คนไทยยอดตายบนถนนพุ่งกว่า 2.3หมื่นคน มอเตอร์ไซด์ยึดแท่นตายสูงสุด
ผู้เชี่ยวชาญองค์การอนามัยโลก เปิดรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนไทยล่าสุด คนไทยเสียชีวิตกว่า 23,000 คน ทำสถิติต่อแสนประชากรพุ่งเกินคาดจักรยานยนต์ยึดแท่นตายสูงสุด
ศูนย์ความร่วมมือระหว่างองค์การอนามัยโลกและโรงพยาบาลขอนแก่น คณะทำงานสนับสนุนแผนการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหาอุบัติเหตุทางถนนระดับจังหวัด (สอจร.) ศูนย์วิชาการเพื่อความปลอดภัยทางถนน (ศวปถ.) ศูนย์วิจัยอุบัติเหตุแห่งประเทศไทย มูลนิธิไทยโรดส์ สำนักโรคไม่ติดต่อ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข บริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด และสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดแถลงข่าวรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนไทย พ.ศ.2555 เพื่อกระตุ้นเตือนให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องและประชาชนได้เข้าใจ รับทราบ ความรุนแรง และหาทางแก้ไขลดการเกิดอุบัติเหตุ เสียชีวิต และบาดเจ็บลงให้ได้มากที่สุด
นายแพทย์วิทยา ชาติบัญชาชัย ศูนย์ความร่วมมือกับองค์การอนามัยโลกด้านการป้องกันอุบัติเหตุประจำประเทศไทย กล่าวแบ่งเป็น 2 ช่วง ช่วงแรกเป็นการสรุปผลการดำเนินงานใน 5 ปีของทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน และช่วงที่สอง เป็นรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย พ.ศ. 2555 โดยมีรายละเอียดดังนี้
ช่วงรายงานจากองค์การอนามัยโลก
• ในจำนวน 195 ประเทศที่เข้าร่วมกับองค์การอนามัยโลกและองค์การสหประชาชาติ มี 88 ประเทศจาก พยายามลดการตายจากอุบัติเหตุแต่ยังคงอยู่ในระดับสูงอยู่ ครึ่งหนึ่งของผู้เสียชีวิตเป็นคนเดินเท้า ขี่จักรยาน และคนขับมอเตอร์ไซด์ ประเทศที่มีรายได้สูงมีผู้เสียชีวิตเพียง 8% แต่ระดับปานกลางมีผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนสูงถึง 80% ประเทศที่มีอุบัติเหตุทางถนนลดลง ใน 5 ปีแรกของทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน กลุ่มที่มีความสูญเสียและการเสียชีวิตส่วนใหญ่ เกิดกับประเทศรายได้ปานกลาง อย่างประเทศไทย มีการซื้อมอเตอร์ไซด์ใช้มากเมืองไทยมากที่สุดในโลก มีถึง 80% ที่ใช้มอเตอร์ไซด์ ถ้ารวมคนเดินถนนกับคนขี่จักรยานเป็น 90% เป็นกลุ่มของคนใช้ถนนที่เสี่ยงอันตรายมากที่สุดในโลก
• 28 ประเทศที่มีกฎหมายบังคับเมาแล้วขับ-สวมหมวกนิรภัย-จำกัดความเร็ว-คาดเข็มขัดนิรภัย-การใช้เบาะที่นั่งสำหรับเด็ก มีอีก 35 ประเทศที่มีการผ่านกฎหมายจราจร แต่เพียง 7% เท่านั้นที่ออกกฎหมายมาได้ครอบคลุมปัจจัยความเสี่ยงทั้ง 5 อย่าง
• 59 ประเทศ มีกฎหมายจำกัดความเร็วและบังคับใช้ ประเทศไทยอยู่ในกลุ่มที่ยังบังคับใช้ไม่เต็มที่
• 89 ประเทศ มีกฎหมายห้ามดื่มแล้วขับ ไทยแม้จะมีการวัดระดับแอลกอฮอล์ในเลือด แต่ยังถือว่าน้อยมาก
• 90 ประเทศมีการบังคับใช้หมวกนิรภัย ประเทศไทยมีการบังคับใช้กฎหมายและต้องเป็นหมวกที่ได้มาตรฐานด้วย
• ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ นโยบายส่งเสริมการเดินและขี่ จยย. 20% นโยบายใช้รถโดยสารสาธารณะ มีเพียง 65 % มีแต่โครงการวางแผนไว้แต่ยังไม่เกิดขึ้น ยกตัวอย่างกรณีญี่ปุ่นมีการใช้ถนนร่วมกันระหว่างคนเดิน ขี่จักรยาน และคนขับรถ หรืออย่างออสเตรเลียมีการแยกถนนให้เห็นชัดเจน ต่างจากไทยที่ถนนแทบจะเรียกว่า “ถนนเปลือย” รถจึงเกิดอุบัติเหตุลงข้างทางมาก 52 ประเทศ มีรถยนต์ที่ได้คุณภาพ 30 ประเทศ ที่มีการทดสอบรถยนต์ที่ออกใหม่
• ทุก 1 คน ที่ตายมีเจ็บ 20 คน แต่ 1 คนที่เจ็บ จาก 20 คน จะกลายเป็นคนพิการ ใน 111 ประเทศมีหมายเลขโทรศัพท์ฉุกเฉิน 59 ประเทศที่มีรถรับคนเจ็บ แต่เพียง 2 ใน 3 ของหมอและพยาบาลได้รับการฝึกอบรมด้านการแพทย์ฉุกเฉิน
• ด้านการใช้ข้อมูลเพื่อเป็นฐานการวิเคราะห์อุบัติเหตุ 17% ของจำนวนประเทศทั้งหมด ใช้ข้อมูลวิเคราะห์ของตำรวจ มีเพียง 17% ที่ใช้ฐานข้อมูลการวิเคราะห์หลายฐาน 50% ที่ใช้บันทึกการตายภายใน 30 วัน 104 ประเทศ 78 ประเทศ มีข้อมูลที่ดี การเก็บข้อมูลรอบใหม่ที่ใช้ระบบฐานข้อมูล 3 ฐาน เป็นเรื่องใหม่ ล่าสุดองค์การอนามัยโลกระบุชมการเก็บข้อมูล 3 ฐานของไทย และยกให้ใช้เป็นตัวอย่างกับประเทศอื่นๆ ได้
อย่างไรก็ตาม องค์การอนามัยโลก ระบุชัดว่า การบังคับใช้กฎหมายเป็นยุทธศาสตร์ที่สำคัญที่สุดที่จะใช้ลดการสูญเสียทางถนน ต้องคิดถึงกลุ่มเสี่ยงที่สุดว่าจะช่วยอย่างไร ต้องคิดถึงคนขี่ จักรยาน จักรยานยนต์ และคนเดินเท้า พร้อมให้คิดถึง infra ที่ดี ลงทุนตั้งแต่การออกแบบก่อสร้าง การแต่งตัวให้ถนน เช่น สัญญาณ สัญลักษณ์ อุปกรณ์ป้องกันทางถนน เพื่อความปลอดภัยมากขึ้น
ช่วงเปิดรายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนของประเทศไทย พ.ศ.2555
ผลการรวบรวม ศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูล การเกิดอุบัติเหตุของไทยปี 2555 พบว่า จำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุทางถนนทั่วประเทศมีทั้งสิ้น 1,179,135 ราย มีจำนวนผู้เสียชีวิตทั้งสิ้น 23,601 ราย จากเดิมที่รายงานโดย สำนักงานตำรวจแห่งชาติไว้ 8,764 ราย ทำให้ประเทศไทยมีอัตราการเสียชีวิตเป็น 36.62 ราย ต่อ ประชากรแสนคน ซึ่งสถิติเมื่อปี 2554 ใช้ข้อมูลผู้เสียชีวิตเฉพาะกระทรวงสาธารณสุขมีอัตราการเสียชีวิตที่ 20.81 รายต่อประชากรแสนคน การใช้ข้อมูล 3 ฐาน มาวิเคราะห์ ถือเป็นเรื่องท้าทายที่สำคัญทันที เนื่องจากประเทศไทยได้กำหนดเป้าหมายจากสถิติเดิมไว้ว่า อัตราการเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางถนนจะลดลงเหลือต่ำกว่า 10 รายต่อประชากรแสนคน เมื่อสิ้นสุดทศวรรษแห่งความปลอดภัยทางถนน พ.ศ.2563
ทั้งนี้ มีผู้บาดเจ็บสาหัส 110,777 ราย บาดเจ็บเล็กน้อย 1,044,757 ราย พาหนะที่คร่าชีวิตคนไทยมากที่สุดยังคงเป็น “รถจักรยานยนต์” มีจำนวนผู้ประสบอุบัติเหตุสูงถึง 783,060 ราย คิดเป็น 75% ของผู้ประสบอุบัติเหตุจากรถทุกประเภท รองลงมาได้แก่ จักรยาน 103,849 ราย (10%) รถยนต์ 46,684 ราย (4%) ซึ่งอัตราการสวมหมวกนิรภัยของผู้ใช้รถจักรยานยนต์โดยเฉลี่ยทั่วประเทศอยู่ที่ 43% ผู้ขับขี่ 52% ผู้โดยสารเพียง 20% แม้ในบริเวณชุมชนเมืองจะมีการสวมสูงถึง 74% แต่นอกชุมชนเมืองมีการสวมหมวกนิรภัยเหลือเพียง 28% จากข้อมูลของมูลนิธิไทยโรดส์
กลุ่มอายุที่ประสบอุบัติเหตุสูงสุดได้แก่ 15-19 ปี รองลงมาได้แก่ 10-14 ปี และ 20-24 ปีตามลำดับ เมื่อรวมกันแล้วทำให้มีผู้ประสบอุบัติเหตุอายุระหว่าง 10-24 ปี สูงถึง 378,760 ราย หรือคิดเป็น 36% ของผู้ประสบอุบัติเหตุทั้งหมด
จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตต่อประชากรแสนคนสูงสุด คือ จังหวัดระยอง สูงถึง 75.78 รายต่อประชากรแสนคน ส่วนอีก 3 จังหวัดต่อมา คือ ภูเก็ต สระบุรี และสิงห์บุรี จังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตในระดับสูง 9 จังหวัด ได้แก่ ชลบุรี ฉะเชิงเทรา ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ชุมพร นครนายก นครปฐม นครสวรรค์ และปราจีนบุรี
ส่วนจังหวัดที่มีอัตราการเสียชีวิตน้อยที่สุด คือ กรุงเทพมหานคร 16.67 รายต่อประชากรแสนคน รองลงมาคือ นนทบุรี อำนาจเจริญ ศรีสะเกษ และยโสธร
ด้านสถิติการจับกุม ปรับ และดำเนินคดี จากปัจจัยเสี่ยงหลัก 4 ด้าน ทั่วประเทศ มีเพียง 2,776,774 ครั้ง การจับกุม ปรับ ผู้ไม่สวมหมวกนิรภัย มีการจับกุม 1,890,190 ครั้ง หรือ 3,428.66 ครั้งต่อประชากรแสนคน เพิ่มจากปีที่แล้ว 20% จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมสูงสุด ได้แก่ ภูเก็ต 41,315 ครั้ง หรือ 11,447.61 ครั้งต่อประชากรแสนคน จากการศึกษาวิเคราะห์ได้ว่า หลายจังหวัดที่มีสถิติการจับกุมไม่สวมหมวกนิรภัยมากจะมีอัตราการสวมหมวกนิรภัยสูง เนื่องจากประชาชนจะมีความตระหนักว่าหากไม่สวมหมวกนิรภัยอาจจะถูกจับกุมได้ ซึ่งจังหวัดที่เห็นผลอย่างชัดเจน คือ ภูเก็ต แต่เมื่อพิจารณาในภาพรวม พบว่ายังมีอีกหลายจังหวัดที่ไม่มีความสัมพันธ์ดังกล่าว เช่น มีการจับกุมมากแต่อัตราการสวมหมวกนิรภัยน้อย หรือมีการจับกุมน้อยแต่อัตราการสวมหมวกนิรภัยมาก
ด้านสถิติการจับกุม “เมาแล้วขับ” มี 106,957 ครั้ง หรือ 194.01 ครั้งต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 155% จังหวัดที่มีอัตราการจับกุมสูงสุด ได้แก่ อุทัยธานี 25,852 ครั้ง หรือ 7,858.95 ต่อประชากรแสนคน การจับกุมคดีเมาแล้วขับถือว่ามีสถิติน้อยที่สุดเมื่อเปรียบเทียบกับคดีอื่นๆ ส่วนหนึ่งอาจเนื่องมาจากการที่จะพิสูจน์ว่าเป็นผู้กระทำความผิดจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือตรวจวัด หรือช่วงเวลาในการบังคับใช้กฎหมายเอื้อให้ทำได้เฉพาะช่วงเวลากลางคืน อีกทั้งกฎหมายเดิมมีช่องว่างให้ผู้ต้องสงสัยว่าเมาแล้วขับไม่จำเป็นต้องเป่าเครื่องวัดแอลกอฮอล์ได้ อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน พ.ร.บ.จราจรทางบก (ฉบับที่ 10) 2557 ได้มีผลบังคับใช้แล้ว โดยมีการแก้ไขประเด็นสำคัญคือ มาตรา 142 เกี่ยวกับกำหนดข้อสันนิษฐานในกรณีผู้ขับขี่ไม่ยอมให้ทดสอบว่าหย่อนความสามารถในการขับขี่โดยไม่มีเหตุอันควร ซึ่งจะให้อำนาจเจ้าพนักงานจราจรหรือพนักงานเจ้าหน้าที่สั่งให้ผู้ขับขี่หยุดรถเมื่อเห็นว่ารถนั้นมีสภาพไม่ถูกต้องตามที่บัญญัติไว้ ถือเป็นการแก้ปัญหาเมาแล้วขับได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น นอกจากนี้ เมื่อเปรียบเทียบระหว่างอัตราการจับกุมคดีเมาแล้วขับกับจำนวนเครื่องตรวจวัดแอลกอฮอล์ต่อประชากรแสนคน พบว่า หลายจังหวัดที่แม้จะมีเครื่องตวรจวัดน้อยแต่ก็มีสถิติการจับกุมมาก เช่น อุทัยธานี และสุพรรณบุรี ชี้ให้เห็นว่าจำนวนเครื่องตรวจวัดไม่ได้เป็นอุปสรรคในการทำงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจสำหรับจังหวัด
ด้านการขับรถเร็ว มีสถิติการจับกุม 311,746 ครั้ง หรือ 565.48 ครั้งต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากปี 2554 101% จังหวัดที่มีการจับกุมสูงสุด ได้แก่ อุทัยธานี 22,903 ครั้ง หรือ 6,962.46 ครั้งต่อประชากรแสนคน เมื่อเปรียบเทียบระหว่างอัตราการจับกุมคดีขับรถเร็วกับจำนวนเครื่องตรวจจับความเร็วต่อประชากรแสนคน พบว่าบางจังหวัดที่มีจำนวนเครื่องตรวจจับความเร็วมากจะมีอัตราการจับกุมสูง เช่น อุทัยธานี ยโสธร หรือประจวบคีรีขันธ์ แต่บางจังหวัดที่มีจำนวนเครื่องน้อยก็สามารถทำการจับกุมได้มาก เช่น ตาก นครราชสีมา หรืออุบลราชธานี เป็นต้น การควบคุมความเร็วในการขับขี่ในอนาคต นอกจากการเพิ่มความเข้มงวดในการจับกุมผู้ใช้ความเร็วเกินจากที่กฎหมายกำหนดร่วมกับการใช้เทคโนโลยีเครื่องตรวจจับความเร็วแล้ว ควรมีการวิเคราะห์และเพิ่มความเข้มข้นในการตรวจจับความเร็วในบริเวณจุดเสี่ยงที่เกิดอุบัติเหตุจากความเร็วบ่อยครั้ง โดยใช้ข้อมูลจากสำนักงานตำรวจแห่งชาติหรือกรมทางหลวง จะช่วยให้สามารถแก้ปัญหาอุบัติเหตุที่เกิดจากความเร็วได้อย่างมีประสิทธิภาพเพิ่มขึ้น
สถิติการจับกุม “ไม่คาดเข็มขัดนิรภัย” มี 467,881 ครั้งง หรือ 848.70 ครั้งต่อประชากรแสนคน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 33% จังหวัดที่มีการจับกุมสูงสุด ยังคงเป็นอุทัยธานี 16,443 ครั้ง หรือ 4,998.63 ครั้งต่อประชากรแสนคน การคาดเข็มขัดนิรภัยแม้จะไม่ช่วยลดจำนวนอุบัติเหตุ แต่สามารถช่วยลดความเสี่ยงที่จะบาดเจ็บเมื่อเกิดอุบัติเหตุขึ้น ถือเป็นมาตรการเพิ่มความปลอดภัยที่ผู้ใช้รถสามารถปฏิบัติได้ง่าย รวมทั้งเจ้าหน้าที่ก็สามารถบังคับใช้กฎหมายได้ง่ายกว่ากรณีเมาแล้วขับหรือขับรถเร็ว เนื่องจากไม่ต้องใช้อุปกรณ์เพิ่มเติม ในอนาคต หากมีการวิเคราะห์ข้อมูลการใช้เข็มขัดนิรภัยของผู้ประสบเหตุจากข้อมูลของกระทรวงสาธารณสุข จะช่วยให้เกิดประโยชน์ในการกำหนดจุดตรวจเพื่อเพิ่มความเข้มงวดการคาดเข็มขัดนิรภัยของผู้ใช้รถได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รายงานสถานการณ์ความปลอดภัยทางถนนประเทศไทย ปี 2555 โดยแผนงานสนับสนุนการป้องกันอุบัติเหตุจราจรในระดับจังหวัด (สอจร.) ถือเป็นรายงานฉบับแรกของประเทศไทยที่มีการวิเคราะห์สถิติอุบัติเหตุทางถนนในระดับประเทศจากข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน 3 ฐานข้อมูลหลัก ได้แก่ ข้อมูลผู้เสียชีวิตจากข้อมูลมรณบัตรกระทรวงสาธารณสุข สำนักงานตำรวจแห่งชาติ และบริษัท กลางคุ้มครองผู้ประสบภัยจากรถ จำกัด ส่วนข้อมูลผู้บาดเจ็บสาหัส จากข้อมูลผู้ป่วยใน สำนักงานกลางสารสนเทศบริการสุขภาพ (สกส.) สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) รวมรวมโดย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข และสุดท้ายข้อมูลผู้บาดเจ็บเล็กน้อย จากข้อมูลผู้ป่วยนอก รวมรวมโดย สำนักนโยบายและยุทธศาสตร์สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข.