ความเห็นกฤษฎีกาฉบับเต็ม! กรณี"แอลโอรส"เตะบอลทำกระจกเรือนจำแตก!
"...ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้ลักลอบดัดแปลงลูกฟุตบอลพลาสติกให้ผิดไปจากที่มีจำหน่ายในร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง โดยทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แล้วนำมาใช้เล่นกีฬาในวันที่ 22 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 10.30 นาฬิกา ซึ่งในขณะที่ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ กำลังเล่นฟุตบอลอยู่ที่บริเวณกลางสนามด้านหน้าของสถานพยาบาลเรือนจำ ได้เตะลูกฟุตบอลดังกล่าวโดยปราศจากความระมัดระวัง จนเป็นเหตุให้ลูกฟุตบอลพุ่งไปชนกับกระจกหน้าต่างของสถานพยาบาลเรือนจำชำรุดเสียหาย จำนวน 1 บาน..."
ชื่อของ "ศรายุทธ ศรีกำเหนิด" หรือ "แอล โอรส" หนึ่งในสมาชิก "แก๊งโอรส" ที่เคยโด่งดังในโลกออนไลน์ หลังประกาศท้าตีท้าต่อย กับ "เน วัดดาว" ผ่านโซเชียลแคม ก่อนจะถูกเจ้าหน้าที่ตำรวจจับกุมตามหมายจับศาลแขวงตลิ่งชัน หลังโชว์คลิปพกอาวุธและเสพยาผ่านทางโซเชียลมีเดีย ในช่วงปี 2556 ที่ผ่านมา
กลับมาอยู่ในความสนใจของสาธารณชนอีกครั้ง!
เมื่อ กรมราชทัณฑ์ ได้มีหนังสือ ที่ ยธ 0711.1/38173 ลงวันที่ 11 พฤศจิกายน 2557 ถึงสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา สรุปความได้ว่า ด้วยสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน ขอให้กรมราชทัณฑ์ตรวจสอบ และชี้แจงข้อเท็จจริงจากการที่มีผู้ร้องเรียนว่า เรือนจำพิเศษธนบุรีออกคำสั่งลงโทษผู้ต้องขังกระทำผิดวินัย รายผู้ต้องขังชาย "ศรายุทธ ศรีกำเหนิด" ไม่เป็นธรรม
โดยให้ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนเป็นเวลา 3 เดือน จากเหตุที่ผู้ต้องขังกระทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหาย
ซึ่งกรมราชทัณฑ์ได้ดำเนินการตรวจสอบข้อเท็จจริงในกรณีดังกล่าวแล้ว และชี้แจงสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้ลักลอบดัดแปลงลูกฟุตบอลพลาสติกให้ผิดไปจากที่มีจำหน่ายในร้านสงเคราะห์ผู้ต้องขัง โดยทำให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น แล้วนำมาใช้เล่นกีฬาในวันที่ 22 กรกฎาคม 2556 เวลาประมาณ 10.30 นาฬิกา ซึ่งในขณะที่ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ กำลังเล่นฟุตบอลอยู่ที่บริเวณกลางสนามด้านหน้าของสถานพยาบาลเรือนจำ ได้เตะลูกฟุตบอลดังกล่าวโดยปราศจากความระมัดระวัง จนเป็นเหตุให้ลูกฟุตบอลพุ่งไปชนกับกระจกหน้าต่างของสถานพยาบาลเรือนจำชำรุดเสียหาย จำนวน 1 บาน
โดยผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ รับสารภาพว่า ได้กระทำผิดจริง
การกระทำดังกล่าว ถือเป็นการกระทำให้ทรัพย์สินของทางราชการเสียหายโดยประมาทตาม ข้อ 107 (2) แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช 2479 พฤติการณ์เข้าองค์ประกอบซึ่งสามารถลงโทษวินัยให้งดการเลื่อนชั้น
แต่เนื่องจากขณะนั้น ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ เป็นผู้ต้องขังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดียังไม่ถูกจัดชั้นจึงทำให้ไม่สามารถลงโทษโดยงดการเลื่อนชั้นตามข้อ 107 (2) ได้ ผู้บัญชาการเรือนจำจึงมีอำนาจพิจารณาลงโทษสถานอื่นตามข้อ 103 และข้อ 114 โดยตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อกับบุคคลภายนอกเป็นเวลา 3 เดือน
ต่อมาแม้ว่าญาติของผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้ชดใช้ค่าเสียหายแล้วก็ตาม แต่การชดใช้ดังกล่าวมีผลทำให้สิทธิเรียกร้องในทางแพ่งยุติไปเท่านั้นไม่มีผลผูกพันที่จะนำมาเป็นเหตุในการงดโทษหรือลดโทษวินัยแต่อย่างใด
อีกทั้งการที่ผู้ต้องขังชาย ศรายุทธฯ ได้อุทธรณ์คำสั่งลงโทษนั้น การอุทธรณ์ดังกล่าวก็ไม่เป็นเหตุให้ทุเลาโทษ การบังคับโทษตามคำสั่งทางปกครองตามมาตรา 44 วรรคสาม แห่งพระราชบัญญัติวิธีปฏิบัติราชการทางปกครองพ.ศ. 2539 และไม่ปรากฏว่าเรือนจำมีคำสั่งลงโทษผู้ต้องขังด้วยความไม่เป็นธรรมหรือกลั่นแกล้งตามที่ร้องเรียนแต่อย่างใด
ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็นกรณีนี้ โดยสรุปว่า ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯได้กระทำผิดวินัยฐานทำให้ทรัพย์สินของหลวงเสียหายโดยประมาท ต้องพิจารณาลงโทษโดยการงดการเลื่อนชั้น ตามกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ข้อ 107 (2) การที่ผู้บัญชาการเรือนจำจะอาศัยอำนาจตามความในกฎกระทรวงมหาดไทย ฯ ข้อ 103 ลงโทษผู้ต้องขังรายนี้ โดยการตัดอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อเป็นเวลา 3 เดือน
เห็นว่า ไม่น่าจะกระทำได้ และพิจารณาเห็นว่า ผู้ต้องขังมีหลายประเภททั้งผู้ต้องขังระหว่างการพิจารณาคดี ผู้ต้องขังในคดีที่เสร็จเด็ดขาดแล้ว อีกทั้งการกระทำผิดวินัยอาจมีหลายกรณี ซึ่งกฎกระทรวงดังกล่าวอาจกำหนดไม่ครอบคลุมการกระทำผิดของผู้ต้องขังได้ทุกกรณี จึงเป็นช่องว่างของกฎหมายดังที่เกิดขึ้นในเรื่องที่ร้องเรียน ซึ่งจะก่อให้เกิดปัญหาในทางปฏิบัติและส่งผลกระทบต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ต้องขัง ดังนั้น เพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่และการแก้ไขปัญหาเรื่องร้องเรียนเป็นไปอย่างถูกต้องเป็นธรรม ผู้ตรวจการแผ่นดินจึงอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 32 แห่งพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2552 แนะนำให้กระทรวงยุติธรรมหารือมายังสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อวินิจฉัยให้เกิดความชัดเจนในการบังคับใช้กฎหมายและเพื่อให้การปฏิบัติงานของเรือนจำและทัณฑสถานเป็นไปอย่างถูกต้องและเป็นธรรมต่อไป
กระทรวงยุติธรรมจึงได้มอบหมายให้สำนักกฎหมาย สำนักงานปลัดกระทรวงยุติธรรม ประสานงานกับกรมราชทัณฑ์เพื่อดำเนินการตามที่ผู้ตรวจการแผ่นดินมีความเห็น
ในการนี้ กรมราชทัณฑ์จึงใคร่ขอหารือว่า การลงโทษวินัยต่อผู้ต้องขังเรือนจำพิเศษธนบุรีดังกล่าว ถูกต้องเหมาะสมแล้วหรือไม่ ประการใด
คณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) ได้พิจารณาข้อหารือของกรมราชทัณฑ์ โดยมีผู้แทนกระทรวงยุติธรรม (สำนักงานปลัดกระทรวงและกรมราชทัณฑ์) และสำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินชี้แจงข้อเท็จจริงเพิ่มเติม โดยผู้แทนกรมราชทัณฑ์ได้ชี้แจงเพิ่มเติมว่าเดิมคำสั่งลงโทษผู้ต้องขังทำผิดวินัยในกรณีนี้ เรือนจำพิเศษธนบุรีอาศัยอำนาจตามข้อ 103 และข้อ 114 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์พุทธศักราช 2479
แต่ต่อมาได้ตัดข้อ 114 ออกเพราะมิใช่การกระทำผิดวินัยในกรณีอย่างอื่นนอกจากที่ระบุไว้ในหมวด 5 การลงโทษฐานผิดวินัย ที่ผู้บัญชาการเรือนจำสามารถพิจารณาลงโทษสถานใดสถานหนึ่งที่เห็นสมควร แต่การกระทำผิดวินัยของผู้ต้องขังเป็นกรณีทำให้ทรัพย์สินของหลวงเสียหายโดยประมาทซึ่งเป็นกรณีตามข้อ 107 (2) แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยดังกล่าว จึงไม่สามารถอาศัยอำนาจตามข้อ 114 ได้ แต่ยังคงอาศัยอำนาจตามข้อ 103 เพื่อสั่งลงโทษกรณีผู้ต้องขังกระทำผิดวินัยตามมาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ได้
โดยผู้แทนกรมราชทัณฑ์ได้มอบสำเนาคำสั่งเรือนจำพิเศษธนบุรี ที่ 818/2556 เรื่อง ลงโทษผู้ต้องขังกรณีทำผิดวินัย ลงวันที่ 29 สิงหาคม พ.ศ. 2556 ต่อคณะกรรมการกฤษฎีกาในที่ประชุมคณะกรรมการกฤษฎีกา (คณะที่ 11) พิจารณาข้อหารือดังกล่าวประกอบกับข้อเท็จจริงที่ผู้แทนกรมราชทัณฑ์ชี้แจงเพิ่มเติมแล้ว เห็นว่า มีประเด็นที่จะต้องพิจารณาแต่เพียงว่าการที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีอาศัยอำนาจตามข้อ 103 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 สั่งลงโทษทางวินัย ผู้ต้องขังชายศรายุทธ ศรีกำเหนิด ซึ่งยังอยู่ในระหว่างการพิจารณาคดีและยังมิได้ถูกจัดชั้นโดยตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อบุคคลภายนอกเป็นเวลาสามเดือน ถูกต้องหรือไม่ อย่างไร เท่านั้น
เมื่อพิจารณามาตรา 35 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 แล้วจะเห็นได้ว่า เมื่อผู้ต้องขังคนใดกระทำผิดวินัย ให้เจ้าพนักงานเรือนจำผู้มีหน้าที่พิจารณาลงโทษอย่างหนึ่งอย่างใดหรือหลายอย่าง ดังต่อไปนี้ (1) ภาคทัณฑ์ (2) งดการเลื่อนชั้น (3) ลดชั้น (4) ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อไม่เกินสามเดือน (5) ลดหรืองดประโยชน์และรางวัล (6) ขังเดี่ยว ไม่เกินสามเดือน (7) ขังห้องมืดไม่เกินสองวันในสัปดาห์หนึ่ง (8) เฆี่ยน หรือ (9) ตัดจำนวนวันที่ได้รับการลดวันต้องโทษจำคุกตามมาตรา 32(6) และวรรคสอง แห่งบทบัญญัติดังกล่าวยังบัญญัติว่า ในกรณีและเงื่อนไขอย่างใดจะลงโทษดังระบุไว้ข้างต้นให้กำหนดไว้ในกฎกระทรวง ซึ่งเมื่อพิจารณาข้อ 100ข้อ 101 ข้อ 102 และข้อ 103 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยดังกล่าวแล้ว
จะเห็นได้ว่า กฎกระทรวงมหาดไทยได้กำหนดให้พัศดีเรือนจำ สารวัตรเรือนจำ และผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจลงโทษฐานผิดวินัยตามลำดับ ซึ่งแม้ว่าผู้บัญชาการเรือนจำจะมีอำนาจลงโทษทุกสถานตามที่บัญญัติไว้ในพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฯ ก็ตาม แต่ผู้บัญชาการเรือนจำจะสั่งลงโทษผู้ต้องขังกระทำผิดวินัยในกรณีและเงื่อนไขใดได้ นั้น ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทย ฯ
ซึ่งข้อ 104 ภาคทัณฑ์ ข้อ 106 ตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อบุคคลภายนอก ข้อ 107 งดการเลื่อนชั้น ข้อ 108 ลดชั้นข้อ 109 ลดรางวัล ข้อ 110 งดรางวัล ข้อ 111 ขังเดี่ยว ข้อ 112 ขังห้องมืด และข้อ 113 เฆี่ยนเท่านั้น ผู้บัญชาการเรือนจำไม่มีอำนาจสั่งลงโทษทางวินัยอย่างอื่นกับกรณีที่ผู้ต้องขังซึ่งกระทำผิดวินัยตามที่กำหนดในกฎกระทรวงมหาดไทยฯ ได้
เมื่อข้อเท็จจริงปรากฏว่า ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้ดัดแปลงลูกฟุตบอลให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น และได้เตะลูกฟุตบอลดังกล่าวไปชนกับกระจกหน้าต่างของสถานพยาบาลเรือนจำชำรุดเสียหายโดยปราศจากความระมัดระวัง จึงเป็นการกระทำผิดวินัยฐานทำให้ทรัพย์สินของหลวงเสียหายโดยประมาทตามข้อ 107 (2) แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 แล้ว ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีพึงสั่งลงโทษงดการเลื่อนชั้นตามกฎกระทรวงมหาดไทย ฯ
แต่เนื่องจากขณะที่ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ได้กระทำผิดวินัยดังกล่าว ผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ ยังมิได้ถูกจัดชั้น โดยสภาพของโทษ จึงนำมาใช้ไม่ได้กับกรณีนี้ แม้ว่าข้อ 103 แห่งกฎกระทรวงมหาดไทยฯ กำหนดให้ผู้บัญชาการเรือนจำมีอำนาจสั่งลงโทษทางวินัยได้ทุกสถานตามพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ฯ ก็ตาม แต่ความในมาตรา 35 วรรคสอง แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 ได้บัญญัติกรอบ
การใช้ดุลพินิจในการลงโทษกรณีผู้ต้องขังกระทำผิดวินัยไว้ ซึ่งผู้บัญชาการเรือนจำจะสั่งลงโทษผู้ต้องขังกระทำผิดวินัยในกรณีและเงื่อนไขใดได้นั้น ต้องเป็นไปตามที่กำหนดไว้ในกฎกระทรวงมหาดไทยฯ เท่านั้น ดังนั้น การที่ผู้บัญชาการเรือนจำพิเศษธนบุรีสั่งลงโทษผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ โดยตัดการอนุญาตให้ได้รับการเยี่ยมเยียนหรือติดต่อบุคคลภายนอกเป็นเวลาสามเดือน
อันเป็นโทษทางวินัยอย่างอื่นต่างจากกรณีที่กำหนดในกฎกระทรวงมหาดไทยออกตามความ ในมาตรา 58 แห่งพระราชบัญญัติราชทัณฑ์ พุทธศักราช 2479 การลงโทษผู้ต้องขังชายศรายุทธฯ จึงเป็นการสั่งลงโทษที่ไม่ถูกต้อง
ทั้งหมดนี่ คือ บทสรุป "วีรกรรม" ชีวิต "แอล โอรส" ล่าสุดในกรมราชทัณฑ์ ที่ถูกเปิดเผยออกมาเป็นทางการ!
แต่คำถามที่น่าสนใจ คือ แอล โอรส ถูกลงโทษไปหรือยัง?
ถ้าถูกสั่งลงโทษไปแล้ว กรมราชทัณฑ์ จะชดเชยกับคำสั่งลงโทษที่ไม่ถูกต้องครั้งนี้ หรือไม่? อย่างไร?
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก Google
s