ผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ครอบครัวไทย: กรณีศึกษาหัวหน้าครัวเรือนหรือตัวแทนของครัวเรือนจาก 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดพังงา สมุทรสาคร ยโสธร และนครสวรรค์
ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค)
ร่วมกับ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์
เสนอผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ครอบครัวไทย:
กรณีศึกษาหัวหน้าครัวเรือนหรือตัวแทนของครัวเรือนจาก 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่
จังหวัดพังงา สมุทรสาคร ยโสธร และนครสวรรค์
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ โดยการสนับสนุนทุนวิจัยของศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (ศทส.สป.พม.) เปิดเผยผลวิจัยเชิงสำรวจ เรื่อง สถานการณ์ครอบครัวไทย กรณีศึกษาหัวหน้าครัวเรือนหรือตัวแทนจาก 4 จังหวัดนำร่อง ได้แก่ จังหวัดพังงา สมุทรสาคร ยโสธร และนครสวรรค์ จำนวน 41,886 ตัวอย่าง โดยทำการเก็บข้อมูลทุกตำบล รวมทั้งสิ้น 341 ตำบล ระยะเวลาในการดำเนินโครงการครั้งนี้ ตั้งแต่วันที่ 6 พฤษภาคม – 12 ตุลาคม 2554 ที่ผ่านมา
จากการใช้หลักสถิติวิจัยวิเคราะห์องค์ประกอบความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัว พบว่า องค์ประกอบที่สำคัญ
อันดับแรก ได้แก่ ความเข้มแข็งของชุมชน ได้ 74.0 คะแนน หมายความว่า สถาบันครอบครัวจะเข้มแข็งได้จำเป็นต้องให้ชุมชนสนับสนุนให้ครอบครัวมีการปรับตัวในภาวะยากลำบากจากภัยพิบัติต่างๆ ส่งเสริมให้มีกิจกรรมสร้างความเข้มแข็งในครอบครัวเพื่อเป็นทุนในการป้องกันปัญหาต่างๆ และสัมพันธภาพที่เกิดขึ้นอย่างดีระหว่างครอบครัวในชุมชน
อันดับที่สอง ได้แก่ การพึ่งพาตนเองในระดับชุมชน ได้ 73.5 คะแนน หมายถึง การที่ชุมชนมีการส่งเสริมให้ครอบครัวพึ่งพาตนเองทั้งด้านเศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสาร และสุขภาพ
อันดับที่สาม ได้แก่ ทุนทางสังคมของครอบครัว ได้ 56.4 คะแนน หมายถึง ความรู้สึกไว้วางใจ ปลอดภัย และภาคภูมิใจที่เป็นส่วนหนึ่งของชุมชน ได้แก่ เข้าร่วมกิจกรรม มีระบบเตือนภัยทางสังคมและสิ่งที่เอื้อต่อครอบครัว
อันดับที่สี่ ได้แก่ การปรับตัวของครอบครัว ได้ 45.6 คะแนน หมายถึง ความสามารถของครอบครัวในการปรับตัวในภาวะยากลำบาก ความสามารถของครอบครัวในการจัดการปัญหาต่างๆ สามารถหลีกเลี่ยงภาวะเสี่ยงที่จะเกิดขึ้นได้
อันดับที่ห้า ได้แก่ การพึ่งพาตนเองของครอบครัว ได้ 31.1 คะแนน หมายถึง ความสามารถของครอบครัวในการพึ่งพาตนเองทั้งทางเศรษฐกิจ ข้อมูลข่าวสารและสุขภาพ
อันดับที่หก ได้แก่ สัมพันธภาพของสมาชิกในครอบครัว ได้ 13.9 คะแนน หมายถึง ความมุ่งมั่นในการสร้าง และรักษาความเป็นครอบครัว โดยการเอาใจใส่ ดูแล ช่วยเหลือ สนับสนุนซึ่งกันและกัน มีการแสดงออกซึ่งความรัก ความผูกพันต่อกันภายในครอบครัว
อันดับที่เจ็ด ได้แก่ การปราศจากปัญหาของชุมชน ได้ 3.5 คะแนน หมายถึง ชุมชนสามารถปลอดจากปัญหา แหล่งอบายมุข และโรคภัยไข้เจ็บติดเชื้อต่างๆ เป็นต้น
นอกจากนี้เมื่อถามถึงระดับความเข็มแข็งของครอบครัวไทย ในภาพรวม 4 จังหวัด พบว่ามีเพียงร้อยละ 0.8 เท่านั้นที่เข้มแข็งมาก ร้อยละ 16.9 เข้มแข็งปานกลาง ร้อยละ 30.2 เข้มแข็งน้อย ร้อยละ 28.9 เข้มแข็งน้อยมาก และร้อยละ 23.2 เข้มแข็งน้อยที่สุด เมื่อศึกษาลงไปในรายจังหวัดพบว่าจังหวัดที่น่าเป็นห่วงคือจังหวัดสมุทรสาคร เพราะครอบครัวที่เข้มแข็งน้อยที่สุดมีอยู่ถึงร้อยละ 47.5
และผลการประเมินสถานการณ์ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไทย โดยภาพรวมใน 4 จังหวัดที่ถูกศึกษาพบว่า ไม่ผ่านเกณฑ์เฉลี่ยสูงถึงร้อยละ 80.5 ของครอบครัวทั้งหมด ที่ผ่านเกณฑ์มีเพียงร้อยละ 19.5 เท่านั้น โดยจังหวัดที่ไม่ผ่านเกณฑ์มากที่สุดได้แก่จังหวัดสมุทรสาครที่มีสูงถึงร้อยละ 89.3 รองลงมาคือจังหวัดนครสวรรค์ที่ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 84.5 อันดับที่สามได้แก่จังหวัดยโสธรไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 76.6 และอันดับที่สี่ได้แก่จังหวัดพังงาที่ไม่ผ่านเกณฑ์มาตรฐานร้อยละ 68.8 ตามลำดับ
ยิ่งไปกว่านั้น เมื่อพิจารณาโดยภาพรวมขององค์ประกอบที่มีความสำคัญต่อความเข้มแข็งของครอบครัว พบว่า ความเข็มแข็งของชุมชนในภาพรวมไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ถึงร้อยละ 91.1 มีเพียงร้อยละ 8.9 ที่ผ่านเกณฑ์ประเมิน ในขณะที่การพึ่งพาตนเองในระดับชุมชนในภาพรวม ร้อยละ 54.9 ผ่านเกณฑ์ประเมิน ร้อยละ 45.1 ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน
ส่วนตัวชี้วัดด้านทุนทางสังคมของครอบครัวโดยภาพรวมร้อยละ 16.9 ผ่านเกณฑ์ประเมิน แต่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 83.1 ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน อย่างไรก็ตาม เมื่อศึกษาถึงการปรับตัวของครอบครัวในภาพรวม พบว่าร้อยละ 56.9 ผ่านเกณฑ์ประเมิน แต่ร้อยละ 43.1 ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน
นอกจากนี้ ด้านการพึ่งพาตนเองของครอบครัว พบว่า ร้อยละ 50.4 ผ่านเกณฑ์ประเมิน แต่ร้อยละ 49.6 ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน และส่วนใหญ่หรือร้อยละ 74.0 ผ่านเกณฑ์ประเมินด้านสัมพันธภาพของสมาชิกในครอบครัว แต่ร้อยละ 26.0 ไม่ผ่านเกณฑ์ประเมิน อย่างไรก็ตาม ตัวชี้วัดด้านการปราศจากปัญหาของชุมชนโดยภาพรวมผ่านเกณฑ์ร้อยละ 94.2 ไม่ผ่านเกณฑ์ร้อยละ 5.8 ในการศึกษาครั้งนี้
ผอ.ศูนย์วิจัยความสุขชุมชน กล่าวว่า จากการวิจัยครั้งนี้จะพบว่า ความเข้มแข็งของสถาบันครอบครัวไทยโดยภาพรวม ไม่ผ่านเกณฑ์เพราะยังไม่มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันอย่างเพียงพอระหว่างครอบครัวในแต่ละชุมชน ยังไม่มีการส่งเสริมการมีส่วนร่วมของแต่ละครอบครัวในการช่วยคิดช่วยทำกิจกรรมสร้างสรรค์ภายในชุมชนอย่างเพียงพอ จึงเสนอให้รัฐบาล หน่วยงานภาครัฐและแกนนำภาคประชาชนนำกิจกรรมที่มีพลังมากพอที่จะนำแต่ละครอบครัวออกมาทำกิจกรรมร่วมกันในชุมชน เช่น กิจกรรมด้านสุขภาวะ จัดสภาพแวดล้อมทางกายภาพในชุมชนให้น่าอยู่ การมีกิจกรรมด้านนันทนาการร่วมกัน จัดหาความสนใจร่วมกันของแต่ละครอบครัวในชุมชนที่บางชุมชนอยากจัดกิจกรรมด้านการศึกษาพิเศษให้กับบุตรหลานของตนเอง หรือบางชุมชนแต่ละครอบครัวอาจสนใจกิจกรรมส่งเสริมด้านอาชีพ หารายได้พิเศษ เป็นต้น
จากการพิจารณาลักษณะทั่วไปของตัวอย่างในภาพรวม 4 จังหวัด พบว่า ร้อยละ 51.6 ระบุไม่ใช่หัวหน้าครอบครัว ร้อยละ 48.4 ระบุเป็นหัวหน้าครอบครัว ร้อยละ 18.1 ระบุมีจำนวนสมาชิกในบ้านหลังเดียวกันไม่เกิน 2 คน ร้อยละ 25.2 ระบุมีจำนวนสมาชิกในบ้านหลังเดียวกัน 3 คน ร้อยละ 25.4 ระบุมีจำนวนสมาชิกในบ้านหลังเดียวกัน 4 คน ร้อยละ 16.6 ระบุมีจำนวนสมาชิกในบ้านหลังเดียวกัน 5 คน ร้อยละ 14.7 ระบุมีจำนวนสมาชิกในบ้านหลังเดียวกันมากกว่า 5 คนขึ้นไป ร้อยละ 81.0 ระบุมีจำนวนครอบครัวที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน 1 ครอบครัว ร้อยละ 17.1 ระบุมีจำนวนครอบครัวที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน 2 ครอบครัว ร้อยละ 1.9 ระบุมีจำนวนครอบครัวที่อยู่ในบ้านหลังเดียวกัน 3 ครอบครัวขึ้นไป ร้อยละ 22.3 ระบุรายได้ครอบครัวเฉลี่ยต่อเดือนต่ำกว่า 5,000 บาท ร้อยละ 32.4 ระบุ 5,000-9,999 บาท ร้อยละ 18.6 ระบุ 10,000-14.999 บาท ร้อยละ 9.7 ระบุ 15,000-19,999 บาท ร้อยละ 7.5 ระบุ 20,000-24,999 บาท ร้อยละ 2.3 ระบุ 25,000-29,999 บาท ร้อยละ 7.2 ระบุ 30,000 บาทขึ้นไป ร้อยละ 85.8 ระบุที่อยู่อาศัยเป็นของตนเองทั้งบ้านและที่ดิน และร้อยละ 14.2 ระบุไม่ใช่ของตนเอง เช่น บ้านเช่า เป็นเจ้าของบ้านแต่ต้องเช่าที่ดิน
ดาวน์โหลด