คปร. เปิดเวที ระดมความเห็นประชาชน 17 ต.ค.
ตั้งโจทย์ครั้งแรก “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” คาด รับเรื่องปัญหาจากมิติต่างๆของประชาชนทุกเครือข่ายได้ครบ ก่อนรวบรวมเสนอรัฐบาลจัดการต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานเมื่อวันที่ 9 ก.ย. เวลา 16.00 น. ที่บ้านพิษณุโลก นายอานันท์ ปันยารชุน ประธานคณะกรรมการปฏิรูป (คปร.) แถลงข่าวการจัดงาน เวทีรับฟังความคิดเห็นครั้งที่ 1 “ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ” เพื่อเล็งใช้เป็นพื้นที่ให้ประชาชนเข้าร่วมเสนอและแลกเปลี่ยนความคิดเห็น เรื่องปัญหาความเหลื่อมล้ำและความไม่เป็นธรรมในสังคมในมิติต่างๆจากกลุ่ม ประชาชนเจ้าของปัญหา โดยเวทีดังกล่าวที่จะจัดขึ้นที่หอประชุมเล็ก มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์ ตั้งแต่เวลา 09.00 น. -17.00 น. วันอาทิตย์ที่ 17 ต.ค.นี้ ซึ่งคณะกรรมการจะเป็นผู้ฟัง และเปิดพื้นที่ให้ประชาชนอย่างเต็มที่
นายอานันท์ กล่าวต่อว่า การจัดเวทีครั้งนี้จะมีการเสวนา หัวข้อ“จัดสรรอำนาจใหม่ เพื่อทรัพยากรไทยที่ยั่งยืนโดยมีตัวแทนเครือข่ายต่าง ๆ เข้าร่วม คือ นายอนันต์ ดวงแก้วเดือน สมัชชาป่าชุมชนภาคเหนือ , นายเหมราช ลบหนองบัว ผู้นำเครือข่ายปฏิรูปที่ดินอีสาน , นางนุชนารถ แท่นทอง ผู้นำเครือข่ายสลัม 4 ภาค , นายสะมะแอ เจะมูดอ เลขาธิการสมาพันธ์ประมงพื้นบ้านภาคใต้ , นายสุทธิ อัชฌาศัย เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก และนายแก้ว สังข์ชู เครือข่ายแผนชุมชน
“โดยในช่วงบ่ายจะมีการจัดเสวนากลุ่มย่อย 5 กลุ่ม ซึ่งแต่ละกลุ่มจะดำเนินรายการโดยคณะกรรมการปฏิรูปที่เชี่ยวชาญแต่ละเรื่อง คือ 1. การสร้างความเป็นธรรมในการแก้ไขปัญหาที่ทำกิน โดย ผศ.บัณฑร อ่อนดำ 2. การคืนการศึกษาแก่ประชาชน โดย ดร.กฤษณพงศ์ กีรติกร 3. เสริมพลังและสร้างสวัสดิการแรงงานไทย โดย ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ 4. อำนาจของชุมชนในการพัฒนา โดย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ 5. คุณภาพชีวิตของคนในเมือง โดย นพ.วิชัย โชควิวัฒน”
ส่วนคัดเลือกประชาชนที่เข้ามาร่วมแสดงความคิดเห็นในครั้งนี้นั้น ประธาน คปร. กล่าวว่า ที่ผ่านมาจากคณะกรรมการสมัชชา(คสป.) ชุด นพ.ประเวศ วะสี ได้จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นมาตลอด จึงได้มีเครือข่ายที่ได้ใช้อยู่ในปัจจุบัน ดังนั้น คปร. จึงเพ่งเล็งไปที่เครือข่ายภาคประชาชนที่ทำงานในเรื่องของที่ดิน ทรัพยากร การศึกษา แรงงาน และพลเมือง มาเป็นตัวนำ เพื่อให้ได้ความรู้ดีๆ มานำเสนอให้ทราบพร้อมกัน โดยให้แต่ละท่านที่ดำเนินรายการแต่ละประเด็น ซึ่งมีส่วนคลุกคลีกับเครือข่ายอยู่แล้ว เป็นคนจัดสรรพร้อมกับทีมดำเนินการ
“ในวันนั้น หอประชุม สามารถบรรจุได้ 500 คน แบ่งสำหรับเครือข่ายที่เชิญเข้ามาร่วม 300 คน ส่วนที่เหลืออีก 200 คนจะเป็นประชาชนที่สนใจร่วมฟังและนำเสนอความเห็น แต่ต้องส่งชื่อเข้ามาจองล่วงหน้า เพื่อทำการคัดกรองก่อน ซึ่งสามารถแจ้งความจำนงผ่านเว็ปไซต์ www.reform.or.th และส่งแบบฟอร์ม ที่สำนักงานปฏิรูป 126/146 ชั้น 4 อาคาร 10 ชั้น สถาบันบำราศนราดูร ถนนติวานนท์ อำเภอเมือง จังหวัดนนทบุรี 11000 หรือตู้ปณ. 16 กระทรวงสาธารณสุข จังหวัดนนทบุรี 11000 คาดว่าในวันนั้นจะได้ข้อเสนอพอประมาณ หลังจากนั้นจะให้นักวิชากลั่นกรองข้อเสนอ ว่าเหมาะสมหรือไม่ หรือนำไปปฏิบัติและอยู่บนพื้นฐานเท็จจริงในประเทศได้อย่างไร เพื่อช่วยผลักดันเป็นข้อเสนอต่อทางรัฐบาล”
ประธาน คปร. กล่าวด้วยว่า ไม่ว่าจะดำเนินรายการอย่างไรก็ตาม แต่การเสนอแนะต่างๆ ต้องอยู่ในจุดประสงค์หลักของ คปร. ที่ว่า การสร้างความยุติธรรม และลดความเหลื่อมล้ำ ซึ่งในหัวข้อเวทีครั้งนี้ คือ ลดอำนาจรัฐ ขจัดความเหลื่อมล้ำ เพื่อการปฏิรูปไปสู่การกระจายอำนาจ ไม่เพียงการกระจุอยู่เพียงส่วนใดส่วนหนึ่ง ทั้งเรื่องการกระจุกตัวของคนเมือง ต้องกระจายออกไปทุกเรื่อง ไม่เพียงอำนาจการปกครอง แต่ต้องกระจายทุกเรื่อง อาทิ การศึกษา กระบวนการยุติธรรม การเข้าถึงทรัพยากร
ด้าน ผศ.บัณฑร อ่อนดำ กรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ขณะนี้แต่ละเครือข่ายมีการพูดคุยกันอยู่แล้ว ซึ่งประเด็นที่จะมาพูดในวันนั้นไม่เพียงเรื่องที่ดิน แต่จะเป็นทรัพยากรทั้งหมด อาทิ น้ำ ป่าไม้ จากเครือข่ายต่างๆ โดยจะเฉลี่ยดูว่าเครือข่ายที่ยังไม่ได้เชิญมีอะไรบ้าง เพื่อเปิดประเด็นเอาไว้ แบ่งเป็นเครือข่ายที่เชิญเข้าร่วม 70 % และประชาชนที่สนใจอีก 30 % วันงานคณะกรรมการจะไปนั่งฟังด้วย และให้ข้อเสนอเพิ่มเติม ไม่ใช่ไปเปลี่ยนแปลงทั้งหมด เพื่อการเสนออย่างเป็นรูปธรรม
ดร.กฤษณพงษ์ กีรติกร กรรมการปฏิรูป กล่าวว่า บางส่วนอาจจะเป็นข้อเสนอที่รัฐทำอยู่แล้ว แต่เชื่อว่าจะมีอีกหลายประเด็นที่ต้องจัดการต่อ ซึ่งขอย้ำว่าเหตุผลการจัดงานครั้งนี้ เพื่อหาข้อเสนอในการลดอำนาจรัฐ หากเป็นข้อเสนอบางประเด็นที่เสนอว่าต้องการให้รัฐมีฐานะใหญ่ขึ้น ต้องมีการคุยกันกันนอกรอบด้วย
นพ.วิชัย โชควิวัฒน กรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ขณะนี้เมืองขยายขึ้นมาก ทั้งปัญหาจราจร มลพิษ ที่พักผ่อนหย่อนใจ อาชญากรรม แม้ไม่เป็นข่าวครึกโครม แต่เป็นปัญหาที่จำเป็นในการปฏิรูป ดังนั้น ต้องเอาคนที่ทำงานด้านนี้มาพูดคุย และให้คณะกรรมการมีหน้าที่รับฟัง สู่ข้อสรุปและข้อเสนอต่อไป
ขณะที่ รศ.ดร.ณรงค์ เพ็ชรประเสริฐ กรรมการปฏิรูป และประธานคณะกรรมการเครือข่ายผู้ใช้แรงงานและคนจนเมืองเพื่อการปฏิรูป ชุดคณะกรรมการสมัชชาปฏิรูป (คสป.) กล่าวถึงปัญหาคุณภาพชีวิตแรงงานไทย มี 3 เรื่องใหญ่ที่ต้องให้ความสำคัญในการเปิดรับฟังความคิดเห็น เช่น ปัญหาภาคอุตสาหกรรมไทยกำลังขาดแรงงาน และแรงงานที่มีอยู่ขณะนี้ก็ขาดประสิทธิภาพ ดังนั้นจะทำอย่างไรให้มีแรงงานที่เข้มแข็งที่เพียงพอกับความต้องการและจะ ต้องมีการยกระดับพัฒนาประสิทธิภาพแรงงานในประเทศด้วยเพื่อให้สามารถแข่งขัน กับต่างประเทศได้ ปัญหาสำคัญอีก 2 เรื่อง คือ ปัญหาตลาดแรงงานและปัญหาค่าจ้างแรงงาน ปัญหาคุณภาพชีวิตและสวัสดิการแรงงานซึ่งต้องมีการพูดคุยในทั้งสามประเด็น ปัญหานี้ด้วย
"ทั้งสามเรื่องจะต้องมีการเปิดรับฟังความเห็น ทำอย่างไรจะเกิดความเป็นธรรมระหว่างนายจ้างและลูกจ้าง จะทำอย่างไรให้ลดความเหลื่อมล้ำในวงการแรงงานระหว่างประชาชนทั้งสองกลุ่มนี้ ให้น้อยลง ซึ่งข้อเสนอของการเปิดรับฟังความเห็นจะเป็นประโยชน์มากต่อการกำหนดนโยบายใน อนาคต"
สุดท้าย ดร.เพิ่มศักดิ์ มกราภิรมย์ กรรมการปฏิรูป กล่าวว่า ส่วนประเด็นชุมชน จากการที่ได้ลงไปพบปะกับประชาชน ไม่ใช่ว่าประชาชนจะปฏิเสธการพัฒนา แต่การพัฒนาที่ไม่ตรงจุด ทำให้เกิดปัญหาพอสมควร ดังนั้น การลุกมาฟังเสียงประชาชนเพื่อจัดการพัฒนาให้สอดคล้องกับวิถีชีวิตมากที่สุด จึงเป็นทางออกที่ดีเพื่อให้มีอำนาจตัดสินใจที่หลากหลาย ตอบโจทย์จากประชาชนเอง.