เผยกระบวนการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ ทักษะที่ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการมากสุด
สสค.จับมือโออีซีดี องค์กรจัดสอบPISA นำร่อง 10โรงเรียน พัฒนา “เครื่องมือติดตามพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์” ชี้เป็นทักษะที่ตลาดแรงงานทั่วโลกต้องการมากที่สุด
เมื่อวันที่ 9 มิ.ย. ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ สำนักงานส่งเสริมสังคมแห่งการเรียนรู้และคุณภาพเยาวชน(สสค.) ร่วมกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา หรือ OECD มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยศรีปทุม จัดการประชุมวิชาการระดับนานาชาติ เรื่อง “เครื่องมือติดตามพัฒนากระบวนการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์”
นพ.สุภกร บัวสาย ผู้จัดการสสค. กล่าวว่า ข้อมูลจากการสำรวจความต้องการแรงงานของนายจ้างและองค์กรเกิดใหม่ที่ประสบความสำเร็จในประเทศสมาชิกกว่า 34 ประเทศของOECD หรือที่รู้จักในนามองค์กรระหว่างประเทศผู้ดำเนินการจัดสอบPISA พบว่าสิ่งที่นายจ้างในองค์กรยุคใหม่คาดหวังมากที่สุดคือ ทักษะด้านการคิดวิเคราะห์และความคิดสร้างสรรค์ แต่เป็นที่น่าตกใจว่า ระบบการศึกษาในปัจจุบันยังขาดเครื่องมือทำงานในเรื่องนี้ ทั้งด้านการฝึกฝนสร้างทักษะและเครื่องมือประเมินอย่างเป็นระบบ
"สสค.จึงร่วมกับOECDเพื่อพัฒนาและทดลองใช้เครื่องมือติดตามพัฒนาการกระบวนการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ และเป็นหนึ่งในประเทศนำร่องในการใช้งานเครื่องมือดังกล่าวร่วมกับอีก 12 ประเทศสมาชิก โดยร่วมกับโรงเรียนจังหวัดปฏิรูปการเรียนรู้ 10 แห่ง เพื่อนำร่องเครื่องมือติดตามพัฒนาการกระบวนการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ โดยจะเริ่มในปีการศึกษานี้ และภายใน 2 ปีOECDจะนำเครื่องมือนี้ไปใช้ในประเทศสมาชิกต่อไป"
ศ.ท็อด์ด ลูบาร์ธ อาจารย์จากมหาวิทยาลัยปารีส คณะนักวิจัยโครงการพัฒนาเครื่องมือติดตามกระบวนการคิดวิเคราะห์สร้างสรรค์ของโออีซีดี กล่าวถึงการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 ที่ประสบความสำเร็จคือการสร้างสรรค์สิ่งใหม่ให้มีศักยภาพในแข่งขันในตลาดโลก เพราะทุกวันนี้ตลาดโลกสามารถผลิตสินค้าที่เหมือนกันในราคาต่ำและรวดเร็ว แต่ความคิดสร้างสรรค์จะสร้างความแตกต่างและเป็นเอกลักษณ์ของสินค้า ซึ่งความคิดสร้างสรรค์เชื่อมโยงกับการเรียนรู้ทุกช่วงวัยและเป็นหนึ่งใน ทักษะในศตวรรษที่ 21 ซึ่งประกอบด้วย ความสามารถในการแก้ปัญหา การประกอบอาชีพ การพัฒนาสังคม โดยนิยามความคิดสร้างสรรค์มีหลักคือ ความสามารถในการตอบสนองหรือการแก้ไขปัญหา การพัฒนาสิ่งที่แปลกใหม่จากความคิดเดิม การปรับปรุงแนวคิดให้เหมาะกับบริบทและเท่าทันการพัฒนา
ศ.ท็อด์ด กล่าวว่า วิธีพัฒนาให้เด็กมีความคิดสร้างสรรค์มี 2 รูปแบบคือ
1 การนำสิ่งของหนึ่งสิ่งแตกเป็นแนวคิดใหม่ๆ เช่น ให้เด็กดูรูปกล้วย แล้วให้วาดภาพที่หลากหลายเกี่ยวกับรูปกล้วย เด็ก 1 คน อาจวาดภาพได้เป็น 10 รูป เช่น คิ้ว ดอกไม้ หมวก ซึ่งเป็นการฝึกให้คิดต่างทำให้เกิดแนวคิดใหม่ๆจนกลายเป็นความชำนาญจากการแปรผลจากรูปทรงที่ใกล้เคียงกัน
ส่วนรูปแบบที่ 2 คือ การรวบรวมสิ่งต่างๆออกมาเป็นแนวคิดใหม่ เช่น การนำก้อนหิน แครอท ปลาวาฬ มนุษย์ แล้วให้เด็กสร้างสรรค์เป็นสิ่งใหม่ เช่น เล่าเรื่องชายหาด หรือสร้างเป็นรูปกระต่าย โดยนำก้อนหินเป็นส่วนหัว แครอทเป็นหูกระต่าย เป็นต้น
"เด็กจะมีคะแนนสูงต่ำออกไปตามความถนัด จึงควรประเมินว่าเด็กได้คะแนนน้อยเรื่องใดเพื่อเสริมกิจกรรมที่เด็กยังด้อยอยู นอกจากนี้การให้เด็กมาแลกเปลี่ยนกันจะช่วยให้เกิดการต่อยอดความคิดสร้าง สรรค์ เช่น การให้เด็กแต่ละคนอ่านเรื่องในส่วนต่างๆ แล้วให้เด็กร่วมกันแต่งเป็นหนังสือเรื่องใหม่ การให้เด็กที่วาดรูปกล้วยแล้วให้เพื่อนร่วมชั้นเรียนเป็นคนให้คะแนนพร้อมกับ อธิบายเหตุผลการให้คะแนนในแต่ละรูปที่ต่างกันเพื่อฝึกให้รู้จักคิดวิเคราะห์ และรู้จักต่อยอดได้มากขึ้น โดยเด็กอาจวาดภาพได้มากกว่าเดิม และสามารถเรียนรู้ว่าหากวาดภาพที่ต่างออกไปจากเดิมจะได้คะแนนที่มากกว่า ซึ่งการประยุกต์ใช้ในตลาดแรงงาน พนักงานขายอาจหากลยุทธการขายสินค้า โดยคิดค้นวิธีการที่ต่างไปจากเดิม เป็นต้น"