ฟังเสียงคนริมน้ำ ก่อนหันหลังให้แม่น้ำ ผลกระทบจากโครงการพัฒนา
ชุมชนเก่า และชุมชนที่รุกล้ำริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา ถือได้ว่า เป็นผู้ได้รับผลกระทบลำดับแรกๆ จากการพัฒนาพื้นที่สาธารณะริมน้ำ ในชื่อ "โครงการพัฒนาริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยา" ตามที่กระทรวงมหาดไทย (มท.) เสนอให้คณะรัฐมนตรีเห็นชอบไปเมื่อวันที่ 12 พฤษภาคมที่ผ่านมา 2558
โครงสร้างทางริมแม่น้ำฯ วาดฝันปั้นให้เป็น พื้นที่สัญลักษณ์ (Land Mark) ของประเทศไทย ระยะแรก ที่กินอาณาบริเวณตั้งแต่สะพานพระราม 7 จนถึงบริเวณสะพานสมเด็จพระปิ่นเกล้า รวม 14 กิโลเมตร มีกรอบวงเงินดำเนินการ 14,006 ล้านบาท ระยะเวลาก่อสร้าง 18 เดือนนั้น เกิดคำถามขึ้นว่า ได้ทำลายภูมิทัศน์ทางวัฒนธรรม ทำลายชีวิตของผู้คนริมแม่น้ำเจ้าพระยา และลดคุณค่าพื้นที่ริมน้ำเจ้าพระยาไปมากน้อยเพียงใด
สำนักข่าวอิศรา ลงพื้นที่เดินตามตรอก ซอก ซอย รวมถึงนั่งเรือด่วน เรือข้ามฟาก เพื่อไปพูดคุยกับคนในชุมชนริมน้ำ รวมถึงผู้มีอาชีพเกี่ยวข้องกับแม่น้ำเจ้าพระยา
เริ่มที่แรก ริมแม่น้ำเจ้าพระยาฝั่งพระนคร ใกล้สะพานกรุงธน หรือสะพานซังฮี้ นอกจากมีชุมชนชาวคริสต์ที่เก่าแก่ที่สุดในกรุงเทพมหานครแล้ว ยังมีชุมชนที่รุกล้ำริมน้ำ โดยมีสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำแม่น้ำจากริมตลิ่งประมาณ 30-40 เมตร มีผู้อาศัยประมาณ 200-300 คน
นางลำเพรย นรโพิธิ์ อายุ 60 ปี อาศัยอยู่บ้านไม้ 2 ชั้นที่คับแคบ รวมสมาชิกทั้งหมด 11 ชีวิต ย่านชุมชนซังฮี้ ใต้สะพาน มาไม่ต่ำกว่า 50 ปี เธอยอมรับว่า พื้นที่ที่อาศัยอยู่นี้ บุกรุกพื้นที่ริมแม่น้ำจริง "เราผิดเราบุกรุกจริง แต่ก็บุกรุกมาตั้งแต่สมัยรุ่นทวด เพิ่งมาเดือดร้อนเอาตอนนี้"
ก่อนจะเล่าอาชีพของคนในชุมชนแห่งนี้ ส่วนใหญ่มีอาชีพค้าขายอยู่ในตลาดเช้า และอีกไม่ช้า จะต้องย้ายออกไป แม้ที่ผ่านมาคนในชุมชนแห่งนี้ได้เตรียมตัว เตรียมใจมานานแล้ว แต่สำหรับครั้งนี้ นางลำเพรย บอกว่า "รู้สึกโดนไล่เร็วเกินไปจนตั้งตัวไม่ทัน รัฐไม่น่ามาไล่เราเร็วขนาดนี้"
"คนที่นี่ อยู่ตรงนี้มานาน ทำมาหากินสะดวก มีวัด มีโรงเรียน มีโบสถ์ มีศาลเจ้า ครบ ไม่มีใครอยากไปไหน ถ้าไปอยู่ที่อื่นก็ลำบากทันที เด็กจะเรียนที่ไหน ไหนจะค่ารถ ค่าเรือ รายจ่ายเพิ่มขึ้นมากมาย แล้วจะเอาเงินที่ไหนสร้างบ้าน เอาเงินที่ไหนจ้างเขาทำบ้านใหม่ เพราะบ้านทางรัฐจัดให้อยู่ชั่วคราว ก็ต้องจ่ายค่าบ้านเอง จึงไม่อยากจะคิดเลยว่าชีวิตหลังจากนี้จะเป็นอย่างไรต่อไป”
เธอ แสดงความเห็นถึงโครงการที่จะเกิดขึ้นในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้า เท่าที่ทราบก็มาจากหนังสือพิมพ์ เรารู้แค่นี้จริงๆส่วนอย่างอื่นยังไม่แน่ชัด เพราะว่า เวลาตัวแทนจากภาครัฐมาเจรจา เขาก็เรียกผู้นำชุมชนไปคุย แล้วกลับมาให้ข้อมูลกับชาวบ้าน แต่ก็หาข้อสรุปที่ชัดเจนไม่ได้เลย
“เราได้แต่หวัง ได้แต่รอว่า รัฐจะให้อะไรตอบแทนเราบ้าง เราเป็นคนจน ทำมาหากิน หาเช้ากินค่ำ รายได้ไม่แน่นอน บางวันขายดีก็ได้เงิน ขายไม่ดีก็ได้เงินน้อย แล้วเราจะเป็นอย่างไร บ้านหลังหนึ่งมีคนตั้งกี่ชีวิต จะยกครัวไปไว้ที่ไหน ยังหาไม่ได้เลย การทำมากินจะเหมือนเดิมไหม ก็ไม่รู้”
ด้านนางชื่นสุดา สายสุข อายุ 45 ปี ชุมชนราชผาทับทิมร่วมใจ เชิงสะพานซังฮี้ อาชีพเป็นลูกจ้าง กทม. เล่าถึงความผูกพันกับพื้นที่ตรงนี้ว่า นอกจากทำมาหากินสะดวกแล้ว เธอไม่ต้องเสียค่าเช่าบ้าน ปัจจุบันนี้จ่ายแค่ค่าน้ำ ค่าไฟ เดือนละไม่กี่บาท ขณะที่ลูกไปโรงเรียนก็ไม่ต้องเสียค่ารถ เดินเอาก็ถึง
คำถามของลูกจ้างกทม. ที่มีต่อหน่วยงานรัฐ คือ "ถ้ารัฐจัดการกับเราโดยให้ย้ายออกจากพื้นที่ไปอยู่ที่อื่น ชีวิตเราจะเหมือนเดิมหรือไม่" ก่อนจะตอบเอง "ไม่มีทางเหมือนเดิมแน่ๆ ทุกวันนี้มีรายได้ไม่พอกับรายจ่าย และหากชีวิตจากนี้ต้องมาเปลี่ยนไปอีก พี่มีแม่แก่ๆ เดินไม่ได้เพราะป่วยเป็นอัมพาตจะพาแม่ออกจากบ้านอย่างไร ของก็เยอะ ไม้จะเอาไปไหน เมื่อไม่มีเงินจ้างช่างทำใหม่ และที่สำคัญที่ดินไม่มี จะสร้างบ้านได้หรือ ก็ต้องทำตามข้อเสนอของภาครัฐที่จะให้อยู่บ้านเอื้ออาทร แต่เงื่อนไขต้องผ่อนเอง เราทำอะไรไม่ได้ เรียกร้องร้องมากไปก็จะไม่ได้อะไรเลยสักอย่าง เดือดร้อนกว่าเดิมด้วยซ้ำ”
ส่วนมุมมองต่อโครงการพัฒนาริมเจ้าพระยา ของกทม.นั้น เธอเชื่อว่าคนนั่งเรือ หรือนักท่องเที่ยว เขายังอยากชมทัศนียภาพแบบเดิมๆ บ้านแบบเก่าๆอยู่ ไม่ใช่มองทางเดินทางจักรยานที่รัฐกำลังจะสร้างขึ้น
"คนในชุมชนไม่ได้ต้องการอะไรมากเลย แค่อยากให้ภาครัฐมีข้อเสนอที่ประชาชนรับได้ และไม่เดือดร้อน ท่านต้องการทัศนียภาพเพื่อการท่องเที่ยวท่านก็ทำไป แต่ที่ชาวบ้านถูกไล่ที่นั้นท่านต้องแก้ไขปัญหาให้ถึงที่สุด เพราะไม่ใช่บ้านแค่สองสามหลัง"
ขณะที่นายจำเริญ บัวศรี อายุ 48 ปี ยึดอาชีพนักประดาน้ำหาของเก่ามากว่า 30 ปี อาศัยอยู่ในชุมชนมิตรคาม เข้าไปทางซอยสามเสน 13 บอกว่า ครอบครัวอาศัยอยู่ที่นี่มาตั้งแต่รุ่นปู่ น่าจะเกือบร้อยปีได้ วิถีชีวิตดั้งเดิมไม่ได้เป็นบ้านเรือนริมน้ำอย่างที่เห็นเช่นปัจจุบันนี้ แต่อยู่กันในแพลูกบวบหรือเรือนแพแบบสมัยก่อน
"อาชีพนักประดาน้ำทำกันมาตั้งแต่รุ่นปู่ ผมสืบทอดมาถึงปัจจุบัน ขุมทรัพย์ใต้แม่น้ำถูกขุดค้นหามาต่อเนื่องหลายสิบปี จนบางคนสงสัยว่า สมบัติเก่าๆยังมีอยู่จริงหรือ ขอยืนยันว่ามี และมีหลักฐานชัดเจนว่า เป็นสมบัติจริง” นักประดาน้ำหาของเก่า รุ่นเก๋า ระบุ และบอกว่า ในช่วงน้ำไหลแรง สมบัติหรือของมีค่าต่างๆ จะไหลมากองรวมกัน ช่วงนั้นเราจะออกไปหาของไม่ได้ ต้องรอให้น้ำเป็นปกติก่อน สมัยก่อนของมีค่าจะเยอะกว่านี้ สมัยนี้หาได้น้อยมาก
ส่วนของมีค่าที่เขาหามาได้ ก็เช่น เหรียญเก่าสมัย ร.5 เงินเฟื้อง สลึง โสฬส เครื่องถม ถ้วยชาม ยิ่งถ้าเจอทองหรือเงิน ก็ถือว่า วันนี้เขาโชคดี
จำเริญ ยังบอกกับเราด้วยว่า ในละแวกนี้มีคนอาศัยอยู่ 40 คน หรือ 15 ครัวเรือน แต่ละบ้านก็มี 3-5 คนที่ดำน้ำเก็บของใต้แม่น้ำขาย และส่วนใหญ่จะเป็นคนจน
"การลงเรือแต่ละครั้ง ต้องไป ลำละ 2 คน คนดำลงไป 1 คน ส่วนอีกคนมีหน้าที่เฝ้าเรือ และคอยส่องดูแลคนที่ดำลงไป เพราะการดำลงไปไม่รู้ว่าอันตรายจะเกิดขึ้นเมื่อไร อาชีพนี้มีแต่เสี่ยงกับเสี่ยง ความปลอดภัยน้อย ต้องออกไปตั้งแต่ช่วงสายและไล่ดำกันไปตั้งแต่สาทรไปจังหวัดนนทบุรี ยันปากเกร็ด บางครั้งก็รวมตัวกันหลายๆลำออกไปหาขุมทรัพย์ใต้น้ำ บางวันไปไกลถึงอยุธยาก็มี"
จำเริญ บอกถึงรายได้ต่อวัน บางวันได้ 600-700 บาท "ถามว่าคุ้มไหม ก็ไม่คุ้มหรอก แต่ก็พอกิน ดีที่ไม่ต้องออกไปส่งของขายเอง เพราะมีคนมารับของถึงบ้าน ผมมีวิถีชีวิตเคยอยู่กับน้ำ ถ้าโครงการพัฒนาริมแม่น้ำเจ้าพระยาเกิดขึ้นจริง ก็ต้องย้าย แต่อยากจะเรียกร้องให้ช่วยหาที่อยู่ใหม่ที่พวกเราอยู่ได้ โดยไม่ลำบาก อาจไม่ใช่แถวนี้ก็ได้ แต่ขอเป็นริมน้ำแบบนี้ เราจะได้หากินได้เหมือนเดิม เพราะถ้าให้ไปที่ที่ไม่ติดริมน้ำเราจะหากินอย่างไร ต้องเริ่มต้นใหม่ด้วยอาชีพอื่นเราคงอยู่ไม่ได้ เพราะเรามีเรือ มีแพ แล้วจะเอาสิ่งเหล่านี้ไปไว้ที่ไหน รายได้ที่เคยหาได้ทุกวันก็จะหายไป"
ก่อนฝากทิ้งท้าย "ถ้าคิดว่าอนาคตจะมีภูมิทัศน์ที่สวยงาม แลกมากับความเปลี่ยนแปลงของผู้ที่ได้ชื่อว่า บุกรุก อยากถามว่า รัฐภูมิใจแค่ไหน”
ส่วนนางสุชีวา อนันต์ อายุ 50 ปี อาศัยอยู่ย่านชุมชนเขียวไข่กา เขตดุสิต อาชีพค้าขาย บ้านอยู่นอกแนวเขื่อนกั้นน้ำ บอกว่า เธอยินยอมโดยดีที่จะย้ายออกไป เพราะคัดค้านอะไรไม่ได้ แต่ก็กังวล ที่สำรองที่รัฐจะหาให้นั้นอยู่ที่ไหน ยิ่งมารู้ว่า ต้องผ่อนเองจ่ายเอง
"ระยะเวลาแค่ไม่กี่เดือนที่เรากำลังจะถูกโยกย้าย โดยที่เราไม่สามารถทำอะไรได้เลย ไม่เคยแม้แต่ภาครัฐจะมาเจรจากับเราสักครั้ง จนป่านนี้ยังไม่เคยเห็นวี่แวว ฟังแต่ข่าวออกมาโครมๆ เราก็ใจหาย เหมือนกัน”
โครงการพัฒนาสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาไม่ได้ส่งผลกระทบเพียงแค่กับประชาชนและชุมชนเท่านั้น ยังส่งผลไปถึงการเดินเรือโดยสารด้วย
นายสมบัติ ขำกรัด นายเดินเรือด่วนประจำ ท่าเรือวัดราชสิงขร อายุ 55 ปี เล่าว่า ทำอาชีพนี้มา 30 ปี ที่ผ่านมาผลกระทบอาจมีบ้างแต่ไม่มาก ส่วนใหญ่จะเป็นเรื่องกระแสน้ำที่เปลี่ยนแปลง และเรื่องตอม่อสะพาน ที่ทำให้เรือชนอยู่บ่อยครั้ง แต่ตอนนี้กลับพบปัญหาใหญ่ยิ่งกว่า คือ ถ้ามีโครงการสร้างทางเดินเลียบแม่น้ำขึ้น จะส่งผลกระทบกับการกลับเรือมากพอสมควร การกลับเรือจะยากขึ้น กระแสน้ำจะแรงขึ้น และแปรปรวนมากขึ้น การเดินเรือก็ยากขึ้นไปอีกระดับ อาจทำให้เกิดอันตรายได้ง่ายขึ้น รวมไปถึงสิ่งแวดล้อมก็จะเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย
" ถ้าเรียกร้องได้ก็อยากให้ล้มเลิกความคิดต่อโครงการนี้ไปเลย เพราะจะทำให้วิวทิวทัศน์ดั้งเดิมหายไป จากที่จะมองเห็นริมแม่น้ำทั้งสองฝั่ง ก็จะไม่เห็นอีกต่อไป ก่อนที่จะสร้างอะไรควรฟังความคิดเห็นของประชาชนหรือผู้ประกอบการบ้าง แต่ที่ผ่านมาก็ไม่เคยเห็นทางภาครัฐส่งคนมาเจรจาเลยสักครั้ง"
ส่วนนายสมชาย ประเสริฐศักดิ์ นายท้ายเรือหรือเรือข้ามฟาก ท่าเรือพายัพถึงท่าเรือวัดอาวุธ วัย 45 ปี ทำมาหากินกับการขับเรือข้ามฟากมา 30 ปี แม้จะเป็นอาชีพไม่ได้ร่ำรวยอะไร แต่ทำด้วยใจ ทำแล้วสบายใจ ขอแค่ส่งคนให้ถึงฝั่งก็พอใจแล้ว
เมื่อถามถึงรายได้แต่ละวัน สมชาย บอกว่าระบุแน่นอนไม่ได้ ถ้าคนมากก็วิ่งได้หลายเที่ยว เที่ยวละ 3 บาทต่อคน ช่วงเช้าและเย็นคนจะเยอะ เพราะมีนักเรียนและคนทำงาน แต่พอติดช่วงเที่ยงไม่ค่อยมีคน บางครั้งมีแค่คนเดียวก็ออกเรือไปส่ง เพราะถือว่า ลูกค้ามาใช้บริการแล้วก็ต้องบริการด้วยใจ มีคนเมื่อไรก็ออกเรือเมื่อนั้น
“ผมได้ยินเรื่องโครงการการพัฒนาสองริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยามานาน ผมไม่ได้กลัวผลกระทบเรื่องบ้าน เพราะบ้านไม่ได้อยู่ติดริมแม่น้ำ แต่การเดินเรืออาจมีผลกระทบตอนมีการก่อสร้าง คาดว่าจะลำบากแน่นอน เพราะเรือใหญ่จะมีลู่ทางการเดินเรือที่แคบลง เราเป็นเรือเล็กก็ลำบากกว่า ส่วนรายได้อาจลดตามไปด้วย อาจมีแค่นักเรียนและคนทำงานเท่านั้นที่จะใช้บริการ คนทั่วไปอาจไม่มีอีกแล้ว
เท่าที่ผ่านมาได้ฟังคนที่ได้รับผลกระทบ ก็น่าเห็นใจเขา แต่ละคนใช่ว่าเพิ่งมาอยู่แล้วถูกไล่ให้ย้ายไปอยู่ที่อื่นแต่คนเหล่านั้นคือคนดั้งเดิม ที่ทำมาหากินอยู่กับแม่น้ำเจ้ายามาตั้งแต่เกิด บางคนก็ตกปลาไปขาย ไปแกง วิถีชีวิตดั้งเดิม หดหายไป ถึงแม้จะมีนักท่องเที่ยวมากมายให้ความสนใจในทัศนียภาพใหม่ก็ตาม แต่ควรรักษาวิถีดั้งเดิมเอาไว้ด้วย เพราะเด็กรุ่นลูก รุ่นหลาน คงไม่มีโอกาสได้เห็น" นายท้ายเรือ หันมายิ้มกล่าวทิ้งท้าย ก่อนส่งเราขึ้นฝั่งอย่างปลอดภัย