เจาะคำสั่งอายัดทรัพย์"บีบีซี"รอบใหม่205 ล.โยงบ.ผีข้ามชาติ &คนสกุล"บุนนาค" (อีกครั้ง)
"...บริษัท 355 จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 มีทุน 1 หมื่นบาท ตั้งอยู่เลขที่ 586 ถนนอโศก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจบริการวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ สถานะปัจจุบันเป็นบริษัทร้าง ถูกนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ตามความในมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2545..."
ในช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม 2558 ที่ผ่านมา สำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ได้ออกคำสั่งอายัดทรัพย์ทรัพย์ของนายเกริกเกียรติ ชาลีจันทร์ และพวก ในคดีทุจริตปล่อยเงินกู้ของ “ธนาคารกรุงเทพฯ พาณิชย์การ จำกัด (มหาชน)” หรือ “บีบีซี” รอบใหม่อีกครั้ง
หลังจากที่คดีนี้เคยปรากฎเป็นข่าวโด่งดัง ในช่วงปี 2539-2540 เมื่อมีการตรวจสอบพบข้อมูลว่านักการเมืองกลุ่มหนึ่ง ได้ร่วมกับผู้บริหารของธนาคาร นำเงินของธนาคารมาใช้ในการครอบงำกิจการบริษัทเอกชนหลายสิบแห่งในตลาดหลักทรัพย์ เพื่อทำกำไร ทำให้ธนาคารเกิดหนี้เสียหลายพันล้านบาท ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในภาพรวมของประเทศอย่างรุนแรง
ณ วันนี้ แม้ระยะเวลาผ่านพ้นไปเกือบ 20 ปีแล้ว ขณะที่ตัวละครสำคัญในคดีนี้ อย่าง "เกริกเกียรติ ชาลีจันทร์” อดีตผู้บริหารบีบีซี ก็เสียชีวิตไปแล้วในช่วงปี 2555 ที่ผ่านมา แต่ดูเหมือนการติดตามตรวจสอบอายัดทรัพย์ของผู้เกี่ยวข้องในคดีนี้ จะยังคงเดินหน้าต่อไปไม่รู้จบ
ทั้งนี้ สำหรับคำสั่งปปง.ในการอายัดทรัพย์ ของนายเกริกเกียรติ และพวก ที่ออกมาล่าสุดในช่วงเดือนเมษายน -พฤษภาคม 2558 มีจำนวน 2 ฉบับ
ฉบับแรก สั่ง ณ วันที่ 9 เมษายน 2558 ทรัพยสินที่ถูกอายัดไว้เป็นที่ดิน และเงินฝากในบัญชีธนาคารจำนวน 30 รายการ รวมวงเงินกว่า 203 ล้านบาท
ฉบับสอง สั่ง ณ วันที่ 8 พฤษภาคม 2558 ส่วนใหญ่เป็นเครื่องประดับของมีค่า ปืน จำนวน 54 รายการ รวมวงเงินกว่า 2 ล้านบาท
อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ดูเหมือนจะเป็นไฮไลท์สำคัญในคำสั่งอายัดทรัพย์ทั้ง 2 ฉบับนี้ นอกเหนือจากรายการทรัพย์สินมีค่ากว่า 205 ล้านบาท ที่ปปง.นำมาแจกแจ้งไว้อย่างละเอียด
คือ พฤติการณ์การกระทำความผิด ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในคดีนี้ ซึ่งปรากฎอยู่ในคำสั่งอายัดทรัพย์ฉบับแรก มีเนื้อหาโดยสรุปดังนี้
สำนักงาน ปปง. ได้รับรายงานจากธนาคารแห่งประเทศไทย ตามหนังสือลงวันที่ 9 ก.พ.2555 เกี่ยวกับข้อมูลการตรวจสอบกรณีนายเกริกเกียรติ กับพวก ได้กระทำการอนุมัติสินเชื่อโดยทุจริตให้กับ บริษัท Starluck Footware (B.V.I) LTd. ซึ่งเป็นนิติบุคคลที่จดทะเบียนนต่างประเทศ แต่มิได้ประกอบกิจการแต่อย่างใด
โดยบริษัท Starluck Footware ได้ยื่นคำขอกู้เงินจำนวน 5 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 125,000,000 บาท โดยจะนำใบหลักทรัพย์ใบหุ้นของบริษัท Starluck Footware จำนวน 100% ของทุนจดทะเบียนมาจำนำเป็นหลักประกัน มีนายวู เซียว หู และนิติบุคคล Computainer System Global inc. ซึ่งถือหุ้นอยู่ในบริษัท Starluck Footware เป็นผู้ค้ำประกัน
และนำที่ดิน น.ส.3 ก. ต.นาดี อ.นาดี จ.ปราจีนบุรี จำนวน 1 แปลง ของบริษัท 355 จำกัด มาจำนองเป็นหลักประกัน และให้บริษัท คอลลิเออร์ส์ จาร์ดีน (ประเทศไทย) จำกัด ประเมินราคาที่ดินดังกล่าวให้มีราคาสูงขึ้นเป็นจำนวนเงินทั้งสิ้น 93,300,000 บาท
โดยนายเกริกเกียรติ กรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารบีบีซี กับพวก ได้อนุมัติเงินกู้โดยมีหมายเหตุให้ บริษัท Starluck Footware ใช้วงเงินได้ก่อนดำเนินการเรื่องหลักประกัน ซึ่งในความเป็นจริงบริษัทไม่มีเจตนาจะนำหุ้นมาจำนำ เนื่องจากหุ้นไม่มีราคา และมูลค่าที่ดินแท้จริงมีราคาเพียง 4.9 ล้านบาทเท่านั้น
"นายเกริกเกียรติ และนายเอกชัย อธิคมนันทะ ได้อาศัยโอกาสที่มีอำนาจหน้าที่ ได้อนุมัติสินเชื่อจำนวนดังกล่าว อันเป็นการฝ่าฝืนคำสั่งธนาคารแห่งประเทศไทย ที่กำหนดว่า การให้สินเชื่อก่อภาระผู้กพันแก่ลูกค้ารายใหม่จะต้องเป็นกิจการที่มีพื้นฐานธุรกิจรองรับแท้จริง และสำหรับวงเงิน ตั้งแต่ 30 ล้านบาทขึ้นไป จะต้องให้คณะกรรมการสินเชื่อหรือคณะกรรมการบริหารของธนาคารเป็นผู้พิจารณากลั่นกรองในเรื่องความเป็นไปได้ของโครงการก่อน"
จากการตรวจสอบข้อมูลเพิ่มเติมของสำนักข่าวอิศรา พบว่า บริษัท 355 จำกัด จดทะเบียนจัดตั้งเมื่อวันที่ 1 ธันวาคม 2536 มีทุน 1 หมื่นบาท ตั้งอยู่เลขที่ 586 ถนนอโศก แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบธุรกิจบริการวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ
สถานะปัจจุบันเป็นบริษัทร้าง ถูกนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ตามความในมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์แล้ว เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2545
ปรากฎชื่อ นายปรีชาพล บุนนาค เป็นกรรมการผู้มีอำนาจ
ขณะที่ก่อนหน้านี้ ในช่วงเดือนกันยายน 2556 สำนักข่าวอิศรา เคยตรวจสอบพบว่า สำนักงาน ปปง.ได้ออกคำสั่งเลขที่ ย.51/2556 อายัดทรัพย์สินที่ดินที่เกี่ยวข้องในคดีธนาคารบีบีซี อนุมัติสินเชื่อโดยทุจริตให้กับคณะบุคคลและนิติบุคลจำนวน 61 รายการ โดยทั้งหมดเป็นที่ดินในอำเภอด่านขุนทด จังหวัดนครราชสีมา หลังตรวจสอบพบหลักฐานสำคัญว่า บริษัท เค.วาย.เอ็น.พี.คอนซัลแตนท์ จำกัด, บริษัท ทริลเลี่ยน คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท บี.โอ.เอส.เอส.คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งได้รับเงินกู้ส่วนหนึ่ง นำไปใช้ในการจัดซื้อที่ดินดังกล่าว
โดยมีนาย เกริกเกียรติ ป็นผู้อนุมัติสินเชื่อเงินเกินบัญชีชั่วคราว จำนวนดังกล่าว โดยใช้บัตรพิเศษ ผ่านรายการหมายเลข 0112J และปัจจุบันที่ดินดังกล่าว บริษัท เค.วาย.เอ็น.พี.คอนซัลแตนท์ จำกัด ได้ถือครองกรรมสิทธิ์ โดยได้มาในช่วงเวลาตั้งแต่ เดือนตุลาคม 2536-มีนาคม 2547
(อ่านประกอบ: ปปง.สั่งอายัดที่ดินคดีบีบีซีเพิ่ม 61 รายการ -"เกริกเกียรติ"รูดบัตรโยกเงินกู้ซื้อ)
เบื้องต้น บริษัท เค.วาย.เอ็น.พี.คอนซัลแตนท์ จำกัด ซึ่งถูกระบุว่าเป็นผู้ถือครองกรรมสิทธิ์ที่ดิน นั้น จากการตรวจสอบพบว่า มีสถานะเป็นบริษัทร้าง ถูกนายทะเบียนขีดชื่อเป็นบริษัทร้างตั้งแต่ปี 2545
ขณะที่จากการตรวจสอบข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทของ กรมพัฒนาธุรกิจการค้า พบว่าบริษัท เค.วาย.เอ็น.พี. คอนซัลแตนท์ จำกัด จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2536 มีทุนจดทะเบียนแค่ 1 หมื่นบาท แจ้งที่ตั้งเลขที่ 586 ถนนอโศก-ดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร ประกอบกิจการให้บริการรวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ
เบื้องต้น บริษัทแห่งนี้ ถูกนายทะเบียนได้ขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้าง ตามความในมาตรา 1246 แห่งประมวลกฎหมาย แพ่งและพาณิชย์แล้ว ตั้งแต่เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2545
จากการตรวจสอบข้อมูลยังพบว่า บริษัทเอกชนอีก 2 แห่ง ที่ถูกระบุถึงคือ บริษัท ทริลเลี่ยน คอนซัลแตนท์ จำกัด และบริษัท บี.โอ.เอส.เอส.คอนซัลแตนท์ จำกัด ก็ถูกนายทะเบียนขีดชื่อออกจากทะเบียนเป็นบริษัทร้างเช่นกัน
โดยบริษัท ทริลเลี่ยนฯ ถูกนายทะเบียนขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง เมื่อวันที่ 12 กรกฎาคม 2545 ส่วน บริษัท บี.โอ.เอส.เอส.คอนซัลแตนท์ จำกัด ถูกขีดชื่อเป็นบริษัทร้าง เมื่อวันที่ 26 สิงหาคม 2545
จากการตรวจสอบยังพบว่า ทั้งสองบริษัท แจ้งข้อมูลการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัท เหมือนกับบริษัท เค.วาย.เอ็น.พี. คอนซัลแตนท์ จำกัด ทุกประการ คือ จัดตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 11 สิงหาคม 2536 มีทุนจดทะเบียนแค่ 1 หมื่นบาท ตั้งอยู่เลขที่ 586 ถนนอโศก-ดินแดง แขวงดินแดง เขตดินแดง กรุงเทพมหานคร แจ้งประกอบกิจการให้บริการรวมทั้งวิเคราะห์และประเมินผลในการดำเนินธุรกิจ เหมือนกัน
ขณะที่ บริษัท ทั้งสามแห่ง ปรากฏชื่อกรรมการผู้มีอำนาจคนเดียวกัน คือ นาย ปรีชาพล บุนนาค เช่นกัน
บทบาทของ "นายปรีชาพล บุนนาค" ต่อคดีธนาคารบีบีซี จึงนับว่าไม่ธรรมดา และถือเป็น "ตัวละครหลัก" ของเรื่องนี้เลยทีเดียว