สนช.เล็งส่งผลศึกษากม.แข่งขันฯ เสนอครม. หวั่นปรับแก้แล้วอ่อนกว่าต่างประเทศ
สนช. ให้ความเห็นชอบ รายงานการศึกษาพ.ร.บ.แข่งขันทางการค้า 2542 ของกมธ.การพาณิชย์ฯ ที่พิจารณาเสร็จแล้ว 'ศิริพล ยอดเมืองเจริญ' หวั่นแม้ปรับแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังอ่อนกว่ากฎหมายของต่างประเทศอยู่
วันที่ 19 มิถุนายน ในที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ได้มีมติให้ความเห็นชอบ รายงานการศึกษาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงานที่พิจารณาเสร็จแล้ว
นายศิริพล ยอดเมืองเจริญ ประธานอนุกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงาน สนช. กล่าวว่า ปัจจุบันการประกอบธุรกิจมีแข่งขันเพิ่มมากขึ้น จากการเปิดเสรีทางการค้า ทั้งในรูปแบบพหุภาคีและทวิภาคี จึงเกิดการแข่งขันทุกรูปแบบ ธุรกิจที่มีความได้เปรียบได้ใช้อำนาจทางการค้าและตลาดที่เหนือกว่าแย่งชิงส่วนแบ่งทางการตลาดด้วยวิธีการต่างๆ หมายถึงอาจเกิดความแข่งขันที่ไม่เป็นธรรม นำสู่การผูกขาดตัดตอนทางการค้า เกิดความไม่ชอบธรรมในการกำหนดราคาสินค้าบริการ กำหนดช่องทางการจัดจำหน่าย และเส้นทางการขนส่ง ตลอดจนเส้นทางการทำสัญญาเพื่อกีดกันการประกอบธุรกิจของคู่แข่งขัน
นายศิริพล กล่าวถึงกฎหมายและกฎระเบียบที่มีอยู่ ก็ไม่ได้มีการพิจารณาปรับปรุงให้ทันต่อสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนไปอย่างรวดเร็ว รวมถึงไม่สามารถนำกฎระเบียบมาบังคับใช้ได้ผล หรือไม่มีผลบังคับใช้ในทางปฏิบัติ ดังนั้น จึงเห็นควรให้มีการนำปัญหาที่เกิดขึ้นที่เป็นอุปสรรค มาศึกษาเพื่อจัดทำรายงานและเสนอแนะต่อการแก้ไขบทบัญญัติของกฎหมายและกฎระเบียบทางการค้าเพื่อให้มีการปรับปรุงสาระและบทบัญญัติของกฎหมายให้ทันต่อสถานการณ์ทางการค้าที่เปลี่ยนไปให้เกิดผลต่อการแข่งขันที่เสรีและเป็นธรรมมากขึ้น
สำหรับผลการศึกษา พระราชบัญญัติการแข่งขันทางการ พ.ศ.2542 และข้อเสนอแนะ มีดังนี้
ประการแรก เพิ่มเติมคำนิยามของผู้ประกอบการโฮลดิ้ง (Holding Company) ซึ่งอยู่ในบทบัญญัติมาตรา4 เข้าเป็นส่วนหนึ่งในคำนิยามผู้ประกอบธุรกิจ ภายใต้กฎหมายนี้ เนื่องจากผู้ประกอบธุรกิจโฮลดิ้งหมายถึงผู้ที่ไปลงทุนทางหุ้นในกิจการอื่นเพื่อได้มาซึ่งเงินปันผลมีอำนาจควบคุมและกำหนดทิศทางของบริษัทนั้น จึงไปมีอำนาจในการตัดสินใจของธุรกิจที่เข้ามาถือหุ้นเพื่อประโยชน์ทางการค้าภายใต้การดำเนินการทางการค้าของตนด้วย ส่งผลให้เกิดพฤติกรรมในลักษณะตกลงร่วมกันโดยมิชอบและผูกขาดทางการค้าได้มากขึ้น จึงเห็นสมควรให้มีคำนิยามของธุรกิจโฮลดิ้งและกำหนดให้อยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้
ประการที่สอง ให้รัฐวิสาหกิจที่แข่งขันกันกับธุรกิจเอกชน อยู่ภายใต้บทบัญญัติการควบคุมและดูแลของพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้า ตาม มาตรา 4 เช่น ปตท. , ทีโอที , ธนาคารที่เป็นรัฐวิสาหกิจ เป็นต้น เนื่องจาก รัฐวิสาหกิจเหล่านั้นเป็นธุรกิจที่ได้รับการสงวนจากภาครัฐ มีสิทธิประโยชน์บางประการ และยังมีกฎหมายให้ดำเนินธุรกิจในลักษณะพิเศษ ย่อมมีความได้เปรียบ สามารถประกอบธุรกิจแข่งขันกับเอกชนโดยทางตรงทางการค้าเป็นตามปกติอยู่แล้ว ดังนั้นการกำหนดให้รัฐวิสาหกิจดังกล่าวมาอยู่ภายใต้กฎหมายฉบับนี้ จึงเป็นการทำให้เกิดการแข่งขันมากขึ้น
แต่ในกรณีรัฐวิสากิจที่เป็นการประกอบกิจการรักษาความมั่นคงของรัฐ ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และกิจการสาธารณูปโภค เช่น ไฟฟ้า ประปา จะได้รับการยกเว้น ไม่ให้อยู่ภายใต้กฎหมายตามมาตรา 4 นี้
ประการที่สาม กำหนดเงื่อนไขการควบรวมธุรกิจให้มีขั้นตอนที่ชัดเจนตามบทบัญญัติมาตรา 26 เพื่อป้องกันไม่ให้มีผู้ประกอบธุรกิจเกิดกิจการขนาดใหญ่ขึ้นเกิดสมควรหรือควบรวมแบบครบวงจรที่จะก่อให้เกิดการผูกขาดหรือจำกัดการแข่งขันได้ โดยขณะเดียวกันเป็นการเปิดโอกาสให้ธุรกิจต่างๆที่มีการควบรวมอย่างมีขั้นตอนโปร่งใส
ประการที่สี่ ให้องค์การที่มีการดำเนินการอย่างอิสระทำหน้าที่ดูแลบังคับใช้กฎหมาย เนื่องจากคณะกรรมการให้คุณให้โทษกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ จึงมีความเห็นว่า กรรมการทั้งหมดและวิธีการดำเนินการ ควรมีความเป็นอิสระโดยสมบูรณ์ภายใต้การสนับสนุนงบประมาณของรัฐ กรรมการแต่ละท่านควรมีคุณสมบัติด้านคุณธรรม จริยธรรม จรรยาบรรณที่ดี นอกเหนือจากที่กำหนดไว้ในมาตรา 6 และมาตรา 7 ว่าด้วยความรอบรู้และความเชี่ยวชาญในแต่ละสาขาเพื่อให้ผลการพิจารณาได้มีความยุติธรรมอย่างถ่องแท้ และนอกจากนี้ขอให้องค์กรได้มีความอิสระในการบริหารจัดการตามกฎหมายด้วย
ประการที่ห้า ควรให้ลดหย่อนผ่อนโทษในกรณีที่กระทำผิดที่ให้ความร่วมมือกับการสืบสวน สอบสวน ในกรณีที่มีการกระทำความผิด ถือว่า เป็นเงื่อนไขใหม่ที่ให้แรงจูงใจและเกิดความร่วมมือเกิดประจักษ์พยานเกิดประโยชน์ต่อรูปคดี โดยการสืบสวนสอบสวนด้วยวิธีการกันไว้เป็นพยาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพฤติกรรมการกระทำผิดอันประเด็นหน่วยงานภาครัฐขาดความเชี่ยวชาญความยุ่งยากมากกว่าปกติในการปฏิบัติการสืบสวนสอบสวน ตามเงื่อนไขข้อห้ามตามบทบัญญัติ มาตรา 25 26 27 28 29 และ 30
ประการที่หก กำหนดรูปแบบการลงโทษให้ออกเป็น 2 ลักษณะ1.โทษทางการปกครอง 2.โทษทางอาญา เพื่อให้บทลงโทษนั้นได้มีความยืดหยุ่นหรืออาจให้มีโทษทางการปกครองในชั้นแรก หากยังฝ่าฝืนต่อไปอีกให้มีโทษทางอาญา
ในบางกรณีประเด็นการกระทำความผิดโดยไม่เจตนาหรือเป็นความผิดสถานเบาที่อาจยอมความหรือยุติได้โดยเร็ว แต่คณะกรรมการกลับไม่มีอำนาจในการดำเนินการลงโทษ เนื่องจากบทบัญญัติแห่งพระราชบัญญัติในกฎหมายเดิมนั้นกำหนดให้เป็นคดีอาญา และต้องให้อัยการและศาลเป็นผู้ดำเนินการทั้งหมดในกรณีดังกล่าว ดังนั้น คณะกรรมการควรมีความยืดหยุ่นในการลงโทษปรับหรือใช้เกณฑ์โทษทางการปกครองไว้เป็นเบื้องต้น หากยังฝ่าฝืนจึงจะได้มีโทษทางอาญา
อีกทั้งควรระบุแยกประเภทหรือกรณีข้อห้ามให้มีโทษในระดับปกครองและทางอาญาให้ชัดเจน โดยให้กำหนดเงื่อนไขนี้ไว้ในมาตรา51 วรรค2 และ มาตรา52 วรรค2 ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเดิม
ประการที่เจ็ด ให้คณะกรรมาการเป็นองค์กรอิสระในการพิจารณาและดำเนินการฟ้องร้องเอง หากอัยการสูงสุดมีความเห็นไม่ส่งฟ้อง เพื่อให้เป็นรูปแบบสากลที่เป็นองค์กรชำนาญเฉพาะ
ประธานอนุกรรมาธิการคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ฯ กล่าวถึงข้อเท็จจริงในเรื่องนี้ เคยมีความเห็นแย้งเกิดขึ้นไปแล้วในกรณีคดีของรถจักรยานยนต์ยี่ห้อหนึ่ง ที่คณะกรรมการแข่งขันทางการค้าเดิมได้เห็นว่า มีความผิดฝ่าฝืนบทบัญญัติกฎหมายแข่งขันทางการค้า พ.ศ.2542 จึงมีมติเห็นควรสั่งฟ้อง 3 ครั้งจากคณะกรรมาธิการ 3 คณะ แต่ในที่สุดระยะเวลาล่วงเลยมาหลายปีสำนักงานอัยการสั่งไม่ฟ้อง ทำให้อัยการจำกัดในการบังคับใช้กฎหมาย
ส่วนข้อสังเกตในรายงานการศึกษาฉบับนี้ นายศิริพล กล่าวว่า ก็มีข้อเสนอะแนะให้กรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์เร่งรัดทบทวนออกประกาศคุณสมบัติและเงื่อนไขในการเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่มีอำนาจเหนือตลาด กำหนดสัดส่วนตลาดที่เหมาะสม อีกทั้งเร่งรัดให้ออกประกาศการควบรวมธุรกิจให้เกิดความชัดเจนเหมาะสม วิธีการควบรวมธุรกิจที่มีการพัฒนาเทคนิคของการควบรวมธุรกิจในมาตรา 26 นอกจากนี้ยังมีข้อสังเกตการเพิ่มเติมขอบเขตตลาดในการพิจารณาผู้มีอำนาจเหนือตลาดมีความชัดเจนยิ่งขึ้น
สำหรับการดำเนินงานของคณะกรรมการการแข่งขันทางการค้า มีข้อสังเกตว่า คณะกรรมการแข่งขันทางการค้ามีจำนวนกรรมการมากเกินไป อาจทำให้เกิดการขาดความคล่องตัวในการดำเนินการ และควรเป็นอิสระในการพิจารณา เนื่องจากคณะกรรมการมีอำนาจแต่งตั้งอนุกรรมการมาช่วยในการดำเนินการให้อยู่แล้ว และยังเห็นว่าพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการค้าฯ มีผลหรืออาจได้รับผลจากกฎหมายฉบับอื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกฎหมายที่มีผลทางการค้า เช่น พระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจแฟรนไชส์ เป็นต้น
ช่วงท้าย นายศิริพล กล่าวถึงลักษณะกฎหมายฉบับนี้ แม้จะปรับแก้ไขแล้ว แต่ก็ยังอ่อนกว่ากฎหมายของต่างประเทศอยู่ พร้อมแสดงความกังวลบริษัทต่างประเทศที่เข้ามาลงทุนในเมืองไทย หากเรามีกฎหมายอ่อนจนเกินไป บางครั้งอาจทำให้ช่องทางการแข่งขันบริษัทอาจเสียประโยชน์ได้
ทั้งนี้ ผู้สื่อข่าวรายงานด้วยว่า ในที่ประชุมสนช.มีมติเห็นชอบรายงานการศึกษาพระราชบัญญัติการแข่งขันทางการ พ.ศ.2542 ของคณะกรรมาธิการการพาณิชย์ การอุตสาหกรรม และการแรงงานที่พิจารณาเสร็จแล้ว โดยขั้นตอนต่อไป สนช.จะส่งข้อเสนอแนะพร้อมรายงานการศึกษาไปยังคณะรัฐมนตรีและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
สปช.เปิดเวทีรับฟังความเห็น 16 ปี กม.แข่งขันทางการค้า ไม่เป็นที่พึ่งหวัง มีไว้แค่โชว์
นักกม.แนะแก้พ.ร.บ.แข่งขันฯ ควรเพิ่มการทำผิดนอกอาณาเขตเข้าไปด้วย