ทะเลเซาะอ่าวไทยวิกฤติชายฝั่งเมืองนคร
ในปี 2551 ที่ผ่านมากรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่งได้รับมอบหมายจากคณะรัฐมนตรีเพื่อศึกษาและจัดทำแผนแม่บทแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทะเล เพื่อรับทราบสภาพปัญหาจนถึงปัจจุบัน ทำให้สถานการณ์กัดเซาะในภาพรวมของทั้งประเทศ โดยพบว่าในพื้นที่ชายฝั่งอ่าวไทยและทะเลอันดามันมีการกัดเซาะชายฝั่งที่แตกต่างกัน นอกจากนี้การกัดเซาะชายฝั่งทะเลไทย ยังส่งผลกระทบที่ตามมาหลายด้าน ทั้งความสูญเสียของประชาชนและข้าราชการ การท่องเที่ยว และทรัพยากรชายฝั่ง
การวางแนวหินเพื่อทำกำแพงกันคลื่นแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งด้านอ่าวไทย
ข้อมูลจากกรมทรัพยากรทางทะเลฯระบุว่าอัตราการกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอ่าวไทยและด้านอันดามันเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตร/ปี แต่การกัดเซาะชายฝั่งทะเลด้านอันดามันเกิดขึ้นน้อยกว่าชายฝั่งด้านอ่าวไทย ทั้งนี้ชายฝั่งทะเลของอ่าวไทย มีความยาว 1,660 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 17 จังหวัด คือ กรุงเทพฯ สมุทรสาคร สมุทรสงคราม ตราด จันทบุรี ระยอง ชลบุรี ฉะเชิงเทรา สมุทรปราการ เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร สุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช สงขลา ปัตตานี และ นราธิวาส
ขณะที่ชายฝั่งทะเลด้านอันดามันมีความยาว 954 กิโลเมตร ครอบคลุมพื้นที่ 6 จังหวัด ได้แก่ ระนอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง และ สตูล ทั้งนี้สภาพปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในปัจจุบัน โดยเฉพาะที่ฝั่งอ่าวไทย แม้จะยังไม่เข้าขั้นวิกฤติเหมือนฝั่งอันดามัน แต่ถือเป็นพื้นที่เร่งด่วนสำคัญ เพราะมีอัตราการกัดเซาะรุนแรงคือเฉลี่ยมากกว่า 5.0 เมตร/ปี หรือร้อยละ 10.9 ของแนวชายฝั่งอ่าวไทย
มีรายงานผลการสำรวจพื้นที่กัดเซาะชายฝั่งทะเลในฤดูมรสุมบริเวณอ่าวไทยฝั่งตะวันตก ตั้งแต่จังหวัดชุมพรถึงจังหวัดปัตตานี ระหว่างเดือนธันวาคม 2549 - มกราคม 2550 ของสำนักอนุรักษ์ทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ระบุว่า จ.นครศรีธรรมราชมีพื้นที่ชายฝั่งทะเลยาวประมาณ 235 กิโลเมตร ถือเป็นจังหวัดในลำดับแรก ๆ ที่ได้รับผลกระทบจากการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรง มีชายฝั่งที่อยู่ในสภาพปกติไม่ถึงครึ่งของความยาวชายฝั่งทั้งหมด
โดยมีพื้นที่ที่ได้รับความเสียหายมากถึง 8 ตำบลใน 2 อำเภอ ประกอบด้วย เขตอำเภอท่าศาลา ต.ท่าศาลา, ที่เขตอำเภอปากพนัง ต.แหลมตะลุมพุก ต.ปากพนังฝั่งตะวันออก ,ต.บางพระ และ ต.บ้านเพิง ต.ท่าพญา ต.ขนาบนาก ที่ อ.หัวไทร ต.เกาะเพชร และ ต.หน้าสตน
ชุมชนชายฝั่งเมืองนครฯผวาที่ดินถูกกัดเซาะแนวยาว
ป้าจ้อย ขอสงวนนามสกุล เจ้าของร้านขายของชำหมู่ที่ 7 ถนนเรียบชายฝั่งหัวไทร-ปากพนัง ต.บ้านขนาบนาก อ.ปากพนัง จ.นครศรีธรรมราช เล่าว่า ในอดีตชาวบ้านละแวกนี้สร้างบ้านอยู่ริมหาด ฝั่งตะวันออกของถนนเลียบชายฝั่งหัวไทร-ปากพนัง อยู่ติดริมทะเล แต่หลังจากปี 2546 มีปัญหากัดเซาะรุนแรงมากจึงทำให้ชาวบ้านเกือบทั้งหมดต้องอพยพหนีมาอยู่อีกฝั่งของถนน เนื่องจากคลื่นมีความรุนแรงมากขึ้น แม้ชาวบ้านบางรายไม่ยอมย้ายออกมา แต่คลื่นก็ซัดบ้านเสียหายทั้ง สุดท้ายก็ต้องพากันอพยพหนีตามกันมา
ชาวบ้านกล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของบ้านขนาบนาก เกิดจากธรรมชาติ โดยเฉพาะช่วงมรสุม หรือมีพายุเข้าปะทะชายฝั่งแรง ๆการกัดซัดเซาะพื้นที่ริมฝั่งก็จะเกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าเมื่อช่วง 5 ปีที่ผ่านมารัฐได้แก้ปัญหาด้วยการสร้างกำแพงคอนกรีตกันคลื่น ด้วยการปักเป็นแนวยาวเลียบตลอดแนวชายหาด แต่เมื่อถึงหน้ามรสุมที่ผ่านมาก็ชี้ให้เห็นว่ากำแพงแผ่นคอนกรีตไม่สามารถช่วยอะไรได้เลย เพราะคลื่นมีกำลังสูงและแรงมาจนทำให้แผ่นคอนกรีตล้ม แตก พัง เพราะไม่สามารถต้านแรงน้ำได้
ป้าจ้อยและเพื่อนบ้าน บอกตรงกันว่า ตั้งแต่มีการสร้างกำแพงคอนกรีตมากั้น แต่ปัญหาการกัดเซาะกลับยิ่งเพิ่มขึ้น พอคลื่นซัดมาปะทะกับแนวกำแพงคอนกรีต แรงคลื่นทำให้น้ำพุ่งขึ้นในแนวสูง บางครั้งสูงกว่าเสาไฟฟ้าเสียอีก บางขณะช่วงคลื่นซัดขึ้นสูงมากจนกระทั่งการไฟฟ้าก็ต้องมาตัดไฟเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดกระแสไฟฟ้ารั่วและเป็นอันตรายต่อชาวบ้าน ปัจจุบันกำแพงคอนกรีตพังลงเกือบหมดแล้วจากแรงคลื่นที่กัดเซาะถนน ปัจจุบันเส้นทางจราจรสายชายฝั่งหัวไทร –ปากพนัง ใช้งานช่องทางเดียวเท่านั้น
ขณะที่ป้าสุชาติ อาจารีพิพัฒน์ วัย 68 ปี ชาวบ้านหมู่ที่ 8 ต.หน้าสตน อ.หัวไทร ย้อนภาพในอดีตว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งบนพื้นที่นี้เกิดขึ้นตั้งแต่ปี2543 และเพิ่มความรุนแรงมากขึ้นจนไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ เพราะคลื่นทะเลเริ่มกัดเซาะเข้าพื้นที่ทำกินของชาวบ้านมากขึ้น พื้นที่บนบกซึ่งเป็นแนวต้นมะพร้าวที่ยื่นออกไปในทะเลเกือบ 10 แถว ระยะทางกว่า 1 กิโลเมตร หายไปกับสายน้ำ จึงทำให้คนมีบ้านอยู่ติดกับทะเลต้องรื้อถอนบ้านไปสร้างที่อื่น
“ชาวบ้านส่วนใหญ่มีอาชีพทำประมงชายฝั่ง ทุกครัวเรือนจะมีเรือหางยาวเพื่อออกทะเลหาปลาในระยะไม่ไกลชายฝั่งมากนัก โดยในอดีตเมื่อชาวบ้านกลับเข้าฝั่งก็จะนำเรือประมงจดไว้บริเวณชายหาดหลังบ้าน แต่หลายปีที่ผ่านมา ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งทำให้ชายหาดสำหรับจอดเรือของชาวบ้านหายไป ต้องเอาเรือไปจอดที่บริเวณคลองปากระวะซึ่งอยู่ห่างจากบ้านประมาณ 3 กิโลเมตร” ป้าสุชาติ กล่าว
อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันพื้นที่ชายฝั่งทะเลบ้านขนาบนากกว่า 90 เปอร์เซ็นต์ ที่เคยเป็นที่พักอาศัยของชาวบ้านหลายร้อยหลังคาเรือนในอดีตได้แปรสภาพเปลี่ยนเป็นพื้นน้ำทะเล จนไม่เหลือสภาพชายฝั่งให้เห็น คงมีเพียงซากปรักหักพังทิ้งไว้เป็นหลักฐานว่า ก่อนหน้านี้พื้นที่ดังกล่าวเคยเป็นที่อยู่อาศัยของชุมชนชายฝั่ง
“มรสุม-พายุ-สิ่งก่อสร้าง”ปัญหากัดเซาะชายฝั่ง
บ้านเรือนของชาวบ้านที่ปลูกตามแนวชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราชถูกกัดเซาะหลายหลังคาเรือนมีสภาพเสียหาย
กรมทรัพยากรชายฝั่งฯ รายงานผลการสำรวจชายฝั่งทะเล จ.นครศรีธรรมราช พบว่า ขณะนี้มีการเปลี่ยนแปลงชายฝั่งขั้นรุนแรงเกิดขึ้นเป็นระยะทางรวม 60 กิโลเมตร กัดเซาะปานกลางรวม 50.5 กิโลเมตร และชายฝั่งสะสมตัวประมาณ 14 กิโลเมตร นอกจากนี้การก่อสร้างบริเวณชายฝั่งทะเลยังส่งผลกระทบต่อพื้นที่แนวชายฝั่ง โดยการกัดเซาะชายฝั่งรุนแรงตลอดแนวชายฝั่ง พื้นที่เสียหายมีทั้งชุมชนชายฝั่ง บ่อปลาบ่อกุ้ง สวนมะพร้าว รวมทั้งโครงสร้างตามแนวชายฝั่ง ทั้งเขื่อนคอนกรีต เขื่อนหินทิ้ง รวมทั้งรอดักทรายและเขื่อนกั้นทรายปากคลองต่างๆ จมน้ำทะเลเสียหายเป็นจำนวนมาก
แหล่งข่าวจากกรมทรัพยากรชายฝั่งฯ กล่าวว่า ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งมีหลายปัจจัย ทั้งจากปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ คือ ลมมรสุม ลมพายุรุนแรง และผลจากการพัฒนาพื้นที่ชายฝั่งที่ไม่เหมาะสมต่อสภาพธรรมชาติของพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็น การปรับพื้นที่เพื่อการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำ การสร้างโครงสร้างชายฝั่งทะเล โดยเฉพาะรอกันทรายและคลื่นตามปากแม่น้ำและปากคลองต่าง ๆ รวมทั้ง โครงการก่อสร้างการป้องกันการกัดเซาะของแต่ละชุมชน เช่น กำแพงกันคลื่น เขื่อนคอนกรีต เขื่อนหินทิ้ง รอดักทราย เขื่อนกันคลื่น ซึ่งพบตลอดตลอดแนวชายฝั่ง
“โครงสร้างดังกล่าว มากีดขวางกระแสน้ำ การเคลื่อนที่ของตะกอนชายฝั่ง จึงทำให้น้ำทะเลเปลี่ยนทิศทาง มีผลให้ตะกอนด้านใต้ของโครงสร้างสะสม มีการกัดเซาะมากด้านทิศเหนือ ไม่สามารถเคลื่อนตัวผ่านโครงสร้างไปได้ ส่งผลให้ชายฝั่งพยายามปรับตัวให้เข้าสู่สมดุลใหม่ จึงกัดเซาะชายฝั่งด้านเหนือโครงสร้างออกไปแทน เพื่อให้เกิดความสมดุลตามธรรมชาติ ทำให้เกิดการกัดเซาะชายฝั่งต่อไปเรื่อย ๆ และลุกลามไม่มีที่สิ้นสุด” แหล่งข่าวคนเดิม กล่าว
ขณะที่ชาวบ้านในพื้นที่ กล่าวถึงการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของภาครัฐว่า ทำมาแล้ 2 ครั้ง ครั้งแรกมีการนำก้อนหินขนาดใหญ่มาเทกองเป็นแนวยาวตลอดชายหาดแต่ด้วยความรุนแรงของคลื่นที่ซัดเข้าฝั่งทำให้แนวกองหินดังกล่าวได้รับความเสียหายไปมาก ต่อมาช่วงฤดูมรสุมทุกปีในช่วงเดือนพฤศจิกายน - มกราคม คลื่นทะเลได้ทวีความรุนแรงเพิ่มขึ้น ทำให้กองหินที่ทางหน่วยงานรัฐได้นำมาวางไว้นั้นถูกแรงคลื่นซัดพังทลายไปจนเกือบหมด ทั้งกองหินดังกล่าวยังเป็นปัจจัยหนุนที่ทำให้คลื่นทะเลมีความสูงยิ่งกว่าเดิม และส่งผลถึงพื้นที่หาดทรายหลังแนวกองหินที่กลายเป็นหาดก้นกระทะไปตามธรรมชาติ
“ในช่วงต้นปีที่ผ่านมา กรมเจ้าท่าและกรมทรัพยากรชายฝั่งฯ ได้ก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง ด้วยการนำกองหินกองเป็นเกาะไว้ในทะเล ห่างจากชายฝั่งประมาณ 200 เมตร ในเขต ต.หน้าสตน ตั้งแต่หมู่ที่ 2, 3, 7 และหมู่ที่ 8 ซึ่งเคยมีการกระทำในลักษณะนี้มาก่อนแล้วในพื้นที่ใกล้เคียง มีการสร้างแนวป้องกันเสร็จประมาณ 2 เดือนจะมีหาดทรายขาวเริ่มโผล่ขึ้นมาและสามารถนำเรือมาจอดได้ ชาวบ้านจึงได้แต่หวังว่าจากนี้จะมีหาดทรายงอกขึ้นมาบ้าง และไม่ต้องเอาเรือไปจอดที่อื่นให้ไกล พอหาปลาเสร็จก็เข้ามาจอดหลังบ้านได้เลย” ป้าสุชาติ กล่าว
สำหรับการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งของ โครงการงานรับเหมาก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่ง บริเวณหมู่ที่ 2, 3, 7, 8, ต.หน้าสตน อ.หัวไทร จ.นครศรีธรรมราช เป็นเพียงวิธีการหนึ่งในการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่ง
นายอารยัน รัตนะพันธ์ หัวหน้าส่วนวิศวกรรม กรมเจ้าท่า อธิบายการเลือกรูปการแก้ปัญหากัดเซาะชายฝั่งด้วยการสร้างแนวป้องกันว่าในเชิงวิชาการถือว่าเหมาะสมที่สุดและประชาชนในพื้นที่ให้การยอมรับเพราะโหวตเลือกรูปแบบเอง เชื่อว่าจะไม่มีปัญหาในการก่อสร้างเนื่องจากทำรายงานวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอ(EIA - Environmental Impact Assessment) แล้ว ส่วนสาเหตุที่ทำให้การก่อสร้างล่าช้าและมีการทิ้งช่วงแก้ปัญหาไปในช่วง 1-2 ปี เพราะกรมเจ้าท่าต้องอีไอเอให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมตรวจสอบก่อน
“ช่วง 2 ปีที่ผ่านมายอมรับว่ามีปัญหาการกัดเซาะอย่างรุนแรง และคนที่ได้รับผลกระทบคือชาวบ้านที่อยู่บริเวณชายฝั่งไม่ใช่ผู้ออกกฎหมาย ซึ่งไม่ได้อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เดือดร้อน ส่วนตัวเห็นว่าหากต้องการแก้ปัญหาให้ทันสถานการณ์ควรจะทำโครงการที่มีขนาดไม่ใหญ่นัก เพื่อความสะดวกรวดเร็วในอนุมัติการแก้ไขปัญหาให้กับชาวบ้านในพื้นที่เสี่ยงภัยได้ทันท่วงที” หัวหน้าส่วนวิศวกรรมให้ความเห็น
ส่วนการแก้ปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งที่บ้านขนาบนาก อ.ปากพนัง เจ้าหน้าที่คนเดิมชี้แจงว่า กรมเจ้าท่าได้ทำโครงการก่อสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งไว้ทั้งหมด3แห่งคือ ตำบลเกาะเพชร ตำบลหน้าสตนและตำบลขนาบนาก แต่ที่ตำบลขนาบนากไม่สามารถดำเนินการได้เพราะมีหน่วยงานอื่นได้รับทำโครงการแก้ไขปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งไปแล้ว โดยใช้วิธีการเอาแผ่นปูนคอนกรีตมาปักเป็นแนวยาวตลอดเลียบชายหาดระยะทางประมาณ 3 กิโลเมตร ในกรณี้ ทางกรมเจ้าท่าจะดำเนินการก่อสร้างโครงสร้างป้องกันการกัดเซาะชายฝั่งอีกไม่ได้เพราะมีกฎหมายที่เกี่ยวข้องห้ามให้มีการทำโครงการซ้ำซ้อนในพื้นที่เดียวกัน และหากหน่วยงานไหนทำหลังถือว่าเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมาย
ปลูกป่าชายเลนเสริมแนวตลิ่งบรรเทาวิกฤติกัดเซาะ
นายกฤษณะ ทิวัตถ์สิริกุล นักวิชาการอิสระในพื้นที่ ซึ่งได้ทำการศึกษาและเก็บรวบรวมข้อมูลปัญหาการกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่จังหวัดนครศรีธรรมราช อธิบายภาพรวมในการแก้ไขปัญหาคลื่นกัดเซาะชายฝั่งบริเวณอ่าวไทยในแถบชายฝั่งจังหวัดนครศรีธรรมราชของหน่วยงานรัฐที่ผ่านมาว่า มีการลักลั่น คือ ภาครัฐจะเน้นวิธีการใช้งบประมาณผ่านโครงการเพื่อให้โครงการสำเร็จโดยไม่ได้คิดถึงผลสัมฤทธิ์ที่จะตามมา ผลสำเร็จหมายถึง คือการได้ใช้เงิน แต่ไม่ได้วางแผนระยะยาวว่า การก่อสร้างแนวป้องกันการกัดเซาะเสร็จแล้วมันไม่มีประสิทธิภาพในการป้องกัน
“ที่เห็นชัดเจน คือ แถบบ้านขนาบนาก มีการลงทุนหลายสิบล้านบาทเพื่อทำกำแพงคอนกรีตป้องกันการกัดเซาะของชายฝั่ง แต่ใช้ได้เพียง 3-4 ปี แนวกำแพงก็พังทลาย การแก้ไขปัญหาชายฝั่งชายทะเลเป็นเรื่องใหญ่ ทุกอย่างมีส่วนเกี่ยวเนื่องกันตลอดโดยเฉพาะเรื่องของธรรมชาติ กระแสน้ำ กระแสลม หรือที่แหลมตะลุมพุก ในบริเวณหมู่ที่ 2 และหมู่ที่ 3 ที่มีการจัดทำแนวป้องกันการกัดเซาะโดยวิธีการสร้างเขื่อนหิน แต่ถัดจากแนวป้องกันการกัดเซาะไปเพียงไม่กี่ร้อยเมตร ก็จะเกิดการกัดเซาะเพิ่มขึ้นอย่างมโหฬารมีการกัดเซาะสวนมะพร้าวของชาวบ้านให้ลงไปในทะเลมากว่า 10 ไร่ และการกัดเซาะได้เพิ่มความรุนแรงมากขึ้น” นายกฤษณะ กล่าว
และย้ำว่า หากการแก้ปัญหาด้วยการสร้างกำแพงคอนกรีตไม่ได้ผลจริง อีกทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ได้มีการบูรณาการร่วมกัน เป็นไปได้หรือไม่ว่าชาวบ้านหรือผู้ได้รับผลกระทบจะใช้ภูมิปัญญาท้องถิ่นแก้ไขปัญหาด้านการกัดเซาะโดยการใช้วัสดุ อุปกรณ์ทางธรรมชาติ เหมือนทาง จ.เพชรบุรี หรือ จ.สมุทรปราการ ที่ใช้แนวป้องกันธรรมชาติ ด้วยการปลูกพืช ป่าชายเลน สามารถบรรเทาความรุนแรงของการกัดเซาะได้ระดับหนึ่ง
“ที่บ้านสระบัวอำเภอท่าศาลาเมื่อ 30 ปีก่อน มีหาดทรายสีขาวเป็นแหล่งท่องเที่ยวชั้นนำของ จ.นครศรีธรรมราช แต่ปัจจุบันการทับถมของตะกอนเลน ซึ่งเชื่อว่าการกัดเซาะจากแถบปากพนัง จนทุกวันนี้หาดสระบัวกลายมาเป็นป่าชายเลนอย่างน่าเหลือเชื่อ อย่างเรื่องการปลูกป่าชายเลน ภาคใต้ไม่เคยนำวิธีการนี้มาใช้ ทั้ง ๆ ที่พื้นที่อื่นเขาใช้ได้ผลมาแล้ว” นักวิชาการคนเดิม ให้ความเห็น
วิกฤติกัดเซาะชายฝั่งในพื้นที่ภาคใต้ไม่ว่าจะเป็นฝังอันดามันหรือฝั่งอ่าวไทย ถือเป็นเรื่องสำคัญที่รัฐต้องเร่งเข้ามาแก้ไข การกัดกร่อนผืนดินหายลงไปในทะเลแม้แต่ละปีจะมีไม่มากนัก แต่เมื่อสะสมนาน ๆ เข้าก็จะส่งผลกระทบต่อเนื่องโยงเป็นลูกโซ่ จากปัญหาสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติ และท้ายสุดก็กระทบต่อความมั่นคงของมนุษย์และชุมชนที่อยู่ในพื้นที่อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้