ส่องโมเดลธนาคารแรงงาน ฉบับปฏิรูป ปล่อยกู้ ดอกเบี้ยต่ำ
ธนาคารแรงงานปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ หวังปฏิรูปลดความเหลื่อมล้ำ แก้ปัญหาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน
กระแสข่าวลือเรื่องคณะกรรมการค่าจ้างมีมติให้ยกเลิกอัตราค่าจ้าง 300 บาทเท่ากันทั่วประเทศ และจะนำค่าจ้างแบบลอยตัวมาใช้เมื่อมีกี่วันที่ผ่านมานี้นั้น สร้างความรู้สึกสับสนให้กับพี่น้องผู้ใช้แรงงานทั่วประเทศ ถึงแม้จะมีการออกมายืนยันอย่างชัดเจนจากรองปลัดกระทรวงแรงงานแล้วว่าเป็นแค่ข่าวลือ แต่ความกังวลใจของพี่น้องผู้ใช้แรงงานถึงความไม่มั่นคงในการทำงานของตนเองกลับไม่ลดลงตามไปด้วยแม้แต่น้อย
ทั้งนี้ จากข้อมูลของสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2556 พบว่าคนงานทั่วไปมีหนี้เฉลี่ยครัวเรือนละ 106,000 บาท โดยส่วนใหญ่ถึงร้อยละ 56 เป็นหนี้นอกระบบ และต้องผ่อนชำระโดยเฉลี่ยเดือนละ 7,400 บาท ซึ่งถือเป็นเงินจำนวนมากหากเทียบกับรายรับของแรงงาน ด้วยเหตุนี้การสร้างความมั่นคงทางเศรษฐกิจให้กับแรงงานจึงกลายเป็นประเด็นใหญ่ที่ถูกหยิบยกเข้ามาบรรจุไว้ในหมวดปฏิรูปของร่างรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน
“ธนาคารแรงงาน” เป็นอีกหนึ่งความก้าวหน้าของการปฏิรูปเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างความเป็นธรรมในสังคม ซึ่งได้ถูกบรรจุไว้ในร่างรัฐธรรมนูญ ในส่วนที่ 15 การปฏิรูปด้านแรงงาน โดยหวังว่าจะสามารถแก้ปัญหาทั้งด้านเศรษฐกิจและสังคมให้กับ “แรงงาน” กว่า 12 ล้านคนทั่วประเทศได้อย่างยั่งยืน
ผลการศึกษาของ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ อาจารย์ประจำหลักสูตรพิเศษสาขาเศรษฐศาสตร์การเมือง จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และประธานกรรมการนโยบายองค์การกระจายเสียงและแพร่ภาพสาธารณะแห่งประเทศไทย พบว่า ลูกจ้างถึงร้อยละ 60 มีรายได้ต่ำกว่า 1 หมื่นบาทต่อเดือน แต่กลับมีภาระจำนวนมาก ไม่ว่าจะเป็นการเลี้ยงดูบุตร ส่งเงินกลับบ้านต่างจังหวัด ทำให้รายได้ที่มีอยู่น้อยไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ทางออกของพวกเขาเหล่านั้น คือ การทำงานล่วงเวลาถึงวันละ 10-14 ชั่วโมง เพื่อเพิ่มรายได้ แต่จะมีสักกี่คนที่โชคดีเข้าถึงช่องทางเช่นนี้ ที่สำคัญยังไม่มีธนาคารใดมีขึ้นเพื่อคนแรงงานอย่างแท้จริง เช่นเดียวกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ที่มีขึ้นเพื่อเกษตรกร จึงไม่แปลกที่หลายคนต้องหันไปกู้ยืมเงินนอกระบบเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนเรื่องปากท้อง แม้จะต้องจ่ายดอกเบี้ยในอัตราที่สูงมากถึงร้อยละ 20 ต่อเดือน
“ธนาคารแรงงาน” หรือ “กองทุนการเงินของแรงงาน” จึงเป็นคำตอบของโจทย์นี้ ด้วยเพราะ ธนาคารแรงงานจะเป็นสถาบันที่เป็นแหล่งเงินทุนเพื่อช่วยเหลือแรงงาน หรือสนับสนุนการพัฒนาคุณภาพชีวิตของแรงงานให้พ้นจากความยากจน โดยให้ลูกจ้างสามารถเข้าถึงการกู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยต่ำ ในยามที่ ขาดแคลนเงิน รวมถึงเป็นแหล่งเงินทุนให้แก่องค์กรแรงงานเพื่อนำไปสร้างสรรค์สิ่งที่เป็นประโยชน์ของคนงาน เช่น สถานเลี้ยงเด็กอ่อนซึ่งเป็นลูกของแรงงาน สถานฝึกอบรมสัมมนา หรือแม้แต่รถรับส่งคนงาน
นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเงินทุนเพื่อสร้างฐานเศรษฐกิจของคนงาน เช่น การกู้เงินไปสร้างร้านสวัสดิการคนงาน เป็นทุนให้กับสหกรณ์ร้านค้าและการบริโภคของคนงานที่สำคัญยังเป็นการกระจายรายได้ และกระจายการถือครองปัจจัยการผลิต ลดการกระจุกตัวของทุน และการผูกขาดกลุ่มทุน จนนำไปสู่การ “พัฒนาชีวิตลูกจ้าง”
แนวคิดนี้อยู่บนสมมุติฐานของความเป็นไปได้ ด้วยการให้รัฐบาลออกพันธบัตร จำนวน 50,000 ล้านบาท เพื่อขายให้กับกองทุนประกันสังคม โดยมีระยะเวลาการถือ 3-5 ปี ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 และนำเงินจำนวนดังกล่าว มาให้ธนาคารของรัฐบริหารจัดการปล่อยเงินกู้ให้ลูกจ้างผู้เป็นสมาชิกประกันสังคม ในอัตราดอกเบี้ยร้อยละ 10 ต่อปี
โดยมีหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการกู้ คือ กู้ได้ไม่เกิน 3 เท่าของเงินเดือน วงเงินไม่เกิน 45,000 บาท ผู้มีสิทธิ์ขอกู้จะต้องผ่านขั้นตอนการทดลองงานแล้ว โดยให้นำบัตรประกันสังคมมาค้ำประกันด้วย ซึ่งหากผู้กู้ไม่ชดใช้หนี้จะถูกหักสิทธิประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ และกรณีเสียชีวิต และผู้กู้จะต้องเข้ารับการอบรมในโครงการใช้เงินให้เกิดประโยชน์สูงสุด
นอกจากนี้ ผู้กู้ทุกคนต้องเปิดบัญชีเงินฝากประจำไว้กับธนาคาร ในจำนวนร้อยละ 10 ของเงินกู้ โดยเมื่อครบเวลาชำระหนี้ ถ้าลูกหนี้จ่ายเงินไม่ครบ ลูกหนี้ต้องยินยอมให้นำเงินในบัญชีดังกล่าวไปชำระหนี้ได้ แต่หากลูกหนี้ที่ผ่อนชำระครบตามสัญญาเงินกู้ ให้นำเงินออมในบัญชีดังกล่าวไปสมทบทุนจัดตั้ง “สถาบันการเงินเพื่อลูกจ้าง” ต่อไป
เมื่อครบระยะเวลา 3-5 ปี ตามอายุของพันธบัตร จะมีรายได้คืนให้กับสำนักงานประกันสังคม 50,000 ล้านบาท พร้อมดอกเบี้ยในอัตราร้อยละ 5 ซึ่งสำนักงานประกันสังคม นอกจากจะมีรายได้แล้ว ยังไม่ต้องแบกรับความเสี่ยงที่จะนำเงินไปลงทุนในหุ้นที่มีความเสี่ยงสูงด้วย นอกจากนี้ ยังมีเงินเหลืออีก 5,000 ล้านบาท ที่มาจากการบังคับออมของผู้กู้ ซึ่งสามารถนำมาใช้เป็น “เงินทุน” ก้อนแรกที่จะนำมาจัดตั้ง “ธนาคารแรงงาน” เพื่อปล่อยกู้ให้กับลูกจ้างอื่นต่อไปได้อีก โดยลูกจ้างจำนวนหนึ่งจะมีหุ้นอยู่ในธนาคารหรือกองทุนนี้ และสามารถมีส่วนร่วมในการบริหารเงินได้ต่อไป
“วิธีการเช่นนี้จะทำให้ธนาคารสำหรับลูกจ้างที่จะเกิดขึ้นในอนาคต มาจากลูกจ้าง ดำเนินการโดยลูกจ้าง และเพื่อลูกจ้างอย่างแท้จริง แม้ว่าจะต้องใช้ระยะเวลาบ้าง แต่ต้องถือคติที่ว่าช้าๆ ได้พร้าเล่มงาม เพราะหากรัฐบาลดำเนินการตามข้อเสนอที่ให้ตั้งธนาคารแรงงาน ด้วยการให้กระทรวงการคลัง หรือกองทุนประกันสังคมถือหุ้น แทนการออกพันธบัตรขายให้กองทุนประสังคม ธนาคารนี้ก็จะกลายเป็นของรัฐ และเมื่อ รัฐเป็นเจ้าของก็จะเป็นเครื่องมือในการหาเสียงของนักการเมืองได้ สิ่งนี้เป็นสิ่งที่ผมเป็นห่วง”
รศ.ดร.ณรงค์ ระบุด้วยว่า หากรัฐธรรมนูญฉบับที่กำลังร่างอยู่ได้รับการประกาศใช้และรัฐบาลเดินหน้าโครงการนี้ จะช่วยให้ผู้ใช้สิทธิประกันสังคมทุกคน มีชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น พ้นความทุกข์จากหนี้นอกระบบที่เป็นวงจรอย่างไม่สามารถหลุดพ้นได้ นอกจากนี้ ยังเป็นแหล่งเงินทุนให้ลูกจ้างในวัยเกษียณได้กู้เพื่อทำธุรกิจหลังจากเกษียณอายุการทำงาน เพื่อมีเงินดำรงชีวิตต่อไปได้
"นี่เป็นเพียงบางส่วนที่รัฐธรรมนูญฉบับปฏิรูปต้องการแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นกับพี่น้องแรงงานทั่วประเทศ ซึ่งหากรัฐธรรมนูญหมวดปฏิรูปในส่วนที่ 15 ที่ว่าด้วยเรื่องของพี่น้องแรงงานได้ถูกบรรจุและประกาศใช้ในรัฐธรรมนูญอย่างแท้จริง ความมั่นคงในอีกก้าวของพี่น้องแรงงานไทยก็จะไม่ใช่ภาพฝันอีกต่อไป แต่จะเป็นภาพของความจริงที่จะเกิดขึ้นและแก้ไขปัญหาปากท้องของแรงงานไทยได้อย่างเป็นรูปธรรม"