เปิดเวทีติวหลักสูตร ‘ชนบทไทย’ หนุนนักวิชาการรุ่นใหม่ลงวิจัย ถึงพื้นที่
งานวิชาการหรืองานวิจัย มีความสำคัญต่อการพัฒนาชุมชนชนบทให้เจริญก้าวหน้า ประชาชนอยู่ดีกินดี ลืมตาอ้าปากได้ สถาบันการศึกษาหรือองค์กรทางวิชาการที่เกี่ยวข้อง จึงมีบทบาทอย่างสูงในการช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาให้ตอบโจทย์ความต้องการของแต่ละพื้นที่
ตลอดระยะที่ผ่านมาพบว่า นักวิชาการยังเข้าไม่ถึงแก่นแท้ของการศึกษาชุมชนชนบท ทำให้การแก้ไขปัญหาหลายๆ เรื่องมีข้อผิดพลาด ประกอบกับคนพื้นที่ไม่ได้มีส่วนร่วม นี่จึงเป็นจุดอ่อนของนักวิชาการรุ่นใหม่
‘มูลนิธิมั่นพัฒนา’ ในฐานะองค์กรที่มีเป้าหมายพัฒนาเชิงพื้นที่ เพื่อความยั่งยืนตามศาสตร์พระราชา ‘หลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง’ ร่วมกับสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) จัดประชุม TSDF SUSTAINABILITY FORUM ครั้งที่1/2015 เรื่อง ชนบทไทย:พื้นที่วิจัยสำหรับนักวิชาการรุ่นใหม่ เพื่อหาวิธีการทำให้ประเทศเจริญก้าวหน้าอย่างสมดุล มั่งคง และยั่งยืน ณ สำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์
ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ประธานกรรมการสถาบันมั่นพัฒนา มูลนิธิมั่นพัฒนา มองว่า ชนบทไทยมีลักษณะทางภูมิสังคมหลากหลาย ทำให้การแก้ไขปัญหาจึงต้องแตกต่างกัน
"เราสามารถนำหลักการพัฒนาตามแนวพระราชดำริ ‘เข้าใจ เข้าถึง พัฒนา’ โดยชุมชนชนบทเป็นเจ้าของมาประยุกต์ใช้ได้ และการวิจัยก็ต้องเป็นเรื่องที่คนในพื้นที่เห็นความสำคัญและมีส่วนร่วมในการศึกษา แบบนี้ย่อมได้รับการสนับสนุนและร่วมมือด้านต่าง ๆ อย่างดี"
พร้อมกันนี้ ดร.จิรายุ ได้ชูศาสตร์พระราชากับการพัฒนาที่ยั่งยืนให้แก่นักวิจัยรุ่นใหม่ โดยเห็นว่า ศาสตร์พระราชานี้ไม่เฉพาะได้รับการยอมรับภายในในประเทศไทยเท่านั้น นางชามฉัต อัคตาร์ รองเลขาธิการสหประชาชาติและเลขาธิการคณะกรรมาธิการเศรษฐกิจและสังคมแห่งสหประชาชาติ (เอสแคป) ยังยกย่องหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงในเวทีประชุมใหญ่ครั้งที่ 71 ณ กรุงเทพฯ ปลาย พ.ค. ที่ผ่านมา ด้วยให้ความสำคัญทางด้านการพัฒนาอย่างสมดุลและส่งเสริมศักยภาพของคนไปพร้อมกัน จึงนับเป็นแนวทางที่มีคุณค่ามากต่อหนทางการพัฒนาอย่างยั่งยืน และกำลังเป็นประเด็นหลักของโลกในยุคปัจจุบันและอนาคต
‘โจทย์วิจัย’ ความท้าทายนักวิชาการรุ่นใหม่
ขณะที่ ดร.นิพนธ์ พัวพงศกร นักวิชาการเกียรติคุณ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) เห็นว่า ตั้งแต่หมดยุค "ป๋าเปรม" พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี จากนั้นเกือบทุกรัฐบาลละเลยการพัฒนาชนบท
การพัฒนามีอยู่ประการเดียว คือ แจกเงิน แจกเงิน และแจกเงิน ถือเป็นการบริหารประเทศที่ผิดพลาด
ขณะที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมไทยยังมีสูง คนหนุ่มสาวกว่า 5 ล้านคน ละทิ้งภาคเกษตรกรรมในช่วง 20 ปี ที่ผ่านมา และแม้โอกาสทางการศึกษาและสาธารณสุขจะดีขึ้น แต่โอกาสของลูกคนจนกลับได้เรียนมหาวิทยาลัยมีอัตรายังต่ำอยู่ ซึ่งปัจจัยมิได้อยู่ที่ตัวเงินอย่างเดียว
"10% ในภาคอีสาน เป็นครอบครัวขนาดกลาง คนหนุ่มสาวทำงานในเมือง เหลือปู่ย่าตายายอาศัยกับหลาน จึงส่งผลกระทบต่อคุณภาพการศึกษา"
นักวิชาการทีดีอาร์ไอ คิดว่าโจทย์วิจัยที่ท้าทายในระดับมหภาค คือ ทำอย่างไรจะพัฒนาชุมชนชนบทให้ลดความเหลื่อมล้ำได้ ทำอย่างไรต่ออนาคตเกษตรกรรมไทย ในเมื่อคนหนุ่มสาวไม่อยากทำเกษตรกรรมแล้ว รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรทางธรรมชาติ และผลกระทบการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่จะเกิดขึ้นในอนาคต
ดร.นิพนธ์ ได้หยิบยกโครงการวิจัยของผศ.ดร.วีระชาติ กิเลนทอง มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ที่ได้ทดลองวิจัยหลักสูตรของศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก จ.มหาสารคาม เพื่อทดสอบว่าจะสามารถพัฒนาทักษะพุทธิปัญญาได้หรือไม่ โดยใช้ระยะเวลาอย่างน้อย 5 ปี ซึ่งสอดคล้องกับงานรวิจัยในต่างประเทศ พบว่า การลงทุนในเด็กอายุ 4-7 ปี เป็นช่วงที่มีการลงทุนคุ้มค่าที่สุด
“ปัญหาอุปสรรคในการวิจัยไม่ใช่ ‘โอกาส’ แต่เป็นการตั้ง ‘โจทย์วิจัย’ กับปัญหาการพัฒนาชนบท”
ดร.นิพนธ์ กล่าวแนะนำด้วยว่า การเป็นผู้เชี่ยวชาญในสาขาใดสาขาหนึ่งจะทำให้นักวิจัยมีชื่อเสียง และเป็นที่ยอมรับมากกว่าการมีบทความวิชาการจำนวนมาก แต่ไร้ความหมาย
ด้าน ดร.สมพันธ์ เตชะอธิก ม.ขอนแก่น มองว่า เหตุที่มีผู้อยากทำวิจัยในพื้นที่ชนบทน้อย ปัจจัยหนึ่งมาจากระบบที่ไม่เอื้ออำนวย ดังนั้นการพัฒนานักวิชาการรุ่นใหม่ต้องมีนักวิจัยอาวุโสเป็นพี่เลี้ยงคอยให้คำปรึกษา มิฉะนั้น งานวิจัยคงหนีไม่พ้นการทำแบบสอบถาม โฟกัสกรุ๊ปเพียงครั้งหนึ่งเท่านั้น โดยขาดการค้นคว้าข้อมูล
“ผมปฏิเสธการทำวิจัยเพื่อขึ้นหิ้ง อย่าอยากทำเพื่ออยากรู้ เพราะเสียดายวิจัยมาทั้งปี แต่กลับนำไปทำอะไรไม่ได้”อาจารย์ มข. กล่าว พร้อมกับมองว่า นักวิจัยรุ่นใหม่ต้องรู้จักวิจัยเชิงคุณภาพ ศึกษาชีวิตคน ชุมชน ไม่ใช่ทดสอบเชิงสมมติฐาน
ทั้งนี้ ยังได้ยกตัวอย่างการวิจัยไม่ดี เช่น กรณีศึกษาพฤติกรรมของผู้หญิงภาคอีสาน มีสามีฝรั่ง เพราะต้องการรวย ถามว่า วิจัยไปเพื่ออะไร ?
1 หลักสูตร 1 ชุมชน ผลงานเด่น มมส.วิจัยคู่ท้องถิ่น
โครงการ ‘1 หลักสูตร 1 ชุมชน’ ในปี 2555 ต่อยอดจาก 'โครงการ 1 มหาลัย 1 จังหวัด' รศ.ดร.ศุภชัย สมัปปิโต อธิการบดีมหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) คือ ตัวอย่างผลงานที่ให้ชุมชนและผู้เรียนเป็นศูนย์กลางของหลักสูตร
“มหาวิทยาลัยมีทั้งสิ้น 204 โครงการ ในพื้นที่ภาคอีสานและใกล้เคียง เราทำทุกประเด็น เช่น พลังงานน้ำ สิ่งแวดล้อม ผู้สูงอายุ การเกษตร เป็นต้น ซึ่งประสบความสำเร็จได้ต้องมีนโยบาย มีความมุ่งมั่น มีแรงบันดาลใจในการเข้าไปช่วยเหลือในชุมชน”
อธิการบดี ม.มหาสารคาม กล่าวต่อว่า ชาวบ้านในพื้นที่มีเสียงสะท้อนความพึงพอใจ รวมถึงอาจารย์และ นิสิตก็มีความพอใจมากเช่นกัน เพราะการเรียนรู้ไม่ใช่อยู่แค่ในห้องเรียน โดยได้รับรู้ถึงการแก้ไขปัญหาในการอยู่ร่วมกัน การเป็นผู้นำ การเป็นผู้ตาม ทั้งหมดคือสิ่งที่สะท้อนออกมาเป็นตัวตน
สำหรับสิ่งที่จะทำต่อไป คือ การสร้างคนยุคใหม่ขึ้นมาเพื่อเรียนรู้คู่กิจกรรมพัฒนานิสิต ซึ่งปัจจุบันนี้มีวิชาพัฒนานิสิตและกำลังพัฒนาเป็นวิชาภาวะผู้นำเกิดขึ้นแล้ว
“สิ่งที่มหาวิทยาลัยทำมาตลอดหลายปี คือ ความสำเร็จในเรื่องปรัชญาและการสร้างเอกลักษณ์ได้ก้าวเดินไปด้วยความมั่นใจและมุ่งมั่นที่จะพัฒนาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรลุวิสัยทัศน์ที่เราต้องการเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อชุมชน สร้างความเข้มแข็งของสังคมชนบทรากหญ้า สร้างความปรองดอง ความสมานฉันท์ในพื้นที่ และลดความเหลื่อมล้ำในสังคม การพัฒนาทางสังคมภาคอีสานก็จะยั่งยืน” รศ.ดร.ศุภชัย ทิ้งท้าย .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ สกว.