“สามสัมพันธ์ -ห้าภูมิคุ้มกัน” ทางรอดครอบครัวไทย
สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว พม. จัดประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2558 ยันภัยคุกคาม และทางรอดครอบครัวไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง ต้องใช้หลัก “สามสัมพันธ์” -“ห้าภูมิคุ้มกัน” ตั้งรับกับปัญหา
วันที่ 11 มิถุนายน สมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย ร่วมกับกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) มูลนิธิเครือข่ายครอบครัว และสำนักสนับสนุนสุขภาวะเด็ก เยาวชน และครอบครัว สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดประชุมวิชาการด้านครอบครัวระดับชาติ ประจำปี 2558 “ภัยคุกคาม : ทางรอดของครอบครัวไทยในกระแสการเปลี่ยนแปลง” ณ สถาบันศูนย์วิจัยจุฬาภรณ์หลักสี่ กรุงเทพฯ โดยนายอภิชาติ อภิชาตบุตร รองอธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.)เป็นประธานเปิดการประชุม
นายอภิชาติ กล่าวถึงการเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจ สังคม การเมือง เทคโนโลยี และสภาวะแวดล้อม ทั้งหมดนี้ล้วนส่งผลกระทบไปยังครอบครัว ถ้าผลกระทบเป็นไปในทางสร้างสรรค์ก็จะช่วยส่งเสริมให้ครอบครัวดำรงอยู่ได้อย่างปกติสุข แต่ในทางกลับกัน หากเป็นภัยร้ายภัยคุกคาม ย่อมทำให้ครอบครัวประสบปัญหา ดังนั้น แนวทางการแก้ไขจึงต้องอาศัยสติปัญญาและการมีส่วนร่วมของครอบครัว เพื่อร่วมกันหาวิธีที่เหมาะสมในการประคับประคองชีวิตครอบครัว โดยใช้หลัก “สามสัมพันธ์” คือ การให้เกียรติและห่วงใย ใส่ใจหน้าที่ สื่อสารอย่างสุนทรี และหลัก “ห้าภูมิคุ้มกัน” คือ รู้สิทธิและกฎหมาย รู้เพศศึกษา เข้าร่วมเครือข่าย มีหลักประกันของครอบครัว และดูสื่อให้สร้างสรรค์ ดังนั้น ถ้าครอบครัวสามารถตั้งรับกับปัญหาได้ก็จะเป็นพื้นฐานที่มั่นคงของชุมชน สังคมและประเทศชาติต่อไป
ด้านนายสุจิตต์ ไตรพิทักษ์ ที่ปรึกษาสมาคมครอบครัวศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ปัจจุบันครอบครัวต้องเผชิญกับภัยคุกคาม สถานการณ์การเปลี่ยนแปลงหลากหลายมิติและหลายระดับที่มีผลต่อการพัฒนาเด็ก เยาวชน และครอบครัว ทั้งโดยตรงและอ้อม ซึ่งเป็นปัจจัยเสี่ยงที่มาจากทั้งภายในและภายนอกครอบครัวที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ และนับวันจะทวีความรุนแรงและคุกคามไปในทุกช่วงวัยของสมาชิกในครอบครัว เช่น วัยเด็กมีภัยคุกคามด้านการเรียน การเลี้ยงลูกด้วยสิ่งของ การใช้สื่อเลี้ยงลูก การใช้ความรุนแรงทางกาย วาจา ใน วัยรุ่น มีภัยคุกคามด้านพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ การพนัน ยาเสพติด เทคโนโลยี มีการใช้กำลังและความรุนแรง วัยทำงาน มีภัยคุกคามด้านพฤติกรรมด้านการทำงานหนัก แข่งขัน เร่งรีบ พฤติกรรมบริโภคและใช้จ่ายเกินตัว ภาวะสุขภาพจิตและสุขภาพกาย และวัยสูงอายุ มีภัยคุกคามด้านสุขภาพร่างกาย ความไม่ปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน สภาวะทางจิตใจ เป็นต้น
จากนั้น มีการมอบรางวัลผลงานวิจัยและวิทยานิพนธ์ดีเด่นด้านครอบครัว ประกอบด้วย
ผลงานวิจัยด้านครอบครัว ระดับชมเชย : ดร.ปณิธี (สุขสมบูรณ์) บราวน์ เรื่อง เพศภาวะและเพศวิถีกับพหุวัฒนธรรมในสังคมไทย : การสำรวจองค์ความรู้
ผลงานวิทยานิพนธ์ (ปริญญาเอก) ด้านครอบครัว ระดับดี : ผศ.ดร.ณัฐจรี สุวรรณภัฏ เรื่อง Self in marriage, marriage in the self : Negotiating “Modern” and “traditional” Values in Thai newlywed marriages.
ผลงานวิทยานิพนธ์ (ปริญญาเอก) ระดับชมเชย : ทพญ.ดร.จุฑารัตน์ ฉิมเรือง เรื่อง ลักษณะทางจิตและประสบการณ์ทางสังคมที่มีอิทธิพลต่อคุณภาพชีวิตด้านสุขภาพของวัยรุ่น ปากแหว่งเพดานโหว่
ผลงานวิทยานิพนธ์ด้านครอบครัว (ปริญญาโท) มี 5 ราย
ระดับดี จำนวน 3 ราย :
- นายพัฒนภาณุ ทูลธรรม เรื่อง การพัฒนาแนวทางในการขับเคลื่อนโยบายสวัสดิการเด็กและครอบครัวของกลุ่มบูรณาการแรงงานสตรีด้วยการวิจัยทางสังคมสงเคราะห์แนวเฟมินิสต์
- นางสาวสายใจ เนาวจิตร เรื่อง ความทุกข์ของแม่ติดเชื้อเอชไอวีที่ต้องเลี้ยงลูก : แนวคิดสตรีนิยม
- นายสุรเชษ์ฐ สุขลาภกิจ เรื่อง “ผัวเดียวเมียเดียว” ในสังคมไทยสมัยใหม่จากทศวรรษ 2410 ถึงทศวรรษ 2480
ระดับชมเชย จำนวน 2 ราย :
- นางสาวภัทราพร เพ็ชรนิล เรื่อง การปรับตัวของผู้ปกครองในการดูแลเด็กสมาธิสั้น
- นางสาวดวงดาว ไชยา เรื่อง ครอบครัวสมัยใหม่กับผู้เปลี่ยนไปนับถือศาสนาคริสต์ในพื้นที่กรุงเทพมหานครและปริมณฑล