โลโคลแอค จี้รัฐบาลประยุทธ์ เร่งคลอด พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน
โลโคลแอคเผยผลศึกษา ธนาคารที่ดินชุมชนคืออีกหนึ่งกลไกที่จะช่วยแก้ปัญหาที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร ย้ำรัฐบาลพลเอกประยุทธ์ ควรเร่งคลอด พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน นำที่ดินมาจัดสรรให้คนจนเช่าทำกินระยะยาว แนะรัฐควรให้ความรู้สัญญาเงินกู้ที่ต้องจำนองที่ดินให้ชัด
วันที่ 19 มิถุนายน 2558 นางสาวพงษ์ทิพย์ สำราญจิตต์ ผู้อำนวยการกลุ่มปฏิบัติงานท้องถิ่นไร้พรมแดน(โลโคลแอค) กล่าวถึงการที่สภาปฏิรูปแห่งชาติมีมติเห็นชอบผ่านร่าง พ.ร.บ.ธนาคารที่ดิน ถือเป็นเงื่อนไขที่ดีที่รัฐบาลจะใช้แก้ปัญหาเกษตรกรขาดแคลนที่ทำกิน เนื่องจากปัญหาที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร เป็นเรื่องเร่งด่วนที่ต้องมีกลไกเฉพาะเข้ามาจัดการปัญหาอย่างทันท่วงที โดยเฉพาะปัจจุบันเอกสารสิทธิ์ที่ดินของเกษตรกรส่วนใหญ่ไม่ได้อยู่ในมือเกษตรกรแล้ว แต่ขายฝากไว้กับนายทุนเงินกู้นอกระบบและจำนองไว้กับสถาบันการเงินถึง 30 ล้านไร่ เกษตรกร 13.5 ล้านคน จึงอยู่ในภาวะสุ่มเสี่ยงสูญเสียที่ดิน
นางสาวพงษ์ทิพย์ กล่าวว่า ธนาคารที่ดินจะเข้ามาช่วยเหลือเกษตรกรเมื่อที่ดินหลุดจำนองนั้น ถือว่าเป็นการแก้ไขปัญหาที่ปลายทาง ผลการศึกษาของโลโคลแอค พบว่า ความไม่มั่นคงทางรายได้ของเกษตรกร การไม่เข้าใจกฎหมายและสัญญาเงินกู้ รวมถึงการถูกปิดบังข้อมูลความเสี่ยงของการกู้ ทำให้เกษตรกรเสียเปรียบและไม่มีอำนาจต่อรองกับสถาบันการเงินและนายทุนเงินกู้นอกระบบ ส่งผลต่อการไม่สามารถชำระหนี้และสูญเสียที่ดิน ดังนั้นหากต้องการให้มีการแก้ปัญหาไม่ให้ที่ดินหลุดมือจากเกษตรกร มีความจำเป็นที่ธนาคารที่ดิน ต้องมีหน่วยในการสนับสนุนความรู้ เสริมศักยภาพเพื่อให้เกษตรกรรู้เท่าทันกฎหมายและสัญญาเงินกู้ เพื่อให้สามารถต่อรองหรือเจรจากับสถาบันการเงินได้
นอกจากนั้นธนาคารที่ดินควรทำงานเชิงรุก โดยประสานงานกับสถาบันการเงินของรัฐ โดยเฉพาะธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เพื่อให้ความช่วยเหลือกับเกษตรกรก่อนที่ดินจะหลุดมือ หรือหากจะมีการขายทอดตลาด ธ.ก.ส.ควรขายที่ดินเกษตรกรให้ธนาคารที่ดินเป็นสถาบันแรก
ด้านนางกิมอัง พงษ์นารายณ์ ผู้ประสานงานสภาเครือข่ายองค์กรเกษตรกรแห่งประเทศไทย(สค.ปท.) องค์กรเกษตรกรที่ทำงานแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกร กล่าวว่า แม้ว่าปัจจุบันจะมี ธ.ก.ส. และสหกรณ์การเกษตร ทำหน้าที่ให้เงินกู้กับเกษตรกร แต่สถาบันการเงินรัฐเหล่านี้ไม่ได้มีนโยบายโดยตรงในการรักษาที่ทำกินให้เกษตรกร แต่ทำหน้าที่เป็นแหล่งเงินกู้อัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าธนาคารพาณิชย์เท่านั้น คือเฉลี่ยร้อยละ 7-13 ต่อปี ดังนั้นเกษตรกรที่กู้เงิน ธ.ก.ส. ยังมีความเสี่ยงสูงที่จะสูญเสียที่ทำกิน เนื่องจากส่วนใหญ่ไม่สามารถใช้หนี้ได้ตามกำหนด และต้องไปกู้หนี้นอกระบบมาชำระคืน ธ.ก.ส. อีกทั้งไม่มีความรู้เรื่องสัญญากู้ยืมเงิน เมื่อราคาผลผลิตเกษตรตกต่ำ ขายได้ไม่พอชำระหนี้ เกษตรกรจึงมักส่งได้แต่ดอกเบี้ย เมื่อขาดส่งทำให้เสียดอกเบี้ยและค่าปรับเพิ่ม เกษตรกรบางรายเซ็นรับชำระหนี้โดยที่ไม่มีความรู้เรื่องอัตราดอกเบี้ยและเงินค่าปรับที่เกิดขึ้น ท้ายที่สุดจึงมักจบลงด้วยการขายที่ดินใช้หนี้สถาบันการเงินเหล่านี้
นางกิมอัง กล่าวถึงอัตราดอกเบี้ยของธนาคารที่ดินที่จะมีขึ้นในอนาคต ควรอยู่ในระดับที่เกษตรกรรายย่อยสามารถจ่ายได้ คือไม่ควรสูงเกินร้อยละ 4.5 ต่อปี เนื่องจากปัจจุบันอัตราดอกเบี้ยของ ธ.ก.ส. และธนาคารพาณิชย์อื่นๆ อยู่ที่ร้อยละ 7-8 ต่อปี แต่ถ้าผิดนัดชำระหนี้จะต้องเสียร้อยละ 13-25 ต่อปี เมื่อเทียบเคียงกับรายได้ที่ไม่แน่นอนของอาชีพเกษตรแล้ว อัตราดอกเบี้ยที่สูงจะทำให้เกษตรกรต้องเข้าสู่วังวนของหนี้นอกระบบมากขึ้น จนในที่สุดจำเป็นต้องขายที่ดินให้กับนายทุนอยู่ดี
นางนันทวัน หาญดี ผู้ประสานงานเครือข่ายเกษตรกรรมทางเลือก จังหวัดฉะเชิงเทรา องค์กรพัฒนาเอกชนที่สนับสนุนกลุ่มออมทรัพย์ธนาคารที่ดินชุมชน กล่าวถึงแนวทางแก้ไขที่ดินเกษตรกรหลุดมือโดยใช้กลไกกลุ่มออมทรัพย์ว่า กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนเริ่มดำเนินการมาตั้งแต่เมื่อปี 2524 โดยในแต่ละปีเงินออมของสมาชิกจะสูงขึ้น เมื่อสมาชิกประสบปัญหาที่ดินจะหลุดมือ กลุ่มได้ใช้เงินทุนหมุนเวียนของกลุ่มซื้อที่ดินของสมาชิกมาเป็นของกลุ่มก่อน เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินหลุดมือไปสู่กลุ่มทุนภายนอก เมื่อสมาชิกมีรายได้เพียงพอก็จะกลับมาซื้อที่ดินคืนจากกลุ่มได้ โดยกลุ่มได้ทำงานส่งเสริมระบบการผลิตและการจัดการตลาดที่ยั่งยืนให้กับสมาชิกที่เป็นหนี้ด้วย ที่ผ่านมามีการซื้อที่ดินสมาชิกไว้หลายแปลง โดยเมื่อเร็วๆ นี้ ได้ซื้อที่ดินสมาชิกนางสมทรง สุริยะ ไว้อีกจำนวน 5 ไร่ เป็นจำนวนเงิน 240,000 บาท ปัจจุบันกลุ่มมีสมาชิกจำนวน 336 ราย มีเงินทุนหมุนเวียนกลุ่มราว 4,000,000 กว่าบาท นอกเหนือจากการปล่อยให้สมาชิกกู้ยืมไปประกอบอาชีพแล้ว ยังตั้งเป็นงบประมาณสำหรับแก้ไขปัญหาที่ดินหลุดมือจากเกษตรกรด้วย
ทั้งนี้ ผลการศึกษาของโลโคลแอค ยังพบด้วยว่า แนวทางแก้ไขปัญหาที่ดินเกษตรกรหลุดมือ จำเป็นต้องกระจายอำนาจให้องค์กรเกษตรกรเข้ามามีส่วนร่วมในการวางแผนและ จัดการที่ดินชุมชน ดังกรณี กลุ่มออมทรัพย์ชุมชนยางแดง จังหวัดฉะเชิงเทรา ซึ่งทำหน้าเป็นธนาคารที่ดินชุมชน ด้วยการซื้อที่ดินเกษตรกรที่มีความสุ่มเสี่ยงในการสูญเสียที่ดิน และให้โอกาสเกษตรกรในชุมชนกลับมาซื้อที่ดินคืนเมื่อมีรายได้เพิ่มขึ้น
นอกจากนี้ งานวิจัยมีข้อเสนอว่า แนวทางและมาตรการแก้ไขปัญหาที่ดินเกษตรกรหลุดมือ จำเป็นต้องใช้หลายมาตรการควบคู่กันไป ทั้งมาตรการระดับพื้นที่และระดับนโยบาย และควรแก้ไขปัญหาทั้งในระดับต้นทาง กลางทาง และปลายทาง โดยในระดับต้นทาง เกษตรกรมีความจำเป็นต้องจัดการระบบการผลิต และระบบการตลาดใหม่ให้สามารถอยู่รอดได้ โดยเน้นการผลิตที่พึ่งพาปัจจัยการผลิตของตนเองเพื่อลดต้นทุน และควรวางแผนการผลิตให้มีรายได้ทั้งในส่วนเพื่อการชำระหนี้ และในส่วนผลิตอาหารเพื่อลดรายจ่ายของครอบครัว รวมทั้งควรมีการรวมกลุ่มเกษตรกรเพื่อแปรรูป และทำการตลาดร่วมกันเพื่อลดความผันผวนของราคาผลผลิตอันเป็นที่มาของปัญหาหนี้สิน โดย
ในระดับนโยบาย ธนาคารที่ดินควรมีเงินทุนสนับสนุนธนาคารที่ดินชุมชน เนื่องจากจะเป็นกลไกแก้ไขปัญหาที่ดินเกษตรกรหลุดมือได้อย่างมีประสิทธิภาพ และหากเกษตรกรมีความจำเป็นต้องกู้เงินจากสถาบันการเงิน รัฐควรเข้ามาช่วยเหลือและให้ความรู้เกษตรกรเรื่องกฎหมาย สัญญาการกู้เงิน และความเสี่ยงในการสูญเสียที่ดินจากการจำนองที่ดินกับสถาบันเงินกู้และนายทุนนอกระบบ
ในระดับกลางทาง คือเมื่อมีสัญญาณว่าเกษตรกรมีแนวโน้มไม่สามารถชำระคืนหนี้สินได้ รัฐควรเข้ามาช่วยเหลือด้านกฎหมายแต่เนิ่นๆ แต่เมื่อเกษตรกรเดินทางมาถึงปลายทาง ที่ดินเกษตรกรกำลังจะหลุดมือ รัฐควรเข้ามาช่วยเหลือด้วยการให้ธนาคารที่ดินช้อนซื้อที่ดินของเกษตรกรจากสถาบันการเงินไว้ เพื่อป้องกันไม่ให้ที่ดินเพื่อการเกษตรของประเทศ ตกไปเป็นของนายทุนจำนวนมากอย่างที่เป็นอยู่