มูลนิธิผู้บริโภค หวั่นคนในประเทศเสี่ยงบริโภคอาหารไม่ปลอดภัยสูงกว่าส่งออก
มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค จี้ภาครัฐหามาตรการกำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนสารเคมีในอาหารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน เทียบเท่าเกณฑ์ส่งออก ด้านเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช แนะประชาชนเลือกผัก ผลไม้ อย่างปลอดภัย ใช้น้ำส้มสายชูล้างก่อนบริโภค ป้องกันยาฆ่าแมลง
น.ส.ปรกชล อู๋ทรัพย์ ผู้ประสานงานเครือข่ายเตือนภัยสารเคมีกำจัดศัตรูพืช หรือ Thai PAN กล่าวว่า ปัจจุบันสถานการณ์การปนเปื้อนของสารเคมีตกค้างในร่างกายยังน่าเป็นห่วง โดยเฉพาะการบริโภคผัก ผลไม้ของประชาชนที่ยังคงละเลยความเสี่ยงได้รับสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลงปนเปื้อนในร่างกาย
สิ่งที่สะท้อนอย่างชัดเจน คือ ผลการตรวจยาฆ่าแมลงในเลือดที่ดำเนินการตรวจให้ประชาชนที่มาร่วมงานมหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไทย เมื่อปีที่แล้ว โดยเจาะเลือดประชาชนเพื่อตรวจหาสารเคมีประเภทยาฆ่าแมลง ปนเปื้อน 2 กลุ่ม คือ คาร์บอเนต และออร์แกโนฟอสเฟต ซึ่งพบว่า ในจำนวนประชาชนที่มาตรวจ 963 คน เกินกว่าครึ่งหรือ ร้อยละ 53.37 เสี่ยงจากสารเคมีตกค้าง, ร้อยละ 13.81 มีสารตกค้างในระดับที่ไม่ปลอดภัย, ร้อยละ 31.67 มีสารเคมีตกค้างระดับที่ปลอดภัย และมีเพียงร้อยละ 1.14 เท่านั้นที่พบว่าปกติ
"ผลการตรวจชี้ว่า ผู้บริโภคไม่ทราบถึงปัญหาที่เกิดขึ้นกับร่างกายของตัวเอง โดยเฉพาะการบริโภคผัก ผลไม้ ที่มีการใช้สารเคมียาฆ่าแมลงตั้งแต่ต้นทางการผลิตในปริมาณสูง จนเรียกได้ว่าผู้บริโภคมีความเสี่ยงสูงกว่าเกษตรกรด้วยซ้ำไป" ผู้ประสานงานเครือข่ายThai Pan กล่าว
น.ส.ปรกชล กล่าวอีกว่า แม้สารเคมีประเภทนี้ร่างกายจะสามารถขับออกมาได้ด้วยตัวเอง แต่การหลีกเลี่ยง และเลือกบริโภคอาหารที่ปลอดภัยมีความสำคัญ ดังนั้นผู้บริโภคควรทราบข้อมูลกระบวนการผลิต เลือกซื้อผลผลิตจากการทำเกษตรปกติ ไม่ใช่เกษตรอุตสาหกรรม หรือ เลือกซื้อจากการทำเกษตรอินทรีย์ ทั้งนี้หากหลีกเลี่ยงไม่ได้ควรล้างผัก ผลไม้ ด้วยน้ำส้มสายชู โดยนำน้ำส้มสายชู 1 ส่วนผสมน้ำ 10 ส่วน แช่ไว้ประมาณ 10-15 นาที แล้วล้างด้วยน้ำสะอาด ก่อนบริโภค จะช่วยลดความเสี่ยงสารเคมีตกค้างได้
ด้านนายพชร แกล้วกล้า ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค บอกว่า สถานการณ์การตกค้างของสารเคมีในอาหารช่วง 5 ปีที่ผ่านมายังไม่มีแนวโน้มดีขึ้น ยังพบการตกค้างปริมาณสูงกว่าค่ามาตรฐานในอาหารประเภท ผัก เช่น คะน้า,ถั่วฝักยาว, กระเพรา และพริก
สิ่งที่เป็นปัญหาขณะนี้ คือพบว่าเกณฑ์การตรวจสอบสารปนเปื้อนในอาหารของหน่วยงานภาครัฐทั้งกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงสาธารณสุข ไม่สอดคล้องกัน ทำให้การตีความ แปลความหมายการปนเปื้อนต่างกัน ขณะเดียวกันภาครัฐไม่รายงานข้อมูลสถานการณ์การปนเปื้อนสารเคมีในอาหารให้สาธารณะรับรู้อย่างตรงไปตรงมา
"รัฐควรหามาตรการอย่างจริงจังเพื่อกำหนดเกณฑ์การปนเปื้อนสารเคมีในอาหารให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน และสอดคล้องกับเกณฑ์ที่ใช้ในการส่งออกอาหารไปยังต่างประเทศที่มีเกณฑ์ควบคุมมีมาตรฐานสูง ไม่เช่นนั้นก็เท่ากับว่า คนในประเทศมีความเสี่ยงบริโภคอาหารที่ไม่ปลอดภัยสูงกว่าอาหารที่ส่งออก จึงเป็นความจำเป็นที่ภาครัฐต้องดูแลมาตรฐานนี้ให้เท่าเทียมกัน" ผู้ประสานงานโครงการเสริมสร้างความเข้มแข็งกลไกคุ้มครองผู้บริโภคภาคประชาชนด้านอาหาร มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค เสนอ
นายพชร ยังกล่าวด้วยว่า สำหรับผู้ที่สนใจอยากจะตรวจสอบความปลอดภัยของอาหารและพืชผัก ตรวจหาสารตกค้างในร่างกายและหาความรู้กันได้ในงาน "มหกรรมอาหารและสุขภาพวิถีไท" ครั้งที่ 2 ตอนน้ำพริกถ้วยเก่า จัดขึ้นระหว่างวันที่ 25-28 มิ.ย.นี้ที่ฮอลล์ 8-9 อิมแพคเมืองทองธานี