เจาะแผนกำจัดขยะยุค คสช. 2.6หมื่นล.!ก่อนไอเดียเก็บเงิน220 บ.-"อิตาเลียนไทย" โผล่
"..รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ โดยมีกระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานหลัก และเตรียมงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการเรื่องนี้ไว้แล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท.."
ไม่ว่าข้อเท็จจริงเกี่ยวกับการบริหารจัดการขยะ ของ กระทรวงมหาดไทย ที่นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 16 มิ.ย.58 ที่ผ่านมา ซึ่งมีประเด็นสำคัญอยู่ที่แนวคิดการเสนอปรับอัตราเฉลี่ยค่าบริหารจัดการขยะที่เหมาะสมอยู่ที่ 220 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน รวมถึงการที่กระทรวงมหาดไทยเสนอให้รัฐบาลตั้งงบประมาณปีละ 3 พันล้านบาท การร่วมลงทุนกับภาคเอกชนบริหารจัดการขยะ จะเกิดผลในทางปฏิบัติจริงหรือไม่
(อ่านประกอบ : ก.มหาดไทยเสนอเก็บขยะ 220 บาท/ครัวเรือน/เดือน)
แต่ข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้นแล้ว ในทางปฏิบัติ คือ รัฐบาล "พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้เห็นชอบกับแนวทางการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยของประเทศ โดยมีกระทรวงมหาดไทย เป็นแม่งานหลัก และเตรียมงบประมาณสนับสนุนการดำเนินการเรื่องนี้ไว้แล้วเป็นจำนวนเงินกว่า 2 หมื่นล้านบาท
โดยข้อเท็จจริงเรื่องนี้ ปรากฎให้เห็นชัดเจน ในช่วงปลายเดือนเม.ย.58 ที่ผ่านมา กระทรวงมหาดไทย โดย พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ได้เสนอเรื่องการดำเนินโครงการนำร่องเพื่อแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในพื้นที่จ.พระนครศรีอยุธยา ให้ที่ประชุม ครม. รับทราบ
ทั้งนี้ การนำเสนอเรื่องนี้ ระบุชัดเจนในเอกสารที่นำเสนอต่อที่ประชุม ครม. ว่า การได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เมื่อวันที่ 19 ส.ค.2557 ใน 2 ประเด็น ดังนี้
1.ให้กระทรวงมหาดไทย ดำเนินโครงการกำจัดขยะในพื้นที่จ.อยุธยา ในลักษณะโครงการนำร่องเพื่อเป็นรูปแบบการดำเนินการกำจัดขยะที่รักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชน โดยให้ใช้ที่ราชพัสดุ จำนวน 372 ไร่ 2 งาน 29 ตารางวา ที่ ต.มหาพราหมณ์ อ.บางบาล จ.อยุธยา
2. ให้กระทรวงมหาดไทย รับไปพิจารณาร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อจัดทำแผนจัดตั้งโรงกำจัดขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศ เพื่อให้มีโรงกำจัดขยะมูลฝอยเพียงพอที่จะรองรับปริมาณขยะของทุกจังหวัด
ส่วนผลการดำเนินงาน นั้น กรมธนารักษ์ ได้อนุญาตให้ใช้ที่ราชพัสดุแปลงดังกล่าวแล้ว เมื่อวันที่ 31 ต.ค.57 ขณะที่กรมโยธาธิการและผังเมือง ได้ดำเนินการสำรวจออกแบบก่อสร้างสถานที่ฝังกลบขยะแห่งใหม่เสร็จเรียบร้อย ประกอบด้วย งานก่อสร้างสถานที่ฝังกลบขยะ งานขนย้ายขยะ งานปรับภูมิทัศน์และงานจัดหาครุภัณฑ์ ส่วน จ.อยุธยา ได้ทำแผนการประชาสัมพันธ์รับฟังความเห็นจากประชาชนในพื้นที่เรียบร้อยแล้ว
ขณะที่สำนักงบประมาณ ได้อนุมัติงบประมาณ ในการดำเนินการโครงการนี้ จำนวน 534,695, 500 บาท แบ่งเป็น
1. โครงการจัดการแก้ไขปัญหาขยะ จำนวนเงิน 372,654,900 บาท
2. จัดหาครุภัณฑ์โครงการก่อสร้างสถานที่จำกัดขยะนำร่อง จำนวน 152,935,600 บาท
3. โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย 9,105,000 บาท
โดยสำนักงานปลัดกระทรวงมหาดไทย ได้มีหนังสือมอบอำนาจให้ผู้ว่าฯ อยุธยา ดำเนินการตามขั้นตอนจัดซื้อจัดจ้าง 2 ส่วน คือ
1.โครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะนำร่อง คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษ จัดหาผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำสุดแล้ว ได้แก่ บริษัท อิตาเลียนไทย ดีเวลล๊อปเม้นต์ จำกัด (มหาชน) จำนวนเงิน 369,633,000 บาท และลงนามในสัญญาจัดซื้อจัดจ้างแล้ว เมื่อวันที่ 24 ธ.ค.2557 ดำเนินกิจกรรมทั้งการขนย้ายขยะ จำนวน 2 แสนตัน และการก่อสร้างสถานที่ฝังกลบขยะมูลผอยและงานปรับภูมิทัศน์ ซึ่งคาดว่าจะเสร็จสิ้นภายในเดือนส.ค.2558
2. โครงการรณรงค์ประชาสัมพันธ์เพื่อให้ประชาชนมีส่วนร่วมในการจัดการขยะมูลฝอย คณะกรรมการจัดจ้างโดยวิธีพิเศษจัดหาผู้รับจ้างที่เสนอราคาต่ำที่สุดแล้ว ได้แก่ บริษัท ดีเอวัน จำกัด จำนวนเงิน 8,900,000 บาท ภายใต้หัวข้อเรื่อง "อยุธยาเมืองประวัติศาสตร์ เมืองสะอาด ปลอดขยะ ต้นแบบ"
และ 3.การจัดหาครุภัณฑ์สำหรับโครงการก่อสร้างสถานที่กำจัดขยะนำร่อง จำนวน 152,935,600 บาท คาดว่าจะสามารถดำเนินการได้ประมาณเดือนมี.ค.2558
ทั้งนี้ ในการนำเสนอเรื่องดังกล่าว กระทรวงมหาดไทย ยังได้ระบุทั้งพื้นที่ที่เหมาะสม ในการคัดเลือกเพื่อก่อสร้างโรงกำจัดขยะมูลฝอย จำนวน 24 จังหวัด (รวมอยุธยา) จาก 76 จังหวัด ประกอบไปด้วย อุบลราชธานี อุดรธานี บุรีรัมย์ สงขลา ภูเก็ต กระบี่ นครราชสีมา ขอนแก่น สุรินทร์ มหาสารคาม เลย ชลบุรี ระยอง สมุทรปราการ นนทบุรี ปทุมธานี นครสวรรค์ พิษณุโลก ลพบุรี ยะลา เชียงใหม่ นครพนม พัทลุง
ส่วนการจัดทำคำของบประมาณการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยลักษณะบูรณาการประจำปี 2559 ที่อยู่ในความดูแลของกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปรากฎข้อมูลอยู่ที่จำนวน 384 โครงการ เป็นเงิน 26,181.99 ล้านบาท กำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัด จัดทำแผนปฏิบัติการเสนอกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อพิจารณาอนุมัติก่อนการดำเนินการ
ขณะที่กระทรวงมหาดไทย ยืนยันว่า "ควรให้รัฐบาลสนับสนุนงบประมาณเรื่อง การบริหารจัดการขยะและสิ่งแวดล้อมเป็นการเฉพาะ เพื่อนำไปดำเนินการตามแผนแม่บทการบริหารจัดการขยะมูลฝอยของประเทศซึ่งเป็นวาระแห่งชาติ"
เบื้องต้น ที่ประชุม ครม. มีมติรับทราบ ตามที่เสนอ และให้กระทรวงมหาดไทยเป็นหน่วยงานหลักรับผิดชอบเกี่ยวกับการแก้ไขปัญหาขยะมูลฝอยในภาพรวมของประเทศ โดยให้กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นหน่วยงานสนับสนุนในการดำเนินการ และให้พิจารณาแก้ไขปรับปรุงกฎหมาย ระเบียบ และหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องให้สอดคล้องกับแนวทางการดำเนินการดังกล่าวด้วยรวมถึงการทำงานร่วมกับกระทรวงพลังงาน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องดำเนินการจัดหาเตาเผาขยะให้แก่ชุมชนหรือท้องถิ่นต่อไปด้วย
ดังนั้น จึงไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจอะไร ที่ท่าทีของ "พลเอก อนุพงษ์ เผ่าจินดา" รมว.มหาดไทย ในช่วงเวลานี้ จะให้ความสำคัญกับเรื่องขยะเป็นพิเศษ เพราะถือเป็น "งานใหญ่" ที่อยู่ในความรับผิดชอบโดยตรง
ส่วนผลงานที่ออกมาในอนาคต จะประสบความสำเร็จมากน้อยเพียงใด คงต้องจับตามองต่อไปอย่างใกล้ชิด
โดยเฉพาะการใช้จ่ายเม็ดเงินจำนวนกว่า 2 หมื่นล้านบาท ซึ่งเป็นเงินภาษีของประชาชน ว่า "คุ้มค่า" และ "เกิดประโยชน์สูงสุด" มากน้อยแค่ไหน?