แก้รธน.ใหม่ 7 ประเด็น ซ่อนปม ยุบทิ้งทันที สปช.-กมธ.ร่างฯ ตั้งสภาขับเคลื่อนแทน
"...เหตุผลที่ทำให้ ครม. และ คสช. ตัดสินใจยุบทิ้ง สปช. และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะที่ผ่านมา สปช. มีความเห็นไม่ลงรอยกับ ครม.และ คสช.หลายเรื่อง โดยเฉพาะการผ่านร่างกฎหมายสำคัญบางฉบับ ที่ คสช. ไม่เห็นด้วย และคุมไม่อยู่ ขณะที่การทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีปัญหาความขัดแย้งสูงเช่นกัน..."
" เมื่อ สปช ลงมติ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ของกรรมาธิการยกร่างแล้วเสร็จ ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบ สปช. พร้อมกับตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน200คน โดยสมาชิก อาจเคยเป็น สปช.หรือไม่เคยเป็นสปช.ก็ได้ และให้ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญอีก"
คือ "1 ใน 7 ประเด็น" แก้ไขร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ฉบับแก้ไขครั้งที่ 1 ที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงออกมาเป็นทางการ ภายหลังการประชุมร่วมระหว่างคณะรัฐมนตรี (ครม.) และคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ที่ทำเนียบรัฐบาล เมื่อวันที่ 9 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา
ถามว่า ประเด็นนี้มีความน่าสนใจอย่างไร?
ก่อนจะตอบคำถามข้อนี้ ขอให้ลองดูเนื้อหาในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ฉบับเดิมที่ยังไม่มีมติให้แก้ไขดังกล่าว ให้ชัดเจนเสียก่อน
ไล่เรียงไปตามมาตรา ดังนี้
มาตรา 34 กำหนดไว้ว่า ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญจัดทำร่างรัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จภายในหนึ่งร้อยยี่สิบวันนับ แต่วันที่ได้รับความเห็นหรือข้อเสนอแนะจากสภาปฏิรูปแห่งชาติตามมาตรา 31 (2) (เสนอความเห็นหรือข้อเสนอแนะต่อคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเพื่อประโยชน์ในการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ) แล้วเสนอต่อสภาปฏิรูปแห่งชาติเพื่อพิจารณา
มาตรา 36 ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเสนอร่างรัฐธรรมนูญที่จัดทำเสร็จต่อประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติ และให้ประธานสภาปฏิรูปแห่งชาติจัดให้สภาปฏิรูปแห่งชาติประชุมกันเพื่อพิจารณาเสนอแนะหรือให้ความเห็นให้แล้วเสร็จภายในสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญ
สมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติอาจขอแก้ไขเพิ่มเติมร่างรัฐธรรมนูญได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่สภาปฏิรูปแห่งชาติเสร็จสิ้นการพิจารณาตามวรรคหนึ่ง คำขอแก้ไขเพิ่มเติมของสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติต้องมีสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติลงชื่อรับรองไม่น้อยกว่าหนึ่งในสิบของจำนวนสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติและสมาชิกสภาปฏิรูปแห่งชาติที่ยื่นคำขอหรือที่ให้คำรับรองคำขอของสมาชิกอื่นแล้ว จะยื่นคำขอหรือรับรองคำขอของสมาชิกอื่นอีกมิได้
ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญส่งร่างรัฐธรรมนูญให้คณะรัฐมนตรีและคณะรักษาความสงบแห่งชาติด้วย และคณะรัฐมนตรีหรือคณะรักษาความสงบแห่งชาติจะเสนอความคิดเห็นหรือยื่นคำขอแก้ไขเพิ่มเติมได้ภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับร่างรัฐธรรมนูญคำขอแก้ไขเพิ่มเติมให้ยื่นต่อประธานกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ
มาตรา 38 ในกรณีที่สภาปฏิรูปแห่งชาติพิจารณาร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในเวลาที่กำหนด หรือไม่ให้ความเห็นชอบร่างรัฐธรรมนูญ หรือร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไปตามมาตรา 37 ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง และให้มีการดำเนินการเพื่อแต่งตั้งสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญชุดใหม่ขึ้น เพื่อดำเนินการแทนตามอำนาจหน้าที่ที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญนี้
ในกรณีที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยกร่างรัฐธรรมนูญไม่แล้วเสร็จภายในระยะเวลาที่กำหนดไว้ตามมาตรา 34 ให้คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญเป็นอันสิ้นสุดลง และให้ดำเนินการแต่งตั้งคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญขึ้นใหม่ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญสิ้นสุดลง
มาตรา 39 เมื่อจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว ให้สภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญยังคงปฏิบัติหน้าที่ต่อไปเพื่อประโยชน์ในการจัดให้มีร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็น ในการนี้ สภาปฏิรูปแห่งชาติอาจแต่งตั้งคณะกรรมาธิการขึ้นเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายที่จำเป็นก็ได้ แต่เมื่อมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่แล้ว การปฏิบัติหน้าที่ของสภาปฏิรูปแห่งชาติและคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญที่ประกาศใช้นั้น
จากเนื้อความในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 โดยเฉพาะมาตรา 39 จะเห็นได้ว่า แม้ว่าการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญเสร็จแล้ว สปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็ยังคงมีบทบาทสำคัญทางการเมืองต่อไป โดยเฉพาะการจัดทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็น ซึ่งในขั้นตอนการปฏิบัติ อาจจะใช้เวลาประมาณ 3 เดือน หรือจนกว่าจะมีการเลือกตั้งใหม่
แต่ในมติแก้ไข ร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ที่นายวิษณุ เครืองาม แถลงออกมา กับระบุไว้ชัดเจนว่า "เมื่อ สปช ลงมติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ของกรรมาธิการยกร่างแล้วเสร็จ ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบ สปช. พร้อมกับตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน200คน โดยสมาชิก อาจเคยเป็น สปช.หรือไม่เคยเป็นสปช.ก็ได้ และให้ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญอีก"
ไม่ต้องแปลความอะไรกันมาก อนาคต ของ สปช.และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ คือ รอวันยุบทิ้งอย่างเดียว
คำถามที่น่าสนใจสำหรับกรณีนี้ คือ 1. การทำงานของสปช. และคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ในช่วงที่ผ่านมา มีปัญหาอะไรเกิดขึ้น ทำไมถึงทำให้ไม่ได้รับความไว้วางใจให้เป็นผู้จัดทำร่างกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญหรือกฎหมายอื่นที่จำเป็น ตามรัฐธรรมนูญเดิมต่อ
2. กระบวนการคัดเลือกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ จำนวน 200 คน มีวิธีการดำเนินการอย่างไร ใครจะหน้าที่ในการคัดเลือก บุคคลที่จะเข้ามาดำรงตำแหน่ง มีคุณสมบัติอย่างไร ใช้ระบบคัดสรร หรือ กำหนดตัวบุคคลได้
3. บุคคลที่เคยเป็น สปช. ที่จะเข้ามาทำหน้าที่ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีคุณสมบัติอย่างไร มีผลงานอะไรบ้าง ใช้เกณฑ์อะไรในการคัดเลือก
ทั้งหมดนี้ เป็นคำถามสำคัญ ที่ดูเหมือน ครม.และ คสช. จะต้องให้เหตุผลและรายละเอียดมากกว่านี้
เพราะล่าสุดมีข่าวทางลับแจ้งมาว่า เหตุผลที่ทำให้ ครม. และ คสช. ตัดสินใจยุบทิ้ง สปช. และ คณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ เป็นเพราะที่ผ่านมา สปช. มีความเห็นไม่ลงรอยกับ ครม.และคสช.หลายเรื่อง โดยเฉพาะการผ่านร่างกฎหมายสำคัญบางฉบับ ที่ คสช. ไม่เห็นด้วย และคุมไม่อยู่ ขณะที่การทำงานของคณะกรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ ก็มีปัญหาความขัดแย้งสูงเช่นกัน
การชู "สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ" ขึ้นมาทำหน้าที่แทนในครั้งนี้ จึงทำให้ถูกมองว่า คสช. กำลังดึงอำนาจกลับมาอยู่ในมือ โดยเฉพาะสิทธิ์ขาดในการเลือกคนเข้ามาทำงาน
ภาพที่จะเกิดขึ้นต่อไป สำหรับ สปช. คือ ใครที่อยากจะทำงานในฐานะ สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ก็ต้องทำตัวเป็น "เด็กดี" คุมได้
พูดอะไรต้องเชื่อต้องฟัง ไม่เช่นนั้นก็กลับบ้านไปพักผ่อนตามอัธยาศัย
ทั้งหมดนี่ จึงเป็นเหตุผลสำคัญที่ทำให้ ครม. และ คสช. ต้องมีมติแก้ไขรัฐธรรมนูญ ในประเด็นนี้ อย่างที่ประกาศออกมาเป็นทางการ
และกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่ม สปช. "เด็กดื้อ" ทั้งหลาย
----------
หมายเหตุ : เป็นรายละเอียด 7 ประเด็น ที่ ครม.และ คสช. มีมติให้แก้ไขในร่างรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยฉบับชั่วคราว พ.ศ.2557 ตามที่นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี แถลงเป็นทางการ ที่ทำเนียบรัฐบาล ซึ่งเผยแพร่ตามสื่อมวลชน ในช่วงเย็นวันที่ 9 มิ.ย.2558 ที่ผ่านมา
1. แก้ไขคุณสมบัติ และลักษณะต้องห้ามของ สภานิติบัญญัติแห่งชาติหรือ สนช. จากที่เคยกำหนดให้ สนช. ต้อง ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง แก้ไขจาก ไม่เคยถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เป็น ไม่อยู่ระหว่างถูกเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง เพื่อให้สอดคล้องกับร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่ของกรรมาธิการยกร่าง
2. การที่บุคคลบางตำแหน่งต้องถวายสัตย์ปฏิญาณ ให้แก้ไขว่า การถวายสัตย์ปฏิญาณตามรัฐธรรมนูญและกฏหมายที่กำหนดให้ถวายสัตย์ นอกจากจะทำ เฉพาะพระพักตร์ ให้ถวายสัตย์ต่อองค์รัชทายาทที่บรรลุนิติภาวะแล้วหรือและผู้แทนพระองค์ที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้า หรือแต่งตั้งได้
3 การขยายเวลา การทำงานของ กรรมาธิการยกร่างรัฐธรรมนูญ จาก 60 วัน ให้ไม่เกิน 90 เพราะต้องให้เวลา กรรมาธิการยกร่าง มีเวลาการเชิญผู้ที่เสนอขอแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ เข้าชี้แจงต่อกรรมาธิการและเพื่อรับฟังการแก้ไขร่างเพิ่มเติม พิจารณาให้เกิดความรอบคอบในการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ทั้งนี้ กมธ จะเป็นผู้มีมติเองว่า จะขยายหรือไม่ ก็ได้แต่ต้องไม่เกิน30 วัน และแจ้ง สปช.รับทราบ
4 แก้ไข เรื่องการทำประชามติ เมื่อ สปช พิจารณาเห็นชอบกับร่างที่กรรมาธิการยกร่าง ได้แก้ไขเสร็จแล้ว จะต้องนำร่างรัฐธรรมนูญไปลงประชามติ โดย ให้กกต.รับผิดชอบกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ข้อห้าม ข้อพึงปฎิบัติ ในการทำประชามติ ซึ่งข้อกำหนดต่างๆต้องให้ สนช ใเห็นชอบก่อน ทั้งนี้ ก่อนทำประชามติจะจัดพิมพ์ร่างรัฐธรรมนูญ ที่ สปช.เห็นชอบแล้ว แจกจ่ายไปยังผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งให้ได้อย่างน้อย 19 ล้านครัวเรือน หรือ ร้อยละ 80 ครัวเรือนจากทั้งหมด23-24ล้านครัวเรือน เมื่อแจกแล้ว กกต.จะกำหนดวันออกเสียงประชามติ ภายใน30-45 วัน คาดช่วงปลายมกราคมถึงกุมภาพันธ์ 2559
สำหรับประเด็นคำถามในการออกเสียงประชามติ คือ เห็นชอบ หรือไม่เห็นชอบ กับร่างรัฐธรรมนูญ อย่างไรก็ตาม อาจมีคำถามอื่นที่จะให้ทำประชามติในคราวเดียวกันได้ ซึ่งคำถามดังกล่าวจะต้องเป็นคำถาม ของ สนช. หรือ สปช. ไม่คนเกินสภาละ1 ประเด็น ซึ่งต้องส่งมายัง ครม ให้ความเห็นชอบ จากนั้นจะส่งให้ กกต. จัดทำประชามติเพิ่มเติมในประเด็นนั้น แล้วถามในคราวเดียวกัน
และหากมีการเสนอและนำเสนอประเด็นอื่นเพิ่มเติม แต่ผลออกมาขัดแย้งกับการทำ คำตอบ ของเรื่องการรับ หรือไม่รับ ร่างรัฐธรรมนูญ ก็ให้กรรมาธิการยกร่างแก้ไข ให้สอดคล้องกัน โดยปรับปรุงมติให้แล้วเสร็จภายใน30 วัน แล้วส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญ พิจารณา ว่าประเด็นนั้นสอดคล้องกันแล้วหรือไม่ ถ้าสอดคล้องกันแล้ว ให้นายกรัฐมนตรีนำขึ้นทูลเกล้าฯภายใน 30 วัน แล้วประกาศใช้
5. เมื่อ สปช ลงมติ เห็นชอบหรือไม่เห็นชอบกับร่างรัฐธรรมนูญ ของกรรมาธิการยกร่างแล้วเสร็จ ถือว่าภารกิจเสร็จสิ้น ให้ยุบ สปช. พร้อมกับตั้งสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ มีสมาชิกไม่เกิน200คน โดยสมาชิก อาจเคยเป็น สปช.หรือไม่เคยเป็นสปช.ก็ได้ และให้ทำหน้าที่เสนอแนะการปฏิรูปประเทศเพียงอย่างเดียว โดยไม่เกี่ยวข้องกับร่างรัฐธรรมนูญอีก
6. ส่วน กมธ ยกร่างรัฐะรรมนูญทั้ง 36 คน สิ้นสุดสภาพทันที หากประชาชนลงมติไม่รับร่างรัฐธรรมนูญ ดังนั้นเมื่อกรรมาธิการยกร่างสิ้นสุดลงไม่ว่ากรณีใด ให้ดำเนินการแต่งตั้งกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ จำนวน21 คน มีประธาน1คน กรรมการไม่เกิน20คน ทำหน้าที่ยกร่าง รธน. และฟังความเห็นประชาชน ภายใน 6 เดือนและนำไปออกเสียงประชามติซ้ำ อีกครั้งหนึ่ง
7. คือการแก้ไขถ้อยคำเล็กน้อย คาดว่าส่งร่างรัฐธรรมนูญ ฉบับแก้ไขให้กับ ประธาน สนช ได้ภายใน 1-2 วันนี้