ล้วงโร้ดแม็พคสช.-ครม."แม่น้ำ5สาย" พ้นเมื่อไหร่-เลือกตั้งปี’59จริงหรือ ?
ชัด ๆคำพูด “วิษณุ-โร้ดแม็พ” คสช.-ครม. ปมร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ สปช. ลงมติ “ไฟเขียว-ไฟแดง” ก.ย. 58 ก่อนชง กกต. ทำประชามติ ถ้าผ่าน เสนอทูลเกล้าฯ ประกาศใช้ทันที ให้ กมธ.ยกร่างฯ ทำกฎหมายลูก มี.ค.-เม.ย. 59 ก่อนเลือกตั้ง พ.ค. 59 ถ้า “คว่ำ” ตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ ทำประชามติซ้ำ จนกว่าจะผ่าน
“คาดว่าจะเสร็จสิ้นช่วงต้นเดือน ต.ค. 2559 เมื่อรัฐบาลใหม่เกิดขึ้นในตอนนั้น แม่น้ำทุกสายก็จะพ้นสภาพไปหมด รวมถึงสภาขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติ ที่จะพ้นไปตั้งแต่มีการเปิดสภาครั้งแรก”
เป็นคำยืนยันของ “วิษณุ เครืองาม” เนติบริกรใหญ่ ในฐานะรองนายกรัฐมนตรี ฝ่ายกฎหมาย ต่อกรณีการสิ้นสุดสภาพของ “แม่น้ำ 3 สาย” ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สภาขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติ และคณะรัฐมนตรี
อย่างไรก็ดี แนวทางนี้จะเกิดขึ้นได้ถ้าหากสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ลงมติ “ไฟเขียว” รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ และประชาชนพร้อมใจกันผ่าน “ประชามติ” เท่านั้น !
แต่ถ้า สปช. “ไฟแดง” หรือประชาชน “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ แผนนี้ก็จะดำเนินไปอีกแนวทางหนึ่ง และทุกอย่างอาจไม่ได้จบลงที่ปี 2559 ก็เป็นได้ ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org นำ “โร้ดแม็พ” การร่างรัฐธรรมนูญของตามมติที่ประชุม คสช.-คณะรัฐมนตรี มานำเสนอให้เห็นกันอีกครั้ง ดังนี้
ขณะนี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ อยู่ระหว่างดำเนินการปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ตามที่คณะรัฐมนตรี และ สปช. เสนอแก้ไข ภายในระยะเวลา 90 วัน
กรณีนี้ “เทียนฉาย กีระนันทน์” ประธาน สปช. เปิดเผยว่า สปช. จะได้รับร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเสร็จแล้ว ภายในวันที่ 22 ส.ค. และจะต้องพิจารณาให้ความเห็นชอบหรือไม่เห็นชอบในช่วงวันที่ 5 หรือ 7 ก.ย. 2558
หลังจากนั้นจะมีอยู่ 3 แนวทาง ได้แก่
หนึ่ง ถ้า สปช. โหวตรับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สปช. จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที แต่ กมธ.ยกร่างฯ จะยังปฏิบัติหน้าที่ต่อ ส่วนสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จะอยู่ยาวไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ว. เพราะต้องทำหน้าที่แทน ส.ว. ไปก่อน
หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติ จำนวนไม่เกิน 200 คน โดยเปิดช่องให้ผู้ที่เคยถูกเพิกถอนสิทธิการเลือกตั้งเข้ามานั่งในตำแหน่งนี้ได้ด้วย
เท่ากับว่าคนจากบ้าน 111 & 109 ก็มีโอกาสเช่นกัน ? และอยู่ยาวไปจนถึงการเปิดประชุมสภาผู้แทนราษฎร
ต่อมาคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะดำเนินการทำ “ประชามติ” ภายใน 45 วันนับตั้งแต่ สปช. ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ
ถ้า “ผ่าน” ก็จะให้ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2559 เมื่อกฎหมายประกอบฯเสร็จ จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ถ้าผ่านจะเข้าสู่ช่วงเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง มีระยะเวลา 90 วัน
ซึ่งกระบวนการนี้หากนับตั้งแต่ช่วงลงมติให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงต้นเดือน ก.ย. 2558 หลังจากนั้นจะเสนอทูลเกล้าฯ ก่อนที่จะจะจัดทำกฎหมายประกอบฯ เสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยแล้วเสร็จ
ดังนั้นการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นประมาณช่วงเดือน ต.ค. 2559 ตามที่ “วิษณุ” กล่าวไว้
สอง หาก ประชาชน โหวต “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ
กมธ.ยกร่างฯ จะยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที และนายกฯจะตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ จำนวนไม่เกิน 21 คน ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วัน ก่อนจะส่งให้ กกต. จัด “ประชามติ” อีกครั้ง
ถ้าไม่ผ่านอีก ก็จะตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ใหม่อีก โดยใช้หลักเกณฑ์เดิม และส่งให้ กกต. จัดประชามติอีกจนกว่า ร่างรัฐธรรมนูญ จะผ่าน !
สาม ถ้า สปช. โหวตไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
สปช. และ กมธ.ยกร่างฯ จะสิ้นสุดการปฏิบัติหน้าที่ทันที ส่วน สนช. จะอยู่ยาวไปจนกว่าจะมีการเลือกตั้ง ส.ว. เพราะต้องทำหน้าที่แทน ส.ว. ไปก่อน
หลังจากนั้น พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้า คสช. จะคัดเลือกบุคคลเข้าดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาขับเคลื่อนปฏิรูปแห่งชาติ จำนวนไม่เกิน 200 คน และตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ใหม่ จำนวนไม่เกิน 21 คน ร่างรัฐธรรมนูญอีกครั้ง ภายในระยะเวลา 180 วัน
ต่อมา กกต. จะดำเนินการทำ “ประชามติ” ภายใน 45 วัน นับตั้งแต่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่เสร็จสิ้น
ถ้า “ผ่าน” ก็จะให้ กมธ.ยกร่างฯ จัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ ในช่วงเดือน มี.ค.-เม.ย. 2559 เมื่อกฎหมายประกอบฯเสร็จ จะเสนอให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณา ถ้าผ่านจะเข้าสู่ช่วงเตรียมตัวก่อนการเลือกตั้ง มีระยะเวลา 90 วัน
ถ้าประชาชน โหวต “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญ
กมธ.ยกร่างฯ จะยุติการปฏิบัติหน้าที่ทันที และนายกฯจะตั้ง กมธ.ยกร่างฯ ชุดใหม่ จำนวนไม่เกิน 21 คน ดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ ภายใน 180 วัน ก่อนจะส่งให้ กกต. จัด “ประชามติ” อีกครั้ง จนกว่าจะผ่าน
กล่าวให้ง่ายขึ้นคือ ถ้าดูตามแนวทางของ “วิษณุ” แล้ว “แม่น้ำ 5 สาย” จะถูกหั่นเหลือ “3 สาย” หลัง สปช. โหวตรับ-ไม่รับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ถ้าประชาชนรับ จะสามารถมีการเลือกตั้งได้ช่วง พ.ค. 2559 แต่ถ้าประชาชนไม่รับ ก็จะต้องดำเนินการร่างรัฐธรรมนูญใหม่อีกครั้งหนึ่ง จนกว่าจะประชามติผ่าน
แต่ไม่ว่ารัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะดี-ไม่ดีอย่างไร ?
ตัวแปรสำคัญนอกเหนือไปจาก สปช. ที่มีเค้าลางว่าอาจจะ “คว่ำ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ เพื่อ “ยืด” เวลาให้ “บิ๊กตู่” อยู่ยาวตามเสียงหยั่งเชิงก่อนหน้านี้แล้วนั้น
ประชาชนก็เป็นอีกตัวแปรหนึ่ง ที่จะทำให้ “การเลือกตั้ง” ใกล้เข้ามาเร็วยิ่งขึ้น !