เปิดปม ‘ร้านเหล้าใกล้ มหาวิทยาลัย’ กฎหมายชะงัก สังคมไร้การจัดการ
'บิ๊กตู่' ขีดเส้นห้ามตั้งร้านเหล้ารอบสถานศึกษา เตรียมใช้มาตรการจากเบาไปหาหนัก ให้เวลาเจ้าของธุรกิจปรับตัว 'นพ.สมาน ฟูตระกูล' ชี้จัดโซนนิ่งไม่ช่วยเเก้ปัญหาทั้งหมด ต้องใช้วิธีอื่นหนุนเสริม ไม่ปฏิเสธ รัฐใช้ ม. 44 ด้านนักวิชาการด้านเด็กเเละครอบครัวเชื่อสถานที่ไม่ดีตั้งในที่เหมาะสม ลดความเสี่ยงได้
การก่ออาชญากรรมและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นบริเวณร้านเหล้ารอบสถานศึกษากลายเป็นปัญหาเรื้อรังมานาน แม้ก่อนหน้านี้จะมีการร้องเรียนจากหลายฝ่ายอย่างต่อเนื่อง แต่ยังไม่มีรัฐบาลใดบังคับใช้มาตรการจัดการปัญหานี้อย่างจริงจังและยั่งยืน
กระทั่งหลังสุดเกิดเหตุการณ์นักศึกษา ม.รังสิต ถูกยิงเสียชีวิต ขณะที่ขับขี่รถจักรยานยนต์ออกจากร้านเหล้า เมื่อกลางดึก วันที่ 29 พ.ค. 2558
ล่าสุดได้มีการยื่นหนังสือจากเครือข่ายเยาวชนป้องกันนักดื่มหน้าใหม่ นำโดย นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงานเครือข่ายฯ พร้อมด้วยนักเรียน นักศึกษาจากหลายสถาบัน กว่า 30 คน ถึงพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี โดยเรียกร้องให้ภาครัฐเร่งออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องห้ามจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาในรัศมีที่กำหนด โดยที่ผ่านมาไม่เคยทำได้ เพราะมีเรื่องผลประโยชน์เข้ามาเกี่ยวข้อง ทั้งที่เป็นเรื่องที่ทำได้ง่าย
รวมถึงปรับปรุง พ.ร.บ.สรรพสามิต พ.ศ. 2493 ห้ามขายแอลกอฮอล์รอบมหาวิทยาลัยในรัศมี 500 เมตร
นพ.สมาน ฟูตระกูล ผอ.สำนักงานคณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) อธิบายว่า ตามหลักการแล้วเราไม่สามารถใช้วิธีใดวิธีหนึ่งในการแก้ปัญหาได้ จำเป็นต้องใช้หลายวิธีพร้อมกัน ซึ่งการจัด ‘โซนนิ่ง’ ถือเป็นหนึ่งในวิธีจัดการการเข้าถึงอบายมุข แต่จะต้องมีวิธีอื่นหนุนเสริมด้วย ยกตัวอย่าง การห้ามโฆษณาส่งเสริมการขาย การขึ้นภาษีแอลกอฮอล์ฯ
อย่างไรก็ตามการแก้ไขกฎหมายดังกล่าวอาจไม่มีผลใด ๆ เพราะผู้ประกอบการร้านเหล้ามีช่องทางเลี่ยงข้อห้ามตามกฎหมายได้ ไม่ว่าจะเป็น การจดทะเบียนเป็นร้านอาหาร ด้วยการขอใบอนุญาตขายอาหารจากกองทะเบียนการค้า และใบอนุญาตขายสุราจากกรมสรรพสามิต กรณีนี้ทำให้ผู้ประกอบการเปิดร้านได้ทุกเวลา ทุกสถานที่ สามารถขายสุรา และเล่นดนตรีภายในร้านได้อีกด้วย
เขาชี้ว่า ลักษณะข้างต้นเป็นรูปแบบสถานบันเทิงที่เกิดขึ้นบริเวณใกล้สถานศึกษาในปัจจุบัน
อีกวิธีการหนึ่งที่ถูกเสนอโดย ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์ อธิการบดี ม.รังสิต คือ การใช้กฎหมายมาตรา 44 (ม.44) ก็อาจจะสามารถควบคุมปัญหาดังกล่าวได้เด็ดขาดและมีอำนาจกว่าการใช้ พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 หรือไม่ นพ.สมาน ระบุไม่คัดค้าน หากรัฐบาลจะใช้ ม.44 เหมือนกรณีแก้ไขปัญหาบุกรุกป่าไม้ แต่กรณีนี้ร้ายแรงมากกว่า เพราะเป็นการบุกรุกสถานที่บ่มเพาะภูมิปัญญาให้เป็นอนาคตของชาติ
เขายังบอกว่า ต้องใช้มาตรการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีเรื่องห้ามจำหน่ายเครื่องแอลกอฮอล์รอบสถานศึกษาในรัศมีที่กำหนด โดยที่ผ่านมาขับเคลื่อนไม่ได้ เพราะผู้มีอำนาจตัดสินใจเกรงจะกระทบกระเทือนต่อผู้ประกอบการและคนส่วนน้อย จึงยังไม่มีการตัดสินใจออกมา
“ไม่มีมาตรการทางกฎหมายใดที่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ โดยไม่กระทบกระเทือนใครเลย จึงอยากฝากให้ภาครัฐชั่งน้ำหนักในการบริหารประเทศต้องคำนึงถึงประโยชน์ของส่วนร่วมมากกว่าส่วนตัว” นพ.สมาน กล่าว
ด้านภก.สงกรานต์ ภาคโชคดี ผู้อำนวยการสำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า ขยายความถึงการผลักดันการแก้ไขปัญหาดังกล่าวตลอด 5-6 ปี แต่ยังไม่สำเร็จ ส่วนใหญ่ทางฝ่ายการเงินจะกลัวว่าธุรกิจจะเดือดร้อน โดยนับตั้งแต่การขับเคลื่อนรณรงค์จนถึงปัจจุบัน มีร้านเหล้าเพิ่มขึ้นเกือบ 80% หากเราทำสำเร็จตั้งแต่วันนั้นร้านเหล้าใหม่คงไม่เกิดขึ้น
ทั้งนี้ บางคนมองว่า ปัญหาอาชญากรรมและอุบัติเหตุที่เกิดขึ้นเกิดจากตัวนักเรียนนักศึกษามากกว่า ‘ธมกร วัชรอาภานุกร’ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 คณะดิจิทัลอาร์ต มหาวิทยาลัยรังสิต แสดงความคิดเห็นในฐานะเคยใช้บริการร้านเหล้าข้างมหาวิทยาลัยมาแล้ว ต่อให้มีการจัดโซนนิ่งพื้นที่ตั้งร้านห่างออกไป 500 เมตร ปัญหาก็ยังเกิดขึ้นอยู่ดี ถ้าร้านเหล้ายังเปิดกิจการอยู่ และคิดว่าพฤติกรรมของนักเรียนนักศึกษาก็ส่วนให้เกิดปัญหาด้วย
ขณะที่ผศ.ดร.วิมลทิพย์ มุสิกพันธ์ รองผู้อำนวยการสถาบันแห่งชาติเพื่อการพัฒนาเด็กและครอบครัว มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า ปัญหาเกิดขึ้นมาจากทั้งสองฝั่ง เมื่อมีความต้องการซื้อ ก็มีความต้องการขาย เป็นเรื่องปกติ ถ้าร้านเหล้าเปิด แต่เด็กไม่กิน ก็จะไม่มีอะไร หรือถ้าเด็กอยากกิน แต่ไม่มีร้านเหล้าเปิด ก็จะไม่มีปัญหาเกิดขึ้น ไม่มีประเทศไหนในโลกจะสร้างสังคมดีได้อย่างสมบูรณ์แบบ เพียงแต่ประเทศที่บริหารจัดการได้ดีจะรู้ว่าสิ่งไม่ดีควรอยู่ตรงไหน
เมื่อถามถึงพฤติกรรมของเด็กรุ่นใหม่ที่ถูกกระตุ้นด้วยสภาพแวดล้อมในยุคปัจจุบันจึงอาจเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อปัญหาที่ตามมา ผศ.ดร.วิมลทิพย์ อธิบายเป็นเรื่องธรรมดาในเด็กทุกรุ่นมีความอยากเข้าสถานบันเทิง เพราะสถานที่ดังกล่าวน่าสนใจในสายตาของวัยรุ่น ทว่า ตราบใดสถานที่ไม่ดีเหล่านี้ไม่ตั้งอยู่ใกล้สถานศึกษา และมีการเข้าถึงได้ยาก ปัญหาจะไม่เกิดขึ้น
“เด็กเป็นผลผลิตของผู้ใหญ่ ถ้าผู้ใหญ่มีสามัญสำนึก รู้ว่าอะไรควรอะไรไม่ควร สังคมก็จะพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น หากกฎหมายมีความเข้มแข็ง สถาบันครอบครัวเองก็ไม่ควรผลักภาระให้กับสถานศึกษา เพราะครอบครัวมีหน้าที่ต้องรับผิดชอบในตัวเด็กและเยาวชนเช่นกัน” นักวิชาการด้านเด็กและครอบครัว ทิ้งท้าย
สำหรับท่าทีของผู้นำรัฐบาล ‘บิ๊กตู่’ ออกมาแสดงท่าทีกังวลต่อเหตุการณ์ความสูญเสียที่เกิดขึ้น พร้อมขีดเส้นจะดำเนินมาตรการแก้ไขปัญหาจากเบาไปหาหนัก ควบคู่กับการทำความเข้าใจ พร้อมให้เวลาผู้ประกอบการปรับตัว ถึงสิ้น มิ.ย.58 หากพบตั้งใกล้สถานศึกษาต้องเลิกกิจการทันที โดยไม่มีข้อแม้
บทสรุปของปัญหาร้านเหล้าใกล้สถานศึกษา ไม่เพียงขึ้นอยู่กับการออกประกาศสำนักนายกรัฐมนตรีที่ยังคงรอการตัดสินใจของรัฐบาลยุคปัจจุบัน แต่ต้องอาศัยหน่วยงานทุกภาคส่วนและพลังสังคมร่วมกันแก้ไข โดยมีกฎหมายที่เข้มแข็งเป็นบรรทัดฐาน เพื่อการบริหารจัดการปัญหาภายในประเทศได้อย่างยั่งยืน .
ภาพประกอบ:เว็บไซต์ riskcomthai.org-เว็บไซต์ sanook-เว็บไซต์ผู้จัดการ-เว็บไซต์ ซีพี ออลล์