เวทีวิพากษ์ “ขบวนประชาชน” ชี้เอ็นจีโอสาย คปร.-คสป.เจอทางตัน "ติดกับดักอำนาจรัฐ"
“ผาสุก” มอง “ม็อบบนถนน” จุดอ่อนภาคประชาชน ต้องก้าวให้ถึงระบบรัฐสภา “พฤกษ์”บอกสังคมชนบทไม่ได้เรียบง่ายสมานฉันท์ไร้การเมือง “จอห์น” บอกชาวบ้านไม่โง่ให้ใครล้างสมอง อดีตผู้นำแรงงานว่านักพัฒนาพิสูจน์ดีเอ็นเอทางศีลธรรมไม่ได้-ฟันธงเอ็นจีโอใน คกก.ปฏิรูป ติดกับดักอำนาจรัฐ
วันนี้ (17 ก.ย.) ศูนย์ติดตามประชาธิปไตยไทย คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย จัดเสวนา “ทบทวนขบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมในประเทศไทย” โดย ศ.ดร.ผาสุก พงษ์ไพจิตร คณะเศรษฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า เดิมบริบทภาคประชาชนยึดโยงเป็นเครือข่ายหลวมๆใช้การบริหารงานที่ล้มเหลวของรัฐมาขับเคลื่อน มีองค์กรพัฒนาเอกชนหรือเอ็นจีโอเป็นหัวขบวน ทำงานลักษณะนอกระบบการเมือง แต่ช่วงทศวรรษที่ผ่านมาถูกกลบกลืนโดยเสื้อเหลืองเสื้อแดงที่ต่อสู้ทางความคิดและแย่งมวลชนกัน ประกอบกับการแย้งกันเองทางความคิดของชาวบ้านกับเอ็นจีโอที่ถูกอำนาจครอบงำ
“จุดอ่อนคือขบวนประชาชนตัดสินใจเลือกทำการเมืองรอบนอกโดยใช้ยุทธศาสตร์ท้องถนน คำถามคือทำอย่างไรให้ขบวนหลุดจากถนนเข้าสู่กรอบกติกาที่ทุกฝ่ายยอมรับได้ในระบบรัฐสภา ที่สำคัญคือเอ็นจีโอและประชาชนบางส่วนอาจต้องดึงตัวเองออกจากอำนาจคณาธิปไตยแบบเดิมๆ”
นายพฤกษ์ เถาถวิล อาจารย์คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี กล่าวว่า ช่วง 3-4 ทศวรรษที่ผ่านมาชนบทกลายเป็นสังคมเปิดที่เชื่อมต่อกับภายนอกทั้งด้านการผลิต การบริโภค เกิดกลุ่มแยกย่อยแตกต่างหลากหลายทั้งมิติเศรษฐกิจ สังคม มีความรู้สึกนึกคิด ความคาดหวังและตื่นตัวเรื่องอุดมการณ์ทางการเมืองไม่น้อยไปกว่าคนเมือง อาจสรุปได้ว่าปัจจุบันไม่มีสังคมชนบทที่เรียบง่ายกลมกลืนสมานฉันท์ หรือเป็นลูกไล่ภายใต้ระบบอุปถัมภ์อย่างเชื่องๆ และไร้จิตสำนึกทางการเมืองอย่างที่หลายคนเข้าใจมานานแล้ว ส่วนเหตุผลที่ทำให้เอ็นจีโอก้าวไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของสังคมชนบท เกิดจากการลดทอนความเป็นการเมืองออกจากการพัฒนา หรือการมองชนบทหยุดนิ่ง แล้วโยนปัญหาต่างๆเป็นความผิดของทุนนิยม ขณะเดียวกันนักพัฒนาก็ติดกับดักทางการเมืองโดยไม่เห็นบริบทความขัดแย้ง ทำให้มีเพียงการดึงทุกฝ่ายมาร่วมมือกัน ทั้งที่อำนาจและผลประโยชน์ต่างกันราวฟ้ากับดิน
นายพฤกษ์ กล่าวอีกว่า วาทกรรมการพัฒนาภาคประชาชน ควรจะต่อรองหรือสู้กับวาทกรรมการพัฒนาของภาครัฐ แต่กลับถูกปรับเปลี่ยนดัดแปลงสอดไส้รับใช้อำนาจชนชั้นปกครอง เป็นสาเหตุว่าทำไมประชาชนจึงได้ฟังเรื่องสิทธิชุมชน ชุมชนเข้มแข็ง ธรรมาภิบาล ฯลฯ แบบสำเร็จรูป สุดท้ายคือแวดวงชั้นนำในวงการพัฒนาแสดงอำนาจผ่านสถาบันหรือกลุ่มทุนกิจกรรม มีอิทธิพลอย่างมากต่อแนวปฏิบัติการพัฒนา
“ต้องยอมรับว่าการพัฒนาภาคประชาชนได้สร้างพื้นที่ทางสังคมหรืออำนาจให้ประชาชน แต่อีกด้านก็สร้างปัญหามากด้วย เพราะทำให้การต่อสู้ที่เคยแหลมคมท้าทายกล้าปะทะอำนาจรัฐ กลายเป็นการรอมชอม หรือถ้าเรียกให้ชัดคือกระบวนการล๊อบบี้ของนักพัฒนารุ่นใหญ่ที่เข้าไปอยู่ในแวดวงอำนาจรัฐ”
นายสมยศ พฤกษาเกษมสุข อดีตผู้นำแรงงานและผู้ประสานงานสมัชชาปฏิรูปประเทศไทยภาคประชาชน กล่าวว่าขณะนี้เอ็นจีโอไม่สามารถพิสูจน์ดีเอ็นเอทางศีลธรรมได้ ดูจากกรณีการตั้งคณะกรรมการปฏิรูปและดึงเอ็นจีโอเข้าร่วมแม้จะประกาศตัวเป็นทางการว่าไม่ขึ้นตรงกับรัฐ แต่นัยยะสำคัญที่หลายคนทราบคือกรรมการชุดนี้ได้รับงบประมาณจากรัฐบาลหากจะกล่าวว่าไม่ถูกครอบงำอาจต้องทบทวนใหม่
“เราไม่ยอมรับบทบาทเอ็นจีโอที่ไปรับใช้รัฐ เพราะนั่นเป็นการเดินตามอำนาจที่รู้อยู่แล้วว่าช่อฉล”
นางสาวกิ่งกร นรินทรกุล ณ อยุธยา จากมูลนิธิชีวิวิถี กล่าวว่า ระยะหลังการทำงานของภาคเอ็นจีโอมีการสร้างวัฒนธรรมไม่ค่อยถูกต้องนัก โดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงที่ยึดโยงกับอำนาจ การจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงจากซากเดิมที่อ็นจีโอสร้างไว้ค่อนข้างยาก แต่ไม่ได้หมายความว่าจะสามารถสร้างกระบวนการเคลื่อนไหวทางสังคมที่กีดกันตัวเองจากการเมืองเชิงโครงสร้างไม่ได้
ด้านนายจอน อึ๊งภากรณ์ คณะกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย กล่าวว่าการนำปรากฏการณ์จากบางองค์กรมาวิจารณ์เหมารวมนั้นไม่ถูกต้อง เพราะยังมีขบวนการเอ็นจีโอที่ดีอีกมากและหลากหลาย ข้อวิพากษ์ที่กล่าวว่าเอ็นจีโอคือผู้มอมเมาล้างสมองชาวบ้าน ตนมองว่าไม่มีใครที่จะหลอกชาวบ้านได้ในระยะยาว ตรงกันข้ามการที่ชาวบ้านมีหลักไปเรียนรู้ ช่วยเหลือ ต่อสู้และร่วมเผชิญปัญหากับอำนาจรัฐน่าจะเป็นข้อดีมากกว่า ทั้งนี้ข้อด้อยที่มีอยู่ก็ต้องปรับปรุงและร่วมหาทิศทาง อย่าปล่อยให้เจตนาดีๆ ถูกกลืนไป.