พลิกมติ คตส.-ป.ป.ช.คดีเซ็นทรัลแล็บ “ปีติพงษ์”ลงดาบ ขรก.-หลัง'เนวิน'รอด
พลิกมติ คตส.-ป.ป.ช. คดี “เซ็นทรัลแล็บ” ผู้ถูกกล่าวหาเป็นกระบุงกว่า 53 ราย ก่อน อ.ก.พ.เกษตรฯ “ปีติพงษ์” นั่งหัวโต๊ะ สั่งลงดาบ ขรก. พันคดี หลังยื้อมา 2 ปี
กลับมาเป็นที่สนใจของสาธารณชนอีกครั้ง !
ภายหลังคณะอนุกรรมการข้าราชการพลเรือน (อ.ก.พ.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ที่มี “ปีติพงษ์ พึ่งบุญ ณ อยุธยา” รมว.เกษตรฯ เป็นประธาน ได้พิจารณาลงโทษข้าราชการที่เกี่ยวพันในโครงการจัดซื้อเครื่องมืออุปกรณ์วิทยาศาสตร์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์สินค้าการเกษตรและอาหาร ของกระทรวงเกษตรฯ (เซ็นทรัลแล็บ)
ท่ามกลางเสียงวิพากษ์วิจารณ์ว่า กระทรวงเกษตรฯยื้อเรื่องนี้มากว่า 2 ปี จึงจะมีมติปลดออกจากราชการดังกล่าว
ซึ่งโครงการนี้ในช่วงการไต่สวนของคณะกรรมการตรวจสอบการกระทำที่ก่อให้เกิดความเสียหายแก่รัฐ (คตส.) นั้นพบว่า “เนวิน” ซึ่งนั่งเก้าอี้ รมช.เกษตรฯ ขณะนั้น และข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้องด้วยเป็นจำนวนมาก !
กระทั่งคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ซึ่งรับไม้ต่อจาก คตส. มาไต่สวนเพิ่มเติม ได้มีมติชี้มูลความผิดเพียง 9 รายเท่านั้น จากจำนวนผู้ถูกกล่าวหาทั้งหมด 53 ราย
ขณะที่ “เนวิน ชิดชอบ” กับพวกอีกจำนวนมาก ไม่มีความผิด ?
เพื่อขยายความให้ชัดขึ้น สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกมติการไต่สวนของ คตส.-ป.ป.ช. มานำเสนอให้เห็นกันอีกครั้ง ดังนี้
คตส.
ในการไต่สวนพบความผิดปกติในหลายประเด็น ได้แก่
หนึ่ง การกำหนดนโยบายเพื่อจัดตั้งบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง พบว่าเรื่องที่เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีครั้งแรกเป็นการดำเนินงานในลักษณะองค์กรมหาชน แต่ต่อมาผู้รับผิดชอบโครงการเปลี่ยนแปลงรูปแบบเป็นลักษณะบริษัทจำกัดเพื่อไม่ต้องปฏิบัติตามกฎหมายและข้อบังคับที่หน่วยงานต้องถือปฏิบัติ ทำให้การดำเนินงานในรูปบริษัททำได้ง่ายขึ้น เช่น การเลือกบุคคลเข้ามาเป็นคณะกรรมการ การใช้จ่ายเงิน การออกกฎระเบียบของบริษัท เป็นต้น
ขณะนั้นในที่ประชุมคณะรัฐมนตรี มีหลายหน่วยงานท้วงติงและให้กลับไปพิจารณาทบทวนใหม่เพราะอาจไปซ้ำซ้อนกับหน่วยงานอื่นที่รับตรวจสารตกค้างในสินค้าเกษตรอยู่แล้ว และเงินที่นำไปจัดตั้งและการดำเนินการต่าง ๆ ของบริษัทก็เป็นเงินของรัฐ ก็ควรยึดกฎระเบียบของรัฐเป็นสำคัญ
อย่างไรก็ดี ภายหลังนำเรื่องเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ก็มีการจัดตั้งบริษัท และปรากฏว่า “เนวิน” รมช.เกษตรฯ ขณะนั้น เข้าไปนั่งเป็นประธานเพื่อกำหนดนโยบายและสั่งการให้การดำเนินงานทั้งหมดของบริษัทห้องปฏิบัติการฯ เป็นไปตามความต้องการของตนเอง
คณะกรรมการ คตส. เห็นว่า การจัดตั้งหน่วยงานนี้ในรูปบริษัทจำกัดเป็นการกระทำที่ขัดต่อรัฐธรรมนูญปี 2540 มาตรา 87 ที่ไม่ให้รัฐค้าขายแข่งขันกับเอกชน ไม่สอดคล้องกับภารกิจของกระทรวงการคลัง ตาม พ.ร.บ.ปรับปรุงกระทรวง ทบวง กรม พ.ศ. 2545 มาตรา 10 และ พ.ร.บ.ส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลาง และขนาดย่อม พ.ศ. 2543
สอง การก่อตั้งบริษัทไม่ได้ศึกษาความคุ้มทุน พบว่า การดำเนินไม่ประสบผลสำเร็จ มีลูกค้าน้อย เพราะสินค้าที่ผ่านการรับรองจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ แล้ว แต่ผลการรับรองก็ต้องไปผ่านการพิจารณาจากห้องปฏิบัติการของหน่วยราชการอีก ซ้ำราคาค่าตรวจจากห้องปฏิบัติของภาครัฐต่ำกว่าอีกด้วย
ขณะเดียวกันยังพบการจัดซื้อเครื่องมือและอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ในราคาแพงแต่ใช้งานไม่คุ้มค่า บางสาขาไม่ได้ใช้ บางสาขาพื้นที่อยู่ในจังหวัดห่างไกลจากทะเล ไม่มีลูกค้าตรวจสอบอาหารทะเลแต่กลับซื้อเครื่องมือที่ใช้ตรวจสอบอาหารทะเลเพราะจัดซื้อเครื่องมือเหมือนกันทุกสาขาอีกด้วย
สาม สถานะของบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ มีสถานะเป็นหน่วยงานของรัฐประเภทรัฐวิสาหกิจไม่ใช่บริษัทจำกัด ตาม พ.ร.บ.ต่าง ๆ เช่น พ.ร.บ.พนักงานรัฐวิสาหกิจสัมพันธ์ พ.ศ. 2534 มาตรา 4 พ.ร.บ.คุณสมบัติมาตรฐานสำหรับกรรมการ และพนักงานรัฐวิสาหกิจ พ.ศ. 2518 มาตรา 4 และพ.ร.บ.พัฒนาการเศรษฐกิจ และสังคมแห่งชาติ พ.ศ. 2521 มาตรา 4
สี่ การดำเนินการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ นั้นมีการกระทำผิดกฎหมาย ตั้งแต่การกำหนดคุณลักษณะเฉพาะและราคากลางของเครื่องมือ และอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ของบริษัทห้องปฏิบัติการกลาง ฯ เพื่อนำไปใช้ในการประกวดราคา มีลักษณะเป็นการให้ประโยชน์กับบริษัทเอกชนบางราย และกีดกันบริษัทอื่น ๆ มีความผิดปกติในการดำเนินการในการประกวดราคา เช่น การจัดซื้อเครื่องมือ และอุปกรณ์วิทยาศาสตร์ พบว่า มีความผิดปกติ เช่น การประมูลจัดซื้อ มีบริษัทเอกชนบางราย ใช้แหล่งเงินในการออกหนังสือค้ำประกันธนาคารแห่งเดียวกัน บุคคลที่ดำเนินการเป็นคนเดียวกัน
รวมทั้งบริษัทที่เข้าประมูลหลายแห่งได้รับใบอนุญาตให้เป็นตัวแทนการขายเครื่องมือ จากบริษัทจำหน่ายเครื่องมือรายใหญ่รายหนึ่ง ถือเป็นการกีดกันผู้เสนอราคารายอื่น และกรรมการรายหนึ่งที่ทำหน้าที่กำหนดคุณลักษณะเครื่องมือ มีความสัมพันธ์ทางครอบครัวกับผู้บริหารระดับสูงในบริษัทขายเครื่องมือรายหนึ่งด้วย
นอกจากนี้ เครื่องมือที่จัดซื้อก็มีราคาสูงมากกว่าความเป็นจริง เพราะกระบวนการซื้อขายเครื่องมือของเอกชนเป็นลักษณะการซื้อเครื่องมือมาเป็นทอด ๆ เช่น กิจการร่วมค้าบริษัทสิทธิพร ฯ ซึ่งเป็นผู้ประมูลการจัดหาเครื่องมือทาง วิทยาศาสตร์ไม่ได้จัดซื้อเครื่องมือจากบริษัทผู้ผลิต เช่น บริษัทเอจิเลนต์ฯ โดยตรง แต่ได้ให้บริษัทเอกชนอื่น เช่น บริษัท เอส. ดับเบี้ลยู. เอ็น. คอมพิวเทค จำกัด ซี่งไม่มีประสบการณ์ในการประกอบธุรกิจประเภทการค้าเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์ มาก่อน และภายหลังเลิกกิจการไปหลังจากการซื้อขายสินค้าครั้งนี้ ดำเนินการซื้อจากบริษัทเหล่านั้น และนำมาขายกับกิจการร่วมค้าบริษัทสิทธิพร รวมถึงมีบางบริษัทเป็นผู้ดำเนินการในลักษณะตัวแทนจำหน่ายสินค้าให้กับบริษัทผู้ผลิตสินค้า เช่น บริษัทเวิลด์สยาม กรุ๊ป จำกัด เป็นตัวแทนจำหน่ายสินค้าของบริษัทเอจิเลนต์ฯ เป็นต้น
ห้า บริษัทต่าง ๆ ดังกล่าวนั้นมีความเกี่ยวพันใกล้ชิดกันในการประกอบธุรกิจกับโครงการต่าง ๆ ของกระทรวงเกษตรฯ โดยจากการตรวจสอบเส้นทางการเงิน ที่โอนไปจากกิจการร่วมค้าบริษัท สิทธิพรฯ ที่ได้เงินไปจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ พบว่า บริษัทเหล่านี้ ได้เคยเข้าร่วมประมูลงานข้อมูลในโครงการอื่นของกระทรวงเกษตร และสหกรณ์ 3 โครงการ ที่เกี่ยวเนื่องมาแล้ว ชี้ให้เห็นว่าบริษัทเอกชนเหล่านี้ มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกัน จากการซื้อขายสินค้ากันหลายทอดดังกล่าว ทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้น มากกว่าที่ควรจะเป็นโดยมีส่วนต่างประมาณ 343 ล้านบาท อันทำให้บริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ เสียประโยชน์จากการจัดซื้อวัสดุอุปกรณ์ของบริษัทดังกล่าว
ขณะที่เงินที่ได้รับไปจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ ถูกสั่งจ่ายเป็นเช็คมากกว่าหลายร้อยใบ ไปให้บุคคล และบริษัทเอกชนที่เกี่ยวข้องจำนวนมาก ก่อนที่เงินจำนวนนี้จะถูกถอน เป็นเงินสด และหายไปโดยไม่สามารถติดตามได้ และมีเงินจากบริษัทห้องปฏิบัติการกลางฯ บางส่วนโอนข้าไปในบัญชีของกลุ่มนักเล่นหุ้นกลุ่มหนึ่งด้วย
ทั้งนี้ จากผลการไต่สวนของ คตส. ได้ชี้มูลความผิดบุคคลที่เกี่ยวข้องกว่า 53 ราย ได้แก่
1.กลุ่มนักการเมือง ได้แก่ นายเนวิน ชิดชอบ รมช.เกษตรฯ ขณะนั้น โดยใช้อำนาจสั่งการ และชี้นำในการดำเนินการโครงการดังกล่าว มีความผิดตาม มาตรา 10,11,13 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ. 2542 ประกอบมาตรา 84 ประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 66 แห่งพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามการทุจริต พ.ศ.2542
2.คณะกรรมการบริหาร กรรมการผู้จัดการ คณะกรมการบริษัท คณะทำงานด้านเทคนิคสถานที่ และอุปกรณ์ และคณะทำงานพิจารณาด้านเทคนิคอุปกรณ์ ของ บริษัท เซ็นทรัลแล็บ ได้ร่วมกันกำหนดคุณสมบัติหรือล็อคสเปกในลักษณะเจาะจง และมีคณะกรรมการบางคนมีส่วนได้เสียกับการดำเนินการครั้งนี้ มีความผิด ตามมาตรา 11 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 (พ.ร.บ.ฮั้ว) ประกอบมาตรา 151 แห่งประมวลกฎหมายอาญา และมาตรา 8 แห่ง พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดของพนักงานในองค์กรหรือหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2502 ในส่วนของการประกวดราคาที่ไม่ชอบ เห็นควรดำเนินการกับกรรมการผู้จัดการ และคณะกรรมการบริหาร ตามมาตรา 11 และ 12 แห่งพ.ร.บ.ฮั้ว มาตรา 157 แห่งประมวลกฎหมายาญา และมาตรา 8 พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดต่อพนักงานของรัฐฯ พ.ศ.2502
3.กลุ่มบริษัทเอกชน รวมกันฮั้วในการเสนอราคามีความผิดตามาตรา 4 ,9 แห่ง พ.ร.บ.อั้ว และมาตรา 341 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
4.บุคคล และนิติบุคคล ที่ร่วมกันในการสมยอมราคา และฉ้อโกงรัฐ ทำให้รัฐเสียหายมีความผิด ตามมาตรา 5 ,9 แห่ง พ.ร.บ.ฟอกเงิน พ.ศ. 2542 ซึ่งต้องรับโทษตามมาตรา 60,61 ตาม พ.ร.บ.ดังกล่าว และมีความผิดฐานรับของโจร ตามมาตรา 357 แห่งประมวลกฎหมายอาญา
หลังจากนั้น คตส. ได้ส่งเรื่องให้กับคณะกรรมการ ป.ป.ช. เพื่อรับไม้ไต่สวนข้อเท็จจริงต่อ โดยมี “เมธี ครองแก้ว” กรรมการ ป.ป.ช. (ขณะนั้น) เป็นผู้รับผิดชอบสำนวน
ท่ามกลางหลายฝ่ายวิพากษ์วิจารณ์กันว่า คดีนี้ “ถูกดอง”
กระทั่งวันที่ 30 ก.ค. 2556 ที่ประชุมคณะกรรมการ ป.ป.ช. มีมติในกรณีนี้ว่า
1.ข้าราชการ 9 คนมีความผิดทางวินัยอย่างร้ายแรง และ มีมูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 และตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 157 ประกอบมาตรา 83
2.เอกชน 9 ราย มีมูลความผิดทางอาญา ตาม พ.ร.บ.ว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 4 ประกอบมาตรา 9 และฐานเป็นผู้สนับสนุนเจ้าพนักงานกระทำความผิดเกี่ยวกับการเสนอราคาต่อหน่วยงานของรัฐ พ.ศ.2542 มาตรา 11 และมาตรา 12 ประกอบประมวลกฎหมายอาญามาตรา 86 และตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 157 ประกอบมาตรา 86
ในฐานความผิด กำหนดคุณลักษณะเฉพาะของเครื่องมือและอุปกรณ์ที่จัดซื้อในลักษณะเอื้อประโยชน์ให้กับบริษัทที่ประกวดราคาได้ และผู้เข้าร่วมในการประกวดราคาเป็นบุคคลกลุ่มเดียวกัน
รายชื่อข้าราชการ จำนวน 9 ราย ได้แก่
1.นางสาวฉวีวรรณ เลียววิจักขณ์ รองอธิบดีกรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
2.นางณัฐชนัญ ลีพิพัฒน์ไพบูลย์ ผู้ช่วยศาสตราจารย์ระดับ 8 ภาควิชาเคมี คณะวิทยาศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
3.นายไพบูลย์ นวลนิล รองคณบดีฝ่ายวางแผนและพัฒนาคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์
4.นางบงกชรัตน์ ปิติยนต์ รองศาสตราจารย์ ประจำคณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์
5.นางสาวนิตยา เกตุแก้ว รองคณะบดีฝ่ายวิชาการ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี
6.นายอดุลย์ สุวรรณเนตร นักวิทยาศาสตร์ 8 กรมวิชาการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
7.นางสาวศิริลักษณ์ สุวรรณรังษี นักวิชาการผลิตภัณฑ์อาหาร 8 ว. กรมประมง กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
8.นายนิรันดร เอื้องตระกูลสุข ผู้อำนวยการส่วนควบคุมเคลื่อนย้ายและกักกัน กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
9.นางสาวมณวิภา จารุตามระ นักวิทยาศาสตร์ 7 กรมปศุสัตว์ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะคณะทำงานพิจารณาเทคนิคด้านอุปกรณ์ห้องปฏิบัติการกลางตรวจสอบผลิตภัณฑ์เกษตรและอาหาร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์
เอกชน 9 ราย ได้แก่
1.บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด
2.บริษัท วิจิตรชัยธนบุรีก่อสร้าง และเคหะภัณฑ์ จำกัด
3.นายดิเรก วงศ์ชินศรี
4.นายสุรสิทธิ์ ติยะวัชรพงศ์ กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด
5.บริษัท อีฟอร์แอล อินเตอร์เนชั่น จำกัด
6.นางสาววัชรภรณ์ ภิสสาสุนทร กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท อีฟอร์แอล อินเตอร์เนชั่น จำกัด
7.นายสมาน นาควิเชียร ผู้รับมอบอำนาจจากบริษัท อีฟอร์แอล อินเตอร์เนชั่น จำกัด
8.บริษัท ออสคอน จำกัด
9.นางสาวอรณี ชวลิตวรกุล กรรมการผู้มีอำนาจลงนามผูกพันบริษัท ออสคอน จำกัด
ขณะที่ ป.ป.ช. เห็นว่า “เนวิน” กับผู้เกี่ยวข้องจำนวนมากไม่มีความผิด !
ทั้งหมดคือที่มาที่ไปของคดี “เซ็นทรัลแล็บ” ที่ถูก “ปีติพงษ์” ขุดขึ้นมาพิจารณาและสั่ง “ลงดาบ” ข้าราชการที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง หลังผ่านมากว่า 2 ปี
สำนักข่าวอิศรารายงานข่าวความคืบหน้าคดีนี้เพิ่มเติมว่าล่าสุดในเดือน มิ.ย. 2556 บริษัท สิทธิพรแอสโซซิเอส จำกัด ได้ส่งเอกสารชี้แจงมายังสำนักข่าวอิศรา โดยอ้างเอกสารสำเนาคำพิพากษาของศาลคดีทุจริตและประพฤติมิชอบ ระบุว่าศาลในชั้นต้นและชั้นอุทธรณ์ได้พิพากษาให้บริษัทไม่มีความผิดในคดีดังกล่าวและศาลฎีกาก็ไม่ยอมรับฎีกาของ ป.ป.ช. (อ่านประกอบ:ไม่รับฎีกา ป.ป.ช.! ศาลคดีทุจริตฯ พิพากษาแล้ว บ.สิทธิพรฯ ไร้ความผิด คดีเซ็นทรัลแล็บปี 56)
อ่านประกอบ : ป.ป.ช.ฟันเงียบ“รองอธิบดี-5 อาจารย์ม.ดัง”เอื้อเอกชนคดีฉาวเซ็นทรัลแล็ป