จากปี’40 ถึง 58 พลิกปรากฏการณ์ “ชูธง” หนุน-ต้านร่างรัฐธรรมนูญ
“…ท่ามกลางหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง มีประชาชนบางกลุ่มออกมาให้กำลังใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยการ “ชูธงเขียว” อีกครั้ง ขณะที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ยืนยัน ไม่ใช่การทำแคมเปญของภาครัฐแน่นอน ส่วนกลุ่มต้านจะเห็นเพียงแค่ประปรายเท่านั้น เนื่องจากเป็นเพราะก่อนหน้านี้ คสช. ประกาศใช้ “กฎอัยการศึก” ต่อมา ได้เปลี่ยนเป็น “มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี’57” ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือเหมือนเดิม…”
ในที่สุดก็ถึงช่วง “หัวเลี้ยวหัวต่อ” ของร่างรัฐธรรมนูญ “ฉบับเรือแป๊ะ”
เนื่องจากห้วงสัปดาห์นี้ คณะกรรมาธิการ (กมธ.) ยกร่างรัฐธรรมนูญ จะเชิญสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และคณะรัฐมนตรีเพื่อให้มาชี้แจง และอธิบายเหตุผลในการ “แก้ไข” ร่างรัฐธรรมนูญดังกล่าว
อย่างไรก็ดีมีประชาชนบางฝ่าย ออกมา “หนุน” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับเดิม ไม่ต้องการให้แก้ไข
ปลุกกระแส “ชูธงเขียว” ยืนยัน ร่างรัฐธรรมนูญฉบับ “36 อรหันต์” ให้ความสำคัญกับ “สิทธิพลเมือง” เต็มที่
ท่ามกลางการประชุมของ กมธ.ยกร่างฯ ที่ได้มีการนำ “ธงเขียว” ที่ได้รับจากเวทีสัมมนาร่างรัฐธรรมนูญ จ.นครศรีธรรมราช มาปักไว้บนโต๊ะเต็มไปหมด
ทั้งนี้หากยังจำกันได้ ในช่วงร่างรัฐธรรมนูญปี 2540 และปี 2550 ก็มีการปลุกกระแส “ชูธง” ทำนองนี้ขึ้นมาเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นฝ่ายหนุนหรือฝ่ายต้านก็ตาม
สำนักข่าวอิศรา www.isranews.org พลิกปูม “ปรากฏการณ์” ดังกล่าว ให้เห็นกันชัด ๆ อีกครั้ง ดังนี้
ในช่วงปี 2540 กระแส “ปฏิรูปการเมือง” พุ่งแรงถึงขีดสุด ประชาชนในสังคมมีความตื่นตัวเป็นอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการเมือง หรือสิทธิพลเมือง อย่างไม่เคยปรากฏมาก่อน
โดยหวังกันว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 จะเป็นฉบับถาวร ไม่มีใครกล้า “ฉีกทิ้ง” เหมือนที่ผ่านมาอีกแล้ว
ทั้งนี้ก่อนหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญปี 2540 มีการรณรงค์ใหญ่ของสมาชิกสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.) ปี 2540 นำโดย “อานันท์ ปันยารชุน” อดีตนายกรัฐมนตรี และประธาน กมธ.ยกร่างฯ “ชูธงเขียวอ่อน” ปักหลักที่อนุสาวรีย์ประชาธิปไตย
โดยธงดังกล่าว ใช้ปีกนกของอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยทั้ง 4 ด้าน ขนาบผ้าผืน “เขียวตองอ่อน” มีข้อความรณรงค์ให้รัฐสภารับร่างรัฐธรรมนูญปี 2540
ปรากฏว่า “ได้ผล” ธงสีเขียวอ่อน “พรึบ” เต็มทุกหัวระแหง ประชาชนเกือบทั้งประเทศอยู่ในบรรยากาศการชูธงเขียวทั้งสิ้น
แต่ก็เหมือนเหรียญที่มีสองด้าน เมื่อมีกลุ่มหนุนก็ต้องมีกลุ่มต้าน นำโดยพรรคการเมืองที่เป็นรัฐบาลขณะนั้น คือ พรรคความหวังใหม่ นำโดย “ป๋าเหนาะ” เสนาะ เทียนทอง เลขาธิการพรรคฯ (ขณะนั้น) นำมวลชนเข้ามาคัดค้าน รวมไปถึงบรรดากลุ่มกำนันผู้ใหญ่บ้านอีกด้วย
ซึ่งกลุ่มต้านใช้ “ธงเหลือง” เป็นสัญลักษณ์ คัดค้านไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญปี 2540
แต่ท้ายสุดในเดือน ต.ค. 2540 ก็ได้มีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับ “ประชาชน” ตามเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการในเวลานั้น
อย่างไรก็ดีอีก 9 ปีต่อมา เกิดเหตุการณ์ “รัฐประหาร-ฉีกรัฐธรรมนูญ” ขึ้นอีกครั้งในประวัติศาสตร์การเมืองไทย นำโดยคณะปฏิรูปการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข (คปค.) ที่มี “บิ๊กบัง” พล.อ.สนธิ บุญรัตกลิน ผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ. ขณะนั้น) เป็นหัวหน้าการรัฐประหาร
ส่งผลให้ “กงล้อการเมือง” หมุนกลับไปจุดเดิม จำเป็นต้อง “ร่างรัฐธรรมนูญ” ฉบับใหม่ขึ้นมาอีกครั้ง
ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองที่ขึ้นสู่จุดสูงสุด คราวนี้ฝ่ายหนุน-ต้าน ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 แทบจะมีจำนวนพอ ๆ กัน ซึ่งจะวัดกันด้วยการทำ “ประชามติ”
เบื้องต้น ส.ส.ร. ปี 2550 ได้ลงโฆษณาในสื่อสิ่งพิมพ์และโทรทัศน์แทบทุกช่องให้ประชาชนเลือก “รับ” ร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 รวมไปถึงมีการจัดทำ “ธงเขียว” และมาสคอต “มนุษย์ไฟเขียว” ออกมาเลยทีเดียว
โชว์แคมเปญ “รับไปก่อนค่อยแก้ทีหลัง”
โดยส่วนใหญ่บรรดากลุ่มที่สนับสนุนร่างรัฐธรรมนูญปี 2550 คือ กลุ่มผู้ชุมนุมที่ขับไล่ “ระบอบทักษิณ” เช่น กลุ่มพันธมิตรประชาชนเพื่อประชาธิปไตย เป็นต้น รวมไปถึงบรรดาอาจารย์มหาวิทยาลัย และนิสิต/นักศึกษาบางส่วน
แต่สิ่งที่เรียกความฮือฮาให้กับชาวโลกคือ “สังศิต พิริยะรังสรรค์” สมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ปี 2549 ได้เสนอให้ใน พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ระบุว่า ห้าม “ไม่รับ” ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ และหากใครต้านจะถูกจำคุก 10 ปี
ส่งผลให้องค์กรสิทธิมนุษยชนนานาชาติ รวมถึงประชาชนจำนวนไม่น้อยลุกขึ้นมาวิพากษ์วิจารณ์กันกระหึ่มว่าเป็นการ “ปิดหู-ปิดตา-ปิดปาก” ประชาชน
แต่ท้ายสุด พ.ร.บ.ดังกล่าว ก็คลอดออกมา และระบุข้อห้ามไว้ว่า หากมีการก่อความวุ่นวายเพื่อให้การออกเสียงไม่เป็นไปด้วยความเรียบร้อย จะต้องมีโทษสูงสุดจำคุก 10 ปี อยู่ดี
นอกจากนี้ยังมีการปล่อยข่าวลือไม่ว่าจะมาจากฝ่ายหนุนหรือฝ่ายต้านออกมาเต็มไปหมด จนทำให้สังคมเกิดความวุ่นวายเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ดียังมีประชาชนบางกลุ่มไม่หวั่นเกรง และเดินหน้าออกมาคัดค้านร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้อยู่ดี นำโดย ประชาชนที่สนับสนุนรัฐบาลเก่า นิสิต/นักศึกษา รวมไปถึงอาจารย์มหาวิทยาลัยบางส่วน
ชูสัญลักษณ์ “ธงแดง/เขียวอ่อน” ไม่เอาร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้
แต่ท้ายสุดในการลงประชามติ ประชาชนเสียงส่วนใหญ่เลือกโหวตเห็นชอบกว่า 57 เปอร์เซ็นต์ ทำให้รัฐธรรมนูญปี 2550 ถูกประกาศใช้
แต่ต้องไม่ลืมว่าในการลงประชามติคราวนั้น ยังคงคุกรุ่นไปด้วย “หมอกควันหลังรัฐประหาร” อาจทำให้ประชาชนไม่มีสิทธิในการแสดงความคิดเห็นอย่างเต็มที่
หลังจากนั้นอีก 7 ปีต่อมา กลางปี 2557 คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ได้ทำการ “ยึดอำนาจ” จากรัฐบาล “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” ส่งผลให้รัฐธรรมนูญถูกฉีกอีกครั้ง
ท่ามกลางอุณหภูมิทางการเมืองที่ร้อนแรงยิ่งกว่าปี 2549
คสช. ดำเนินการแต่งตั้ง “แม่น้ำ 5 สาย” โดยมีสายที่เกี่ยวข้องกับการร่างรัฐธรรมนูญได้แก่ สภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) และ กมธ.ยกร่างรัฐธรรมนูญ
ล่าสุด สปช. ได้เข้าชื่อเสนอแปรญัตติร่างรัฐธรรมนูญไปแล้วจำนวนหลายมาตรา ขณะเดียวกัน ครม. ได้ทำความเห็นเสนอไปยัง กมธ.ยกร่างฯ ให้ปรับแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญ ไปแล้วเช่นกัน
และท่ามกลางหัวเลี้ยวหัวต่อนี้เอง มีประชาชนบางกลุ่มออกมาให้กำลังใจร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ โดยการ “ชูธงเขียว” อีกครั้ง ขณะที่ “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” ประธาน กมธ.ยกร่างฯ ยืนยัน ไม่ใช่การทำแคมเปญของภาครัฐแน่นอน
ส่วนกลุ่มต้านจะเห็นเพียงแค่ประปรายเท่านั้น เนื่องจากเป็นเพราะก่อนหน้านี้ คสช. ประกาศใช้ “กฎอัยการศึก” ต่อมา ได้เปลี่ยนเป็น “มาตรา 44 ของรัฐธรรมนูญชั่วคราวปี’57” ซึ่งกุมอำนาจเบ็ดเสร็จไว้ในมือเหมือนเดิม
เป็นมาตรการสกัดกลุ่มต้านที่ดูท่าจะ “ได้ผล” ชะงัดนัก แทบไม่มีใครลุกขึ้นมาทำ “หืออือ” กับ คสช. ได้เลยในเวลานี้
และทำท่าว่าร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้จะจบลงด้วย “ประชามติ” อีกครั้ง
ไม่ว่าท้ายสุดแล้ว ร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ จะผ่านหรือไม่ ?
แต่กระแส “ชูธง” ได้กลับมาในหน้าประวัติศาสตร์การเมืองอีกครั้งแล้ว !
หมายเหตุ : ภาพประกอบจาก dailynews