คสป. เล็งจัดสมัชชาระดับประเทศฟังเสียงปชช.มี.ค.ปีหน้า
ปธ.คณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป เผยผลประชุม คสป. ขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายชัดเจน แต่มีแนวคิดเรื่องทรัพยากรธรรมชาติ ต้องทำ 3 ส่วนให้ชัดเจน มอบทีดีอาร์ไอ รับไปดูแล
วันนี้(15 ก.ย.) เวลา 16.30 น. ที่เรือนธารกำนัล บ้านพิษณุโลก นพ.สมศักดิ์ ชุณหรัศมิ์ ประธานคณะทำงานเครือข่ายวิชาการเพื่อการปฏิรูป แถลงผลการประชุมคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป(คสป.) ชุดที่มี นพ.ประเวศ วะสี เป็นประธาน ในครั้งที่ 5/2553 ว่า คณะกรรมการ ชุดย่อย ใน 14 ชุด ได้นำเสนอความคืบหน้าการทำงาน ซึ่งมีประเด็นที่น่าสนใจจากคณะกรรมการเครือข่ายผู้ด้อยโอกาสเพื่อการปฏิรูป หลังจากที่ได้ลงไปรับข้อเสนอในพื้นที่ เรื่องการมองประเทศไทย ในมุมการปฏิรูป ว่า ต้องมองเรื่องทรัพยากรธรรมชาติในภาพรวมเป็นหลัก
“ที่ประชุมมีการพูดคุย 3 เรื่องใหญ่ คือ 1.อยากเห็นประเทศมีแนวคิด กติกา และกลไกชัดเจนว่าหากเอาทรัพยากรธรรมชาติมาใช้ประโยชน์ ต้องมีนโยบายอย่างไร 2.กติกาการขุดทรัพยากรมาใช้ ต้องชัดเจนไม่ให้เกิดผลกระทบต่อประชาชน และเกิดประโยชน์สูงสุด ไม่เพียงจากการสัมปทานของเอกชนที่ไม่มีควบคุมกำกับ 3. ค่าภาคหลวง ที่เป็นรายได้จากผู้ประกอบกิจการควรเป็นธรรมมากขึ้น เพราะถือว่าทรัพยากรธรรมชาติ เป็นของประเทศ ไม่ใช่ของเอกชน รัฐบาลไม่ควรจะมองว่า เป็นเรื่องรายได้ โดยไม่มองเรื่องส่วนรวม”
อย่างไรก็ตาม นพ.สมศักดิ์ กล่าวว่า ขณะนี้ยังไม่มีข้อเสนอแนะเชิงนโยบายชัดเจน แต่แนวคิดหลัก คิดว่า หากมองเรื่องการปฏิรูปประเทศไทย กรณีทรัพยากรธรรมชาตินั้น ต้องทำ 3 ส่วนให้ชัดเจน ขณะนี้ได้ส่งเรื่องต่อให้สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) รับไปดูแล เพื่อจัดทำเป็นข้อเสนอแนะเชิงนโยบายการปฏิรูป โดยการเชิญชาวบ้านมาพูดคุยและลงพื้นที่ เพื่อได้ข้อมูลที่เป็นข้อเท็จจริง
“ตัวอย่างที่เครือข่ายผู้ด้อยโอกาสเพื่อการปฏิรูปได้กล่าวถึงคือ เรื่อง พ.ร.บ.เหมืองแร่ ที่ปัจจุบันมองเพียงเรื่องรายได้ การจัดการสิ่งแวดล้อม ที่ควรมีเรื่องอื่นด้วย หรือแม้กระทั่งการให้ใบอนุญาติ หรือปรับแก้อย่างไร แต่วันนี้ยังไม่ได้ลงรายละเอียดเชิงลึก โดยทางฝ่ายวิชาการจะพูดคุย พิจารณารายละเอียดกันอีกครั้งถึงเรื่องเร่งด่วน ภาพใหญ่ และจุดยืนประเทศไทย ในขณะที่โลกเปลี่ยนแปลงรวดเร็ว ทั้งเรื่องโลกร้อน สิ่งแวดล้อมการเมือง เศรษฐกิจ ต้องดูว่าการเปลี่ยนแปลงต่างๆ จะมีผลต่อทรัพยากรอย่างไร แนวคิดหากไม่ระวัง จัดการแบบเดิม ถึงเวลาจะเอาไปใช้หมด ไม่ได้ใช้ในระยะยาวในระยะยาว”
นพ.สมศักดิ์ กล่าวถึงงานของคณะกรรมการชุดย่อย 2 ชุด ได้แก่ ชุดคณะกรรมการที่ทำเรื่องยุติธรรม โดย ทางปลัดกระทรวงยุติธรรม ได้เล่าถึง แผนการทำงานเพื่อปรับเรื่องยุติธรรมในสังคม 3 ด้าน คือ 1.การดูกฎหมายที่เป็นสาเหตุกับความยากจน และเรื่องทรัพยากร ที่ต้องปรับเปลี่ยน เพื่อให้ประชาชนมีโอกาสมากขึ้น โดยวางแผนว่า ก่อนเดือนพฤศจิกายนคาดว่าจะเรียบร้อย 2.ศึกษาเพื่อให้อนาคตประเทศไทยเกิดกลไกลยุติธรรมทางเลือก คือ ชุมชนมีส่วนร่วมในการยุติข้อพิพาทตัดสิน กรณีความขัดแย้ง โดยไม่ต้องรอ ตำรวจ ศาล อัยการ เพื่อบรรเทาความยุติธรรมให้ดีขึ้น 3.การแก้กระบวนการยุติธรรมในระบบ โดยเฉพาะส่วนที่กระทบต่อคนจน และผู้ด้อยโอกาส
“อีกชุดหนึ่ง คือ คณะกรรมการเครือข่ายองค์กรชุมชนที่ ได้เคลื่อนไหว และทำงานกับสภาองค์กรชุมชน วันที่ 14-15 กันยายน ที่ผ่านมา โดยการพูดคุยจากตัวแทนชุมชนจากทุกจังหวัด มีข้อเสนอชัดเจนว่า ต้องการเห็นชุมชนจัดการตนเอง เพื่อเกิดกลไกให้ชุมชนสามารถจัดการตนเองได้ โดยเฉพาะการตัดสินอนาคตพื้นที่ของตน ทั้งการจัดการทรัพยากรธรรมชาติ แผนพัฒนาพื้นที่ ซึ่งแต่ละจังหวัดจะรวมกันทำเรื่องเหล่านี้”
นพ.สมศักดิ์ กล่าวด้วยว่า เรื่องการจัดเวทีของคณะกรรมการปฏิรูป(คปร.) ที่จะมีขึ้นในวันที่ 17 ต.ค. เรื่อง ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ จะเป็นการประชุมระหว่างคณะกรรมการทั้ง 2 ชุด ประชุมร่วมกับนักวิชาการและประชาชน มีเป้าหมาย เพื่อการพูดถึงประเด็นสำคัญต่างๆที่จะปฏิรูป ซึ่งขณะนี้กำลังรวบรวมประเด็นต่างๆ เพื่อลงมาคุงยกับประชาชน คาดว่า ไม่เกินเดือนพฤศจิกายน กรรมการทั้งสองชุดจะมาพูดคุยเพื่อจะสรุปประเด็นสำคัญในการปฏิรูป มีเรื่องอะไรบ้าง เช่น การปรับโครงสร้างภาษี การใช้ทรัพยากร เรื่องที่ดิน เป็นต้น หลังจากนั้น จะมีการจัดการประชุมจัดสมัชชาระดับประเทศขึ้น เพื่อรับฟังเสียงจากประชาชนในเดือน มี.ค. 54 เพื่อให้ประชาชนทุกภาคส่วน และทุกภูมิภาคมีส่วนร่วม ตามวัตถุประสงค์ ให้ประชาชนพิจารณาและเสนอแนะว่า เรื่องที่ต้องปฏิรูปประเทศไทยมีอะไรบ้าง และแจกไปยังส่วนต่างๆ เพื่อพิจารณาก่อนล่วงหน้า เพื่อตอกย้ำให้เห็นมากขึ้นว่าประชาชนต้องการอย่างไร .