วยให้เกิดประโยชน์กับประชาชนทั่วไป ตลอดจนนักท่องเที่ยวทั้งในและต่างประเทศ อีกทั้ง ยังช่วยส่งเสริมให้การเดินทางสะอาดและปลอดภัย และถึงแม้จะมีส้วมที่ดีแล้ว ประชาชนก็ควรรักษาความสะอาดและดูแลสมบัติสาธารณะด้วย
“พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ปรารถหลายครั้งถึงการพัฒนาให้ห้องส้วมสะอาด เพื่อคนทั่วไปทุกระดับชั้นจะได้เข้าถึงเท่าเทียมกัน” ศ.นพ.รัชตะ กล่าว
ด้าน พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม (รมว.คมนาคม) เปิดเผยว่า ภาครัฐและเอกชนมีความปรารถนาให้รถไฟเป็นแกนหลักที่ใช้ในการเดินทางท่องเที่ยวจะต้องมีห้องส้วมที่ดี จึงต้องช่วยกันทำให้สะอาด โดยอาศัยการมีส่วนร่วมของประชาชน ทั้งนี้ หากพบจุดบกพร่องสามารถร้องเรียนหรือติชมผ่านช่องทางต่าง ๆ เพื่อนำไปสู่การแก้ไขต่อไป
“ในอนาคตจะเชิญกระทรวงมหาดไทยและกระทรวงศึกษาธิการเข้ามาร่วมมือด้วย เพราะต้องการปลูกจิตสำนึกแก่เด็กและเยาวชน รวมถึงประชาชน ทั้งผู้ให้บริการและผู้ใช้บริการ ปฏิบัติตามมาตรฐานสากลอย่างถูกสุขลักษณะ”
ห้องส้วมขบวนรถไฟธรรมดา กรุงเทพฯ -หัวหิน
นอกจากนี้ห้องน้ำสถานีรถไฟแล้ว การรถไฟฯ จะเร่งรัดพัฒนาและปรับปรุงห้องน้ำบนขบวนรถไฟ โดยเฉพาะชั้น 3 ให้สะอาด โดยกำหนดเป้าหมาย 200 ตู้/ปี อย่างไรก็ตาม รมว.คมนาคม ยอมรับว่ารถไฟรุ่นเก่าที่ใช้ในปัจจุบันอาจปรับปรุงให้ได้มาตรฐานสากลยาก แต่รับปากจะเร่งดำเนินการให้สมบูรณ์เร็วที่สุด
พล.อ.อ.ประจิน ยังกล่าวถึงการเก็บค่าบริการห้องส้วมคนละ 3 บาท ว่า เป็นต้นทุนบริหารจัดการ 2 บาท โดยแต่ละวันจะมีผู้ใช้บริการห้องส้วมราว 1 แสนคน อย่างไรก็ตาม ภายในปี 2559 จะเปิดให้บริการห้องส้วมฟรีในสถานีรถไฟที่หมดสัญญากับภาคเอกชนผู้ประมูล
ขณะที่ กอบกาญจน์ วัฒนวรางกูร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา (รมว.การท่องเที่ยวฯ) บอกว่า รัฐบาลประกาศให้เป็นปีท่องเที่ยววิถีไทยส่งผลให้การท่องเที่ยวขยายตัวอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะพื้นที่ 12 เมือง ต้องห้าม...พลาด ซึ่งในไตรมาสแรกของปี 2558 (ม.ค.-มี.ค.) มีอัตราการขยายตัวของจำนวนนักท่องเที่ยว 8.49% ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวฯ ได้พยายามเต็มที่ในการปรับปรุงและพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวต่าง ๆ ให้สะอาด สวยงาม และเพียบพร้อมไปด้วยสิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ อีกสิ่งหนึ่งไม่ควรมองข้าม คือ ห้องส้วมสาธารณะสะอาดได้มาตรฐานสากล
“ขณะนี้มีหน่วยงานต่าง ๆ ร่วมเป็นเครือข่ายขับเคลื่อนโครงการ รณรงค์ส้วมสาธารณะเพื่อการท่องเที่ยว 31,726 แห่ง จากความร่วมมือดังกล่าวทำให้ปัจจุบันมีห้องน้ำเข้าร่วมโครงการแล้ว 188,793 ห้อง ได้มาตรฐาน HAS และ WC OK แล้ว 90,192 ห้อง” รมว.ท่องเที่ยวฯ ระบุ และว่า ส้วมที่ดีจะช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยว กระจายรายได้จากจังหวัดหลักสู่จังหวัดรอง หากได้รับการบริหารจัดการได้มาตรฐาน พร้อมกันนี้ ปี 2559 จะมีการพัฒนาในสถานีนครลำปาง จ.ลำปาง และสถานีกันตัง จ.ตรังเป็นแหล่งท่องเที่ยวด้วย
ผู้ใช้บริการโอด ‘ส้วมรถไฟ’ สกปรก ไม่เพียงพอ
‘วรรณดี ยาวไทย’ ชาว จ.สุราษฎร์ธานี เลือกสัญจรโดยรถไฟเป็นประจำ เพราะให้ความสะดวกสบาย และราคาถูก เธอบอกว่า ส้วมสถานีรถไฟขนาดใหญ่มักสกปรกกว่าสถานีรถไฟขนาดเล็ก เพราะคนใช้บริการจำนวนมากและคิดว่ามีแม่บ้านประจำคอยดูแล จึงไม่ช่วยกันรักษาความสะอาด
ส่วนบนขบวนรถไฟ วรรณดี พูดด้วยน้ำเสียงจริงจังว่า ยิ่งไม่สะอาด และมีจำนวนไม่เพียงพอ การรถไฟฯ จึงควรเร่งปรับปรุง
เธอยังเสนอแนะว่า บนขบวนรถไฟควรแยกห้องส้วมชายหญิงชัดเจนเหมือนสถานีรถไฟ มิเช่นนั้นผู้หญิงและเด็กเล็กจะใช้บริการลำบาก เนื่องจากมีผู้ชายยืนอยู่บริเวณหน้าห้องส้วม บางครั้งกลอนประตูปิดไม่แน่น ทำให้ประตูเลื่อนออก อาจก่อให้เกิดอันตรายได้ นี่ยังไม่รวมถึงปัญหาอื่น ๆ เช่น น้ำไม่ไหล ไม่มีกระดาษชำระ สายฉีดน้ำชำรุด เป็นต้น
ห้องส้วมสถานีรถไฟสามเสน
สำหรับการเก็บค่าบริการห้องส้วมคนละ 3 บาท วรรณดี มองว่า คนไม่มีเงินก็ไม่มีจริง ๆ โดยเฉพาะคนที่โดยสารรถไฟฟรี บางครั้งเงินเพียงเล็กน้อยก็เก็บไว้ซื้อข้าวซื้อน้ำได้ ฉะนั้นจึงควรยกเลิก และเธอยังบอกอีกว่า ทุกครั้งที่มานั่งรอโดยสารรถไฟที่สถานีหัวลำโพงจะมีผู้คนเข้ามาขอเงินเพื่อเข้าห้องส้วมเสมอ
สอดคล้องกับ ‘วิลาวัลย์ สุขร่วม’ ชาว จ.สุรินทร์ รายนี้ยืนยันหนักแน่นว่า เธอรับไม่ค่อยได้กับความสกปรกของห้องส้วมในสถานีรถไฟทุกแห่ง โดยเฉพาะสถานีหัวลำโพงยิ่งรับไม่ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันได้ปรับปรุงใหม่แล้วก็น่าจะสะอาดขึ้น ซึ่งขอให้ช่วยกันรักษาความสะอาดแบบนี้ต่อไป
ส่วนห้องส้วมบนขบวนรถไฟนั้น เธอประเมินจากสภาพความเก่าก็ยอมรับความทรุดโทรมได้บ้าง เพราะรถไฟไทยไม่ใช่ชินคันเซ็นที่ต้องสวยหรู ที่สำคัญ เคยรับชมรายการหนังพาไป ช่องไทยพีบีเอส ก็พบว่า ห้องส้วมบนขบวนรถไฟประเทศอื่น ๆ ไม่แตกต่างจากไทยมากนัก ทำให้ไม่ค่อยรู้สึกอะไร
แม่บ้านวอนนักเดินทางรักษาความสะอาด
‘โสภา ศรีโสภณ’ เธอเป็นหัวหน้าแม่บ้านทำความสะอาดห้องส้วม สถานีชุมทางตลิ่งชัน มา 2 ปีแล้ว ตั้งแต่เปิดสถานีหลังใหม่ และไม่มีการเก็บค่าบริการตั้งแต่ต้น โดยมีรางวัลดีเด่นสุดยอดส้วมแห่งปี 2557 การันตีความสะอาด
แม่บ้านที่สถานีรถไฟแห่งนี้มีทั้งหมด 8 คน หมุนเวียนกันทำความสะอาด โดยประจำห้องส้วม 2 คน และทุกคนได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท เธอเล่าว่า ความสะอาดห้องส้วมไม่ได้เกิดจากผู้ใช้บริการมีจำนวนน้อยหรือมาก แต่ขึ้นอยู่กับการใส่ใจในความสะอาดอย่างเข้มงวด ไม่ปล่อยปละละเลย ของผู้ใช้บริการและผู้ให้บริการ มิเช่นนั้นจะเป็นที่สะสมของเชื้อโรคได้
“มีบ้างที่ผู้ใช้บริการฉีดน้ำล้างเท้า ล้างมือ ทำให้พื้นห้องส้วมชื้นแฉะ เมื่อเจอปัญหาแบบนี้ก็ต้องคอยทำความสะอาดเรื่อย ๆ” หัวหน้าแม่บ้านฯ กล่าว และเชื่อว่า ห้องส้วมสะอาดจะช่วยเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้ใช้บริการได้
ห้องส้วมสถานีรถไฟชุมทางตลิ่งชัน
ขณะที่ห้องส้วมสถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ 2 ซึ่งเป็นต้นทางของเส้นทางสายใต้ มีหญิงวัยกลางคน ‘สาลี่ วะรามิตร’ เป็นพนักงานเก็บเงินค่าบริการอยู่ เธอกล่าวว่า นั่งเก็บเงินสถานีแห่งนี้มาหลายปีแล้ว ได้รับค่าแรงวันละ 300 บาท โดยผู้ใช้บริการต้องเสียเงินคนละ 3 บาท ก่อนจะเดินผ่านระบบเซ็นเซอร์ที่ติดอยู่ตรงขอบประตู เพื่อนับจำนวนสถิติผู้ใช้บริการ
“ช่วงเช้าและเย็นจะมีคนเข้ามาใช้บริการเยอะ ทำให้เราต้องเน้นทำความสะอาดช่วงเวลานั้นมากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ค่อยสกปรกมากนัก ยกเว้นเวลามีคนเมาเข้ามาใช้บริการ ทั้งนี้ ก็ได้ตักเตือนไปบ้าง บางคนเชื่อ บางคนไม่เชื่อ ขึ้นอยู่กับนิสัยของแต่ละคน”
พนักงานเก็บเงินรายนี้ยังระบุด้วยว่า ห้องส้วมที่สถานีรถไฟชุมทางบางซื่อ 2 คงทำให้สะอาดเหมือนสถานีรถไฟใหม่ไม่ได้ เพราะสุขภัณฑ์ต่าง ๆ ชำรุดทรุดโทรมมากแล้ว เราจึงทำได้ตามความสามารถ ซึ่งเจ้าหน้าที่ประจำสถานีได้เข้ามาตรวจตราดูแลอย่างต่อเนื่อง
ก่อนเน้นย้ำว่า สิ่งที่สำคัญที่สุด คือ ผู้ใช้บริการต้องมีวินัยในการรักษาความสะอาด
ปิดท้ายห้องส้วมสถานีหัวลำโพงที่เพิ่งเปิดใช้บริการใหม่เรียกว่าไฉไลกว่าเดิม ซึ่งจากการสอบถามพนักงานเก็บเงินและแม่บ้านที่นี่ได้รับคำตอบว่า ผู้ใช้บริการต้องเสียเงินคนละ 3 บาท และจะมอบใบเสร็จรับเงินเป็นหลักฐานการชำระ โดยแม่บ้านจะทำความสะอาดตลอดทั้งวันเหมือนศูนย์การค้า และพบว่า ตั้งแต่มีการพัฒนาสุขภัณฑ์ใหม่ ผู้ใช้บริการหลายคนมีระเบียบวินัยมากขึ้น เลิกเหยียบชักโครกหรือฉีดน้ำลงบนพื้นเหมือนเมื่อก่อน
ห้องส้วมสถานีรถไฟกรุงเทพฯ (หัวลำโพง)
การขับเคลื่อนโครงการ 'ส้วมรถไฟสะอาดเพื่อการท่องเที่ยว' จึงนับเป็นนโยบายที่ตอบโจทย์ความต้องการของนักท่องเที่ยวชาวไทยและต่างชาติ ส่งเสริมภาพลักษณ์ เเละยกระดับมาตรฐานการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน .