กมธ.สังคมฯ สนช. เปิดเวทีรับฟังเสียงเด็ก-เยาวชน สร้างพลเมืองต้นแบบ
คุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นพลเมือง เสียงเด็กและเยาวชน สะท้อนต้องมีความซื่อสัตย์สุจริต การเคารพในตัวเองและผู้อื่น มีวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ
เมื่อเร็วๆ นี้ คณะกรรมาธิการสังคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการ และผู้ด้อยโอกาส สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จัดงานเสวนาเพื่อปฏิรูปพลเมืองสู่ความเป็นพลเมืองต้นแบบในกลุ่มเด็กและเยาวชน ณ อาคารสุขประพฤติ กรุงเทพมหานคร
นายวัลลภ ตังคณานุรักษ์ ประธานคณะกรรมาธิการสัมคม กิจการเด็ก เยาวชน สตรี ผู้สูงอายุ คนพิการและผู้ด้อยโอกาส สนช. กล่าวถึงความเป็นพลเมืองสมัยก่อนเกิดจากกิจกรรม ลูกเสือ เนตรนารี แต่ปัจจุบันเริ่มหายไปแล้ว และการเรียนรักษาดินแดน หรือเรียกว่า นักศึกษาวิชาทหาร ปัจจุบันมีผู้หญิงเข้ามาเรียนมากขึ้น ฉะนั้น วันนี้จึงต้องสนับสนุนสภาเด็กและเยาวชนตั้งแต่ในห้องเรียนให้ตระหนักถึงการเป็นพลเมืองที่ดี และจัดตั้งงบประมาณให้สามารถเดินหน้าไปได้อย่างสวยงาม เชื่อว่าถ้าเยาวชนทั้งประเทศรวมตัวกันทำกิจกรรมทางด้านต่างๆ ลดปัญหายาเสพติดลงได้
รศ.ดร.ปณิธาน วัฒนายากร อาจารย์ประจำคณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และผู้อำนวยการเมืองการปกครอง สถาบันพระปกเกล้า กล่าวถึงพลเมืองต้นแบบ ในศตวรรษที่ 21 ว่า พลเมืองต้นแบบ คือ ผู้นำรุ่นใหม่หรือผู้ที่อยู่ในยุคเปลี่ยนผ่านไปสู่การเป็นประเทศที่เข้มแข็งยั่งยืน ฉะนั้นต้องผลักดันคนรุ่นใหม่ให้มีเป้าหมายที่ชัดเจน ทำเพื่อประโยชน์สาธารณะ และ รู้จริง แต่ช่วงที่ผ่านมานั้นพบว่า คนส่วนใหญ่ไม่ได้ตั้งเป้าหมายในชีวิตไว้อย่างชัดเจน
รศ.ดร.ปณิธาน กล่าวอีกว่า ประเทศไทยกำลังเปลี่ยนผ่าน สู่การพัฒนาครั้งยิ่งใหญ่ ซึ่งสำคัญมาก สถาบันหลักๆ ขณะนี้ก็อ่อนแอ คนไทยยังทะเลาะกัน เตรียมตัวจะฆ่ากันเอง วันนี้การทำงานหนักเพื่อสังคม สร้างพลังพลเมืองจากเยาวชน จึงเป็นเรื่องสำคัญ
ด้านนางรัตนา กิตติกร ผู้จัดการฝ่ายสื่อสารสังคม มูลนิธิสยามกัมมาจล กล่าวถึงเยาวชนสมัยใหม่ไม่ค่อยรู้จักสังคม หมกอยู่กับเทคโนโลยี เราจึงจัดโครงกา คอมมูนิตี้ โปรเจ็ค เพื่อเรียนรู้ประเด็นทางสังคมโดยนำนักศึกษาจากคณะนิเทศศิลป์และนิเทศศาสตร์มาร่วมทำกิจกรรม และประเด็นที่ทำอยู่ในตอนนี้คือประเด็นความเหลื่อมล้ำทางสังคมและความยากจน ซึ่งประเด็นเหล่านี้เป็นเรื่องที่เยาวชนส่วนใหญ่ไม่เคยรู้มาก่อน แต่เมื่อได้ลงไปสัมผัสจริงก็รับรู้ว่า คนทุกคนล้วนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เหมือนกัน ไม่ว่าจะเป็นแรงงานพม่าหรือโรฮินจา เป็นต้น เราได้เห็นความสามารถของเยาวชนได้ชัดเจน บางคนอาจจะรอให้เรียนจบแล้วจึงมาทำอะไรเพื่อสังคม แต่ไม่จำเป็นต้องรอ เพราะวันนี้ศักยภาพของเยาวชนมีพลังมากพอ ฉะนั้นการเป็นพลเมืองที่ดี ก็คือควรเรียนรู้ พัฒนาตัวเองให้ได้ ทำงานเป็นกลุ่มให้ได้ ฝึกการหักห้ามอารมณ์ และลงมือทำทุกอย่างด้วยตัวเอง จึงจะทำงานทุกอย่างๆสำเร็จ
“ ผู้ใหญ่ไม่จำเป็นต้องกำหนดว่าเยาวชนควรทำอะไร เพราะเรามีความเชื่อว่าจริงๆแล้ว ความเก่ง ถ้าในมิติของการศึกษา มันเป็นการพัฒนาเพื่อศักยภาพของความเป็นมนุษย์ ที่มีความดี และเยาวชนย่อมรู้คำจำกัดความของคำว่า 'ความดี' การทำความดีทำไม่ยาก ความชั่วทำยากกว่า เพราะต้องหลบ ต้องหนี แต่ความดีไม่ต้องหลบหนีใคร ส่วนคนเก่งในตศวรรษที่ 21 เรากำลังจะคลี่ความเก่งที่มีมิติหลากหลาย ในด้านวิชาการ ถ้าเมื่อก่อนใครที่เป็นหมอ เป็นแพทย์ เป็นครูได้ถือว่าเก่ง แต่เก่งไปในทางเดียว เราจึงอยากปรับความเก่งให้มิติหลากหลายขึ้น เพื่อให้ทุกคนสามารถเป็นพลเมืองที่ดีได้ แต่ต้องเริ่มจากการรับผิดชอบตัวเองให้ดีก่อน ถึงจะทำเพื่อสังคมได้”
ส่วนนายเอกนัฏ พร้อมพันธุ์ อตีดสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร กรุงเทพมหานคร สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า ประเทศไทยอยู่ในยุคเปลี่ยนผ่าน ที่ประเทศไทยเป็นแบบนี้ เพราะนักการเมืองในยุคก่อนได้สร้างสิ่งที่ไม่ดีไว้มากมาย จนนักการเมืองหลายคนท้อและไม่อยากเข้ามาทำหน้าที่ ฉะนั้นอาชีพนักการเมืองกับการสร้างพลเมืองที่ดี นักการเมืองต้องรักษาศักดิ์ศรี ทำดี และมีความกล้าที่จะขับเคลื่อนเรื่องต่างๆ
จากนั้น มีเวทีเวิล์ดคาเฟ่ (World Cafe) สนทนา สานพลัง พลเมือง มีการระดมความคิดเห็น โดยนายอิทธิพล ปรีติประสงค์ สถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากมุมมองสะท้อนความคิดเห็นของเด็กและเยาวชน เกี่ยวกับคุณสมบัติพื้นฐานของความเป็นพลเมือง คือ 1.ความซื่อสัตย์สุจริต การเคารพในตัวเองและผู้อื่น 2.ความมีวินัย รู้หน้าที่ มีความรับผิดชอบ 3.ความมีสติ รู้ดี รู้ชอบ 4.การใฝ่รู้ พัฒนาตนเอง และควรมีทักษะและองค์ความรู้ในการพัฒนาตนเอง และคนรอบข้าง ให้เป็นคนเก่ง
"ทุกคนในสังคมล้วนมีบทบาทที่หลากหลายในสังคม ซึ่งความคิดเห็นที่สะท้อนจากเยาวชนคือ ทักษะในการสื่อสาร การฟัง พูด อ่าน เขียน เพื่อการเป็นผู้นำที่ดี และการสร้างสัมพันธภาพกับผู้อื่น สามารถเข้าสังคมร่วมกับผู้อื่นได้ สามารถใช้เทคโนโลยีให้เกิดประสิทธิภาพและเกิดประโยชน์ กล้าคิด กล้าตัดสินใจได้สถานการณ์ต่างๆได้"
นายอิทธิพล กล่าวถึงคุณสมบัติของผู้นำที่พึงประสงค์ในยุควิกฤตการเมืองปัจจุบัน เยาวชนได้แสดงความคิดเห็นว่า การเป็นบุคคลต้นแบบหรือผู้นำที่ดีโดยมีแบบอย่างที่ดี แต่ควรเป็นผู้ตามที่ดีด้วย ต้องมีความเสียสละ มีความกล้าหาญในทำสิ่งต่างๆและกล้ายอมรับความเปลี่ยนแปลง ยอมรับความคิดเห็นที่ต่างจากคนอื่น มีเหตุผลเพื่อการโต้แย้ง มีความรู้รอบตัว และสั่งสมประสบการณ์ให้มากที่สุด