6 ความเห็นสวนทาง! ชนวน“บิ๊กตู่”ส่งสัญญาณยุบ สปช.ตั้งสภาขับเคลื่อนฯ
ประมวล 6 ความเห็น สปช. “สัมปทานปิโตรเลียม-ปฏิรูปตำรวจ-กอช.-กม.ดิจิทัล-โครงสร้างภาษี-โฉนดชุมชน “เสนอสวนทางรัฐบาล ชนวนเหตุ “ประยุทธ์” กริ้ว! ระเบิดอารมณ์ผ่านสื่อ ส่งสัญญาณยุบ สปช. ปูทางตั้งสภาขับเคลื่อนฯแทน
“การปฏิรูปที่ว่า ไม่ได้เกิดวันนี้โดยสภานี้ (สภาปฏิรูปแห่งชาติ) ผมตั้งมาแต่ต้นแล้ว เขาจะมีอำนาจไหนมาปฏิรูปกับผม เขามีหน้าที่ไปสั่งกระทรวงให้ทำหรือไม่ ซึ่งผมมีอำนาจเด็ดขาดตรงนี้”
“ที่ผ่านมา มันสับสนอลหม่าน เพราะ สปช. มาจากหลายพวก ไม่ใช่พวกผม พวกใครอย่างเดียว มันมาจากหลายพวก จะเห็นว่ามีทุกสีอยู่ในนั้น ไม่ใช่พวกผม”
เป็นคำยืนยันจาก “บิ๊กตู่” พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ระเบิดอารมณ์ออกมา ภายหลังชี้แจงการตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปแห่งชาติ แทน สปช. ที่จะถูกยุบไป ไม่ว่าจะไฟเขียว-ไฟแดง ร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับใหม่ ก็ตาม
พูดให้ง่ายขึ้นคือ สปช. สั่งไม่ได้ตามใจ จึงต้องตั้งสภาขับเคลื่อนฯขึ้นมาใหม่ ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พบว่า มีอย่างน้อย 6 ครั้งที่ สปช. มีความเห็น “สวนทาง” กับข้อเสนอแนะจากรัฐบาล ได้แก่
1.การเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21
กรณีนี้ เกิดจากคณะกรรมาธิการ (กมธ.) การปฏิรูปพลังงาน จัดทำข้อเสนอการเปิดสัมปทานปิโตรเลียมรอบที่ 21 ของรัฐบาล เสนอต่อที่ประชุม สปช. โดยระบุเหตุผลว่า พลังงานในประเทศไทยเหลือน้อย การผลิตก๊าซธรรมชาติจะลดลงเรื่อย ๆ ขณะที่ในอนาคตความต้องการด้านพลังงานมีมากขึ้น เป็นต้น ทั้งนี้ในการประชุมดังกล่าว มีผู้ลุกขึ้นอภิปรายโต้เถียงกันอย่างกว้างขวาง จนกินเวลาไปหลายชั่วโมง
ก่อนที่ประชุม สปช. จะมีมติเห็นด้วย 79 เสียง ไม่เห็นด้วย 130 เสียง และงดออกเสียง 21 เสียง เท่ากับว่า ไม่เห็นชอบกับข้อเสนอของ กมธ.การปฏิรูปพลังงาน แต่ขณะเดียวกันได้เห็นชอบให้ส่งรายการศึกษาเรื่องดังกล่าว ไปให้คณะรัฐมนตรี พิจารณาตัดสินใจว่าจะทำอย่างไรกับเรื่องนี้
2.พ.ร.บ.กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.)
กรณีนี้ รัฐบาลต้องการให้แก้ไขและบังคับใช้ ประกันสังคมมาตรา 40 อย่างไรก็ดีเรื่องนี้ กมธ.การปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้พิการ และผู้ด้อยโอกาส เห็นว่าควรใช้ กอช. มากกว่า เพราะเน้นระบบการออมบำนาญ เพื่อให้ได้จนวาระสุดท้ายของชีวิต และไม่ให้นำเงินบำเหน็จมาใช้ก่อนจนหมด ซึ่งจะทำให้ตกเป็นภาระการดูแลของสังคมต่อไป แม้มาตรา 40 ของประกันสังคมจะเป็นช่องทางใหม่ทำให้คนได้รับโอกาสมากขึ้น แต่ประชาชนกว่า 24.6 ล้านคน กลับไม่มีโอกาสเข้ามา เพราะไม่มีการผลักดัน กอช.
ก่อนที่ประชุม สปช. มีมติเอกฉันท์เห็นด้วย 212 เสียง ให้เร่งรัดดำเนินการตาม พ.ร.บ.การออมฯ และแจ้งต่อคณะรัฐมนตรี ให้เร่งปฏิบัติตาม พ.ร.บ.นี้ ทันที
3.การปฏิรูปตำรวจ
กรณีนี้ กมธ.การปฏิรูปกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ระบุว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมาการทำงานของตำรวจเป็นเหตุและปัจจัยอันก่อให้เกิดปัญหาที่ส่งผลกระทบต่อประชาชนและสังคมในวงกว้าง ทั้งในด้านความมั่นคง ความปลอดภัย และการดูแลความสงบเรียบร้อยในประเทศ เป็นต้น รวมถึงระดับผู้บัญชาการตำรวจใช้อำนาจเชิงรวมศูนย์ ส่งผลให้สังคมเกิดความแตกแยกขัดแย้งรุนแรง กระทั่งประชาชนไม่มีความเชื่อมั่นและไม่ไว้วางใจต่อการปฏิบัติงานของตำรวจ
อย่างไรก็ดี หลายฝ่ายมองว่าในส่วนของรัฐบาลกลับไม่มีการขับเคลื่อนเรื่องนี้อย่างเต็มที่ บางครั้ง “บิ๊กตู่” พูดจาเหน็บแนมการปฏิรูปตำรวจด้วยซ้ำ จนถูกมองว่ามีความไม่จริงใจในการปฏิรูปครั้งนี้
ไม่ว่าอย่างไร ขณะนี้ สปช. มีมติแต่งตั้งคณะกรรมการเพื่อทำการปฏิรูปกิจการตำรวจแล้ว โดยมีองค์ประกอบจากทุกภาคส่วนของกระบวนการยุติธรรม เช่น ตำรวจ ทนายความ อัยการ ศาล เป็นต้น โดยตั้งกรอบระยะเวลาในการทำงานอย่างชัดเจน และรวดเร็ว เพราะประชาชนให้ความสนใจและติดตามเรื่องนี้มาโดยลำดับ
4.ร่างกฎหมายดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม 10 ฉบับ
กรณีนี้ คณะรัฐมนตรีมีมติเสนอร่างกฎหมายดิจิทัลฯ จำนวน 10 ฉบับ เพื่อเตรียมขับเคลื่อนการบริหารงาน โดยมีแนวคิดจัดตั้งกระทรวงเศรษฐกิจดิจิทัลขึ้น และส่งร่างกฎหมายดังกล่าวให้ สปช.-สนช. พิจารณา
อย่างไรก็ดี สปช. โดย กมธ.การปฏิรูปสื่อสารมวลชนและสารสนเทศ เห็นว่า ในร่างกฎหมายดังกล่าว มีบางข้อละเมิดสิทธิส่วนบุคคล ลุกล้ำสิทธิมนุษยชน รวมถึงจำกัดสิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นของสื่อมวลชน และประชาชน จำนวนมาก ซึ่ง สปช. หลายรายเห็นด้วย จึงมีมตินำเสนอความเห็น กมธ.การปฏิรูปสื่อ ตีกลับไปให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้ง
5.การปฏิรูปโครงสร้างภาษี
กรณีนี้ สปช. โดย กมธ.การปฏิรูปเศรษฐกิจ การเงิน และการคลัง ได้ศึกษาและนำเสนอต่อที่ประชุม สปช. โดยเห็นว่า ระบบภาษีอากรของไทยยังมีความไม่ครบถ้วน และไม่เหมาะสมหลายประการ จึงต้องมีการปฏิรูประบบภาษีให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจสังคมไทยและของโลก โดยเฉพาะประเด็นการจัดเก็บภาษีบ้าน ภาษีที่ดิน และภาษีมรดก ที่จำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปอย่างเร่งด่วน
อย่างไรก็ดี ซีกรัฐบาล กลับยังไม่มีความชัดเจนในการดำเนินการเรื่องนี้ โดยเฉพาะแผนการปฏิรูปภาษีที่เสนอต่อ “สมหมาย ภาษี” รมว.คลัง พิจารณาเห็นชอบ ทั้งในส่วนของภาษีมรดก และภาษีบ้าน-ที่ดิน ก็อ้างว่า อยู่ระหว่างการศึกษาให้รอบคอบ
6.การปฏิรูปโฉนดชุมชน
กรณีนี้ สปช. นำโดย กมธ.ปฏิรูปสังคม ชุมชน เด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ ผู้พิการและผู้ด้อยโอกาส รวมกับ กมธ.การปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรโดยชุมชน ได้เสนอความเห็นเกี่ยวกับข้อเสนอเรื่องสิทธิชุมชนในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน และร่าง พ.ร.บ. ในการจัดการที่ดินและทรัพยากรธรรมชาติในรูปแบบโฉนดชุมชน พ.ศ. ... โดยเห็นว่า ปัญหากำหนดเขตอนุรักษ์ที่ดินของรัฐมีความซ้ำซ้อนกับที่ทำกินของราษฎร ซึ่งเป็นข้อขัดแย้งที่ยืดเยื้อมายาวนาน จึงทำให้เกิดภาคีจากภาคประชาชนเรียกร้องรัฐบาลมาโดยตลอด จึงจำเป็นต้องได้รับการปฏิรูปด้วย
ล่าสุด ที่ประชุม สปช. มีมติเห็นชอบข้อเสนอของ กมธ.การปฏิรูปสังคมฯ และ กมธ.การปฏิรูประบบการจัดการทรัพยากรฯ ด้วยเสียง 130 ต่อ 60 เสียง งดออกเสียง 26 เสียง และเห็นชอบ ร่าง พ.ร.บ.ดังกล่าว ด้วยเสียง 121 ต่อ 69 เสียง และงดออกเสียง 26 เสียง ก่อนจะส่งให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาต่อไป
ทั้งหมดคือความเห็นของ สปช. ที่ “สวนทาง” กับรัฐบาล ชนวนเหตุให้ “บิ๊กตู่” ต้องออกมาส่งสัญญาณว่า “พอกันที” กับ สปช. และเตรียมจัดตั้ง สภาขับเคลื่อนฯ ขึ้นมาสั่ง “ซ้ายหันขวาหัน” ได้แทน
ล่าสุด “เทียนฉาย กีระนันทน์” ประธาน สปช. นัดประชุม “ลับ” ในวันที่ 15 มิ.ย. 2558 เพื่อหารือเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของ สปช. หลังจากรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวปี 2557 ปรับแก้ไข โดยมีผลให้วาระการทำงานของ สปช. สั้นลง ซึ่งจะสิ้นสุดภายในเดือน ส.ค.-ก.ย.นี้ ภายหลังลงมติไฟเขียว-ไฟแดงร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่
ดังนั้น ต้องจับตาว่า สปช. จะ “แก้ทัพ-ปรับขบวน” กันอย่างไร
และ “การปฏิรูป” จะเกิดขึ้นได้จริงหรือเป็นเพียงความหวังลม ๆ แล้ง ๆ อย่างที่ผ่านมา !