วงถก400ผู้เห็นต่างฯ ชงรื้อข่าวกรอง-เลิกหมายจับ–ตั้งนิคมรองรับกลับบ้าน
ในขณะที่กระบวนการพูดคุยสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้ในระดับชาติที่มีมาเลเซียเป็นผู้อำนวยความสะดวก ยังไม่ค่อยมีความคืบหน้าอย่างเป็นรูปธรรมนัก
ทว่ากระบวนการพูดคุยในระดับพื้นที่ซึ่งมีกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า เป็นแม่งาน กลับมีความคืบหน้าอย่างมีนัยสำคัญ
โดยเฉพาะเมื่อวันจันทร์ที่ 15 มิถุนายน 2558 ใครผ่านไปแถวๆ กรมทหารราบที่ 151 ค่ายกัลยาณิวัฒนา ตำบลกะลุวอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส จะพบความคึกคักอย่างแปลกตา มีรถราขับเข้า-ออกกันขวักไขว่
ถามไถ่ดูก็จะทราบว่าไม่ใช่งานเลี้ยงหรือรอต้อนรับ "นาย" คนไหน แต่เป็นการเปิดวงพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐกับกลุ่มผู้เห็นต่างทางความคิด ซึ่งส่วนใหญ่พำนักอยู่ฝั่งมาเลเซีย โดยพิธีการจัดกันแบบเรียบง่ายในโรงยิมของกรมทหารราบที่ 151
งานนี้ไม่ใช่หน่วยทหารในพื้นที่ทำกันเพียงลำพัง เพราะมีตัวแทนนายกรัฐมนตรี มานั่งเป็นประธาน และมี พลโท นพวงศ์ สุรวิชัย แม่ทัพน้อยที่ 4 ในฐานะรองผู้อำนวยการรักษาความมั่นคงภายในภาค 4 ส่วนหน้า และดาโต๊ะจากรัฐกลันตัน กับรัฐตรังกานู ประเทศมาเลเซีย รวมทั้งผู้แทนคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดนราธิวาส ยะลา และปัตตานี เป็นสักขีพยาน
ขณะที่กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ซึ่งส่วนใหญ่พำนักอยู่ในฝั่งมาเลย์ เข้าร่วมถึง 467 คน!
การพูดคุยในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้โครงการพูดคุยเพื่อสันติสุข "พาสู่อ้อมกอด รอมฎอนการีม" (รอมฎอมการีม หมายถึง รอมฏอนที่มีเกียรติ) มีการเชิญผู้เห็นต่างทางความคิด ตลอดจนผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความไม่สงบที่ยังคงหลบหนีพักพิงอยู่ในประเทศเพื่อนบ้านให้มาร่วมพูดคุย และกลับมายังบ้านเกิด พร้อมเปิดเวทีให้แสดงความคิดเห็น รับฟังปัญหาจากผู้ที่ได้รับผลกระทบโดยตรง ตามนโยบายการพูดคุยเพื่อทำความเข้าใจระหว่างเจ้าหน้าที่รัฐไทยกับผู้เห็นต่างที่หลบหนีอยู่ในประเทศเพื่อนบ้าน ในมิติของสร้างสภาวะแวดล้อมให้เอื้อต่อการพูดคุยเพื่อยุติความขัดแย้ง ในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรีที่ 230/2557 เรื่องการจัดตั้งกลไกขับเคลื่อนกระบวนการพูดคุยเพื่อสันติสุขจังหวัดชายแดนภาคใต้
ข้อเสนอจากกลุ่มผู้เห็นต่าง
กลุ่มผู้เห็นต่างจากรัฐ ได้นำเสนอความคิดและข้อเรียกร้องต่อเจ้าหน้าที่รัฐหลายประการ สรุปได้ดังนี้
O อิหม่ามจากหนึ่งในสี่อำเภอของจังหวัดสงขลา: อยากให้ผู้ที่เข้ามอบตัวและรายงานตัวกับทางการ ซึ่งถือเป็นการให้ความร่วมมือกับเจ้าหน้าที่รัฐ ได้รับความเป็นธรรมและความปลอดภัย เพราะที่ผ่านมาไม่มั่นใจในความปลอดภัยจากรัฐ อยากให้มีอาชีพที่มั่นคง และให้ความสำคัญกับผู้นำศาสนา ผู้นำท้องถิ่น ผู้นำหมู่บ้าน
O ตัวแทนจากผู้เห็นต่างฯที่พำนักอยู่ในมาเลเซีย: ที่ผ่านมาเจ้าหน้าที่ไปเยี่ยมเยียนผู้เห็นต่างฯมากเกินไป จนเกิดความหวาดระแวง อยากให้แก้ไขระบบข่าวกรองที่ไม่ได้กรอง คือ บางเรื่องเป็นความรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งส่วนตัว ความเกลียดชังส่วนบุคคล หรือปัญหาการเมืองท้องถิ่น แต่คู่กรณีไปกลั่นแกล้งโดยแจ้งเจ้าหน้าที่รัฐจนเกิดความเข้าใจผิด และการซัดทอดผิดคน ทำให้เกิดข้อผิดพลาดในการออกหมายจับและดำเนินคดี ประชาชนเกิดความกลัวคนสวมเครื่องแบบทหาร ตำรวจ
เสนอให้มีการจัดโซนหรือพื้นที่ให้ผู้เห็นต่างฯอยู่รวมกันเป็นกลุ่มที่ไหนสักแห่งในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ หรือจัดตั้งนิคมขึ้นมาเพื่อที่ให้ผู้เห็นต่างฯได้กลับบ้าน และหาที่ทำกินให้ครอบครัวของคนเหล่านั้น เพราะที่ผ่านมาหลังจากหลบหนีไปทำมาหากินในประเทศเพื่อนบ้าน ส่วนใหญ่คนในครอบครัวอยากกลับมาอยู่ประเทศไทย แต่ไม่มีทะเบียนบ้าน ไม่มีบัตรประชาชนไทย ทำให้ถูกเจ้าหน้าที่รัฐจับกุมและดำเนินคดี
นอกจากนั้นยังอยากให้รัฐดูแลเด็กที่กำพร้าพ่อ กำพร้าแม่ ผู้หญิงที่เป็นหม้าย อยากให้รัฐดูแลเรื่องทุนการศึกษากับเด็กกลุ่มนี้ด้วย และที่สำคัญอยากให้เจ้าหน้าที่ทั้ง 3 ฝ่ายตรวจสอบข้อมูลให้ละเอียดและถูกต้องชัดเจนก่อนจะมีการปิดล้อมตรวจค้น ก่อนจะสรุปว่าเป็นผู้กระทำความผิดและเกี่ยวข้องกับเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้นที่เพราหากไม่มีการตรวจสอบให้ละเอียดก่อน จะยิ่งทำให้เกิดความบาดหมาง หวาดระแวง ทำลายความรู้สึกของชาวบ้าน ละยิ่งทำให้มีความเกลียดชังเจ้าหน้าที่รัฐมากยิ่งขึ้น
O ภรรยาของอดีตคนทำงานสื่อทางเลือกที่ถูกศาลฎีกาพิพากษาจำคุก 12 ปีในคดีอั้งยี่ ซ่องโจร กล่าวว่า เสนอให้ยกเลิกกฎหมายพิเศษต่างๆ และพิจารณาคดีมใหม่สำหรับผู้ต้องขังที่ไม่มีหลักฐานชัดเจน และเร่งสร้างความเป็นธรรมให้เกิดขึ้นในสังคม
O ผู้เห็นต่างฯที่พำนักในมาเลเซีย: อยากให้มีการพูดคุยสันติสุขเกิดขึ้นในประเทศไทย เพื่อแสดงถึงความจริงใจในการแก้ไขปัญหา อยากให้ระงับหมายจับในคดีความมั่นคงทั้งหมด เพื่อให้ผู้ที่ถูกออกหมายจับได้เดินทางมาพูดคุย และเป็นการแสดงถึงความจริงใจของรัฐในการแก้ไขปัญหา
การตรวจสอบสถาบันปอเนาะ ควรตรวจสอบอย่างมีเหตุผล ถูกต้อง เพราะที่ผ่านมาการทำงานของเจ้าหน้าที่รัฐก่อให้เกิดความหวาดระแวงจนไม่สามารถทำหน้าที่อุสตาซ (ครูสอนศาสนา) ได้ และอยากให้รัฐปรับเปลี่ยนทัศนคติให้เป็นเชิงบวกกับสถาบันปอเนาะ
ข้อเสนอจากฝ่ายเจ้าหน้าที่รัฐ
O พลโทนพวงศ์ กล่าวว่า มีความมั่นใจว่าสันติสุขจะเกิดขึ้นด้วยสันติวิธี ไม่ใช้ความรุนแรง การพูดคุยจะนำไปสู่สันติสุขอย่างแน่นอน อยากให้มั่นใจในนโยบายที่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ให้เชื่อมั่นในการแก้ปัญหาจังหวัดชายแดนใต้ โดยเฉพาะโครงการพาคนกลับบ้าน
ในช่วงเดือนรอมฎอนนี้มีสิทธิพิเศษสำหรับผู้ที่มีหมาย ป.วิอาญา (หมายจับที่ออกตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา) และหมาย พ.ร.ก.ฉุกเฉินฯ (หมาย ฉฉ. หรือหมายเชิญตัวที่ออกตามพระราชกำหนดการบริหารราชการในสถานการณ์ฉุกเฉิน พ.ศ.2548) จะมีหนังสืออำนวยความสะดวก คล้ายใบอนุญาตพกปืน คนที่ถือหนังสือนี้จะไม่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัว แต่ต้องมาทำข้อตกลงกับศูนย์ปฏิบัติการอำเภอ (ศปก.อำเภอ) ในแต่ละพื้นที่ว่า หลังสิ้นสุดเดือนรอมฎอนต้องเข้าสู่กระบวนการยุติธรรมเพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงว่าผิดจริง หรือเป็นแค่บุคคลต้องสงสัยที่ไม่ใช่ผู้ก่อเหตุ
หากผิดจริงต้องเข้าสู่การพิจารณาของศาลภายใต้การดูแลและให้ความช่วยเหลือของเจ้าหน้าที่รัฐ เพื่อให้ได้รับความยุติธรรมในฐานะพลเมืองไทย ขอย้ำว่า "พรุ่งนี้ต้องดีกว่าเมื่อวาน"
O ตัวแทนนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ยินดีต้อนรับผู้เห็นต่างฯกลับบ้าน ขอให้บมาจากประเทศเพื่อนบ้าน ถ้ามีสิ่งใดที่ผ่านมาในอดีตที่รู้สึกคับข้องใจ ขอให้มีการพูดจา หาช่องทางแสดงความคิดเห็น หาทางช่วยเหลือ รัฐบาลเห็นความสำคัญของปัญหาที่เกิดขึ้นมาหลายปี พร้อมที่จะขับเคลื่อนนโยบายเพื่อแก้ไขปัญหาโดยเร็วที่สุด ขอให้เปิดอกพูดคุย อาจต้องใช้เวลา เราจะหาหนทางพิจารณา หาแนวทางแก้ไขเพื่อให้ทุกคนกลับมาอยู่บ้าน กลับมาอยู่ประเทศไทยอย่างยั่งยืน ขอความร่วมมือทุกภาคส่วนให้แก้ปัญหาไปด้วยกัน
|