รวมพลคนต้านโกง! ณ ร้านกาแฟชิค ๆ “คอร์รัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ” ม.อุบลฯ
UNDP จับมือ ม.อุบลราชธานี นำร่องร้านกาแฟต้านโกงแห่งแรก “คอร์รัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ” นักศึกษาบริหารเอง นำกำไรรณรงค์ต่อสู้ปัญหาทุจริต ทรูคอฟฟี่สร้างสรรค์บรรจุภัณฑ์ลาย ‘ลูกศร’ ขึ้นลงสื่อความหมาย เชื่อปลูกฝังเยาวชนสร้างจุดเปลี่ยนสังคมไทย
แม้ดัชนีชี้วัดภาพลักษณ์คอร์รัปชันของไทยจะขยับตัวดีขึ้น จากเดิมปี 2556 อยู่อันดับ 102 มาเป็นอันดับ 85 ในปี 2557 แต่การทุจริตคอร์รัปชันยังเป็นปัญหาที่รัฐบาลภายใต้การนำของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ให้ความสำคัญ และขับเคลื่อนเป็นนโยบายอันดับต้น เพื่อมุ่งหวังให้สังคมใสสะอาด โดยหนึ่งในมาตรการ คือ การปลูกฝังค่านิยมแก่เด็กและเยาวชนปฏิเสธการทุจริตคอร์รัปชัน
ด้วยเจตนารมณ์ข้างต้น ทำให้โครงการร้านกาแฟ “คอร์รัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ” จึงเกิดขึ้นที่ ม.อุบลราชธานี เป็นแห่งแรก และเตรียมเปิดที่ ม.ขอนแก่น ในเดือน ก.ย.นี้ เพื่อเป็นพื้นที่ศูนย์กลางสำหรับนักศึกษาได้พูดคุยสนทนา แลกเปลี่ยนความคิด สร้างสรรค์กิจกรรม หรือวางแผนรณรงค์แก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชัน ในระดับมหาวิทยาลัย ชุมชน และประเทศ
โดยได้รับความร่วมมือจากโครงการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ (United Nations Development Program:UNDP) ทรูคอฟฟี่ องค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน และม.อุบลราชธานี ทั้งนี้ กำไรส่วนหนึ่งจากการขายกาแฟจะนำไปสนับสนุนกิจกรรมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันของนักศึกษา เพื่อให้เกิดความต่อเนื่องและยั่งยืนต่อไป
‘ขวัญพัฒน์ สุทธิธรรมกิจ’ นักวิเคราะห์โครงการ UNDP ในฐานะผู้ร่วมขับเคลื่อนร้านกาแฟต้านโกงแห่งแรกจนประสบความสำเร็จ บอกเล่าที่มาว่า ก่อนหน้านี้มีการสร้างเครือข่ายต่อต้านคอร์รัปชัน 90 มหาวิทยาลัย ทั่วประเทศ แต่ไม่สามารถสร้างชมรมขึ้นทุกมหาวิทยาลัยได้ เพราะต้องใช้งบประมาณสนับสนุน ดังนั้น ทำอย่างไรให้เกิดพื้นที่สำหรับนักศึกษาเข้ามาทำกิจกรรมและก่อเกิดรายได้
ไอเดียร้านกาแฟจึงเกิดขึ้น บริหารงานโดยนักศึกษา แต่สงสัยติดแบรนด์ ‘ทรูคอฟฟี่’ เพราะอะไร เขาชี้แจงว่า ได้วิ่งขายโครงการร้านกาแฟต้านโกงกับเจ้าของร้านกาแฟ 3-4 แห่ง แต่ไม่มีใครตอบรับ ยกเว้นทรูคอฟฟี่ที่เห็นความสำคัญและมองเป็นไปได้
ขวัญพัฒน์ ยังกล่าวถึงโลโก้ร้านกาแฟ “คอร์รัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ” ว่า ทรูคอฟฟี่สร้างสรรค์อัฒลักษณ์ส่วนนี้ให้ โดยสร้างบรรจุภัณฑ์ที่มีลวดลาย ‘ลูกศร’ ขึ้นลง และเมื่อลูกค้าดื่มกาแฟของร้านจะตัดสินใจได้สองอย่าง คือ ถ้าคิดถึงส่วนรวม ไม่ทุจริตคอร์รัปชัน ลูกศรจะชี้ขึ้น หากไม่คิดถึงส่วนร่วม ทุจริตคอร์รัปชัน ลูกศรจะชี้ลง ดังนั้น ลูกศรจะชี้ขึ้นหรือลงขึ้นอยู่กับพฤติกรรมของเรา
“ถ้าคนไทยทุกคนตัดสินใจเลือกลูกศรขึ้น ไม่รับ-ไม่จ่าย ปัญหาทุจริตคอร์รัปชันจะหมดไปจากสังคมไทย เราจึงเน้นคำว่า ‘ฉัน’ เกิดขึ้นจากตัวเรา” เขากล่าว และเพิ่มเติมว่า แม้ชื่อร้านกาแฟจะเรียกยาก แต่อยากให้ทุกคนแวะเวียนเข้ามา จนคำว่า คอร์รัปชัน ฉันไม่ขอรับ ติดอยู่ในใจ
“หากทุกภาคส่วนรวมตัวกันต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชัน ไม่นานเกินรอ! สังคมไทยจะบอกตัวเองได้ว่า พอแล้วคอร์รัปชัน แต่ปัญหา คือ ขณะนี้คนโกงคือส่วนน้อย แต่คนส่วนใหญ่ที่ไม่โกงกลับไม่รวมตัวกันต่อต้าน”ขวัญพัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ ในแวดวงการศึกษาทราบดีว่าผู้บริหารสูงสุดอย่าง ‘รศ.นงนิตย์ ธีระวัฒนสุข’ อธิการบดีมหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เป็นผู้หนึ่งที่สนับสนุนให้เกิดร้านกาแฟต้านโกงแห่งนี้ขึ้น เพื่อหวังขจัดปัญหาทุจริตคอร์รัปชันให้หมดไป โดยเฉพาะรั้วสถาบันการศึกษา แต่ต้องยอมรับว่า ในอนาคตเป้าประสงค์ที่วางไว้อาจเปลี่ยนไปได้ หากผู้บริหารคนใหม่ขึ้นมาแทนที่
รศ.นงนิตย์ ระบุว่า แม้จะไม่ได้เป็นอธิการบดีแล้ว แต่ร้านกาแฟแห่งนี้น่าจะตั้งอยู่ต่อไป ส่วนรูปแบบการทำงานจะก่อประโยชน์ตามเป้าประสงค์มากเพียงใด ข้อนี้ไม่มั่นใจ เพราะกิจกรรมต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันต้องใช้แรงกระตุ้น และการปลูกฝังแก่นักศึกษาอย่างต่อเนื่อง อย่างไรก็ตาม การทำอะไรที่ทวนกระแสต้องอาศัยอุดมการณ์
“นักศึกษาของ ม.อุบลราชธานี มีความกระตือรือร้นในเรื่องการต่อต้านการทุจริตคอร์รัปชันดีระดับหนึ่ง ส่วนจริงจังหรือไม่ตอบยาก”
อธิการบดี ม.อุบลราชธานี ยังกล่าวถึงการแก้ไขปัญหาเป็นเรื่องยาก เพราะฝังอยู่ในจิตสำนึก ประกอบกับสภาพแวดล้อม มีคนได้ดิบได้ดีจากการทุจริตคอร์รัปชันจำนวนมาก อีกทั้งสื่อไทยมิได้นำเสนอเนื้อหาที่ปลูกฝังคนในทางที่ถูกต้อง ทุกวันนี้มีแต่เรื่องไร้สาระ สนุกสนาน ทำให้เด็กและเยาวชนไทยชอบเฉพาะความสนุกสนาน แต่มักไม่ชอบเรื่องที่มีประโยชน์
‘กอล์ฟ’ วรากร ทองตรีพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ในฐานะนักธุรกิจเพื่อสังคมและผู้จัดการร้านกาแฟ กล่าวว่า ทรูคอฟฟี่ได้จัดอบรมฝึกประสบการณ์บริหารจัดการร้านกาแฟให้ โดยนักศึกษาจะทำงานเป็นกะ และมีรายได้ชั่วโมงละ 45 บาท ซึ่งสิ่งที่คาดหวังไม่ใช่กำไร แต่เป็นการมีคนอุดมการณ์จิตสาธารณะมากขึ้น
พร้อมกันนี้ ยังได้แสดงทัศนะว่า หลายคนมองการทุจริตคอร์รัปชันเป็นเรื่องปกติ ใคร ๆ ก็ทำ ส่งผลให้ขาดความตระหนักต่อปัญหาดังกล่าว ทั้งที่ความจริงล้วนเกิดจากตัวเรา หากหยุดการคอร์รัปชันที่ตัวเราเองได้ เชื่อว่าปัญหาทุกอย่างจะเบาบางลง
สอดคล้องกับ ‘บาส’ ภัทรพล นารีบุตร นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาการตลาด คณะบริหารศาสตร์ ม.อุบลราชธานี ยืนยันเสียงหนักแน่นไม่เห็นด้วยกับการทุจริตคอร์รัปชัน และระบุด้วยว่า ปัจจุบันเด็กและเยาวชนทราบดีอะไรผิดถูก แต่สาเหตุไม่เลือกปฏิบัติ เพราะมีปัจจัยหลายอย่างทำให้เกิดความกลัวการเผชิญหน้าต่อสู้กับสิ่งผิด ด้วยอาจเจอกับกลุ่มผู้มีอิทธิพล จนทำให้มีอันตรายได้
“ทุกวันนี้สังคมเต็มไปด้วยอิทธิพลด้านมืดที่มีส่วนบังคับให้ดำเนินชีวิตแบบไหน ไม่ว่าจะภาคส่วนใดก็มีด้านมืดและด้านดี แต่ดีแล้วกลับต่อสู้กับด้านมืดไม่ได้ จึงต้องเดินเข้าสู่ด้านมืดตาม” เขากล่าวทิ้งท้าย
ขณะที่ ‘ชูศรี กตัญญุตานันท์’รองประธานหอการค้า จ.อุบลราชธานี กล่าวว่า ไทยเปรียบเสมือนร่างกายมนุษย์ ส่วนระบบราชการเปรียบเสมือนกระดูกมนุษย์ สามารถพาร่างกายให้ก้าวซ้ายก้าวขวา ซึ่งจะทำได้ต้องขึ้นอยู่กับหัวสั่ง หากหัวไม่ดีก็สั่งไม่ดี หากหัวดีก็สั่งดี เพราะฉะนั้น ‘รัฐบาล’ ในฐานะหัวหลักของประเทศต้องขับเคลื่อนจริงจัง
“การทุจริตคอร์รัปชันกลายเป็นมะเร็งร้ายกัดกินกระดูก ทำให้ระบบราชการพัง การแก้ไขปัญหาจึงต้องขับเคลื่อนที่เด็กและเยาวชน ซึ่งจะเติบโตเป็นผู้ใหญ่ในวันหน้า” เธอระบุ
ด้าน ‘ประสงค์ เลิศรัตนวิสุทธิ์’ ผอ.อำนวยการบริหารสถาบันอิศรา มูลนิธิพัฒนาสื่อมวลชนแห่งประเทศไทย ให้มุมมองสูตรสำเร็จการแก้ไขปัญหาการทุจริตคอร์รัปชันว่า ปัจจัยสำคัญขึ้นอยู่กับผู้นำประเทศมีเจตจำนงมากน้อยเพียงใด ซึ่งที่ผ่านมามีนายกรัฐมนตรีเพียง 3 คน จริงจังกับการดำเนินนโยบายดังกล่าว แม้จะไม่ถึงที่สุดก็ตาม คือ 1. พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ 2.นายอานันท์ ปันยารชุน และ 3.พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งต้องติดตามต่อไปว่า สุดท้ายผู้นำคนปัจจุบันจะจริงจังได้หรือไม่
ส่วนการบังคับใช้กฎหมายเกี่ยวข้องกับการป้องกันและปราบปรามนั้น เขากล่าวว่า ไทยมีกฎหมายเหล่านี้มากพอสมควร แต่การบังคับใช้ไม่มีประสิทธิภาพ ด้วยอาจมีรายละเอียดหยุมหยิมเกินไปจนขยับไม่ได้ ยิ่งร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันยิ่งขยับไม่ได้ ประกอบกับองค์กรอิสระที่มีหน้าที่กลับบริหารงานติดระบบราชการ ทำให้การแก้ปัญหาไม่คล่องตัว
“ทุกครั้งที่มีการรณรงค์แก้ไขการทุจริตคอร์รัปชัน มักอ้างปัญหาเกิดจากเด็กไม่ได้เรียนวิชาหน้าที่พลเมืองหรือวิชาศีลธรรม ซึ่งฟังแล้วหงุดหงิด เพราะคนที่โกงขณะนี้ล้วนเคยเรียนวิชาเหล่านี้ทั้งสิ้น ฉะนั้นปัญหาเกิดจากสภาพแวดล้อมมากกว่า” ผอ.สถาบันอิศราฯ กล่าว
ร้านกาแฟคอร์รัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ แม้จะเป็นร้านเล็ก ๆ ธรรมดา แต่ก็สามารถเปลี่ยนตัวเอง เปลี่ยนสังคม และเปลี่ยนประเทศให้ดีขึ้นได้ ด้วยการไม่สนับสนุนการทุจริตคอร์รัปชัน หากแวะเวียนผ่านไปแถว ม.อุบลราชธานี ก็อย่าลืมแวะดื่มและร่วมพูดคุยกันให้ถูกคอตามแบบฉบับ ‘สภากาแฟ’ .
.....................................................................................
ร้านกาแฟ คอร์รัป ‘ฉัน’ไม่ขอรับ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี ตั้งอยู่ในอาคารศูนย์เครื่องมือกลาง (ตึก CTB) ข้างอาคารเรียนรวม 5 เปิดให้บริการทุกวันจันทร์-ศุกร์ เวลา 07.00-19.00 น. และวันเสาร์-อาทิตย์ เวลา 09.00-18.00 น. หรือติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่ เฟซบุ๊ค ร้านกาแฟคอร์รัป ‘ฉัน’ ไม่ขอรับ ม.อุบล)